Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
•
ติดตาม
11 ส.ค. 2020 เวลา 01:08 • การศึกษา
วันนี้จะขอเชิญชวนให้ทุกท่านหันมาลองปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ฝึกใจของเราให้อยู่กับตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อเริ่มฝึกนั่งสมาธิเจริญภาวนา แรกๆ ก็จะรู้สึกดี สบายใจ สงบ โล่งสบาย แต่พอนั่งไปสักพักก็จะเริ่มปวดขาบ้าง มีเรื่องฟุ้งเข้ามาบ้าง นั่งหลับบ้าง เราลองมาดูกันว่าจะมีวิธีแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร
นั่งสมาธิแล้วรู้สึกเมื่อย
กรณีนั่งสมาธิแล้วรู้สึกเมื่อย เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆ ให้ฝืนก่อน จนเกิดความคุ้นเคย เราก็จะนั่งได้นานขึ้นเรื่อย ๆ กรณีที่รู้สึกเมื่อยจริงๆ ก็ให้เปลี่ยนท่ามานั่งพับเพียบได้ แต่ระหว่างที่เปลี่ยนท่านั้น ให้เอาใจนิ่งๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ไม่จำเป็นอย่าลืมตา
เมื่อเปลี่ยนท่าเสร็จแล้วจะได้ทำสมาธิต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องถอนจิตออกมา หรือถ้ามีอาการเส้นยึดจริง ๆ ก็ให้ไปหาหมอจับเส้นที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อปรับให้เส้นกล้ามเนื้อ และกระดูกของเราเข้าที่เข้าทาง
นั่งสมาธิแล้วรู้สึกฟุ้ง
ในกรณีฟุ้งนั้น สำคัญคือตอนที่เริ่มนั่ง อย่าเพิ่งคิดอะไร ทำใจนิ่งๆ บางคนเริ่มนั่งก็เริ่มคิดไปเรื่องอื่นทันที พอคิดไปบ่อย ๆ จนเกิดความเคยชิน พอจะหยุดคิดกลับมาทำสมาธิใจชักจะรู้สึกฝืน ไม่อยากกลับอยากจะคิดต่อไปอีก
ดังนั้น เมื่อเรานั่งสมาธิแล้วให้ตั้งใจเอาใจนิ่งๆ ไว้ตรงศูนย์กลางกายที่กลางท้อง ใจก็จะนิ่งได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ารู้ตัวว่าฟุ้งเมื่อไรแล้ว อย่าไปคิดต่อ ให้ปล่อยเรื่องนั้นไป เอาใจกลับมาไว้ที่ศูนย์กลางกายทันที
ทำอย่างนี้ทุกครั้งไม่นานใจที่เคยฟุ้งก็จะฟุ้งน้อยลงเป็นสมาธิได้นานขึ้น ส่วนใหญ่ที่ฟุ้งไม่เลิก เป็นเพราะว่าทั้งที่รู้ตัวว่าฟุ้งแต่กลับรู้สึกว่ากำลังสนุกจึงคิดต่อไปเรื่อยเปื่อยเป็นครึ่งชั่วโมงเป็นชั่วโมง ไม่ยอมกลับ เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากทำสมาธิให้ก้าวหน้า ให้ยึดหลักว่าช่วงที่เผลอฟุ้งไป ถ้าไม่รู้ตัวก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ารู้ตัวเมื่อไรขอให้หยุดคิด กลับมาวางใจนิ่งๆต่อ
กรณีที่เผลอฟุ้งไปนานหลายสิบนาที จู่ๆ จะให้กลับใจก็มักไม่ค่อยจะยอมกลับ ให้เราลืมตาขึ้นมองดูดวงแก้วหรือองค์พระตรงหน้า พอลืมตาขึ้นมาใจจะมาอยู่กับภาพตรงหน้า เรื่องฟุ้งก็จะคลายลงไป พอเสร็จแล้วเราก็ค่อยๆ หลับตาใหม่ แล้วนึกถึงองค์พระ หรือดวง แก้วใสๆ ที่กลางท้อง
นั่งสมาธิแล้วรู้สึกง่วง
หากเกิดอาการง่วงเวลานั่งสมาธิ ให้ลองตรวจสอบสุขภาพเรา ว่าอดนอนหรือไม่ มีอาการเส้นติดหรือไม่ เพราะบางคนมีลักษณะของ เส้นคอหรือเส้นหลังติดทำให้ไปดึงรั้ง พอนั่งสมาธิเพียง 2–3 นาที ก็มีอาการคอตกคอพับจึงควรไปนวดคลายเส้น หรือบางคนอดน้ำ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายขาดน้ำจึงเกิดอาการง่วงได้ง่าย เป็นต้น
เมื่อเราแก้เหตุทางกายภาพเรียบร้อยแล้ว จากนั้นตรวจสอบ นิสัยเราเองแล้วตั้งหลักให้ดี พอเริ่มนั่งสมาธิแล้วทำท่าจะง่วงก็ให้ ภาวนาถี่ ๆ ว่า “สัมมา อะระหัง ๆ ๆ ๆ ” หรือหากว่าเราทำท่าหัวจะปักลงไปเสียให้ได้ก็ให้ลืมตา บิดคอไปมาสักพัก บีบมือเบาๆ แล้วตั้ง หลักให้ดี ๆ แต่ถ้ายังรู้สึกง่วงมากอยู่ก็ให้ลุกไปห้องน้ำเพื่อล้างหน้า ล้างตา เสร็จแล้วกลับมานั่งต่อ
ในครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยแนะวิธีการแก้ง่วงแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล เพราะพระองค์ง่วงเหงาหาวนอนเป็นประจำ เนื่องจากพระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาหารทีละเป็นทะนาน
(ทะนาน คือ ชื่อหน่วยในมาตราตวงโบราณ ๒๐ ทะนาน เป็น ๑ ถัง, ชื่อหน่วยในมาตราตวงของไทยโบราณเท่ากับ ๘ ฟายมือ)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำว่า ให้ลดพระกระยาหารลง เมื่อปฏิบัติเช่นนั้นจึงรู้สึกเบาเนื้อเบาตัว ความง่วงจึงลดลง ดั่งโบราณว่า “หนังท้องตึง หนังตาหย่อน” เพราะฉะนั้นเราต้องปรับอาหารให้พอดี ๆ ไม่รับประทานมากหรือน้อยเกินไป
ความต่างของการฝึกนั่งสมาธิคนเดียว กับปฏิบัติเป็นกลุ่ม
กรณีการฝึกนั่งสมาธิคนเดียวกับปฏิบัติกันเป็นกลุ่มนั้น เปรียบ เหมือนกับการเรียนหนังสือ การเรียนเองที่บ้านกับการไปเรียนที่ โรงเรียนนั้นต่างกัน คือ หากเราไปโรงเรียน เรียนกันเป็นกลุ่มและมี ตารางสอนชัดเจน พอถึงเวลาก็เข้าห้องเรียน แต่ถ้าเรียนอยู่บ้านคนเดียว แล้วให้อ่านหนังสือเองวันละ 7–8 ชั่วโมง โดยไม่มีคนควบคุมดูแล เราก็อาจจะเถลไถลไปทำเรื่องอื่น
ดังนั้น พลังหมู่จะเสริมพลังเดี่ยว การนั่งสมาธิก็เหมือนกัน หากเรานั่งอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม เมื่อลืมตาขึ้นเราจะเห็นว่าใคร ๆ เขาก็นั่งสมาธิกันอยู่ เราก็จะมีกำลังใจนั่งต่อไปได้ แต่ถ้าให้นั่งคนเดียว สักพักก็อาจจะเลิก ลุกเดินไปเดินมา ทำนั่นทำนี่ไปเรื่อย เพราะฉะนั้น ถ้านั่งด้วยกันเป็นหมู่คณะได้ ก็จะช่วยเสริมกำลังใจได้อีกทางหนึ่ง
แต่ในกรณีของผู้ที่สามารถปฏิบัติได้อย่างหนักแน่นจริงจัง และมีวินัยในตัวเองอย่างดีเยี่ยมแล้ว จะนั่งสมาธิคนเดียวก็สามารถทำได้ และในชีวิตประจำวันการนั่งสมาธิก่อนนอน หรือหลังตื่นนอนตอนเช้า เราก็นั่งคนเดียวเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้น ให้ฝึกจนคุ้นเคย กระทั่งเป็นวินัยในตัวเอง
เมื่อนั่งสมาธิแล้วเราจะรู้สึกผ่อนคลาย สบาย แต่สำหรับบางคน เมื่อนั่งแล้วกลับรู้สึกเหนื่อย เมื่อย ตึง ไม่สบายเนื้อตัว เหมือนกับไปทำอะไรหนักๆ มานั้น เป็นเพราะว่าขณะที่นั่งเราอาจจะกังวล “ลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง” จนเหนื่อยเพราะอยากเห็น
การที่จะนั่งสมาธิให้ได้ผลดีนั้น ต้องไม่ลุ้น นั่งสบายๆ ทำใจให้โปร่งเบา เริ่มแรกให้นึกขยายใจเราให้กว้าง รู้สึกว่าตัวเรากับธรรมชาติ รอบตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ใจขยายออกไป ใจสบาย คลายแล้ว รักษาอารมณ์สบายให้ได้ ใครที่นั่งสมาธิแล้วได้อารมณ์สบายก็ถือว่ากำชัยไปกว่าครึ่ง เนื่องจากเราจะมีอารมณ์อยากนั่งต่อเพราะนั่งแล้วสบายนั่นเอง
ดังนั้น ในเบื้องต้นให้ปรับความสบายให้ได้ก่อน พอจับอารมณ์สบายได้ ก็ต้องคลายความลุ้น เพราะเราจะไปเร่งให้เห็นอย่างดึงดันนั้นไม่ได้ “ยิ่งเราดัน จิตยิ่งอยาก ยิ่งอยากมันก็ยิ่งไม่เข้า” ทำใจสบายๆ จิตจะนุ่มนวลและละเอียด พอใจละเอียดแล้วมันจะเข้าไปในศูนย์กลางกายได้อย่างสบายๆ เอง
ยกตัวอย่างเหมือนกับใครบอกว่า ให้ “เพ่งดวงแก้ว” ซึ่งความจริงไม่ใช่เลย เราเพียงมองดูแล้วนึกเบาๆ เท่านั้น เพราะถ้าเพ่งเมื่อไร จะเป็นการไปเล็ง จิตจะเกร็งๆ แล้วจะหยาบ
ถ้าเราเลิก “ลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง” แล้ว จะไม่เหนื่อย นั่งแล้วสบายอกสบายใจ ผ่อนคลาย สดชื่น บางคนเผลอหลับไป 5 นาที พอตื่นมาแล้วรู้สึกสดชื่น เหมือนกับได้นอนไปเป็นชั่วโมง แล้วสามารถนั่งต่อไปได้ แต่ก็ควรพยายามตั้งสติอย่าให้หลับ ถ้าเผลอหลับไปจริง ๆ เมื่อรู้ตัวแล้วก็ให้นั่งต่อไป
เราได้ทราบแล้วว่า การนั่งสมาธินั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งกับพระภิกษุและฆราวาส เพราะว่าคนเรานอกจากจะต้องชำระล้าง ร่างกายแล้ว ยังจะต้องชำระใจตนเองให้สะอาด ผ่องใสทุกวันด้วย เพราะฉะนั้นฝากไว้ให้ลองนั่งสมาธิกัน และที่สำคัญให้ทำอย่างต่อเนื่อง ทุก ๆ วันด้วยจึงจะดี
เจริญพร
27 บันทึก
71
42
27
71
42
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย