9 ส.ค. 2020 เวลา 06:33
กรณีศึกษา ชาวเลบานอนเรียกร้องฝรั่งเศสกลับมาปกครอง
หลังสิ้นหวังต่อการบริหารของรัฐบาลที่เต็มไปด้วยปัญหา
มันคือวิกฤตที่ยังคงไม่รู้ว่าจะหาทางแก้ไขอย่างไรสำหรับประเทศเลบานอน หลังจากโศกนาฏกรรมโกดังเก็บสารเคมีระเบิดที่ท่าเรือเบรุต กลายเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความล่มสลายของประเทศที่เคยได้รับฉายาว่า “ปารีสแห่งตะวันออกกลาง”
ความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศเลบานอนขณะนี้ ไม่ได้เกิดจากเหตุระเบิดเพียงอย่างเดียว แต่มันคือปัญหาสะสมเรื้อรังจากทั้งเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เงินเฟ้อที่สูงจนกระทบการใช้จ่าย การคอรัปชั่นที่รุนแรงติดอันดับโลก และหนี้สาธารณะที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก
รวมไปถึงวิกฤตด้านความมั่นคง การก่อการร้าย สงครามในประเทศเพื่อนบ้าน และความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งทำให้ประชาชนชาวเลบานอนบางส่วนรู้สึก “สิ้นหวัง” ต่อการปกครองตัวเองและไม่อยากอยู่เป็นรัฐอิสระอีกต่อไป
อัลจาซีร่ารายงานว่าตอนนี้มีชาวเลบานอนอย่างน้อย 80,000 คน ได้ลงนามร้องเรียนผ่านแบบออนไลน์ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการเดินทางมาเยือนเลบานอนของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่าน ว่าต้องการที่อยากจะกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสเป็นเวลา 10 ปี
ซึ่งแคมเปญนี้ได้แสดงให้เห็นว่าประชาชนทนไม่ไหวกับการไร้ความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาล เพราะนับตั้งแต่ที่เลบานอนได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 26 พฤษจิกายน 2484 ประเทศก็เริ่มดำดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาทั้งภายในประเทศและกับประเทศเพื่อนบ้านตลอดเวลา
และจากเหตุการณ์ระเบิดในวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมากลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายของชาวเลบานอนที่ขาดสะบั้นลง และเลือกอยากจะกลับไปอยู่ภายใต้ฝรั่งเศส เพื่อให้ฝรั่งเศสเข้ามาจัดการกับปัญหาภายใน มาปัดกวาด เช็ดถูใหม่ ให้ระบบการเมืองมีความสะอาดและมีเสถียรภาพกว่านี้
แต่ใช่ว่าจะมีคนเห็นด้วยทั้งหมดเสมอไป เพราะเสียงของประชาชนชาวเลบานอนเองก็แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ซึ่งฝั่งที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่ามันเป็นการสานต่ออำนาจของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสที่ไม่มีใครอยากอยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยการตัดสินใจใดๆ ของคนในประเทศเอง
อย่างไรก็ตามการเดินทางเยือนเลบานอนของนายมาครงนั้นหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ต่อการปฏิบัติตัวของผู้นำฝรั่งเศส เพราะสิ่งที่มาครงสัญญากับเลบานอนนั้นเหมือนกับลืมไปว่า ฝรั่งเศสไม่ได้ปกครองเลบานอนแล้ว
บทวิเคราะห์จาก U.S.NEWS ต่อท่าทีของมาครงที่ปลอบโยนชาวเลบานอนที่กำลังว้าวุ่นใจ และสัญญาว่าจะสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ พร้อมกับคำพูดสวยหรูว่า “ระเบิดได้เจาะหัวใจของฝรั่งเศสเอง ฝรั่งเศสจะไม่มีวันปล่อยเลบานอนไป หัวใจของคนฝรั่งเศสยังคงเต้นรัวจนเป็นจังหวะของเบรุต”
1
เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ประณามการโอ้อวดในฐานะผู้นิยมลัทธินีโอโคเนียล ที่ผู้นำยุโรปพยายามที่จะฟื้นฟูดินแดนตะวันออกกลางที่มีปัญหาและหันเหความสนใจจากปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้าน คำพูดของมาครงกลายเป็นไวรัลที่ถูกส่งต่อออกไปอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ จนมีการขนานนามเขาว่า “Macron Bonaparte” จักรพรรดินโปเลียนในศตวรรษที่ 21
แต่ฝั่งผู้สนับสนุนฝรั่งเศสเองก็บอกว่า ชาวเบรุตที่สิ้นหวังเรียกมาครงว่าเป็น “ความหวังเดียวของเรา” ยกย่องมาครงที่ไปเยี่ยมเยืยนย่านที่ชาวเลบานอนยังหวาดกลัวที่จะย่างกรายเข้าไปและพยายามให้นักการเมืองของเลบานอนต้องรับผิดชอบต่อการทุจริตและการจัดการที่ผิดพลาดเป็นสาเหตุการระเบิดครั้งร้ายแรงนี้
ความสัมพันธ์ของฝรั่งเศสกับเลบานอนมีมาอย่างยาวนาน ซึ่งย้อนกลับไปอย่างน้อยในศตวรรษที่ 16 เมื่อราชวงศ์ฝรั่งเศสเจรจากับผู้ปกครองอาณาจัการออตโตมันเพื่อปกป้องชาวคริสต์และรักษาอิทธิพลในภูมิภาคนี้ ในฐานะดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศส
ต่อมาในช่วงปี 1920 - 1946 เลบานอนมีเครือข่ายโรงเรียนภาษาฝรั่งเศสและผู้พูดภาษาฝรั่งเศสที่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้พร้อมกับความสัมพันธ์อันอบอุ่นของฝรั่งเศสกับฝ่ายการเมืองของเลบานอน ซึ่งหลายคนก็มีส่วนพัวพันว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจ
สำหรับเวลานี้คนในเลบานอนมองว่าการมาเยือนของมาครงเป็นวิธีหนึ่งในที่จะเรียกร้องความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะผู้นำฝรั่งเศสยังสามารถชี้นำ มีอำนาจเหนือชนชั้นทางการเมืองของเลบานอนในการประสานความแตกแยกทางการเมืองในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาภายใน
แต่หลายฝ่ายก็มาว่า มันคือการสร้างภาพของมาครงต่อสายตาชาวโลก ที่การมาเยือนเลบนอนท่ามกลางวิกฤต เสมือนว่ามาเยี่ยมเด็กยากไร้ในฐานะผู้อุปถัมภ์ดั่ง “ฝรั่งเศสเป็นแม่ผู้อ่อนโยน”
มีมุมมองจากนักวิชาการของเลบานอนที่ไม่ขอเอ่ยนามที่มองว่า เธอต่อต้านแนวคิดนี้อย่างรุนแรงและต่อต้านผู้ที่มองว่า มาครงเป็น“ ผู้กอบกู้” เลบานอน
เธอกล่าวว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้ความแตกแยกในเลบานอนแย่ลงเนื่องจากชาวคริสเตียนมาโรไนต์และชาวมุสลิมที่ได้รับการศึกษาจากฝรั่งเศสยอมรับมาครง ในขณะที่คนอื่นไม่เห็นด้วย เพราะมาครงยังไม่ได้แก้ไขปัญหาคามแตกแยกในประเทศของตัวเอง ต่อผู้คนของตัวเองได้เลย ดังนั้นจะมาให้คำแนะนำกับเลบานอนได้อย่างไร
แม้แต่ในปารีสเองก็มีท่าทีต่อความเคลื่อนไหวของมาครง ทั้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของทั้งพรรคที่มีแนวคิดซ้ายจัด และขวาสุดต่างก็เตือนว่า มันคือลัทธินีโอโคโลเนียลที่กำลังคืบคลานกลับมาและเข้าไปดึงสัมปทานทางการเมืองจากเลบานอนเพื่อแลกกับความช่วยเหลือ
“ความมีน้ำใจต่อเลบานอนควรเป็นไปโดยไม่มีเงื่อนไข” Julien Bayou หัวหน้าพรรคกรีนส์ทวีตข้อความนี้ถึงท่าทีของมาครง
แม้มาครงเองจะออกมาปฏิเสธอย่างหนักแน่นถึงแนวคิดที่จะรื้อฟื้นอำนาจของฝรั่งเศสในเลบานอน แต่มันก็มีฝ่ายสนับสนุนที่ต้องการให้เลบานอนตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสอีกครั้ง เพื่อให้เข้ามาแก้ปัญหาในประเทศที่รัฐบาลของตัวเองไร้ปัญญาที่จะทำแล้ว
มันเหมือนกับลมหายใจสุดท้ายของชาวเลบานอน ที่ไม่รู้จะดิ้นรนไปทางไหนต่อ เพราะที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับตายทั้งเป็น ซึ่งคงต้องจับตาดูสถานการณ์ในประเทศแห่งนี้ว่า มันจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศอย่างยิ่ง
โฆษณา