Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หา❤️ให้เจอก็เป็นสุข
•
ติดตาม
10 ส.ค. 2020 เวลา 04:59 • ความคิดเห็น
หลงหรือรู้?
ตามธรรมชาติแล้วจิตจะเข้าไปยึดกับความรู้สึกและความนึกคิด ทำให้คนเรารู้ไม่เท่าทัน...
อาการของความรู้สึกทางใจนั้น สังเกตเห็นได้ง่ายเพราะมีลักษณะที่หยาบกว่า ให้สังเกตเวลาที่เรารู้สึกโกรธ เศร้า หรือเสียใจ เราจะมีใจที่รุ่มร้อนหรือถูกบีบคั้นจนทำให้แสดงออกด้วยทางพฤติกรรมและคำพูดต่างๆจนเห็นได้ชัด
อาการทางความคิดนั้น สังเกตเห็นได้ยากกว่าเพราะมีลักษณะที่ละเอียดกว่า เล่ห์เหลี่ยมเยอะกว่า หลอกล่อเราได้ง่ายกว่า จนหลายๆครั้งที่คนเรามักเข้าไปยึดติดกับความคิดอย่างไม่รู้ตัว แต่เพราะเห็นว่าอาการของความรู้สึกทางใจนั้นเป็นกลางไม่กระเพื่อมจึงคิดว่าตามรู้แล้วตามทันแล้ว ทั้งๆที่ยังติดกับดักตัวร้ายอยู่อีกตัวหนึ่งก็คือความคิดนี้นั่นเอง
เราจะสังเกตเห็นได้อย่างไรว่าจิตกำลังหลงเข้าไปยึดเข้าไปเกาะกับความคิด ถ้าเป็นความรู้สึกยังพอสังเกตได้ง่ายเพราะมีการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา แต่กับความคิดนั้นบางทีมันก็หลอกเราจนเราตามรู้ไม่ทันอยู่บ่อย
อันนี้ผู้เขียนขอเขียนจากประสบการณ์ที่ตนเองได้เจอมา เมื่อไหร่ที่จิตหลงเข้าไปยึดเกาะกับความคิด มันจะทำให้เราฟุ้งซ่าน ดิ่งเข้าไปสู่ความคิด ถ้าเราไม่ถอนจิตออกจากความคิดเราจะเริ่มทุกข์ สังเกตได้จากความรู้สึกหนัก หน่วง ที่เกิดขึ้น
แต่ปกติแล้วคนเรามักมองข้ามความรู้สึกหนักหน่วงตรงนี้ไปเพราะคิดว่าไม่เป็นโทษ เลยไม่รู้ว่านั่นก็เป็นอาการนึงที่ทำให้จิตกระเพื่อมได้ แต่รูปแบบของมันเป็นรูปแบบของการสะสม เปรียบเปรยเหมือนกับเวลาที่เราถือหินไว้ในมือ ถ้าเราถือไว้โดยไม่วางซักพักเราจะรู้สึกว่าหินนั้นหนักขึ้นและเกิดอาการมือล้าได้ แต่อาการหนักนี้มันอาจจะไม่ได้กระเพื่อมอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับความรู้สึก อย่างรัก โลภ โกรธ หลง ที่มักจะแสดงออกมาอย่างชัดเจนกว่า
เปรียบเปรยก็เหมือนกับเอายางผู้ไว้กับต้นไม้สองต้น ถ้าเป็นความรู้สึก รัก โลก โกรธ หลง นั้น จะมีอาการที่กระเพื่อมอย่างรุนแรง เหมือนเราเอามือรั้งยางไปด้านใดด้านหนึ่งแล้วปล่อยมือออกจากยางนั้น เราจะเห็นได้ว่ายางเส้นนั้นสั่นกระเพื่อมอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่อาการหนักหน่วงนี้บางทีมันก็ไม่สั่นกระเพื่อมให้เราเห็น เหมือนอาการที่เราดึงยางไปข้างใดข้างหนึ่งและค้างมือไว้เช่นนั้นโดยที่ไม่ปล่อย จะเห็นได้ว่ายางนั้นตึงขึ้นจากแรงเหนี่ยวรั้งที่เรากระทำ พอเรารั้งไว้อยู่แบบนั้นโดยที่ไม่ปล่อยนานเข้าๆพลังงานความร้อนที่สะสมจะมากขึ้นตาม จนสุดท้ายยางนั้นก็ต้องขาดลง ก็เป็นลักษณะของอาการ ยึดก็หนัก ปล่อยก็เบา ดังเช่นที่พระท่านสอน
อาการยึดติดอยู่กับความคิดนั้นมันจะค่อยๆเกิด จนตบตานักปฏิบัติได้อยู่หลายหน จนนักปฏิบัติอย่างเราๆนี่หลงผิดอยู่บ่อยๆ คิดว่ารู้แล้วเพราะใจไม่รุ่มร้อนไม่กระเพื่อม แต่นั่นก็เป็นเพียงแต่การตามรู้ตามดูในระดับของความรู้สึก ยังมิใช่ระดับของความคิดที่ถือว่ายากกว่ามาก
ผู้เขียนเคยสงสัยว่า ที่พระท่านเคยสอนว่า"คนจริงมักไม่พูด คนพูดมักไม่จริง"นั้นเป็นอย่างไร หากธรรมข้อนี้จริงเหตุใดพระพุทธองค์หรือพระสาวกถึงได้พูดได้สอนหละ จึงได้มีโอกาสไปฟังธรรมของท่านหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องของการภาวนาเอาไว้ ก็ถึงบางอ้อเลยว่า"คนพูดมักรู้ไม่จริง คนจริงมักไม่ค่อยพูด"นั้นเป็นเช่นไร
ผู้เขียนก็เริ่มพิจารณาตนเองก่อนว่า ที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงหลักธรรมคำสอนในขณะที่พูดเรารู้หรือหลง ก็ได้คำตอบมาว่าแท้จริงแล้วเราหลงอยู่ ผิดกับตอนที่ไม่พูดเรากลับเห็นความคิดที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน จนมาสืบหาว่าสาเหตที่พูดแล้วหลงเกิดจากอะไร ก็ได้คำตอบให้กับตนเองว่าเกิดจากการทำสมาธิที่ยังไม่ชำนาญนั่นเอง เมื่อไม่มีสมาธิมาคอยกำกับเอาไว้ จิตจะเข้าไปยึดเกาะกับความคิด แม้ความคิดนั้นจะเกิดจากการใช้ปัญญาพิจารณาก็ตาม พอเข้าไปยึดเข้าไปหลงเข้าไปอินกับความคิดจิตก็ไม่สงบ จะสังเกตได้จากท่าทีหรือคำพูดที่แสดงออกมาที่ดูแล้วยังไม่สำรวมเท่าที่ควร
ผิดกับพระพุทธองค์หรือพระสาวกที่เป็นอริยะ ท่านเหล่านั้นเวลาพูดหรือสอนหลักธรรมผู้อื่นจะใช้คำพูดที่เป็น"ปิยวาจา"และการกระทำของท่านไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ก็ดูสำรวมไปทุกอริยบท ดูสงบและสง่างามอย่างแท้จริง นี่เองคงจะเป็นเหตุผลที่พระพุทธองค์ได้สอนให้คนเราต้องรู้จัก สำรวม กาย วาจา และใจ เพราะการสำรวม กาย วาจา และใจนั้น ทำให้จิตรวมลงสู่ สติ สมาธิ ปัญญา ได้อย่างแท้จริง และเมื่อมีสติสมาธิมากำกับอย่างต่อเนื่องแล้วจิตจึงเป็นกลางไม่กระเพื่อมขึ้นลงไปตามอารมณ์ต่างๆนั่นเอง และถ้าเราแยกจิตรู้ออกจาก ความรู้สึกและความนึกคิดได้แล้ว เราจะเห็นว่านั่นไม่ใช่ตัวเรา
ตอนนี้ผู้เขียนเองก็ยังไม่ชำนาญในเรื่องของการทำสมาธิหรือตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ บ่อยครั้งเวลาที่พูดจิตมักไหลรวมไปอยู่กับความคิดจนแยกไม่ออกว่าอันไหนรู้อันไหนหลง ก็ต้องหมั่นเพียรและฝึกฝนกันต่อไป
ผู้เขียนจึงขอเขียนแชร์ไว้เป็นประสบการณ์ และเผื่อจะมีประโยชน์ต่อผู้อื่นได้บ้าง
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย