5 ส.ค. 2020 เวลา 22:42 • การศึกษา
โพสต์ครั้งที่แล้วไปเมืองเบรเมน เมืองที่เป็นที่ตั้งของโรงงานแอร์บัส ที่มหาวิทยาลัย HSB Bremen มีคณะชื่อว่า Production Engineering เน้นไปทางการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อหาวัสดุใหม่ๆ มาใช้เพื่อพัฒนาอากาศยาน ให้มีคุณสมบัติดีขึ้น
เมื่อไปอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของเจ้า compositeที่ทาง Airbus นำมาใช้ก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้น
เนื้อหาในบทความด้านล่างมาจากเพจ อาจณรงค์ ป๋องแป๋ง จันทมาศ อ.สรุปไว้อ่านแล้วเข้าใจง่ายค่ะ
วัสดุคอมโพสิต : วัสดุแห่งอนาคตของโลกการบิน
(เรียบเรียงโดย อภิสิทธิ์ ไชยรัตน์ติเวช)
ในสมัยก่อน โครงสร้างหลักของเครื่องบินเกือบทั้งหมดจะประกอบไปด้วย โลหะหรืออลูมิเนียมเพื่อความแข็งแรง แต่สายการบินทั่วโลกต้องการเครื่องบินที่มีสมรรถนะดีขึ้น บินได้ไกลขึ้น และประหยัดเชื้อเพลิง ซึ่งเครื่องบินที่จะตอบโจทย์นี้ได้ จะต้องมีน้ำหนักเบาลง แต่ยังคงความสามารถในการรับแรงต่างๆในระหว่างการบินได้เท่าเดิม
บริษัทแอร์บัส (Airbus) เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส ได้ริเริ่มบุกเบิกการใช้วัสดุคอมโพสิต (composites) มาทดแทนโลหะ ราว 30 ปีมาแล้ว จนถึงปัจจุบัน เครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดของบริษัทแอร์บัส รุ่น Airbus A350 XWB ประกอบไปด้วยวัสดุคอมโพสิตมากกว่า 50% ของสัดส่วนเครื่องทั้งหมด ทั้ง ลำตัวเครื่อง (fuselage) ปีก (wings) ที่ยาวกว่า 32 เมตร กว้าง 6 เมตร รวมถึงใบพัดของเครื่องยนต์ (fan blades) ที่ต้องทำงานภายใต้สภาพความร้อนและความดันสูง
นี่แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรง ทนทานของวัสดุคอมโพสิตได้เป็นอย่างดี
แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าวัสดุคอมโพสิตคืออะไร?
วัสดุคอมโพสิตนั้นมีหลากหลาย แต่รูปแบบหนึ่งที่ใช้งานกันบ่อยๆนั้นทำมาจากเส้นใยคาร์บอนสังเคราะห์(carbon fibre) มาถักร้อยเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้แผ่นเส้นใยไฟเบอร์ขนาดใหญ่ และนำมาเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ โดยสลับทิศทางการวางตัวของเส้นใยไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นนำแผ่นไฟเบอร์ที่เรียงซ้อนกันไว้แล้วไปผสมกับเรซิน (resin) ภายใต้การให้ความร้อนและความดันที่เหมาะสม จนได้เป็นวัสดุคอมโพสิต (carbon-fibre reinforced plastic, or CFRP)
คุณสมบัติของวัสดุคอมโพสิตคือเบากว่าอลูมิเนียม (aluminium) แข็งแรงกว่าเหล็ก (iron) และทนทานต่อการรับแรงซ้ำๆ (fatigue) และการผุกร่อน (corrosion) อย่างมาก
ในครั้งหน้าจะเล่าให้ฟังถึงรายละเอียดของวัสดุประเภทนี้อีกครั้ง
รวมทั้งการประยุกต์ใช้ที่กว้างขวางของมัน
โปรดติดตามครับ
แล้ววัสดุคอมโพสิต Composite ประวัติความเป็นมามันมาจากไหน และที่ว่ามันคืออะไร เข้าไปอ่านในบทความด้านล่างนะคะ
ภาพรูปปั้นจำลองอริสโตเติล (Aristotle) ที่มหาวิทยาลัยไฟรบูร์ก (University of Freiburg) ประเทศเยอรมนี
พบกับเรื่องราวในมหาวิทยาลัยที่เยอรมนีกันอีกโพสต์หน้านะคะ
สนใจจะไปที่ไหนจะไปหาข้อมูลให้ค่ะ
โฆษณา