9 ส.ค. 2020 เวลา 07:39 • การศึกษา
#สามีลักทรัพย์ภรรยาหรือภรรยาลักทรัพย์สามี ผู้กระทำมีความผิดและต้องรับโทษหรือไม่
การกระทำความผิดระหว่างสามีภริยาอันเกี่ยวกับทรัพย์ในบางความผิดนั้น ผู้กระทำนั้นมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ
เนื่องจาก
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 71 วรรคแรก บัญญัติว่า "ความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา334......นั้นถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยาหรือภริยากระทำต่อสามีผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ"
ข้อสังเกต ม.71
1.การกระทำนั้นต้องเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
2.แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุยกเว้นโทษผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ
เหตุยกเว้นโทษ หมายถึง การกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่กฎหมายไม่ประสงค์ที่จะลงโทษ
3.ผู้กระทำจะต้องเป็นสามีภริยาโดมชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
ฎ.2041/2499
คำว่า "สามีภรรยา" ตาม กฎหมายอาญา มาตรา 54 กฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่าพฤติการณ์เช่นไร กฎหมายอาญายอมรับนับถือว่าเป็นสามีภรรยากัน ฉะนั้นโดยปกติต้องอาศัย ป.พ.พ.ที่ใช้อยู่ในขณะทำผิดเป็นหลักกล่าวคือต้องได้มีการจดทะเบียนสมรสแล้ว
ชายหญิงที่ได้เสียกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสแล้วภายหลังฝ่ายหนึ่งเอาทรัพย์ของอีกฝ่ายหนึ่งไป ดังนี้ต้องอาศัยเจตนาเป็นหลักว่ามีเจตนาลักทรัพย์หรือไม่
เมื่อจำเลยไม่ใช่สามีตาม มาตรา 54 และในเรื่องเจตนานี้ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่าจำเลยเจตนาลักทรัพย์แล้ว ฎีกาของจำเลยในเรื่องว่าไม่มีความผิดตาม มาตรา 54 ในข้อนี้จึงเป็นฎีกาคัดค้านข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220
ฎีกาที่น่าสนใจ
กรณีเข้าตามมาตรา 71
ฎ.221/2528
การที่ภริยาหรือสามีกระทำความผิดแล้วจะไม่ต้องรับโทษหรือได้รับยกเว้นโทษ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรกบัญญัติไว้ว่า ต้องเป็นเรื่องกระทำต่อทรัพย์อันเป็นความผิดตามมาตรา 334 ถึง มาตรา 336 วรรคแรก และมาตรา 341 ถึง มาตรา 364 เท่านั้น ไม่มีข้อจำกัดว่าภริยาหรือสามีนั้น จะต้องกระทำความผิดตามลำพังคนเดียวแต่อย่างใด เมื่อจำเลยเป็นภริยาผู้เสียหายมีหลักฐานภาพถ่ายใบสำคัญการสมรสมาแสดง และจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร ซึ่งจะเป็นการกระทำความผิดตามลำพังคนเดียว หรือมีบุคคลอื่นร่วมกระทำผิดด้วย ก็ต้องถือว่ามีเหตุส่วนตัวให้จำเลยไม่ต้องรับโทษหรือได้รับยกเว้นโทษตาม มาตรา 71 วรรคแรก แล้ว
ฎ.8326/2557
ศาลฎีกาได้พิจารณาฎีกาของจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายตามทะเบียนการสมรสเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 2
...เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ใน ป.อ. มาตรา 71 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า ความผิดดังกล่าว ถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยา ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ แม้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ มาด้วยก็ตาม แต่มาตรา 336 ทวิเป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดอาญามาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นกึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากบทมาตราดังกล่าวไม่
...การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 71 วรรคแรกแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานดังกล่าว
#ดังนั้น การที่สามีหรือภริยาขโมยทรัพย์สินหรือเงินของอีกฝ่ายไป แม้จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่กฎหมายก็ได้ยกเว้นให้ไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
โฆษณา