8 ส.ค. 2020 เวลา 09:10 • การศึกษา
รู้ป่ะว่า...สนามบินแห่งแรกของไทย คือที่ใด?
หลังจากที่สองพี่น้องตระกูลไรท์ประสบความสำเร็จในการนำเครื่องบินขึ้นสู่ท้องนภาได้สำเร็จ ข่าวความยิ่งใหญ่นี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก สร้างความสนใจและดีใจให้กับหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ครั้งนี้ รวมถึงประเทศไทยของเราที่ได้มีโอกาสเพียงแค่จินตนาการถึงนกยักษ์ตัวใหญ่ ผ่านคำบอกเล่าของชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย
แต่แล้วอีก 7 ปีต่อมา วันที่ 3 ก.พ. 2454 ความฝันที่จะเห็นนกยักษ์ตัวนั้นก็เป็นจริง เมื่อชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้รวมตัวกันนำเครื่องบิน แบบอังรีฟาร์มัง ๔ (Henry Farman IV) มาแสดงที่กรุงเทพ เพื่อให้คนไทยได้เห็นเป็นครั้งแรก
แต่ประเทศไทยของเรานั้น ไม่เคยมีสนามบินมาก่อน ครั้นจะหาสถานที่กว้างๆเพื่อถากถางเป็นการเฉพาะกิจก็คงจะไม่คุ้ม ซ้ำยิ่งกว่าคือภูมิประเทศของกรุงเทพเป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำขัง ร่องสวนและท้องนาอยู่ทั่วบริเวณ ทำให้ยากแก่การนำเครื่องขึ้นและลงจอด
แต่ประจวบเหมาะที่ว่านาย Karl Offer ผู้ประสานงานในการนำเครื่องบินมาแสดงครั้งนี้เป็นสมาชิก “ราชกรีฑาสโมสร” จึงขอใช้งานพื้นที่ลู่วิ่งของสนามม้าเป็นจุดร่อนลงจอดเครื่องบิน เนื่องจากมีพื้นที่โล่งกว้างและพื้นดินแน่นหนา นั่นจึงเป็นที่มาของสนามบินแห่งแรกของประเทศไทยหรือเรียกว่า “สนามบินสระปทุม”
ราชกรีฑาสโมสร ในอดีต
ราชกรีฑาสโมสร ปัจจุบัน
ต่อมารัฐบาลมองเห็นความสำคัญของกิจการการบิน ประกอบกับสนามบินสระปทุมมีพื้นที่ขนาดเล็ก จึงทำการสำรวจพื้นที่ ที่ได้มาตรฐานอยู่บนพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วมและไม่ห่างไกลจากพระนครมากนัก อีกทั้งยังสามารถขยายเป็นสนามบินใหญ่ได้ในอนาคต จึงได้พื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดอนอีเหยี่ยว” ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2457 เปลี่ยนชื่อจาก “ดอนอีเหยี่ยว” เป็น “ดอนเมือง” และเรียกสนามบินว่า “ท่าอากาศยานดอนเมือง”
ท่าอากาศยานดอนเมือง
ต่อมาเทคโนโลยีการบินเริ่มพัฒนาไปไกลและรวดเร็ว มีเครื่องยนต์ที่พัฒนาให้ใหญ่ขึ้น บรรจุผู้โดยสารได้มากขึ้น
ทำให้ปี 2500 ยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ จึงมีความคิดในการก่อสร้างสนามบินใหม่ เพื่อขยายธุระกิจการบินใหม่ในอนาคต จึงใช้เวลาในการสำรวจพื้นที่อยู่ 4 ปี และมาลงเอยที่ “หนองงูเห่า” เขตจังหวัดสมุทรปราการ
แต่เนื่องจากพื้นดินแถวนั้นเกิดมาจากการทับถมกันตามแนวสันดอนของปากอ่าวไทย ผืนดินจึงนุ่มเป็นโคลนเหนียวถึงชั้นใต้ดิน เต็มไปด้วยผืนนา ทุ่งหญ้าและเรือกสวนไร่นา ทำให้ทันทีดำเนินการก่อสร้าง จึงเกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย!!!
บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เป็นต่างชาติ ได้เข้ามาดำเนินการสำรวจพื้นที่จึงได้รู้ว่าภายใต้พื้นดินล้วนเป็นโคลนเหลวลึกแทบทั้งสิ้น ถมดินลงไปเท่าไหร่ก็ไม่เต็มเสียที เมื่อคำนวณดูแล้วก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงต้องหาเหตุผลในการละทิ้งงานหนีกลับประเทศไป
เมื่อรัฐบาลทราบเรื่องก็ทุ่มงบประมาณก่อสร้างฐานรากมากขึ้นไปอีก จนมีการระแวงซึ่งกันและกันเรื่องการทุจริตของหน่วยงานที่รับผิดชอบ อีกทั้งบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายอยู่ในช่วงรัฐประหารเปลี่ยนแปลงผู้นำตลอดเวลา จึงมีการชะลอการก่อสร้างออกไป ปล่อยให้เป็นพื้นที่ว่างเปล่าอยู่ 40 กว่าปี แต่ด้วยความคาดหวังจะให้เป็น ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 จึงมีผลโดยตรงต้องตัดสินใจลงทุนด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จให้จงได้
และแล้ววันที่ 28 ก.ย. 2549 สนามบินแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ก็ได้อ้าแขนต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วย 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนามว่า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” แผ่นดินทองของไทย...
โฆษณา