10 ส.ค. 2020 เวลา 01:59 • หนังสือ
[สรุปหนังสือ] Thinking Fast & Slow
Best of the Best สำหรับผมต้องยกให้เล่มนี้ครับ Thinking Fast & Slow ผลงานชิ้นเอกของ Daniel Kahnemann เจ้าของรางวัลโนเบลจากสาขา Behavioral Economics ซึ่งได้อธิบายระบบการตัดสินใจของมนุษย์ไว้ได้ดีมากๆ
เรียกว่า “#ดีที่สุด” เท่าที่ชีวิตนี้ผมเคยอ่านมาเลย
เชื่อว่าหลายๆคนต้องเคยได้ยินกิตติศัพท์ของหนังสือเล่มนี้มาไม่มากก็น้อย และในหลายๆคนนั้นที่ไปลองซื้อมาอ่านก็เจออุปสรรคของความ Deep และความยากของหนังสือเล่มนี้จนทำให้อ่านไม่จบกันเยอะพอสมควร
แต่ข่าวดีของช่วงนี้ก็คือ สำนักพิมพ์วีเลิร์นได้นำมาแปลไทยให้ได้อ่านกันแล้ว !! ใครที่ยอมแพ้ไปได้โอกาสแก้ตัวกันละครับ 😆😆
ส่วนวันนี้ผมเลยอยากจะมา ”เล่า” เนื้อหาคร่าวๆของหนังสือเล่มนี้ในสไตล์ของผม เพื่อเป็นน้ำจิ้ม ช่วยประกอบการตัดสินใจในการซื้อหนังสือเล่มนี้กันครับ
*** ส่วนเรื่องคะแนน ไม่ต้องถาม ผมให้ 10/10 มาทุกครั้งที่เคยรีวิว แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่ผมจะพูดถึงหนังสือเล่มนี้แบบเน้นๆยาวๆกันเลย ใครพร้อมแล้ว เลื่อนไปอ่านกันได้เลยครับ !!!!
เนื้อหาของ Thinking Fast & Slow นั้นจะพูดถึง การตัดสินใจ (Decision Making) และ พฤติกรรม (Behaviors) ของมนุษย์ โดยผมขอแบ่งเนื้อหาหลักๆออกเป็น 3 ส่วน ที่จะพูดถึง 2 สิ่งที่ตรงกันข้ามกัน ได้แก่
*** ผมแบ่งตามความชอบที่ผมสรุปเอาไว้ให้ตัวเองอ่านนะครับ สัดส่วนเนื้อหาในหนังสือจะต่างจากนี้
1. ระบบการทำงานของสมอง 2 ระบบ
System 1 แบบเร็ว (แบบอัตโนมัติ) vs System 2 แบบช้า (แบบใช้ความพยายามในการคิด)
1
2. พฤติกรรมของมนุษย์ ที่แตกต่างจากทฤษฏีเศรษศาสตร์
Econ ที่จะคิดอะไรตามหลักเหตุแลผลตลอด vs Human มีเรื่องของอารมณ์มาเกี่ยวข้อง
3. ตัวตนของเรา ที่มี 2 แบบในเวลาเดียวกัน
2
Experiencing Self ตัวตนที่เรารู้สึกถึงในปัจจุบัน vs Remembering Self ตัวตนที่ผ่านการประมวลข้อมูลในอดีตของสมอง
ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถอธิบายเหตุและผลของพฤติกรรมมนุษย์ได้แทบทั้งหมดเลยครับ ตอนที่อ่านไปก็คือรู้สึก Amazing ทุกครั้งที่เราเข้าใจทฤษฎีต่างๆที่ผู้เขียนยกมา เพราะ มันคือสิ่งที่เราเจอกับตัวในการตัดสินใจของทุกๆวัน แต่เราไม่เคยรู้ตัวเลย
ที่ชอบส่วนนึงก็เพราะมันมีตัวละคร/ระบบที่ตรงกันข้ามกันตลอด ทำให้เราสามารถแยกกระบวนการคิดได้ชัด และนำมาปรับใช้ได้ง่าย
ดังนั้น เมื่อผมแบ่งออกมา 3 ส่วนแบบนี้เรามาดูคร่าวๆกันไปทีละส่วนเลยครับ ที่ต้องคร่าวๆ เพราะถ้าเล่าละเอียดมากแบบนั้น ผมจะต้องติด Blacklist ของสำนักพิมพ์แน่ๆ 😂😂
ส่วนที่หนึ่ง : System 1 VS System 2
มาดูคำนิยามของทั้ง 2 ระบบนี้กันก่อนครับ
System 1 มีการทำงานแบบ #อัตโนมัติ และรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ความพยายาม (ถ้าใช้คือน้อยมาก) และไม่สามารถควบคุมได้
ยกตัวอย่างเช่น
- 1+1 = 2 ที่หลายคนแทบจะไม่ต้องคิด
- การกวาดสายตาไปเจอป้ายบอกทางว่า “กรุงเทพ” แล้วเราบังคับให้ตัวเองไม่อ่านคำว่ากรุงเทพไม่ได้
- การขับรถบนถนนโล่งที่เราสามารถขับไปและคิดอะไรไปได้พร้อมๆกัน
- การเดินตัวหมากรุกที่ได้เปรียบในการแข่งขัน หรือ การตอบสนองต่อสถานการณ์คับขันในการแข่งขันกีฬา (อันนี้จะทำได้โดยอัตโนมัติก็ต่อเมื่อผ่าน #การฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ )
System 2 มีการทำงานแบบ #ใช้ความพยายาม เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งมักจะเป็นปัญหาที่ System 1 ไม่สามารถแก้ได้
ยกตัวอย่างเช่น
- การเพ่งสมาธิเพื่อมองหาเพื่อนท่ามกลางฝูงคนจำนวนเยอะๆ
- ควบคุมความเร็วในการเดินออกกำลังกาย ที่ถ้าสมาธิหลุดคุณจะกลับมาเดินที่ความเร็วปกติ
- การแก้โจทย์ปัญหายากๆ เช่น 14 x 27 หรือการคิดวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ
- การจอดรถในช่องแคบๆ
1
แน่นอนว่าทั้ง 2 ระบบนี้มีการทำงานที่แตกต่างกัน โดยปกติแล้วสมองเราจะมีความขี้เกียจ (Laziness) สูงมาก เมื่อเจอกับปัญหาใดๆก็แล้วแต่ System 1 จะออกมาทำหน้าที่แก้ปัญหานี้ก่อน แต่เมื่อมันยากเกินความสามารถของระบบอัตโนมัตินี้ จึงจะเกิดการกระตุ้นให้สมองใช้ System 2 ในการแก้ปัญหาต่อไปนั่นเอง
และนี่คือความหมายคร่าวๆของระบบทั้งสองครับ ซึ่งภายในหนังสือจะพูดถึง Effect ต่างๆที่อยู่ในทั้งสองระบบและมีส่วนกับการตัดสินใจทั้งที่มีเหตุผล และไม่มีเหตุผลของมนุษย์เราอีกหลายทฤษฎีเลย ยกตัวอย่างเช่น
Halo Effect - คนเรามักจะให้ความสำคัญกับคำๆแรกมากกว่าคำต่อๆมาเสมอ
1
ตัวอย่าง : นาย A เป็นคน ซื่อสัตย์ มุ่งมั่น ขยัน แต่ไม่ค่อยละเอียด
ส่วนนาย B เป็นคนไม่ค่อยละเอียด แต่ขยัน มุ่งมั่น และซื่อสัตย์
ทั้ง 4 ลักษณะของทั้งสองคนนั้นเหมือนกันหมดเลย แต่พอเรียงลำดับแบบนี้ System 1 ของหลายๆคนจะมองว่านาย A เป็นคนที่น่าจะเก่งกว่า ถ้าใครคิดแบบนี้คุณกำลังเจอกับ Halo Effect อยู่
อันนี้เป็นตัวอย่างเพียงอันเดียว ในหนังสือจะมีทฤษฎีอะไรแบบนี้อีกเป็นสิบๆแบบเลยสำหรับ System 1 และ System 2
ส่วนที่สอง : Econ VS Human
Econ - คือตัวตนของบุคคลทางเศรษฐศาสตร์ ที่จะตัดสินใจทุกอย่างอย่าง #มีเหตุมีผล (Rational) โดยไม่มีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก (Emotional) มาเกี่ยวข้องเลย ใครเรียน Econ มาจะคุ้นเคยกับคำนี้ครับ
Human - แต่จริงๆแล้วมนุษย์นั้นมักจะมีปัจจัยด้าน #อารมณ์ความรู้สึก มากระทบการตัดสินใจต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งอาจจะทำให้เราตัดสินใจเลือกทางที่แย่กว่าในเชิงของเหตุผล แต่ให้ความรู้สึกที่ดีกว่า ซึ่งหลายๆคนต้องเคยแหละครับ เช่น เลือกที่จะกินขนม แทนที่จะไปออกกำลังกาย ทั้งที่รู้ว่าจะทำให้อ้วน เป็นต้น
1
ผู้เขียนเองได้เขียนเกี่ยวกับความแตกต่างของ Human และ Econ ไว้เยอะมากๆ เนื่องจากเป็นสายตรงที่ตัวเค้าเองได้รับรางวัลโนเบลจากสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics)
โดยส่วนที่สองนี้เป็นส่วนที่ผมชอบมาก เพราะมีการพูดถึง #ความกลัวความเสี่ยงในการลงทุน (Risk Aversion) ตรงกับสายที่ผมเรียน และสามารถเขียนอธิบายออกมาได้ดีมากๆ ดีแบบขนาดผมเข้าใจคอนเซปต์นี้อยู่แล้ว แต่ยังรู้สึกว้าวกับการอธิบายของเค้าเลย
1
ขออธิบายแบบย่อๆไว้แบบนี้ละกันครับ
1
เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับทฤษฎีอรรถประโยชน์ (Utility Theory) ขออธิบายก่อนว่า Utility คือ ความรู้สึกดี/พึงพอใจที่ได้รับจากการมีเงิน ยิ่งมีเงินเยอะ ยิ่งมี utility สูงแต่ utility ของเงินแต่ละหน่วยจะลดลงตามจำนวนที่เรามีมากขึ้น ซึ่งเป็นปกติที่มนุษย์เรายิ่งมีอะไรมากๆยิ่งไม่ค่อยตื่นเต้นกับมัน โดยหนังสือยกตัวอย่างตัวเลขเหล่านี้มาครับ
1
เงิน(ล้าน) 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10
utility 0 30 48 60 70 78 84 90 96 100
จะเห็นว่าทุก 1 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้น utility จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง (Diminishing in marginal utility) ซึ่งถ้าอธิบายด้วยตัวเลขนี้จะเห็นว่า คนที่มีเงินล้านเดียว ได้รับเงินเพิ่มเป็น 2 ล้านจะมี Utility เพิ่มขึ้นมา 30 หน่วย ในขณะที่คนที่มีเงิน 9 ล้าน ได้เงินเพิ่ม 1 ล้านเท่าๆกัน แต่กลับมี Utility เพิ่มขึ้นมาเพียง 4 หน่วยเท่านั้น
นอกจากนั้น ถ้าเรานำตัวเลขชุดนี้มาคำนวณหา Utility ของการเดิมพัน (Gamble) ที่มีความเสี่ยงจะทำให้เราเห็นความหมายของคำว่า Risk Aversion ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น มาดูกันต่อเลยครับ
การที่จะเข้าใจความหมายของ Risk Averse นั้นเราจะเปรียบเทียบระหว่าง #ผลตอบแทนที่แน่นอน (Sure Thing) สมมุติให้เท่ากับ 6 ล้านบาท (Utility = 78 หน่วย) กับ #ผลตอบแทนแบบมีความเสี่ยง (Gamble) ที่มีค่าเฉลี่ยเท่ากันที่ 6 ล้านบาทเช่นกัน
2
ผมสมมุติให้เป็นการโยนเหรียญ หัว-ก้อย ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทน 10 ล้าน กับ 2 ล้าน ละกันครับ เพื่อจะเฉลี่ยออกมาได้ 6 ล้านเท่ากับตัว Sure Thing ถึงแม้ว่าผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นตัวเงินจะเท่ากัน แต่เมื่อมาดูที่ค่าเฉลี่ยของ Utility จะพบว่ามีค่าเพียง 65 หน่วยเท่านั้น (30+100 หาร 2)
ดังนั้นการลงทุนแบบมีความเสี่ยงจึงไม่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่กลัวความเสี่ยงครับ เพราะมันไม่สามารถสร้างอรรถประโยชน์ได้เพียงพอกับผลตอบแทนที่ไม่มีความเสี่ยง (65 < 78) นั่นเป็นเพราะ เงิน 6 ล้านที่แน่นอนมี Utility 78 หน่วยแบบไม่ต้องหารเฉลี่ยใดๆ
ในขณะที่ผลตอบ 6 ล้านแบบมีความเสี่ยงนั้นแม้จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงถึง 10 ล้าน แต่ Utility ของมันไม่ได้ต่างจาก 6 ล้านมากนัก และเมื่อถูกหารเฉลี่ยออกมาจึงทำให้มี Utility น้อยกว่าเดิมด้วย
ตัวเลขอาจจะเยอะ และงงหน่อย ไว้จะทำเรื่องนี้แยกออกมาให้อีกทีละกันครับ 😅
ส่วนที่สาม : Experiencing Self VS Remembering Self
ส่วนนี้จะเป็นส่วนท้ายๆของหนังสือครับ พูดถึงตัวตนที่แทนความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์เรา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ ก็คือ
Experiencing Self - ตัวตนที่มาจากการประสบพบเจอใน #ปัจจุบัน
Remembering Self - ตัวตนที่มาจากความทรงจำใน #อดีต ที่สะสมมา
หนังสือยกตัวอย่างการทดลองนึงมาครับ การทดลองนั้นคือ Cold Hand Experiment ที่จะทดลองให้คนนำมือลงไปแช่ในน้ำเย็น 2 รอบ
#รอบแรก แช่น้ำเย็น 60 วินาที
#รอบสอง แช่น้ำเย็น 90 วินาที แต่น้ำจะเริ่มอุ่นขึ้นตอนวินาทีที่ 60
แต่ไม่มีการจับเวลาให้ผู้ทดสอบรู้นะครับว่าเวลาผ่านไปเท่าไหร่
เมื่อจบการทดลองจะให้ทุกคนเลือกว่ารู้สึกดีกับการแช่มือรอบไหนมากกว่ากัน ซึ่งโดย Logic รอบแรกน่าจะดีกว่าเพราะไม่ต้องทรมานนาน ส่วนรอบสองนั้นแม้จะอุ่นขึ้นแต่ก็ต้องทรมานนานขึ้นอีก 30 วินาที แต่ผลออกมาตรงกันข้ามเพราะคนส่วนใหญ่เลือกให้รอบที่สองรู้สึกดีกว่า!!
นั่นเป็นเพราะ การแช่มือรอบแรกนั่น Experiencing Self ของเราจะรู้สึกว่าการแช่มือครั้งนี้มันทรมาน แต่ในการแช่มือรอบที่สองนั้น Remembering Self จะจดจำว่าในช่วงแรกเราทรมานกว่าเพราะอุณหภูมิของมันเย็นมาก แต่พอเวลาผ่านไปกลับรู้สึกดีขึ้นเพราะเริ่มเย็นน้อยลง
และเมื่อถึงตอนที่ต้องเลือก คนก็มักจะนำ Remembering Self มาใช้ในการตัดสินใจ แม้กว่าเรื่องราวในอดีตนั้นอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ใดๆเลยก็ได้
อย่างในชีวิตจริงคนเรามักจะตัดสินใจโดยเอาข้อมูลในอดีตมาประกอบการตัดสินใจที่จะเดินไปข้างหน้ามากมาย เช่น
- คนที่เคยผ่านการหย่าร้าง/เลิกรามา ไม่กล้าที่จะเริ่มต้นใหม่ เพราะกลัวจะเป็นเหมือนเดิม แต่จริงๆแล้วมันไม่เกี่ยวกันเลย
- คนที่ล้มเหลวในการทำธุรกิจนึง กลับไม่กล้าที่จะเริ่มธุรกิจใหม่ เพราะกลัวการล้มเหลว แต่จริงๆแล้วประสบการณ์ที่ล้มเหลวเดิมนั้นจะช่วยให้ธุรกิจใหม่ไปได้ดีกว่าเดิมก็ได้
และตัวผู้เขียนเองก็ปิดท้ายหนังสือลงด้วยหัวข้อนี้ เป็นอันจบเนื้อหาของหนังสือจิตวิทยาและพฤติกรรมที่ดีที่สุดที่เคยมีมาอย่างสวยงามครับ
3 ส่วน กับ 6 ตัวละคร ที่ตรงกันข้ามกัน ก็จะมีเนื้อหาคร่าวๆประมาณนี้ครับ ซึ่งนี่คือไม่ถึง 10% ของเนื้อหาทั้งหมดเลยครับ ผมยกมาเฉพาะที่ประทับใจ ซึ่งถ้าแค่ 10% ยังว้าวขนาดนี้ ถ้าใครได้ลองอ่าน 100% ละก็จะต้องหลงรักหนังสือเล่มนี้เหมือนที่ผมเป็นแน่นอนครับ
ขอสารภาพแบบไม่อวยเลยก็คือตั้งแต่อ่านหนังสือมา #ผมยังไม่เคยเจอเล่มไหนที่ทำให้ผมประทับใจได้เท่าเล่มนี้อีกแล้ว ถ้าวันไหนผมเจอเล่มที่ดีกว่าแล้วจะมาบอกให้ทุกคนรู้แน่ๆ
(เนื้อหาที่เล่าไปนั้นไม่ถึง 10% จริงๆ ผมไม่ได้หลอก หรือปั่นให้ไปซื้อกันนะครับ บอกตรงๆว่าไม่ได้สปอนเซอร์ ทั้งที่อยากได้ แต่เขียนเชียร์เพราะชอบส่วนตัวล้วนๆ เนื้อหามันเยอะมากก 400 หน้า 38 บท !! ชีวิตนี้เพิ่งเคยเจอหนังสือที่แบ่งบทเยอะขนาดนี้ พอแปลไทยออกมาแล้วล่อไป 800 หน้าเลย บ่งบอกชัดว่าเนื้อหาแน่นจริง)
สำหรับใครที่สนใจฉบับภาษาอังกฤษ ก็สามารถหาซื้อได้จาก Kinokuniya หรือ Bookdepository แต่จะอ่านยากหน่อยนะครับ
1
ส่วนใครสนใจฉบับแปลไทยสามารถรอซื้อกับทาง สำนักพิมพ์วีเลิร์นได้นะครับ
*** ทางสำนักพิมพ์ปิดการ Pre-Order ไปแล้ว ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงจะมาอัพเดทให้นะครับ
ส่วนถ้าใครชอบเนื้อหาเน้นๆตามสไตล์เพจ “เล่า” ของผมก็สามารถกด Like เพจเพื่อติดตามเนื้อหาใหม่ๆของทางเพจได้นะครับ จะมีมาเล่าให้ในหลายๆเรื่องเลย ตามเพจเล่าไม่มีเบื่อแน่นอน เพราะแอดมินขี้โม้ หามาเล่าได้ทุกเรื่องครับ 😂😂
อยากให้เล่าเรื่องไหน รีเควสได้ ถ้าไม่นอกเหนือความสามารถก็จะไปหามาให้ครับ 😎😎
ติดตามเรื่อง “เล่า” ผ่าน facebook ได้ที่
#เล่า #เล่าหนังสือ #เล่าความรู้ #unfold #ส่งเสริมการอ่าน #ส่งเสริมการเรียนรู้ #ThinkingFastandSlow #DanielKahnemann
โฆษณา