7 ส.ค. 2020 เวลา 11:22 • การศึกษา
จะตัดแต่ง หรือ ริดรอน
ตอนที่ลูกชายคนโตของเรายังเป็นเด็กตัวเล็กๆ ประมาณ 3-4 ขวบ จำได้ว่าเป็นเจ้าหนูน้อยที่ ดื้อมากๆ แม่พูดอะไรนี่ จะทำสิ่งที่ตรงกันข้ามเสมอ แม่บอกให้อาบน้ำ จะขอเล่นทราย พอลากเข้าไปอาบน้ำได้ ทีนี้ แม่ให้หยุดอาบ ก็เล่นน้ำไม่ยอมเลิกซะที
ลุง ป้า น้า อา คนอื่นในบ้าน บอกว่าเด็กคนนี้มันดื้อจัง โตกว่านี้ จะดื้อขนาดไหน
เราอ่านหนังสือจิตวิทยาภาษาอังกฤษ เจอคนเขียนแนะนำว่า ใครจะว่าลูกดื้อก็ให้เขาพูดไป แต่คนที่เป็นแม่ อย่าตีตราลูกว่า “ดื้อ” หรือ แปะป้ายติดตัวเด็ก ... เพราะ เด็กจะเชื่อในคำที่แม่พูด แล้วจะทำตัวเป็นเช่นนั้นไปจนโต
ดังนั้น เวลาที่ลูกจอมซน วัย 3-4 ขวบ ดื้อด้าน เราก็เลยต้องพยายามตั้งสติ อดทน อดกลั้น ระงับอารมณ์ ไม่พลั้งเผลอ เรียกลูกว่า “ไอ้เด็กดื้อ”
แต่ เปลี่ยนคำพูด เป็นทำนองตัดพ้อว่า “ลูกเนี่ย ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เลยนะ”
แล้วเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อลูกค่อยๆ โตขึ้น เขาก็ค่อยๆ พูดรู้เรื่องขึ้นไปตามวัย
.
.
.
ตัดภาพมา ตอนลูกชายคนนี้อายุสิบสองปี สอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนชื่อดัง ใกล้บ้าน
คุณครูเรียกเด็กเข้าไปสัมภาษณ์ก่อน เสร็จแล้วจึง ตามผู้ปกครอง เข้าไปในห้องสัมภาษณ์ด้วย
ตอนที่เราเข้าไปนั่งฟัง หนึ่งในครูที่สัมภาษณ์บอกว่า ชอบใจ ที่ลูกชาย ตอบคำถาม “ผลการเรียนชั้นประถมไม่ได้ดีมาก คิดว่าตัวเองจะเข้าเรียนที่นี่ได้หรือ เพราะอะไร”
ลูกชายวัยสิบสอง ตอบว่า “ผมว่าน่าจะได้ เพราะผมไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ !!”
.
.
.
ที่เล่าเรื่องนี้ เพราะอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อนๆ ที่เป็นพ่อแม่รุ่นน้องๆ ทั้งหลาย ที่กำลังเลี้ยงลูก เพาะกล้าอ่อน
ว่าคำพูดของพ่อแม่นั้น จะใช้ให้เป็นมีด ริดรอนกิ่ง ก้าน ใบ ให้ต้นแคระแกร็น
หรือ จะใช้ตัดตกแต่งใบที่โดนหนอนบ่อนแทะ ให้เติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ก็ขึ้นอยู่กับเรา
ฝรั่งมีคำพูดประโยคหนึ่งที่ว่า “It is easier to build strong children than to repair broken men.”
แปลเป็นไทยได้ว่า "การสร้างเด็กให้เข้มแข็งมั่นคงนั้น มันง่ายกว่า มานั่งซ่อมผู้ใหญ่ที่พุพัง"
สังคมทุกวันนี้ ที่เราเห็นเป็นข่าว ปัญหาใหญ่ ครึกโครม ส่วนหนึ่งก็เกิดจากผู้ใหญ่ที่พุพังทั้งหลาย
แต่พวกเราคนตัวเล็กๆ ทุกคนช่วยกันได้ สำหรับอนาคตในวันข้างหน้า ด้วยการฝึกฝนการใช้คำพูด
สื่อสารสร้างสุข เริ่มต้นวันนี้ ที่ครอบครัวของเรา
โฆษณา