7 ส.ค. 2020 เวลา 16:03 • การเมือง
สื่อกลัวอะไรบ้าง เมื่อประชาชนพูดถึงสถาบันกษัตริย์มากขึ้นแต่แทบไม่เป็นข่าว
เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา สัมภาษณ์และเรียบเรียง
กิตติยา อรอินทร์ กราฟิกประกอบข่าว
คุยกับคนข่าว เหตุใดประชาชนพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์มากขึ้น แต่กลับไม่ปรากฏบนหน้าข่าว หลายสำนักข่าวมีแนวทางการคัดกรองและเซ็นเซอร์ เพดานเป็นแบบนี้มานานอย่างน้อย 3 ทศวรรษ ม.112 และการอยู่รอดทางธุรกิจคือเหตุหลักแห่งความกลัว การมาของโซเชียลมีเดียลดทอนอำนาจการเซ็นเซอร์ สังคมควรถกเถียงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ได้แล้ว
การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ทั้งในทางล้อเลียนและการมีข้อเสนอที่เป็นทางการ ค่อยๆ ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การที่ประชาชนลุกฮือออกมาประท้วงในหลายจังหวัดตั้งแต่ 18 ก.ค. 2563 ป้ายข้อความล้อเลียน การพูดถึงการมีอยู่ของ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เรื่อยมาถึงการปราศรัยเรื่องปัญหาและทางออกของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยโดยอานนท์ นำภา คือภาพสะท้อนของเพดานการพูดถึงสถาบันฯ ที่กำลังอยู่ในขาขึ้น หลังถูกกดเอาไว้ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557
แม้ว่าการพูดถึงกำลังจะกลายเป็นเรื่องที่ทำกันทั่วไป แต่เนื้อหาเหล่านั้นกลับไม่ปรากฏในสื่ออย่างน่ามหัศจรรย์ หลายป้ายข้อความไม่ถูกรายงาน การพูดถึงรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสเป็นไปอย่างจำกัด มิพักต้องพูดถึงเนื้อหาการปราศรัยของอานนท์ที่หลายสำนักข่าวพร้อมใจตัดการถ่ายทอดสดเอาเสียดื้อๆ หากจะมีรายงานเป็นข่าวก็เพียงส่วนน้อย และส่วนมากเป็นการสรุปใจความสำคัญ
ประชาไทพูดคุยกับคนในวงการสื่อสารมวลชน พบว่าการเซ็นเซอร์และเพดานในการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในหมู่สื่อมวลชนมีที่มาที่ไปและเป็นระบบ
1
30 ปีที่เงียบงัน
“ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พูดถึงสถาบันในลักษณะการยกย่องเชิดชูบูชาเท่านั้น ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ที่เป็นเมนสตรีมทั้งหลายแหล่ จะพูดถึงในแง่เฉลิมฉลอง ยกย่อง เชิดชูบูชา โดยหลักแล้วสื่อมวลชนกระแสหลักมันร่วมมือกับรัฐ เขียนให้กับวาระของรัฐอยู่แล้วในแง่สถาบันกษัตริย์ ไม่มีแม้แต่การพูดถึงปัญหาบางอย่างแม้แต่ในเชิงเทคนิคทางกฎหมาย"
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น เล่าว่าสื่อมวลชนไทยไม่เคยพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในแง่ลบ ไม่แม้แต่จะกล่าวถึงปัญหาทางของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา จะมีที่โดดเด่นจนคาดไม่ถึงก็เพียงรายการ “ตอบโจทย์” ที่ออกอากาศในปี 2556 โดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่มีการเชิญแขกรับเชิญทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวามาพูดถึงการปรองดองและปัญหาเกี่ยวกับการพูดถึงและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ซีรีส์ตอบโจทย์ชุดดังกล่าวเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่สังคมไทยกำลังขยายเพดานการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ทั้งบนท้องถนน สภาผู้แทนราษฎร และข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยภาคประชาสังคมต่างๆ เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินไปท่ามกลางการดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่องและการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์จากสื่อต่างชาติ
ซีรีส์ชุดนั้นของตอบโจทย์ถูกวิจารณ์และกดดันจากประชาชนและผู้บริหารไทยพีบีเอสที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ก่อนถูกปลดออกจากผังรายการในเวลาต่อมา
สุภลักษณ์เล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่าหลังรัฐประหารปี 2549 เดอะ เนชั่นไม่มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์เลยไม่ว่าในกรณีใดๆ แม้แต่คำว่า Monarchy (สถาบันพระมหากษัตริย์) ก็เสมือนเป็นคำต้องห้าม ไม่ควรกล่าวถึงไม่ว่าจะในเงื่อนไขใดก็ตาม ความกลัวเช่นว่าเกิดจากการมีอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) กลัวว่าการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์จะถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำไปปั่นเป็นวาระทางการเมือง ไปจนถึงความรู้สึกส่วนตัวของคนในกองบรรณาธิการ
“ผมเขียน น่าจะครบรอบ 3 หรือ 4 ปี คสช. ตอนนั้นเทพชัย (เทพชัย หย่อง) ยังเป็น บ.ก. ใหญ่ เราก็สัมภาษณ์พอล แชมเบอร์ส (นักวิชาการจาก ม.นเรศวร) เขาก็บอกว่า ถ้าคุณพูดถึงปัญหา คสช. โดยไม่พูดถึงสถาบันกษัตริย์มันก็คงไม่ครบ พูดประมาณว่าขึ้นอยู่กับสถาบันกษัตริย์จะสนับสนุนทหารฝ่ายไหน เราก็เขียนไปอย่างนั้น รุ่งขึ้นเทพชัยสั่งให้เอาคำว่า monarchy ออก เปลี่ยนบริบทใหม่ เหมือนให้ยกประโยคนั้นออกไปเลย” สุภลักษณ์เล่าถึงการถอดเนื้อหาจากเว็บไซต์เดอะ เนชั่นย้อนหลัง
“ตอนอุบลรัตน์ลงเป็นแคนดิเดต (นายกฯ) เราก็เล่นเต็มที่ แต่วันหลังต่อมา ฉาย บุนนาค (เจ้าของเครือเนชั่น) สั่งมาเองเลยว่า เรื่องอุบลรัตน์ให้หยุดแค่นั้น ห้ามเล่นต่ออีกไม่ว่าจะในแง่มุมใด แม้แต่คำชี้แจงของอุบลรัตน์ก็ไม่ให้ออก อันนี้เป็นคำสั่งชัดเจนจากฉาย บุนนาค”
“ทุกคนก็เล่น แต่ตอนหลังพออุบลรัตน์ออกมาชี้แจงหลังโดนแบนแล้ว 2 วัน ตอนเหตุการณ์หลังจากนั้น เขาก็ไม่ให้เล่น ตอนนั้นเขาไม่รู้จะห้ามยังไงเพราะทุกคนก็เล่น พอเรื่องนี้ออกแล้ว วันรุ่งขึ้นพรรค [ไทยรักษาชาติ] ก็ถูกห้ามไม่ให้ลง อุบลรัตน์ก็ออกแถลงการณ์ เราก็ตั้งใจว่าจะเล่นต่อ จะถามความเห็น บทวิเคราะห์ แต่ฉาย บุนนาคก็ออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ไลน์มาในทีม บ.ก. ว่าสื่อในเครือห้ามเล่นเรื่องนี้อีกต่อไป [ให้เหตุผลว่า] กระทบกระเทือนความมั่นคง เป็นเรื่องไม่บังควร”
แนวปฏิบัติบนความกลัวคดี กลัวเจ๊ง
การปิดกั้นการนำเสนอของสำนักข่าววอยซ์ทีวี เรียกได้ว่าเป็นนิยามของคำว่า “เซ็นเซอร์” สำหรับสื่อไทย วอยซ์ทีวีถูกแทรกแซง เซ็นเซอร์และลงโทษสารพัดตั้งแต่การรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557 การปิดกั้นมีทั้งในรูปแบบการเตือน เรียกหารือ ไปจนถึงปิดการแพร่ภาพกระจายเสียงทั้งสถานีชั่วคราวรวมอย่างน้อย 21 ครั้ง มากกว่าสื่ออื่นใดที่ตกอยู่ภายใต้การเซ็นเซอร์เนื้อหาจากคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และมาตรา 37 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
พิณผกา งามสม บรรณาธิการบริหารวอยซ์ทีวีและวอยซ์ออนไลน์กล่าวว่าวอยซ์ทีวีได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นมาตลอด การขาดทุนและถูกแทรกแซงที่เกิดจากการปิดกั้นและความขัดแย้งทางการเมืองเป็นส่วนที่ทำให้วอยซ์ทีวีต้องตัดสินใจออกจากทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2562 และมีนโยบายการเผยแพร่เนื้อหาที่รัดกุมที่สุด เพื่อจะไม่ต้องเสียกำลังคนและทุนทรัพย์ไปกับการถูกฟ้องร้องและการถูกปิดกั้น ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าอะไรที่จะไม่มีผลกระทบ ทำได้แต่คาดเดาว่าทำได้แค่ไหน
พิณผกาเล่าว่าสิ่งที่สร้างเพดานในการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์สำหรับวอยซ์ทีวีคือกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื้อหาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือกล่าวถึงขบวนการเคลื่อนไหวที่มีความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ ต้องไม่แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์และรายงานเฉพาะข้อเท็จจริง ฟุตเทจวิดีโอการปราศรัยของอานนท์ที่ถูกนำออกก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำกับทุกๆ การถ่ายทอดสดที่ระดับผู้บริหารจะหารือกันว่าจะจัดการกับเนื้อหาเหล่านั้นอย่างไร ซึ่งเป้าหมายของการถ่ายทอดสดคือการเป็นพยานและรายงานกิจกรรม ณ เวลาที่เกิดขึ้น และเป็นวัตถุดิบมานำเสนอผ่านรายการและการรายงานข่าวต่อไป
พิณผกาเล่าอีกว่าการเซ็นเซอร์ที่เกิดขึ้นเป็นแนวทางปฏิบัติไม่ใช่ขั้นตอนที่ลำบากอะไรนัก แต่ก็มีผลกับความรู้สึกที่มีต่อวิชาชีพสื่อ
“ในแง่ความรู้สึก ความภาคภูมิในในวิชาชีพ การทำงานภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ จริงๆ แล้วฝืนต่อหลักวิชาชีพในแง่ที่สื่อควรยืนยันรายงานข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบแล้ว เชื่อถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริง แต่ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ หลักการเช่นนี้ไม่เพียงพอจะปกป้องคนทำงาน” พิณผกากล่าว
เขียว (นามสมมติ) นักข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามจากสำนักข่าวระดับประเทศแห่งหนึ่งเล่าว่า สื่อในเครือเดียวกันมีมาตรฐานการรายงานข่าวเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าให้รายงานได้เฉพาะข่าวทางการ คำต่อคำ ไม่ขาดไม่เกิน การปราศรัยของอานนท์ก็ไม่ได้รายงาน เพราะไม่ได้ออกมาจากวัง และมีความกลัวเรื่องการผลิตซ้ำเนื้อหาที่อาจถูกเล่นงานได้
เขียวเล่าว่า ในทางหลักการมีหน่วยงานของวังและรัฐที่ดูการรายงานของสื่อ แต่ในทางปฏิบัตินั้นสื่อเซ็นเซอร์กันเองตั้งแต่ระดับกองบรรณาธิการและระดับบริหาร จึงไม่มีอะไรหลุดไปถึงหน่วยงานที่เฝ้าดู การทำเช่นนี้ทำให้สื่อสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ไม่ถูกเพ่งเล็งและไม่สร้างศัตรกับใคร แต่ก็ไม่เป็นผลดีกับผู้อ่านที่จะขาดการรับรู้ข่าวสารและความจริงในเรื่องสถาบันกษัตริย์
“เข้าใจว่าสื่อทุกวันนี้เป็นธุรกิจ มันไม่ได้เป็นสื่อแบบสมัยก่อนแล้วที่มีคนแค่ 50-100 คน ลุยเลย ตายเป็นตาย แต่สมัยนี้สื่อทุกที่ ผมดูนะ มีลักษณะเป็นธุรกิจ มีพนักงานเป็นร้อยเป็นพันคน มีแท่นพิมพ์ตัวเอง มีผลประโยชน์ที่ต้องดูแล เรื่องผลประโยชน์อาจเป็นวิธีคิดของสื่อที่ว่าจะทำยังไงไม่ให้กระทบธุรกิจของเขา”
เขียวเชื่อว่าการเซ็นเซอร์ในหมู่สื่อมวลชนจะใช้เวลาเปลี่ยนแปลงที่นาน เพราะกว่าที่ประชาชนจะกล้าพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็ยังเพิ่งใช้เวลาพูดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สื่อเองก็คงต้องใช้เวลานานกว่านั้นในการเปลี่ยนแนวปฏิบัติเรื่องการเซ็นเซอร์
เซ็นเซอร์ไม่ขลัง สังคมต้องถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์
อดีต บ.ก. บริหารของเดอะ เนชั่นมองว่าการเซ็นเซอร์ของสื่อกระแสหลักต่อเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่มีผลน้อยลงเรื่อยๆ ต่อการรับรู้ของประชาชน การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทำให้คนเข้าถึงเนื้อหาที่สื่อกระแสหลักเซ็นเซอร์ เมื่อผู้คนเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็ทำให้เกิดการตัดสินใจว่าต้องพูดถึง แม้สื่อกระแสหลักจะไม่พูดถึงก็ตาม
“ไม่มีใครแคร์ว่าสื่อมวลชนกระแสหลักจะเล่นเรื่องนี้หรือไม่เล่น เราได้รู้เรื่องของอานนท์ นำภา คำปราศรัยของเขาจากสื่อโซเชียลมีเดีย จากการพูดกัน คนอัดคลิปมาส่งให้เป็นการส่วนตัว การเซ็นเซอร์เป็นอะไรที่ไร้ความหมายมาก เพราะพื้นที่การเซ็นเซอร์เหลือนิดเดียวคือสื่อกระแสหลัก สื่อของรัฐ หนังสือพิมพ์ วิทยุ คนที่ใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าคนที่ใช้สื่อกระแสหลักหลายเท่าตัว”
สุภลักษณ์มองว่าการพูดคุย ถกเถียงเรื่องปัญหาของสถาบันกษัตริย์ควรเกิดขึ้นในสังคมไทยได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำแหน่งแห่งที่ที่ถูกต้องของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือคำถามง่ายๆ ว่าทำไมกษัตริย์ถึงไม่อยู่ในประเทศไทย แล้วยังได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญให้ไม่ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แม้แต่อนุรักษ์นิยมก็รับไม่ได้ สิ่งที่จะบ่งชี้ว่าเพดานการพูดได้เพิ่มขึ้นคือการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรและกระแสในโซเชียลมีเดียและการพูดอย่างเปิดเผยในการประท้วง
“ถ้าเราถือว่าโซเชียลมีเดียเป็นสื่อชนิดหนึ่ง สื่อกระแสหลักก็กลายเป็นอะไรที่เล็กและไม่มีความหมายลงเรื่อยๆ เราไม่ต้องรอทีวีช่องไหนถ่ายทอดคำพูดของอานนท์ นำภา แต่เราเห็นตามยูทูปได้ ประชาชนทั่วไปไม่ได้ขาดแคลนข้อมูล สามารถรับรู้เรื่องนี้ได้ไม่ว่าจะผ่านอะไรมาก็ตาม สื่อมวลชนกระแสหลักไม่ได้ผูกขาดความถูกต้อง ถ้าไม่พูดก็ตกเวที หรือพูดอีกแบบหนึ่งคุณก็กลายเป็นอีกฝ่ายหนึ่งไปเลย”
“มันถึงเวลาที่สังคมไทยจะพูดถึงเรื่องนี้อย่างเป็นกิจลักษณะ มันไม่ใช่สังคมไทยไม่พูดเรื่องนี้กัน มันต้องพูด โลกเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว คำถามพื้นๆ บางอย่างก็ตอบไม่ได้มันก็ควรจะตอบได้ การใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากมาย มันคุ้มหรือเปล่า ในสถานการณ์ที่เรากำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายเพื่อเทิดทูนสถาบันฯ ซึ่งอาจจะไม่จำเป็น” สุภลักษณ์กล่าว
โฆษณา