10 ส.ค. 2020 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
ในศตวรรษที่18 ถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลก เพราะได้มีการปฏิวัติพัฒนาระบบงานอุตสาหกรรมการผลิตอย่างมากในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต มีการนำเครื่องจักรมาทดแทนการใช้แรงงานมนุษย์และสัตว์ ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้ครั้งละจำนวนมากๆเพื่อตอบสนองผู้บริโภค
แรงงานมากมายจากทั่วทุกสารทิศต่างหลั่งไหลเข้ามาทำงานในโรงงาน พร้อมกับการเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย จึงได้รับความสนใจและพัฒนามากขึ้นในวงกว้าง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหมู่นักวิชาการ หรือแพทย์แล้ว
ภาพถ่ายคนงานยุค1800s แรงงานหญิงและเด็ก Credit: Library of Congress
ภาพคนงานเหมืองแร่กับหมวกCornish Miners Helmet ซึ่งเป็นหมวกของคนงานที่ติดเทียนไขไว้บนตัวหมวก
ในช่วงดังกล่าวประเทศอังกฤษก็มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้งานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในเกาะอังกฤษ มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ในช่วงตอนปลายของศตวรรษที่ 17 เพอร์ซิวัล พอตต์ (Percival Pott) ได้ทำการศึกษาผลกระทบของคนงานที่ทำงานกวาดเขม่าปล่องไฟทำให้รัฐสภาของอังกฤษ ว่าการอาชีวอนามัยมีผลเชื่อมโยงกับมะเร็งในหมู่คนงาน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหัวข้อ “Chimney sweepers' carcinoma” ซึ่งต่อมาอังกฤษก็ได้ออกพระราชบัญญัติคนกวาดเขม่าปล่องไฟ (Chimney-Sweepers Acts) ขึ้นในปี ค.ศ. 1788 และภายหลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1878 ประเทศอังกฤษได้ตราพระราชบัญญัติโรงงานที่สมบูรณ์แบบฉบับแรกขึ้น
ภาพคนงานกวาดเขม่าปล่องไฟ (Chimney Sweeper) ในกรุงลอนดอน ช่วงศตวรรษที่18
อาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นที่สนใจอย่างมากในหมู่คนทำงานเหมืองแร่ เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการถลุงเหล็กและแร่มากมายเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้าง หล่อเครื่องจักร และใช้เป็นวัตถุดิบ รวมถึงเชื้อเพลิงในการผลิต เราจะเห็นได้ว่าอุปกรณ์เซฟตี้ในปัจจุบันนั้น มีพัฒนาการมาจากอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้กันในคนงานเหมืองแร่ ตั้งแต่หมวกนิรภัย, หน้ากากกันสารพิษ, ถุงมือนิรภัย, ชุดป้องกัน รวมถึงรองเท้าเซฟตี้ เรียกได้ว่าหัวจรดเท้าเลยทีเดียว
ภาพทีมกู้ภัยเหมืองถ่านหินในนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ในปีค.ศ.1924
ในสหรัฐอเมริกา มีโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกิดกับคนงานเหมือง เช่น เหตุการณ์เหมืองถล่มในปี ค.ศ. 1860 ที่ Pemberton Mills คร่าชีวิตคนงาน 145 คน และบาดเจ็บอีก 166 คน, เหตุการณ์แป้งมันฯในคลังสูงระดับตึก 7ชั้นระเบิด ในปี ค.ศ. 1878 Washburn, เหตุการณ์เหมืองระเบิดที่เรียกว่า Black Powder Explosion ในปี ค.ศ.1900 ที่ Pleasant Valley Coal Mine คร่าชีวิตคนงานไปถึง 200 คน, เหตุการณ์ระเบิดจากมีเทน ในปี ค.ศ. 1902 ที่ Fraterville Coal Mine ทำให้คร่าชีวิตคนงานและเด็กผู้ชายไปถึง 194 คน
นอกจากนี้ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1930 มีคนเสียชีวิตจากการทำงานที่เขื่อนฮูเวอร์ (Hoover Dam) ถึง112คน และ42คน เสียชีวิตด้วยโรคจากทางเดินหายใจ ซึ่งการก่อสร้างอุโมงค์ Hawks Nest ที่อยู่แถบWest Virginia ยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากเกี่ยวกับปัญหาผงซิลิก้า หรือ silica dust เป็นผลให้มีคนเสียชีวิตจากการก่อสร้างดังกล่าวโดยตรงถึง 476 คน และอย่างน้อยอีก 1,500 คนที่เสียชีวิตจากโรคซิลิโคซิส (Silicosis) ภายหลังจากที่เจอ silica dustไปสองเดือนให้หลัง
ปฏิทินบันทึกจำนวนคนงานที่เสียชีวิตในแต่ละวัน โดยเขียนด้วยหมึกสีแดงบนวันที่ในแต่ละเดือนของการทำงาน
ระหว่างปลายศตวรรษที่18 จนถึงช่วงศตวรรษที่19 นั้น ประเทศในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้เจอเหตุการณ์หลายๆอย่าง จึงเป็นผลให้มีการกระจายความรู้เกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และเริ่มทำการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายเข้ามาควบคุมระบบการทำงาน รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ขึ้น โดยในปี ค.ศ. 1919 ได้มีการจัดตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ซึ่งเป็นหน่วยงานสากลหน่วยงาน หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
กระทั่งในปีค.ศ. 1948 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดประชุมสภาอนามัยโลกครั้งที่ 1 (The First World Health Assembly) เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญร่วมมือทางด้านอาชีวอนามัย (Joint ILO/WHO Expert Committee on Occupational Health) เพื่อให้ความรู้ การศึกษา การฝึกอบรม ในสาขาวิชาการด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัย กับประเทศต่าง ๆ
เอกสารการประชุม First World Health Assembly, กรุงGeneva ระหว่างวันที่ 24 มิ.ย. - 24 ก.ค. 1948
ในปีค.ศ. 1970 รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านพรบ.ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Occupational Safety and Health Act. 1970) ส่งผลให้มีหน่วยงานที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากที่เรารู้จักกันดี คือ สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Occupational Safety and Health Administration: OSHA) และสถาบันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ (National Institute for Occupational Safety and Health: NIOSH)
ระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง ประเทศญี่ปุ่นก็ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยและสุขภาพในอุตสาหกรรม (Industrial Safety and Health Law. 1972) ขึ้นในปีค.ศ. 1972 และต่อด้วย ประเทศอังกฤษที่ออกพรบ.สุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (Health and Safety at Work Act. 1974) ในปีค.ศ. 1974
สำหรับประเทศไทยนั้นได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของILO ในปี ค.ศ. 1919 และ ค.ศ.1966 ก็ได้มีการบรรจุโครงการอาชีวอนามัยไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514)
1
มอก.18000 ปี 2540 ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกที่ห้องประชุมของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
โดยประเทศไทย มีการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานฉบับแรก ในปีพ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) และกระทรวงแรงงานฯ ได้ประกาศใช้พรบ.ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ขึ้นในปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) นั่นเอง
สำหรับผู้อ่านที่ติดตามและชื่นชอบ อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ และแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ จป.จำเป็น ด้วยนะคะ
อ้างอิงจาก
• Safety and Health Movement Then and Now Published by Zechariah Week
• พื้นฐานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เอกสารของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
• วิวัฒนาการของการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในอดีต โดย อาจารย์นันทิดา โหวดมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
โฆษณา