7 ส.ค. 2020 เวลา 05:29 • ข่าว
FOCUS : ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการกดดันประเทศจีนอย่างรุนแรงอีกครั้ง โดยการลงนามในกฏหมายสั่งแบน TikTok และ WeChat มีผลบังคับใช้ภายใน 45 วันหลังจากนี้
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งบริหารใหม่ของเขา ซึ่งจะเป็นการห้ามไม่ให้ประชาชนหรือบริษัทที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ร่วมหรือทำธุรกิจกับ TikTok และ WeChat ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าของอยู่ โดยจะมีผลบังคับใช้ภายใน 45 วันหลังจากนี้
เขากล่าวว่าทั้ง 2 แอปพลิเคชั่นนี้มีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากมีการส่งออกข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันให้แก่รัฐบาลปักกิ่ง
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับที่ทรัมป์ผลักดันให้ ByteDance Ltd. ของจีนขายกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ ให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกัน รวมถึงในอีก 3 ประเทศคือแคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นหลังจาก Michael Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกมากระตุ้นให้ธุรกิจต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ลบทั้ง 2 แอปพลิเคชั่นดังกล่าว และบริการที่ไม่น่าไว้วางใจอื่น ๆ ของจีนออกจากร้านค้าของพวกเขา
แน่นอนว่าจะมีบทลงโทษสำหรับบริษัทอเมริกันที่ทำธุรกรรมใด ๆ ร่วมกับ TikTok และ WeChat เช่นกัน หลังจากที่กฏหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว
"เพื่อป้องกันชาติของเรา ผมได้ดำเนินการเพื่อจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดจากแอปพลิเคชั่นเพียงตัวเดียวในมือถือ นั่นก็คือ TikTok นอกจากนี้สหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการเพื่อจัดการกับแอปพลิเคชั่นที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน ซึ่งก็คือ WeChat" ทรัมป์กล่าว
การสั่งแบน TikTok และ WeChat คือสัญญาณสำคัญของความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกขั้นระหว่าง 2 วอชิงตันและปักกิ่ง โดยทรัมป์กำลังเผชิญหน้ากับสีจิ้นผิงอย่างเปิดเผยเพื่อลดอำนาจทางเทคโนโลยีในระดับโลกของจีน ขณะที่การเลือกตั้งครั้งถัดไปมีกำหนดการจะจัดขึ้นในอีกไม่ถึง 90 วันต่อจากนี้
นับเป็นการท้าทายครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และทรัมป์กำลังทำให้ความท้าทายของเขาต่อประเทศจีนกลายเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่เขาได้รับคะแนนตามหลัง Joe Biden อยู่ค่อนข้างชัดเจนในแบบสำรวจความคิดเห็นของประชากรเบื้องต้น
Paul Triolo หัวหน้าฝ่ายนโยบายเทคโนโลยีระดับโลกของ Eurasia Group กล่าวว่า
"นี่เป็นอีกช่วงเวลาในตอนต้นของสงครามเย็นทางด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดเป้าหมายเป็นแอปจีนยอดนิยมทั้ง 2 ซึ่งเบื้องต้นพวกเขาบอกว่ามันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และสิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความกังวลใจอย่างมากของสหรัฐฯ เอง"
ทางฝั่ง TikTok และ WeChat ไม่ได้ตอบสนองต่อเรื่องนี้โดยทันที ณ ปัจจุบัน
เมื่อสัปดาห์ก่อน ทรัมป์ได้ขู่ที่จะแบน TikTok หาก ByteDance ไม่ยอมขายธุรกิจของเขาให้กับบริษัทของสหรัฐฯ ภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ โดย Microsoft กำลังเป็นผู้เข้าเจรจาถึงความเป็นไปได้ในการซื้อ TikTok ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่มีการดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 2 พันล้านครั้งทั่วโลก และมากกว่า 165 ล้านครั้งในสหรัฐอเมริกา
อนึ่ง บริษัททางด้าน Software แห่งอื่น ๆ นอกจาก Microsoft ต่างก็มุ่งหวังที่จะเข้าซื้อ TikTok ในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ส่วน WeChat คือแอปพิลเคชั่นส่งข้อความที่พัฒนาโดย Tencent Holdings Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีของจีน หลังจากนั้นจึงได้พัฒนาเป็นแอพอเนกประสงค์สำหรับผู้ใช้งาน เช่นการชำระเงินผ่านระบบดิจิตอล การดำเนินธุรกิจ E-commerce และอื่น ๆ
WeChat เป็นอีก 1 ในแอปพลิเคชั่นของจีนที่ได้รับความนิยมในระดับสูงสุดของโลก โดยมียอดผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านคนจากนานาประเทศ รวมถึงบริษัท Starbucks Corp ก็ใช้งานแอปพลิเคชั่นนี้สำหรับการให้บริการลูกค้าในประเทศจีน
Tencent Holding Ltd. คือ 1 ในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดของจีน และ Pony Ma ผู้บริหารของบริษัทก็เป็น 1 ในผู้นำธุรกิจจำนวนมากซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสภาประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress) และรัฐสภาตรายางแห่งประเทศจีน (China’s rubber-stamp parliament)
ขณะที่ทรัมป์เคลื่อนไหวภายใต้พระราชบัญญัติอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ (International Emergency Economic Powers Act, IEEPA) ซึ่งเป็นกฏหมายตั้งแต่ปี 1977 ที่อนุญาตให้ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ สามารถประกาศมาตรการตอบโต้ฉุกเฉินต่อภัยคุกคามที่ผิดปกติและมีความซับซ้อนกว่าภัยคุกคามทั่วไป ทำให้เขาสามารถปิดกั้นการทำธุรกรรมของบริษัทนั้น ๆ รวมถึงยึดทรัพย์สินได้
ในคำสั่งแบน TikTok ทรัมป์ระบุว่า
"แอพมีการเก็บข้อมูลผู้ใช้จำนวนมหาศาลโดยอัตโนมัติ ซึ่งรวมถึงข้อมูลตำแหน่ง (Location) และประวัติการค้นหาต่าง ๆ (Browsing History) ซึ่งการเก็บข้อมูลเช่นนี้ถือเป็นการคุกคามประเทศและเป็นการช่วยเหลือให้พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกัน รวมถึงข้อมูลที่มีค่าและทรัพย์สินทางปัญญา"
"นอกจากนี้อาจเป็นการเปิดโอกาสให้จีนสามารถติดตามตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้ติดต่อของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลปักกิ่งสามารถเข้าถึงเอกสารข้อมูลลับ และสามารถแบล็กเมล์พวกเราได้ รวมถึงพวกเขาอาจดำเนินการเพื่อจารกรรมข้อมูลของบุคคล หรือแม้แต่องค์กรต่าง ๆ"
Brian Fleming ซึ่งเคยทำงานในแผนกความมั่นคงแห่งชาติของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และปัจจุบันเป็นนักกฏหมายของบริษัท Miller & Chevalier ในกรุงวอชิงตัน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
"IEEPA จะมอบอำนาจอย่างมหาศาลให้กับประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ซึ่งจะประกาศภาวะฉุกเฉินในระดับชาติเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ"
TikTok กล่าวว่าข้อมูลผู้ใช้งานชาวอเมริกันได้ถูกเก็บไว้ในเซิฟเวอร์ของสหรัฐฯ และสิงคโปร์ ไม่ใช่ประเทศจีน แต่เงื่อนไขการให้บริการของบริษัทได้กำหนดไว้ว่า อาจจะมีการแชร์ข้อมูลต่าง ๆ กับบริษัทแม่ซึ่งก็คือ ByteDance Ltd. รวมถึงบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในเครือ
ขณะที่นโยบายความเป็นส่วนตัวในก่อนหน้านี้ ได้มีการเตือนผู้ใช้ว่าบริษัทจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับธุรกิจของจีน หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานสาธารณะได้หากจำเป็นต้องทำตามกฎหมาย
การสั่งแบน WeChat ในสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำธุรกิจข้ามพรมแดนระหว่างบริษัทของจีนและบริษัทอเมริกัน และอาจส่งผลกระทบต่อทุก ๆ อุตสาหกรรมนับตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงการแพทย์ เทคโนโลยี กฏหมาย และการธนาคาร
แม้ว่า WeChat จะไม่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐฯ แต่สำหรับประเทศจีน มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะดำเนินการใด ๆ โดยปราศจาก Wechat ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการทำธุรกิจ รวมถึงการส่งอีเมลและข้อความต่าง ๆ
เนื่องจากแอพส่งข้อความอื่น ๆ อย่างเช่น Whatsapp ของ Facebook Inc ได้ถูกสั่งแบนในประเทศจีนเช่นกัน ทำให้พวกเขาแทบจะไม่มีช่องทางสื่อสารกับผู้คนต่างประเทศเลย หากไม่มี WeChat
Graham Webster ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ติดตามเศรษฐกิจทางด้านดิจิตอลภายในประเทศจีน (China Digital Economy Fellow) ขององค์กรระดับมันสมองที่มีชื่อว่า "New America" กล่าวว่า
"การห้ามใช้ WeChat ในสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพราะในทางปฏิบัติแล้วนั้น การกระทำดังกล่าวจะปิดการสื่อสารระหว่างสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความกังวลอย่างแท้จริงเกี่ยวกับข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และความมั่นคงของชาติ"
"อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวกับแอปพลิเคชั่นทั้ง 2 ของจีนได้เป็นการเปิดฉากความขัดแย้งที่แท้จริงในบริบททางการเมือง"
โฆษณา