Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Macro Story by Blackbox4.0
•
ติดตาม
6 ส.ค. 2020 เวลา 13:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ธรรมชาติการขึ้นลงของราคาทองคำบนโลก Modern Investment
ในวันที่ราคาทองคำราคาขึ้นไปทำจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยราคาทะลุบาทละ 30,000 บาท ไปแล้ว คนจำนวนมากตั้งข้อสงสัยว่า นี่คือราคาที่ควรซื้อหรือควรขายกันแน่ ?? หลายคนอยากซื้อแต่ก็กลัวดอย หลายคนอยากขาย แต่ก็กลัวขายหมู สรุปแล้ว เราควรจะมีกระบวนการคิดเรื่องของราคาทองอย่างไร ??
.
ความจริงแล้ว ในแง่ของการ ‘ลงทุน’ บนทองคำ เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า แม้ทองคำจะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่วนมากมีบทบาทหน้าที่ในแง่เป็นวัตถุดิบต้นน้ำของภาคการผลิต แต่ในความเป็นจริง ทองคำไม่ได้มีคุณค่าบนการเป็นวัตถุดิบของภาคการผลิตเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ บทบาทหน้าที่ที่แท้จริงของทองคำบนจิตวิทยาของคนทั่วโลก คือการมองเป็นทองคำเป็นเสมือน ‘เงิน’ อีกหนึ่งสกุล ซึ่งเป็นเงินที่อยู่กันคนละระบบกับระบบการเงินโลกในปัจจุบันนี้ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘dollar system’ นั่นเอง
.
ดังนั้น ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา นับตั้งแต่ทองขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1921 ดอลล่าร์สหรัฐต่อออนซ์ ก่อนจะเข้าสู่ตลาดหมี ยาวมาจนถึงปลายปี 2018 ในช่วงเวลา 6-7 ปีที่เป็นตลาดหมีของทองคำ มันได้สร้างแนวคิดรูปแบบใหม่ให้กับนักลงทุนรุ่นใหม่ นั่นคือทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ควรลงทุน เพราะไม่มีมูลค่าในเชิงการผลิต ความต้องการใช้ทองคำในกระบวนการผลิตบนโลกนี้มีน้อยมาก จึงมีความเชื่อว่า เพราะทองคำไม่ถูกนำมาใช้ จึงไม่มีความต้องการ ราคาจึงสะท้อนความไม่ต้องการทองคำของโลกใบนี้ด้วยการปรับตัวลงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา
แต่ความเป็นจริงคือ ตั้งแต่แรก ทองคำก็ไม่ได้มีมูลค่าบนการผลิตสินค้าใดๆ อยู่แล้ว แต่ทองคำมีมูลค่าบนคุณสมบัติทางการเงิน ที่ในอดีต โลกของเราใช้ทองคำเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อผลิตเงินกระดาษออกมา หรือที่เราเรียกกันว่า ‘Gold Standard’ เมื่อโลกเราออกจากระบบ Gold Standard มาใช้ระบบ Dollar System ทองคำจึงกลายเป็น ‘เงิน’ ที่อยู่นอกระบบ และยังคงมีคุณสมบัติของเงินที่สำคัญประการหนึ่ง คือความสามารถในการ ‘Store of Value’ หรือความสามารถในการกักเก็บมูลค่า เพราะทองคำยังมีคุณสมบัตินี้อยู่ ทองคำจึงถูกนักลงทุนมองว่ามันคือเงินอีกหนึ่งสกุล ไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์เพื่อใช้ในการผลิต
.
ในเมื่อทองคำถูกมองว่าเป็นเงินอีกสกุลหนึ่ง และถูกกำหนดราคาในรูปแบบของเงินดอลล่าร์สหรัฐ ธรรมชาติการขึ้นลงของทองคำจึงมีความสัมพันธ์กับระบบเงินแบบ dollar system ไปโดยปริยาย เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การมีอยู่ของระบบเงินนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการเติบโตของเศรษฐกิจบนโลกใบนี้ ระบบการเงินที่ดี จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต ในขณะที่ระบบการเงินที่แย่ จะไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตได้ และบน dollar system ที่เราใช้มาเกินกว่า 100 ปี ก็มีทั้งช่วงเวลาที่สร้างให้เศรษฐกิจเติบโต และมีทั้งช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย ทองคำซึ่งเป็นเงินอีกหนึ่งสกุลนอกระบบ จึงกลายเป็นสินทรัพย์ที่ใช้บริหารความเสี่ยงในยามที่เศรษฐกิจและระบบเงินมีความอ่อนแอ
เมื่อเข้าใจว่าทองคำคือเงินอีกสกุลหนึ่ง ไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ทั่วๆ ไป เราจึงต้องมองทองคำจากเลนส์เฉพาะตัวของทองคำ ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในยามที่เศรษฐกิจเติบโต นั่นเป็นช่วงเวลาบริษัทน้อยใหญ่มีความสามารถในการทำกำไรได้อย่างมั่นคง มีความสามารถในการชำระหนี้ มีความสามารถในการเติบโต นี่เป็นช่วงเวลาที่เงินทุกสายวิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้น เพราะแม้หุ้นจะได้ชื่อว่าเป็นสินทรัพย์เสี่ยง แต่ตราบใดที่ตัวบริษัทมีความมั่นคง และอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น ตราบนั้นความเสี่ยงของหุ้นจะลดลงตามความสามารถในการเติบโตของบริษัท
ดังนั้น เมื่อเทียบกับทองคำที่เป็นทรัพย์สินที่ถือเอาไว้เฉยๆ เพื่อรอให้มูลค่าเพิ่มขึ้น ในช่วงเศรษฐกิจเติบโต เงินจึงไหลจากทองคำไปหาทรัพย์สินอื่นที่มีความสามารถในการทำผลตอบแทนได้มากกว่า เพราะมันเป็นเวลาที่นักลงทุนไม่ต้องการเก็บเงินไว้ใน safe heaven กลับกัน มันเป็นเวลาที่นักลงทุนต้องการ Leverage หรือหาตัวคูณ เพิ่มความเสี่ยง เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าในสภาวะเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยให้เสี่ยง
จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต นักลงทุนมีความสุขอยู่ในตลาดหุ้น บริษัทประกาศผลกำไรที่นักลงทุนพอใจ จึงเป็นช่วงเวลาฝันร้ายของทองคำที่ราคาปรับลงมาเรื่อยๆ
1
2. ทองคำ = พันธบัตรไม่มีวันหมดอายุ ที่ให้ผลตอบแทน 0%
ถ้าถามว่า ทองคำสามารถเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินในระบบ Dollar System อะไรได้บ้าง คำตอบคือ ทองคำสามารถเทียบได้กับพันธบัตรรัฐบาล เครดิตเรตติ้ง AAA ที่ไม่มีวันหมดอายุ และให้ผลตอบแทนที่ 0%
คำถามที่สำคัญคือ นักลงทุนจะมองหาสินทรัพย์ประเภทนี้เมื่อไหร่ ??
คำตอบก็คือ เมื่อสภาวะระบบการเงินและเศรษฐกิจหดตัว มีความเสี่ยงสูง เมื่อข้างนอกมีความเสี่ยงสูง สิ่งที่นักลงทุนทำเหมือนกันทั่วโลกคือต้องการเอาเงินของตัวเองไปเก็บไว้ในที่ๆ ไม่มีความเสี่ยง ซึ่งที่ๆ ไม่มีความเสี่ยงตามหนังสือเรียนด้านการเงินการลงทุนทุกเล่ม เขียนไว้เหมือนกันว่า ทรัพย์สินที่ไม่มีความเสี่ยงคือพันธบัตรรัฐบาลที่มีเครดิตเรตติ้ง AAA
ประเด็นคือ บนโลกของเรานี้ พันธบัตรรัฐบาลที่มีเครดิตเรตติ้ง AAA คือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แต่แม้กระทั่งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็ยังให้ผลตอบแทนเล็กน้อยอยู่บ้างตามนโยบายของธนาคารกลาง ดังนั้น ในยามที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงของการหดตัว หากให้เลือกระหว่างลงทุนบนทรัพย์สินปลอดภัยที่มีผลตอบแทน และมีอายุการลงทุนกำกับ สามารถไถ่ถอนคืนตามเวลาที่ถูกกำหนด กับการลงทุนบนทรัพย์สินปลอดภัยที่ไม่มีผลตอบแทน และไม่มีระยะเวลากำหนด หากอยากไถ่ถอนคืน ต้องไปถามมิสเตอร์มาร์เก็ตที่ดูแลทองคำว่าในเวลานี้หากอยากไถ่ถอนทองคำ เราสามารถไถ่ถอนได้ที่ราคาเท่าไหร่ ดังนั้น เมื่อเทียบกันแล้ว ในการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐก็ยังคงถือเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยและสบายใจกว่าทองคำ แถมยังมีอัตราดอกเบี้ยให้นักลงทุนอีกด้วย
แล้วเมื่อไหร่ที่นักลงทุนจะเลือกทองคำแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ??
นักลงทุนจะเลือกทองคำก็ต่อเมื่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐเป็น 0 และความเสี่ยงบนสินทรัพย์เสี่ยงมีมากเกินไป เมื่อความเสี่ยงบนสินทรัพย์เสี่ยงมีมากเกินไป สิ่งที่นักลงทุนทำคือ ลดขนาดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และย้ายเงินมาที่สินทรัพย์ไม่เสี่ยงแทน แต่เพราะทองคำมีอีกหนึ่งคุณลักษณะที่พันธบัตรไม่มี นั่นคือคุณสมบัติของความเป็นเงินนอกระบบดอลล่าร์ ทำให้การลงทุนบนทองคำในช่วงที่ระบบ dollar system มีความอ่อนไหวกลายเป็นสิ่งจำเป็น หลายๆ ครั้ง เราจึงมักได้ยินคำว่า ‘มีทองคำไว้เพื่อ hedge พอร์ต’ ซึ่งหมายความถึงการเก็บทองคำไว้ในพอร์ตเพื่อควบคุมความเสี่ยงบนการเสื่อมค่าของเงินตรา อันเป็นคุณสมบัติที่พันธบัตรไม่มี
3. ปริมาณเงินที่ถูกสร้างขึ้นบนโลก
Credit chart : CrossBorder Capital // M2 คือปริมาณเงินในระบบ เทียบกับราคาทองคำ
ในระบบการเงินแบบระบบดอลล่าร์ นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ปรากฏว่าธนาคารกลางสหรัฐเลือกที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบแทนการรีเซ็ทตั้งค่าราคาทรัพย์สินใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของเศรษฐกิจที่หดตัวเล็กลง และให้เศรษฐกิจทำงาน เติบโตได้ด้วยตัวเอง
ผลจากการดำเนินนโยบายนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ในปี 2008 ว่ามาตรการพิมพ์เงินนี้จะทำให้เกิดเงินเฟ้อขนานใหญ่จากปริมาณเงินที่จะท่วมเข้ามาในเศรษฐกิจ จากการคาดการณ์เงินเฟ้อนี้ ทำให้ราคาทองพุ่งสูงขึ้นจนกระทั่งทำจุดสูงสุดที่ราคา 1921 ดอลล่าร์สหรัฐต่อออนซ์ ในปี 2011 อย่างไรก็ตาม หากไปดูข้อมูลปริมาณเงินที่อยู่ในระบบจริงๆ ปรากฏว่าราคาทองคำนั้นวิ่งเลยปริมาณเงินในระบบที่มีอยู่จริงไปไกลมาก อีกทั้งเงินเฟ้อที่คาดว่าจะมีก็กลับไม่มี เมื่อไม่มีเงินเฟ้อ ก็กลับมาสะท้อนที่ปริมาณเงินว่าการเติบโตของเงินในระบบไม่ได้ใหญ่โตเท่าที่คิดไว้ตอนแรก ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีการเติบโต ผลตอบแทนในสินทรัพย์เสี่ยงคุ้มค่ามากกว่าการถือทองคำเพื่อหวังมูลค่าทองคำที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ราคาทองคำเปลี่ยนจากตลาดกระทิงมาเป็นตลาดหมีนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
มาถึงในวันนี้ราคาทองคำกลับมาสมดุลกับปริมาณเงินดอลล่าร์ที่ไหลเวียนอีกครั้ง แต่ด้วยการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐกลับมาทำนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างหนักอีกครั้ง ปริมาณเงินดอลล่าร์ไหลเข้าระบบมาอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้ราคาทองคำวิ่งตามปริมาณเงินที่สูงขึ้นอีกครั้ง
จากความสัมพันธ์นี้นี่เอง ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่าปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีผลต่อราคาทองคำ ดังนั้นตราบใดที่นโยบายจากธนาคารกลางสหรัฐยังคงไฟเขียวเรื่อง QE แบบไม่จำกัด รวมทั้งมีความคาดหวังเรื่องเงินเฟ้อที่จะเกิดในอนาคต ราคาทองคำก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน
บทสรุป
ความจริงปัจจัยที่มีผลต่อทองคำยังมีอีก เช่นเรื่อง Supply หรือความสามารถในการผลิตทองคำ รวมไปถึงปัจจัยด้านความเสี่ยงเชิงการเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitical) แต่ในฐานะนักลงทุน เพียงแค่ปัจจัยที่เหล่านี้ที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างชัดเจน ก็เพียงพอแล้วที่จะเข้าใจการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยที่ทองคำจะราคาตกในวันที่สถานการณ์เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น ระบบเงินแข็งแรง ยิ่งหากมีนโยบายรัฐสนับสนุนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมาจากนโยบายทางการเงินหรือการคลัง การลดอัตราดอกเบี้ย การอัดฉีดเงินเข้าระบบต่างๆ ทองก็จะยิ่งได้รับความสนใจน้อยลง ทุกสายตาหันไปหาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าอย่างหุ้น หรือการลงทุนที่ได้ปันผลหรือดอกเบี้ย อย่างการลงทุนบนหุ้นกู้
แต่ทองคำจะได้รับความสนใจมากขึ้นและกลับเป็นขาขึ้น ในวันที่เศรษฐกิจอ่อนแอลง เมื่อความเสี่ยงบนทรัพย์สินเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เมื่อเริ่มมีความหวาดกลัวเงินเฟ้อและการตกต่ำของระบบดอลล่าร์ นี่จะเป็นวันที่เงินไหลมาสู่ทองคำเพราะถนนทุกสายจะพุ่งตรงสู่ทรัพย์สินที่อยู่นอกระบบดอลล่าร์และสามารถรักษามูลค่าได้ ยิ่งในสถานการณ์ที่มีการอัดฉีดเงินมหาศาล แต่ความเสี่ยงบนเศรษฐกิจจริงและบนตลาดหุ้นกลับเพิ่มสูงขึ้น ความคาดหวังจะได้เห็นอัตราเงินเฟ้อในอนาคตกลับมาอีกครั้ง เมื่อรวมทุกปัจจัยเข้าด้วยกัน เราจะพบว่าล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินไหลมาที่ทองคำทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งเพื่อบริหารความเสี่ยง อีกส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้จะเอาเงินไปลงทุนที่ไหน นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมทองคำในวันนี้จึงราคาสูงขึ้นจนทะลุจุดสูงสุดเก่าไปแล้ว
และหากถามว่า เราจะขายทองเมื่อไหร่ แน่นอนว่าทองคำมีความเสี่ยงบนปริมาณเงินที่เปลี่ยนแปลง หากสหรัฐเลิกนโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบ ราคาทองคำอาจถูกกระทบ แต่ในขณะเดียวกัน การเลิกอัดฉีดเงินเข้าระบบของสหรัฐ จะส่งผลให้ความเสี่ยงบนระบบเงินดอลล่าร์เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ทองคำยังคงเป็นทรัพย์สินเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับประโยชน์จากในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและความไม่แน่นอนของดอลล่าร์
.
ในทางกลับกัน ทองจะเป็นขาลงอย่างชัดเจนแน่นอน หากเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดีขึ้น เครื่องจักรเศรษฐกิจกลับมาทำงานและเติบโตได้ ระบบเงินกลับมามีประสิทธิภาพอีกครั้ง รวมทั้งหากเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้ราคาทองคำนำหน้าปริมาณเงินในระบบมากเกินไป สุดท้าย ราคาทองก็ต้องกลับมาสมดุลกับปริมาณเงินในระบบ ด้วยการที่เงินออกจากทองคำไหลไปสู่สินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้มากกว่านั่นเอง
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับ Macro Investment เพิ่มเติมได้ที่
https://m.facebook.com/blackbox4.0bymei
// Blackbox4.0 by Mei
15 บันทึก
48
12
15
48
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย