Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
6 ส.ค. 2020 เวลา 10:00 • ท่องเที่ยว
HIPPIE TRAIL : เส้นทางท่องเที่ยวที่วิ่งตรงจากยุโรปถึงเอเชียของเหล่า 'บุปผาชน'
"ผมยาวอย่างกับพวกฮิปปี้" ... ประโยคนี้คือประโยคที่เราได้ยินมาบ่อย ๆ จากปากของผู้หลักผู้ใหญ่และเชื่อว่าหลายคนก็ยังสงสัยว่าทำไมต้องเหมือน ฮิปปี้ และ ฮิปปี้ คืออะไร?
มันไม่แปลกนักที่สังคมไทยจะมีคนส่วนน้อยซึ่งเข้าถึงวัฒนธรรมนี้ เพราะในขณะที่พ่อแม่บ้านเรามากมายปลูกฝังลูกหลานให้เติบโตมาเพื่อทำให้พ่อแม่ภูมิใจ สร้างความสำเร็จให้ครอบครัว และเชื่อฟังผู้ใหญ่เอาไว้เดี๋ยวจะดีเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับวัฒนธรรมพวกฮิปปี้อย่างสิ้นเชิง
นี่คือเรื่องราวของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า "บุปผาชน" ผู้พร้อมทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลังและสร้างวัฒนธรรมของพวกเขาขึ้นมาเอง รวมไปถึงการเดินทางเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตแบบอิสระแบบที่ไม่มีใครมาห้ามได้
และนี่คือ ฮิปปี้ เทรล เส้นทางสายบุปผาชนสำหรับคนที่อยากเดินทางข้ามโลกโดยไม่สนว่าเส้นทางข้างหน้าจะต้องเจอกับอะไร และใช้เวลานานแค่ไหน ...
ติดตามได้ที่นี่
ฮิปปี้คืออะไร ?
คำว่า ฮิปปี้ เกิดมาในช่วงยุค 60s จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมฮิปปี้เกิดจากวัยรุ่นอเมริกันในยุคนั้นที่เบื่อและเหนื่อยหน่ายโลกทุนนิยม และต่อต้านระบบโครงสร้างนิยม (Structural-Functionalism) ซึ่งโครงสร้างนิยมตีความได้ว่าการเกิดมาและถูกสังคมยัดเยียดบทบาทให้โดยไม่สนว่าพวกเขาอยากจะรับหรือไม่
ในช่วงเวลานั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจบลงไปได้ราว 20 ปี หลายประเทศกำลังเดินหน้าเข้าสู่การพัฒนาแบบเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะด้านประชากร เศรษฐกิจ จึงทำให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมายและนำมาสู้การจ้างงานที่ทำให้หลายชนชั้นล่างที่ยากจน มีงาน มีเงินทำมากขึ้น จนกลายเป็นยุคที่อเมริกันชนเริ่มให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมและฟุ้งเฟ้อขึ้นเป็นเงาตามตัว
Photo : Leite's Culinaria
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่ชอบอะไรแบบนั้น มีกลุ่มผู้ถูกทิ้งให้อยู่ในความเคว้งคว้าง นั่นคือกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่ชอบสิ่งที่เกิดขึ้นจนถึงขั้นกลายเป็นการต่อต้าน พวกเขาทำทุกอย่างที่สวนทางกับค่านิยมของสังคม ไม่ใส่สูทผูกไท แต่ใส่เสื้อเก่า ๆ ขาด ๆ รองเท้าแตะเก่า ๆ ไว้ผมยาว ไว้หนวดไว้เครา สวนทางกับกระแสผมสั้นเรียบแปร้ที่ เอลวิส เพรสลี่ย์ เป็นผู้นำเทรนด์ รวมถึงต่อต้านสงคราม ซึ่งประจวบเหมาะตรงกับยุคที่สหรัฐอเมริกาส่งทหารไปรบในช่วงสงครามเวียดนามพอดี พวกเขาเรียกตัวเองว่าบุปผาชน (Flower people) หรือ "ฮิปปี้" นั่นเอง
กลุ่มคนดังกล่าวส่วนใหญ่รวมตัวกันที่ ไฮ-แอชบิวรี่ (Haight-Ashbury) นครซานฟรานซิสโก พวกเขาอยู่กันเป็นสังคมที่หลายคนในยุคนั้นมองว่าเน่าเฟะ ทั้งไม่ทำงาน เสพยาเสพติด มีเซ็กส์แบบเสรี แน่นอนว่าพวกเขานั้นเป็นปัญหาของสังคมอเมริกัน เพราะการไม่ทำงานและเสพยานั้นนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมที่ตามมา ตำรวจเกลียดพวกฮิปปี้ ซึ่งแน่นอนว่าพวกฮิปปี้ก็เกลียดตำรวจไม่น้อยกว่า อย่างไรก็ตามพวกเขาถือคติ รัก และ สันติ (Love and Peace) ถึงแม้จะโดนจับโดนต่อต้าน ทว่า ฮิปปี้ นั้นจะไม่ตอบโต้ด้วยวิธีรุนแรง แต่พวกเขาจะมอบช่อดอกไม้ให้แทน ซึ่งวิถีของฮิปปี้ในซานฟรานซิสโก เคยกลั่นออกมาเป็นเพลง San Francisco ของ สก็อตต์ แมคเคนซี่ (Scott Mckenzie) ที่ดังเป็นพลุแตกในช่วงปลายปี 60s-70s มาแล้ว
Photo : Britannica
อย่างไรก็ตามแนวคิดของพวกฮิปปี้ ก็เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันง่ายกว่าการออกไปทำงานหนักเพื่อคว้าฝันแบบอเมริกันดรีม พวกเขาเลือกจะอยู่เฉย ๆ เสพกัญชาหาความสุขไปวัน ๆ ไม่มีเงินก็ไม่เป็นไร ขอแค่มีความสุขและอิสระก็พอ แนวคิดแบบนี้สามารถจูงใจวัยรุ่นในยุคนั้นได้มากมายจนชุมชนฮิปปี้อเมริกันกลายเป็นชุมชนกลุ่มใหญ่ แน่นอนว่ามันถูกเหมารวมเป็น 1 ในวัฒนธรรมของอเมริกัน ที่สงผลไปยังวัยรุ่นทั่วโลกเช่นกันกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกาที่กำลังบูมในเวลานั้น
"ในยุค 60s วัฒนธรรมแบบอเมริกันมีพลังรุนแรงมาก ส่งอิมแพ็คต์ต่อวัยรุ่นประเทศอื่น ๆ ภาพยนตร์ฮอลลีวูด, อุตสาหกรรมเพลง คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมาก มันดังไปไกลทั่วโลก ขณะที่วัฒนธรรมของกลุ่มฮิปปี้ แม้จะไม่เติบโตเท่าแต่ ณ เวลานั้นเราจะได้เห็นกลุ่มวัยรุ่นหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศอย่าง แคนาดา หรือ ญี่ปุ่น เริ่มประกาศตัวเป็นฮิปปี้แบบกลาย ๆ พวกเขาจะสื่อว่า 'เราไม่เหมือนพ่อแม่ของเรา'" วิลเลียม โรราเบาจ์ (William Rorabaugh) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าว
Photo : Study.com
กลุ่มฮิปปี้เริ่มตั้งคำถามถึงสังคมของตัวเองว่า แท้จริงแล้วอะไรคืออิสระ และค่านิยมใหม่ ๆ ที่จะบอกถึงตัวตนของตัวเองได้ดีที่สุดว่ามันคืออะไร ? และพวกเขาก็พบว่าหากอยากรู้ก็ต้องออกเดินทางไปค้นหามัน ในขณะที่คนธรรมดาตื่นเช้า-อาบน้ำ และไปทำงานหาเลี้ยงชีพ ฮิปปี้ เลือกที่จะหลุดจากกรอบดังกล่าวด้วยการเดินทางรอบโลก ... และนั่นเป็นจุดกำเนิดของ "ฮิปปี้ เทรล" เส้นทางแห่งบุปผาชนที่เริ่มต้นจากประเทศอังกฤษจนไปจบที่ อินเดีย ... คำถามคือประเทศบนโลกนี้มีมากมาย ทำไมเหล่าฮิปปี้จึงเลือกจะไปอินเดีย?
ทำไมฮิปปี้ต้องมาอินเดีย ?
ฮิปปี้ ที่แท้และมีมาอย่างยาวนานคือชาวอินเดีย ประเทศแห่งนี้มีความเชื่อต่าง ๆ มากมาย ความเชื่อเหล่านี้กลายเป็นปรัชญาในแบบที่แตกต่าง ในยุคนั้นมีนักปรัชญาที่ชื่อว่า ภควัน ชรี ราชณีช (Bhagwan Shree Rajneesh) หรือที่รู้จักกันในชื่อ โอโช (Osho) ที่มีแนวคิดไม่ต่างกับกลุ่มฮิปปี้ในอเมริกัน
เขาต้องการสร้างสังคมในอุดมคติตามความเชื่อของตัวเอง นั่นคือตั้งแง่ลบกับการเมืองการปกครองและการแบ่งชนชั้น มีความสุขกับทุกสิ่งรอบตัว ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข ตามหลักคำสอนของเขา ซึ่งก็มีผู้คนมากหน้าหลายตาที่ให้เคารพบูชาเขาในลักษณะคล้าย ๆ ศาสดาของแนวความเชื่อนั้น และก็มีอีกหลายคนในสังคมที่ไม่เชื่อและมองสังคมของโอโชในเเง่ลบ อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่สนอยู่แล้ว เพราะการต่อต้านสังคมคือแนวคิดหลักของคอมมูนิตี้นี้อยู่แล้ว ... เหมือนกับ ฮิปปี้ ไม่มีผิด
แต่ไม่ใช่แค่เรื่องของปรัชญาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในช่วงปลายยุค 60s วงดนตรีป๊อปร็อคจากอังกฤษที่เป็นตำนานหมายเลข 1 ของโลกอย่าง "The Beatles" ได้เดินทางมายังประเทศอินเดีย
Photo : The Beatles Bible
บีทเทิลส์ มีบางสิ่งที่เหมือนกับกลุ่มฮิปปี้ พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมากจนกลายเป็นวงดนตรีที่ทุกคนชื่นชอบและกลายมาเป็นตำนานในภายหลัง ช่วงเวลาที่พวกเขาดังถึงขีดสุด สมาชิกวง 4 เต่าทอง เกิดการอิ่มตัวและเริ่มมองหาการเปลี่ยนแปลง หาค่านิยมทางดนตรีของพวกเขาใหม่ ที่ต้องต่างจากเพลงป็อปร็อคใส ๆ ที่ทำให้พวกเขาโด่งดังทะลุฟ้า ซึ่งนั่นเองทำให้วงดนตรีที่มีสมบูรณ์พร้อมทุกอย่างออกเดินทางมาหา "ปรัชญาดนตรี" ที่อินเดีย ซึ่งที่นี่เองกลายเป็นจุดยกระดับดนตรีของ บีทเทิลส์ ด้วยการเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านของอินเดีย อย่าง ซีตาร์ และ ระวี ชังการ์ เข้าไปใส่ในเพลงของพวกเขา จนเกิดเป็นซาวด์แบบใหม่ที่ยุคนั้นไม่เคยเจอ
หลังจากอัลบั้ม Rubber Soul ที่วางแผงในปี 1965 เป็นต้นมา เพลงของ บีทเทิลส์ มักจะมีเสียงของเครื่องดนตรีอินเดียผสมผสานอยู่และกลายเป็นสิ่งที่แปลกใหม่จนทุกคนยอมรับ อาทิเพลง While My Guitar Gently Weeps ที่ประพันธ์ทั้งเนื้อร้องและดนตรีโดย จอร์จ แฮร์ริสัน ที่พยายามศึกษาสิ่งใหม่ ๆ เป็นอย่างมากในช่วงที่พวกเขามายังอินเดีย
Photo : Screen Daily
วกกลับมาที่เรื่องของชาวฮิปปี้กันอีกสักครั้ง พวกเขาเองก็อยากจะหาความหมายของชีวิต หาสิ่งใหม่ ๆ ดังนั้นการไป อินเดีย ของ บีทเทิลส์ จึงเป็นสิ่งเร้าสำคัญที่ทำให้กลุ่ม ฮิปปี้ เริ่มออกเดินเพื่อแสวงหาสิ่งที่ไม่เคยมีใครพบเจอเหมือนที่ บีทเทิลส์ เคยทำ การเดินทางเพื่อหาสิ่งใหม่เหมือนกัน ... แต่ปลายทางนั้นหากเรามองดูดี ๆ ก็จะพบว่ามันแตกต่าง เพราะสำหรับ บีทเทิลส์ พวกเขามาเพื่อหน้าที่การงาน แสวงหาความรู้เพื่อนำไปต่อยอดสิ่งที่ตัวเองมี แต่ฮิปปี้ พวกเขาเดินทางมาโดยที่ไม่รู้จุดหมายปลายทางที่แน่ชัดเลยด้วยซ้ำ ...
แต่ถึงอย่างนั้น จงอย่าลืมว่าถึงแม้จะสุดโต่งยังไง แต่ ฮิปปี้ ก็ยังเป็นแค่วัยรุ่น พวกเขาอาจจะต่อต้านโลกแห่งทุนนิยมและต่อต้านสังคมก็จริง แต่พวกเขาไม่มีทางปฎิเสธดนตรีได้ ฮิปปี้ คลั่งไคล้ดนตรีและร็อคแอนด์โรล ดังนั้นเองจึงไม่แปลกที่พวกเขาจะเดินตามวงดนตรีอย่าง เดอะ บีทเทิลส์ ที่เป็นวงซึ่งสร้างกระแสจนทั้งโลกยอมรับ ... แน่นอนพวกเขาได้รับอิทธิพลจาก เดอะ บีทเทิลส์ อย่างไม่ต้องสงสัย และเหตุทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้ ฮิปปี้ จาก ซานฟรานซิสโก และที่อื่น ๆ ทั่วโลก เดินทางมายัง อินเดีย นั่นเอง
การเดินทางที่แตกต่าง
เดอะ บีทเทิลส์ รวยล้นฟ้า การจะเดินทางข้ามประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องยาก พวกเขาสามารถเข้าถึงการเดินทางโดยเครื่องบินที่เเพงหูฉี่ ไม่มีสายการบินโลว์คอสเหมือนทุกวันนี้ และจุดนี้เองทำให้ ฮิปปี้ ตามรอยไม่ได้ พวกเขาไม่มีเงิน หรือมีก็เพียงน้อยนิดพอประทังชีวิตได้เป็นวัน ๆ เลิกฝันไปได้เลยกับเรื่องการนั่งเครื่องบิน อีกทั้งเครื่องบินยังเป็นสัญลักษณ์ของวัตถุนิยมอีกต่างหาก ดังนั้น ฮิปปี้ ก็เลือกเส้นทางที่เหมาะกับตัวเองที่สุด นั่นคือ ฮิปปี้ เทรล (Hippe Trail) นั่นเอง
เส้นทางนี้คือเส้นทางที่ตอบโจทย์ชาวฮิปปี้อย่างที่สุด เพราะมันคือการเดินทางทางบก ใช้เงินน้อย เหมาะกับสำหรับกลุ่มฮิปปี้ที่ยังเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว เส้นทางดังกล่าวถูกเปิดขึ้นในช่วงปลายยุค 50s เป็นต้นมา ช่วงเวลานั้นมีบริษัทรถทัวร์ที่ชื่อว่า "Indianman" ที่วิ่งตรงถึงจุดหมายปลายทางของชาวฮิปปี้ในต่อเดียว อย่างไรก็ตาม สำหรับฮิปปี้บางคนที่ไม่มีเงินนั่งรถทัวร์ ก็จะเลือกเดินทางโดยวิธีอื่น ๆ เช่นการโบกรถ, การขึ้นรถไฟ เป็นต้น ซึ่งช่วงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า การท่องเที่ยวแบบเเบ็คเเพ็ค
ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้พวกเขาได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ พบคนและสถานที่ที่ไม่เคยไป จะถือว่าเป็นการท่องเที่ยวมากกว่าการตามหาความหมายชีวิตก็คงไม่ผิดนัก
Photo : 1960s: Days of Rage
เส้นทาง ฮิปปี้ เทรล เริ่มต้นจาก ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผ่านเยอรมัน, อิตาลี, ตุรกี, เลบานอน, อิหร่าน, อัฟกานิสถาน จนกระทั่งเข้าประเทศ อินเดีย ยาวไปถึงเมืองตอนใต้อย่าง โกอา (Goa) อันเป็นเป้าหมายของชาวฮิปปี้ นอกจากนี้ตามแนวเทือกเขาที่ติดกับเนปาล ยังมีการขายกัญชาแบบถูกกฎหมายไว้บริการอีกด้วย
ณ เวลานั้น ฮิปปี้ จากหลากหลายประเทศเดินทางด้วยเส้นทางดังกล่าว จนทำให้เส้นทางจากลอนดอนถึงอินเดียถูกเรียกว่า ฮิปปี้ เทรล ไปโดยปริยาย เส้นทางที่ยาวหลายพันกิโลเมตรทำให้กลุ่ม ฮิปปี้ เริ่มมีการกระจายวัฒนธรรม เช่นการสร้างหมุดนัดพบ หรือจุดแวะสังสรรค์กันใหมู่คนคอเดียวกัน แวะพักตามโรงแรมราคาถูกแต่ได้บรรยากาศ ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นความสุขระหว่างทางของพวกเขาทั้งสิ้น
และเมื่อถึง อินเดีย ก็สุดแล้วแต่ว่า ฮิปปี้ แต่ละคนจะมาไปที่เมืองไหน ซึ่งก็แปรผันไปตามจุดมุ่งหมายว่าพวกเขามาที่ อินเดีย เพื่ออะไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นที่เมือง โกอา อย่างที่ได้กล่าวไป เพราะที่นี่มีชายหาด อันเป็นชายหาดที่เปิดเซ็กส์เสรี เสพกัญชา และมีเทศกาลดนตรี ซึ่งที่นี่เองเป็นต้นตำรับ ฟูลมูน ปาร์ตี้ ที่ส่งอิทธิพลมาถึงประเทศไทยจนทุกวันนี้
Photo : FORMIDABLE MAG
ช่วงเวลาแห่งเสรีภาพของบุปผาชนผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลังจากเข้าสู่ยุค 70s เส้นทางดังกล่าวก็เสื่อมสภาพ ยากที่จะเดินทางไปพร้อมกับความสุขและความตื่นเต้นเหมือนอดีต เพราะมีความเข้มข้นในการตรวจวีซ่าและคนเข้าเมืองมากขึ้น อีกทั้งเส้นทางสาย ฮิปปี้ เทรล ยังผ่านพื้นที่อันตราย เช่น ประเทศอิหร่าน ในช่วงการปฎิวัติอิสลาม ประเทศอัฟกานิสถาน ที่กำลังถูกสหภาพโซเวียตบุก จนไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้โดยง่ายเหมือนในอดีตอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครผิดหวังและเจ็บปวดกับเรื่องนี้มากมายจนเกินไปนัก เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน โลกก็ได้เข้าสู่ยุคแห่งข่าวสาร คอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมโลกและเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างไป ประกอบกับกลุ่มฮิปปี้ที่เป็นวัยรุ่นก็เติบโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่และได้มุมมองที่มีต่อชีวิตที่กว้างมากขึ้น พวกเขาจึงเริ่มกลับไปทำสิ่งที่ตัวเองหนีมานั่น คือการใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา ทำงานหาเงินเลี้ยงดูตนเองครอบครัวไม่ให้กลายเป็นภาระของสังคม หลายสิ่งเป็นไปตามวัฏจักรที่หนีไม่พ้น และปิดตำนาน ฮิปปี้ เทรล ไปโดยปริยาย
Photo : YouTube | Manchester University Press
สุดท้ายเมื่อถึงยุค 80s ความตึงเครียดในสังคมเริ่มลดลง การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนก็น้อยลงตามไปด้วย เทคโลยีเข้ามาในชีวิตมนุษย์ทุกคนแบบเต็มรูปแบบ สุดท้ายกลุ่มฮิปปี้ก็แตกกระจายกันไปตามทิศตามเส้นทางชีวิตที่ตนเองเลือก จนเหลือไว้แต่ตำนานและความหมายของคำว่า "ฮิปปี้" ที่ยังคงถูกพูดถึงอยู่จนทุกวันนี้
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Hippie_trail
http://www.culturedcreatures.co/the-hippie-trail/
https://en.wikipedia.org/wiki/Rajneesh
https://www.wministry.com/the-beatles-%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%8C/
https://www.washington.edu/news/2015/08/17/uw-historian-william-rorabaugh-explores-60s-counterculture-in-american-hippies/
6 บันทึก
20
1
5
6
20
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย