6 ส.ค. 2020 เวลา 11:40 • ยานยนต์
ลงทุนแมน x Bridgestone
กรณีศึกษา Bridgestone จากเบอร์หนึ่งของโลก สู่ยางรถยนต์ยอดนิยมที่สุดในไทย
ถ้าถามว่าแบรนด์ยางรถยนต์อันดับต้นๆ ของโลกมีแบรนด์อะไรบ้าง?
ชื่อแรกๆ ที่ลอยมาในหัวของใครหลายๆ คน ก็น่าจะเป็น Bridgestone
แบรนด์ Bridgestone ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ในตลาดยางรถยนต์ระดับโลกที่มีมูลค่า 168,625 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนแบ่งทางการตลาดมีดังนี้
Bridgestone 14.8%
Michelin 13.8%
Goodyear 8.5%
รู้หรือไม่ว่า
จุดเริ่มต้นของ Bridgestone เกิดจาก ถุงเท้า
และ Bridgestone ใช้เวลานานถึง 50 ปีกว่าจะกลายเป็นแบรนด์ยางรถยนต์ยอดนิยมที่สุดยี่ห้อหนึ่งในไทย
2 เรื่องราวนี้ น่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
คุณ Shojiro Ishibashi ผู้ก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ได้รู้จักกับยางครั้งแรก ก็เพราะถุงเท้าของตัวเองขาดอยู่บ่อยครั้ง ก็เลยทำให้เขาคิดออกแบบถุงเท้าด้วยไอเดียที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร
โดยนำวัสดุประเภทยางเข้ามาเป็นส่วนผสม ทำให้ถุงเท้ามีความทนทานมากขึ้น
แล้วความคิดนอกกรอบนี้เอง ได้ถูกต่อยอดมาสู่การผลิตยางรถยนต์
ทำให้ในปี พ.ศ. 2474 Shojiro Ishibashi ตัดสินใจตั้งบริษัทยางโดยใช้วิธีตั้งชื่อบริษัท
ด้วยการเอานามสกุลของเขา “Ishi ที่แปลว่า หิน ซึ่งภาษาอังกฤษแปลว่า stone”
“Bashi ซึ่งแปลว่า สะพาน ภาษาอังกฤษแปลว่า Bridge” รวมกันเป็น Bridgestone
ปัจจุบันบริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยขยายธุรกิจไปมากกว่า 150 ประเทศมีโรงงานผลิตและวิจัย 180 แห่งทั่วโลก
ที่น่าสนใจคือ เมื่อธุรกิจมีกำไรเติบโตขึ้นในทุกๆ ปีก็ทำให้ Bridgestone มีเงินทุนมากพอ
จนเข้าซื้อกิจการบริษัทยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในอเมริกาอย่าง Firestone
ทำให้ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้มีมูลค่า 951,200 ล้านบาท
กลายเป็นบริษัทยางรถยนต์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก
แล้วธุรกิจ Bridgestone ในประเทศไทยเป็นอย่างไร
ปัจจุบัน Bridgestone มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในไทย โดยบริษัทมีตัวแทนจำหน่ายกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ
โดย จุดเปลี่ยน ที่ทำให้ Bridgestone เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจนมียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เหตุผลหนึ่งก็น่าจะเป็นการตัดสินใจเปิดศูนย์บริการรถยนต์ชื่อ Cockpit ที่มีสาขาแรกในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534
รวมถึงศูนย์บริการ A.C.T ที่มีในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ก็เป็นของ Bridgestone เช่นกัน ซึ่งถือว่าศูนย์บริการรถยนต์ภายใต้การดูแลโดย Bridgestone นั้นมีสาขามากที่สุดในประเทศไทยและมีจำนวนกว่า 275 สาขา
ที่ศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจรนี้ นอกจากจะขายยางรถยนต์, แบตเตอรี่, น้ำมันเครื่อง, ผ้าเบรก, อุปกรณ์ประดับและดูแลสภาพยางรถยนต์ให้แก่ลูกค้า ก็ยังมีโมเดลธุรกิจที่หารายได้จากสินค้าอื่นๆ อาทิ บริการตรวจเช็คสภาพยาง ตั้งศูนย์ล้อ ถ่วงล้อ และการดูแลยางรถยนต์และล้อแม็กทุกประเภท เป็นต้น
โมเดลธุรกิจแบบนี้น่าสนใจตรงที่ Bridgestone ไม่ได้มองว่าตัวเองต้องเป็นแบรนด์ยางรถยนต์อย่างเดียว แต่..ต้องการเป็นแบรนด์ที่จะตอบโจทย์ทุกการเดินทางอย่างครบวงจร และประโยชน์ก็จะส่งกลับไปให้แบรนด์สร้างยอดขายได้
แต่การจะทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องบอกว่าธุรกิจหลักจำเป็นต้องแข็งแกร่งก่อน
เพื่อให้ลูกค้าไว้ใจและเชื่อว่าสินค้าอื่นๆ ของแบรนด์มีคุณภาพสูง
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ก็เลยทำให้นโยบายการผลิตยางของ Bridgestone ในทุกโรงงานทั่วโลกจะพิถีพิถันมีเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต
โดยประเทศไทยก็เป็นที่ตั้งโรงงานของ Bridgestone ด้วย และมีบริษัทในเครือรวม 15 บริษัทฯ ในประเทศไทย
ที่ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ตั้งแต่การผลิต การขาย ศูนย์บริการ และโลจิสติกส์ ซึ่งการผลิตยางทุกเส้นของ Bridgestone จะผ่านการทดสอบด้วยทีม R&D ลงไปสำรวจจริงๆ เพื่อให้การผลิตยางทุกรุ่นเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้รถใช้ถนนที่สุด
อีกทั้งยังมีการเทสผ่านสนามทดสอบ Bridgestone Proving Ground บนพื้นที่ กว่า 329 ไร่ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอยุธยา ดูแลทั้งหมดด้วยทีมวิศวกรของ Bridgestone เอง
โดยสนามแห่งนี้มีพื้นผิวทดสอบที่หลากหลาย เพื่อให้แน่ใจว่า ยางทุกรุ่น สามารถวิ่งได้ดีในทุกสภาพการใช้งานและสภาพถนน
จากเรื่องทั้งหมดนี้น่าจะเห็นได้ว่า การทำธุรกิจที่หวังผลกำไรอย่างเดียวไม่สามารถอยู่ได้ยั่งยืน สักวันจะต้องล่มสลายลง
แต่ธุรกิจที่มองไปที่ลูกค้าก่อนจะมีโอกาสอยู่ได้ในระยะยาว
ดังตัวอย่างที่ Bridgestone ผลิตยางรถยนต์ที่ครอบคลุมทุกประเภทการใช้งาน ก็เพื่อประโยชน์ของลูกค้าเอง
และการให้ความสำคัญกับการผลิตยางรถยนต์คุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเป็นการรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คน และสังคม
และการทำทุกอย่างนี้ต้องอาศัยการทำอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน เหมือนอย่างที่ Bridgestone ทำมาตลอดถึง 89 ปี แล้วนั่นเอง..
โฆษณา