7 ส.ค. 2020 เวลา 00:19 • ธุรกิจ
5 เทคนิคการฟังสำหรับผู้นำที่ดี
การฟังเป็นทักษะสำคัญที่ผู้นำหลายคนมักตกม้าตาย ผู้นำที่สนใจแต่ความคิด ความต้องการตัวเอง แล้วไม่ฟังคนอื่น จะทำให้น้องรู้สึกอึดอัดเวลาคุยด้วย น้องจะแค่ทำงานตามหน้าที่ แต่ไม่ได้มีแรงบันดาลใจในการทำงานเท่าที่ควร เพราะเสนออะไรไป หัวหน้าก็ไม่ฟัง งั้นไม่พูดดีกว่า กลายเป็นส่งผลกระทบทั้งงานและความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและน้อง ผลงานที่ออกมา ก็ดีไม่สุด มันสามารถดีกว่านี้ได้อีก ถ้าผู้นำฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี
วันนี้เลยเอาเทคนิคการฟังมาฝาก 5 ข้อตามนี้ค่ะ
1. ไม่พูดแทรก หรือตัดบท
1
ถ้าหัวหน้าพูดแทรก หรือตัดบทบ่อยๆ จะทำให้น้องไม่อยากพูด ไม่อยากแสดงความเห็น ไม่อยากเสนอไอเดีย วิธีแก้ปัญหาต่างๆ หรือ ปัญหาแท้จริงที่หน้างาน น้องก็ไม่อยากจะเล่าให้ฟัง และอาจกลายเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรมอีกด้วย
หัวหน้าต้องฝึกอดทน อดกลั้นสักหน่อย ถ้าอยากได้ยินอะไรดีๆแบบที่คาดไม่ถึง แล้วคุณจะพบว่า ความคิดเห็นของน้องคุณนี่ไม่ธรรมดานะ
2. ฟังอย่างเป็นกลาง ไม่ตัดสิน ไม่อคติ ไม่มีธงในใจ
ไม่ต่างจากข้อแรกเลย การฟังแบบตัดสิน มีอคติ มีคำตอบในใจอยู่แล้ว เป็นการผลักไสผู้ฟังออกไป และสร้างกำแพงขึ้นมา ทำให้เขาไม่อยากพูดต่อ
น้องก็จะไม่อยากเสนอแล้ว เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อถูกตัดสิน และพูดไปก็แค่นั้น สุดท้ายต้องเอาตามพี่อยู่ดี
แต่อย่าลืมนะ คุณเป็นผู้นำ คุณคงไม่อยากทำงานหนักคนเดียวใช่มั้ย ถ้าคุณอยากให้น้องกระตือรือร้น ทุ่มเท คุณต้องให้เขามีส่วนร่วมแสดงความเห็นด้วย เขาถึงจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของในงานมากขึ้น (sense of ownership)
และถ้าคุณเลือกจะให้เขามีส่วนร่วมแสดงความเห็นแล้ว คุณก็ต้องฟังอย่างมีสติ เป็นกลาง ไม่ตัดสิน ไม่ตั้งธงในใจไว้ก่อน น้องของคุณเขารู้นะ ว่าคุณตัดสินเขาอยู่มั้ย คุณมีธงในใจมั้ย
ไม่เชื่อคุณลองถามตัวเองสิ ว่าคุณสัมผัสได้มั้ยว่าใครที่ฟังคุณจริงๆ และฟังแบบเป็นกลาง ไม่ตัดสินไม่มีธงในใจ คุณเองก็สัมผัสได้ใช่มั้ย น้องของคุณก็สัมผัสได้เช่นกัน
3. ฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ถ้าคุณฟังแล้วรับรู้ถึงความรู้สึกน้องได้ เช่น เขามีความกังวล ไม่สบายใจ เครียด อึดอัด หรือสนุกกับงาน ตื่นเต้น มีความสุข เป็นต้น หากคุณรับรู้ความรู้สึกเขา และแสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจเขานะหากเขาไม่สบายใจหรือกังวล คุณจะเริ่มเข้าไปนั่งในใจน้องเลยแหละ เขาจะรับรู้ได้ว่าคุณแคร์เขา ไม่ใช่จะไล่บี้เอาแต่งาน แต่ไม่สนใจความรู้สึกเขาเลย
คุณจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เข้าใจเขามากขึ้น เมื่อคุณลองสมมุติตัวเองว่าคุณเป็นเขา เสมือนไปใส่รองเท้าของเขา (put yourself in thier shoes) แล้วดูซิว่าเขาเผชิญอะไรอยู่บ้าง มีข้อจำกัดอะไรบ้าง คุณจะเข้าใจน้องมากขึ้น
หรือถ้าเขาสนุก มีความสุข และคุณมีอารมณ์ร่วมด้วย เขาจะรู้สึกconnect กับคุณ เหมือนเป็นเพื่อนกัน เป็นพวกเดียวกัน
การฟังแบบนี้จะทำให้น้องรู้สึกเปิดใจ กล้าพูดสิ่งที่อยู่ในใจกับคุณมากขึ้น เมื่อเขากล้าพูด ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม จะถูกเอามาวางบนโต๊ะ แล้วช่วยกันหาทางออก หรือ มีการแลกเปลี่ยนต่อยอดความเห็นมากขึ้น นำไปสู่ทางแก้ปัญหาที่ดีขึ้น
4. ตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจความคิดน้องอย่างแท้จริง และถามความเห็น
ให้คุณลองถามโดยมีเจตนาเพื่อเข้าใจความคิด ความรู้สึกน้องจริงๆ ไม่ใช่ถามแบบสอบสวน จับผิด หรือพยายามโน้มน้าวให้เขาคิดเห็นแบบคุณ เพราะบางครั้ง คนมีความแตกต่างกัน ข้อจำกัด หรือสถานการณ์ที่เจอต่างกัน การแนะนำ หรือพยายามทำให้เขาคิดแบบคุณ มันอาจไม่ใช่ทางแก้ที่เหมาะกับเขาเสมอไป คุณกำลังพยายามเอาความคิดคุณไปครอบเขาอยู่ และไม่มีใครชอบการถูกบังคับหรอก คุณต้องถามความเห็นเขาด้วย
ถ้าคุณอยากได้ข้อมูล อยากฟังความเห็น อยากเข้าใจความคิดน้อง คุณต้องใช้คำถามปลายเปิด เขาจะตอบได้ง่ายกว่าคำถามปลายปิด เช่น น้องคิดยังไงบ้างกับเรื่องนี้, ตอนนี้สถานการณ์เป็นยังไงบ้าง, น้องคิดว่าเรามี choice อะไรบ้างที่จะรับมือกับเรื่องนี้, น้องคิดว่า option นี้มีข้อดี-ข้อเสียยังไง, แล้วอีก option ล่ะ มีข้อดี-ข้อเสียยังไง, อันไหนดีกว่ากัน เพราะอะไรหรอ น้องคิดยังไงบ้าง, ถ้าทำแบบนี้จะเป็นยังไง, แบบนี้มีความเสี่ยงยังไงบ้าง ปิด gap ยังไงดี, เพราะอะไรน้องถึงคิดแบบนี้ ลองเล่าให้พี่ฟังเพิ่มหน่อย จะได้เข้าใจน้องมากขึ้น เป็นต้น
คำถามลักษณะนี้ จะเชิญชวนให้น้องอยากเสนอความเห็นมากขึ้น และเป็นการฝึกให้น้องคิดเก่งขึ้นด้วย แทนที่จะมารอพี่สั่งอย่างเดียว พี่คิดคนเดียวก็เหนื่อยนะ ถ้าตั้งคำถามชวนน้องช่วยคิดด้วย คุณก็มีผู้ช่วยเพิ่มขึ้น
ถ้ากลัวว่าน้องจะคิดว่าวันนี้เรามาแปลกแฮะ ตั้งคำถามรัวๆ คุณก็บอกน้องไปตั้งแต่ต้นเลยว่า วันนี้พี่อยากฟังความเห็นน้องด้วย พี่เชื่อว่าน้องมีไอเดียดีๆ น้องอยู่หน้างานย่อมรู้รายละเอียดดี งั้นวันนี้พี่อาจจะถามความเห็นเราเยอะหน่อยนะ ไม่ต้องแปลกใจ
แต่ถ้าน้องคุณใหม่สดซิง ไม่มีประสบการณ์ ไม่ต้องถามให้เหนื่อยนะ เพราะน้องไม่เคยทำงานนี้มาก่อน จะรู้ได้ยังไง น้องตอบไม่ได้หรอก คุณก็ต้องสอนเขาเยอะหน่อย สอนเสร็จ ให้เขาไปลองทำ แล้วค่อยตั้งคำถามหลังจากเขาเริ่มมีประสบการณ์ได้ลองทำแล้ว
กับอีกกรณี ที่งานด่วนมากๆ รีบมาก ต้องการคำตอบด่วนๆ ไม่งั้นจะไม่ทันการณ์ แบบนี้ไม่ต้องมัวตั้งคำถามนะ เพราะไม่ทันทำมาหากิน คุณก็บอกน้องไปเลยว่าจะเอาอะไร ให้เขาทำอะไร
พอไปจัดการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ค่อยกลับมานั่งคุยกัน ว่าที่ทำไปเป็นยังไงบ้าง ได้เรียนรู้อะไร ถ้ามีครั้งหน้าอีกจะรับมือยังไงดี เป็นต้น
5. ทวนความ สรุปประเด็น
เวลาพูดคุยกัน มันมีข้อมูลเยอะแยะ ให้คุณพูดทวน (paraphrase) และสรุปประเด็นเป็นช่วง เพื่อ confirm ว่าคุณเข้าใจน้องถูกมั้ย ถ้าตรงไหนไม่ใช่ จะได้คุยขยายความเพิ่มให้เข้าใจตรงกันมากขึ้น นอกจากนี้ การทวนจะทำให้น้องรู้สึกด้วยว่า "คุณตั้งใจฟังเขาอยู่" เพราะถ้าคุณไม่ตั้งใจฟัง มัวแต่คิดนั่นนี่ ตัดสินน้อง มีอคติ มีคำตอบ/มีธงในใจ คุณจะทวนไม่ได้หรอก เพราะคุณไม่ได้ฟัง ถ้าคุณทวนได้ สรุปประเด็นได้ แสดงว่าคุณตั้งใจฟัง ซึ่งนั่นจะทำให้น้องรู้สึกดีกับคุณ และยังอยากคุย อยากเสนอความเห็นกับคุณต่อด้วย น้องจะกระตือรือร้นในสิ่งที่เขานำเสนอ และมีไฟอยากรีบกลับไปทำงานในสิ่งที่เขาเสนอเชียวแหละ
ทั้งหมดนี้คือ 5 เทคนิคการฟังที่จะช่วยให้คุณและน้อง ทำงานแบบได้ใช้ศักยภาพมาผลิตผลงานมากขึ้น และความสัมพันธ์ดีขึ้นด้วยนะ
มีความเห็นยังไงกันบ้าง หรืออยากให้เล็กแชร์ content เกี่ยวกับเรื่องอะไร commentได้ที่ใต้โพสเลยค่ะ 😊
✅ อีกช่องทางติดตามข้อคิดดีๆเพื่อให้หัวหน้าและลูกน้องสร้างความสำเร็จร่วมกันค่ะ 😊
โฆษณา