10 ส.ค. 2020 เวลา 09:00 • ประวัติศาสตร์
รวมทฤษฎี "คนไทยมาจากไหน"
พร้อมบทวิเคราะห์ นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
Ep.006 คนไทยมาจากไหน
ในบทความนี้ ข้าพเจ้าขอเล่าเกี่ยวกับทฤษฎี
แหล่งที่มาของคนไทยในอดีต ว่ามาจากไหน
ต้นกำเนิดทางเผ่าพันธุ์ การอพยพย้ายถิ่นฐาน
มีความเป็นมาอย่างไร
ซึ่งท่านอาจจะเคยรู้ หรือทราบมาก่อนแล้ว
ทั้งในตำราเรียน หรือตามสื่อต่างๆ
ที่มีนักวิชาการการได้เคยนำเสนอมาแล้วนั้น
แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีสมมุติฐานใหม่น่าสนใจ
เกี่ยวกับความเป็นมาของคนไทย
จากนักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี
ทั้งในไทย และต่างประเทศ
4
ก่อนที่จะกล่าวถึงสมมุติฐานใหม่ๆนั้น
ข้าพเจ้าจะขอนำเสนอทฤษฎีเดิมเหล่านั้นเสียก่อน
ให้ทราบถึงความเป็นมา และวิวัฒนาการทางข้อมูล
เพื่อนำไปต่อยอดสู่ความรู้ใหม่ต่อไป
ทฤษฎีที่ 1 ต้นกำเนิดคนไทย มาจากเผ่ามองโกลโบราณ บริเวณเทือกเขา อัลไต
3
วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์
หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ได้เดินทางสำรวจความเป็นอยู่ของชาติต่างๆในดินแดนใกล้เคียงพร้อมทั้งเผยแพร่ศาสนาไปด้วยโดยเริ่มจากเชียงราย เชียงตุง สิบสองปันนา ยูนนาน
จนถึงฝั่งทะเลกวางตุ้ง
ผลจากการสำรวจปรากฏในงานเขียนเรื่อง
Thai Race The Elder Brother of the Chinese
โดยสรุปย่อว่า ไทยสืบเชื้อสายจากมองโกล
และเป็นชาติเก่าแก่กว่าจีนและฮิบรู
งานเขียนของหมอดอดด์ ได้รับความสนใจทั้งชาวไทย
และต่างประเทศ นักวิชาการไทยคนสำคัญที่สืบทอดความคิดของหมอดอดด์ คือ ขุนวิจิตรมาตรา ได้เขียนงานเขียนชื่อ
“หลักไทย” ซึ่งเป็นหนังสือแต่งทางประวัติศาสตร์
แม้แนวคิดนี้ จะไม่เป็นที่ยอมรับแล้วก็ตาม
แต่ได้เป็นเหตุให้เราตื่นตัว ที่จะหาข้อเท็จจริง
ว่าคนไทยนั้นมาจากไหน จนนำไปสู่ทฤษฎีใหม่ๆ
เพื่อมาสนับสนุน หรือหักล้างทฤษฎีเดิม
เพราะในอดีตสมมุติฐานนี้ เคยเป็นที่ยอมรับ
และถูกบรรจุไว้อยู่ในตำราเรียน
ของกระทรวงศึกษาธิการในวิชาประวัติศาสตร์
2
เมื่อสองปีก่อน นายกฯ ประยุทธ์จันทร์โอชา
ได้กล่าวประโยคนี้ กับสื่อมวลชนฯ
ทำนองว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต
จนเกิดประเด็นดราม่าไปทั้งประเทศ
เกิดคำถามจากนักวิชาการ และฝ่ายขั้วตรงข้าม
เกี่ยวกับความรอบรู้ ของนายกฯเอง
และระบบการศึกษาไทย ที่ยังคงล้าหลัง
และย่ำอยู่กับที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางข้อมูล
เพราะทฤษฎีที่ว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตนั้น
ปัจจุบันไม่มีนักประวัติศาสตร์คนไหนเชื่อถือแล้ว
อาจารย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์
และโบราณคดี ยังเคยค่อนแคะสมมุติฐาน
เทือกเขาอัลไตนี้อยู่บ่อยครั้ง
ในงานเขียน งานเสวนา และในสื่อมติชน
โดยมักมีประโยคพูดติดตลกว่า
"เคยบอกชาวโซเวียตจะไปเยี่ยมญาติ
แถวเทือกเขาอัลไต แต่กลับได้รับคำตอบว่า
ที่นั่นมีแต่ภูเขาน้ำแข็ง และเป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของรัสเซีย ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ "
1
ในข้อเท็จริง บริเวณเทือกเขาอัลไตนั้น
ไม่ใช่ภูเขาน้ำแข็ง ที่ไม่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่เลย
คือจะไม่มีก็เฉพาะส่วนยอดเขา หากแต่พื้นที่รอบๆ
นั้นมีหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย โดยเฉพาะหลุมฝังศพแบบเนินดินรูปวงกลม ที่ทางรัสเซียเรียกว่า "เคอกัน"
นักประวัติศาสตร์ยืนยันแล้วว่าไม่มีความเกี่ยวข้อง
กับต้นตระกูลไทยแม้แต่น้อย และพวกเขาเหล่านี้
พูดภาษาในตระกูลอิหร่าน จึงไม่ใช่คนไทยแต่อย่างใด
ทฤษฎีที่ 2 ถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน ประเทศจีน
เตเรียน เดอ ลาคูเปอรี ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ
ในมหาวิทยาลัยลอนดอน
ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ของอินโดจีน
เป็นเจ้าของสมมุติฐานนี้ ผลงานของเขามีชื่อว่า
" The Cradle of the Shan Race "
เขาอาศัยหลักฐานของจีน โดยพิจารณาความคล้ายคลึงกันทางภาษาของผู้คนในจีน
และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วสรุปว่า
คนเชื้อชาติไทยตั้งถิ่นฐานในดินแดนจีน
ก่อนจีนคือเมื่อ 2200 ปีก่อนคริสตกาล
ถิ่นที่อยู่ของคนไทยที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีน
อยู่ในเขตมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน
1
งานของลาคูเปอรี ได้รับการสืบทอดต่อมาในงานเขียนของนักวิชาการไทย เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประภาศิริ เสฐียรโกเศศ พระยาอนุมานราชธน
หลวงวิจิตรวาทการ และศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์
สมมุติฐานนี้ มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง
ในด้านการวิเคราะห์ ทางหลักภาษาศาสตร์
ที่นักวิชาการเคยยืนยันแล้วว่า ภาษาในตระกูลภาษาไต-ไท เป็นภาษาที่ใช้ร่วมกันในแถบเอเชียอาคเนย์มาอย่างช้านาน
แต่ไม่มีหลักฐานการอพยพ จากเสฉวนมาไทยทฤษฎีนี้
จึงไม่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
ทฤษฎีที่3 ถิ่นกำเนิดกระจัดกระจายทั่วไปในบริเวณตอนใต้ของจีนและทางเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนแคว้นอัสสัมของอินเดีย
นักสำรวจชาวอังกฤษ ชื่อ โคลกูฮุน
เป็นผู้ริเริ่มความเชื่อนี้ เขาได้เดินทางจากกวางตุ้ง
ตลอดถึงมัณฑเลย์ในพม่าและได้เขียนหนังสือ ชื่อ Across Chryse เล่าเรื่องการเดินทางสำรวจดินแดนดังกล่าว
และเขียนรายงานไว้ว่าพบคนไทยเชื้อชาติไทยในแถบนี้
2
งานเขียนนี้ตีพิมพ์ในอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2428
ผู้เขียนได้รับรางวัลเหรียญทองจากสมาคมภูมิศาสตร์ของอังกฤษ ต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส
และเยอรมัน จึงทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายออกไป
นอกจากนี้มีงานค้นคว้าประเภทอาศัยการตีความ
จากหลักฐานจีน เช่น งานของ E.H. Parker
ปาร์คเกอร์ กงสุลอังกฤษประจำเกาะไหหลำ
เขียนบทความเรื่องน่านเจ้า โดยอาศัยตำนานจีน
บทความนี้พูดถึงอาณาจักรน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของคนไทยเฉพาะราชวงศ์สินุโล คนไทยเหล่านี้ถูกคนจีนกดดันถึงอพยพลงมาทางใต้
และมีงานค้นคว้าของ วิลเลียม เคร์ดเนอร์
ซึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับยูนนานโดยสำรวจภูมิประเทศและเผ่าพันธุ์ที่ตกค้างในยูนนาน
สรุปว่าถิ่นเดิมของชนเผ่าไทยควรอาศัยในที่ต่ำใกล้ทะเล
เช่น มณฑลกวางสี กวางตุ้ง
2
วูลแกรม อีเบอร์ฮาด ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญ
ด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และโบราณคดีจีน
ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของไทย
ในงานเขียนชื่อ A History of China
สรุปว่า เผ่าไทยอยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง
ต่อมาอพยพมาอยู่แถบยูนนาน
และดินแดนในอ่าวตังเกี๋ย (สมัยราชวงศ์ฮั่น)
ได้สร้างอาณาจักรเทียนหรือแถน และถึงสมัยราชวงศ์ถัง
เผ่าไทยได้สถาปนาอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นที่ยูนนาน
1
งานเขียนของบุคคลเหล่านี้ได้ให้แนวคิดแก่นักวิชาการไทยและต่างประเทศในระยะต่อมา เช่น ยอร์ช เซเดส์ ชาวฝรั่งเศส ได้สรุปว่าชนชาติไทยอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีน
แถบตังเกี๋ย ลาว สยาม ถึงพม่า และอัสสัม
1
ส่วนนักวิชาการไทย พระยาประชากิจกรจักร
(แช่ม บุนนาค) งานเขียนคือ พงศารโยนก
งานชิ้นนี้สรุปว่าคนไทยมาจากตอนใต้ของจีน
จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ใช้วิธีการทางนิรุกติศาสตร์
วิเคราะห์ตำนาน พงศาวดารท้องถิ่นทางเหนือของไทย
และตรวจสอบกับจารึกของประเทศข้างเคียง
เขียนหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว
และจาม และลักษณะสังคมของชื่อชนชาติ”
สรุปว่าที่อยู่ของคนเผ่าไทยอาศัยกระจัดกระจายในบริเวณทางตอนใต้ของจีนและบริเวณภาคเหนือของไทย ลาว เมขร พม่า และรัฐอัสสัมในอินเดีย และให้ความเห็นเกี่ยวกับน่านเจ้าว่า น่านเจ้าเป็นรัฐทางใต้สุด
1
ส่วนแนวคิดของนักวิชาการปัจจุบันให้คำอธิบาย
ในบางส่วนไว้ดังต่อไปนี้
บทความ : สุจิตต์ วงษ์เทศ/ความเป็นไทย
ในประวัติศาสตร์แห่งชาติ ในมติชนสุดสัปดาห์
ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม 2560 - 4 มกราคม 2561
1
“กลุ่มคนไทยได้ก่อตั้งบ้านเมืองขึ้นบริเวณดินแดนประเทศไทยกลุ่มคนไทยนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนไทย
ในมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน อพยพเคลื่อนย้ายลงมา และได้ผสมผสานกับคนพื้นเมืองดั้งเดิม
ดังปรากฏร่องรอยในตำนานปรัมปราของล้านนา”
1
ไม่พบหลักฐานสนับสนุน ว่ามีคนไทยตั้งถิ่นฐาน
อยู่ในมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน และในอัสสัม
ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย"
หลักฐานมีแต่แสดงว่ามีคนพูดตระกูลภาษาไต-ไท
อยู่ในยูนนานและอัสสัม แล้วเรียกตัวเองด้วยชื่อต่างๆดังนี้
ในยูนนาน ที่สิบสองพันนา เรียกตัวเองด้วยชื่อต่างๆ
เช่น ลื้อ ในอัสสัม (หรืออาหม) เรียกตัวเองด้วยชื่อต่างๆ
เช่น ผาเก, ตุรุง, คำตี่ ฯลฯ
ทั้งหมดไม่เคยพบหลักฐาน ไม่ว่าตำนานหรือพงศาวดาร
ว่ามีการอพยพถอนรากถอนโคนลงมาเป็นคนไทย มีแต่บางพวกถูกกวาดต้อนสมัยหลังๆ เช่น สมัยกรุงธนบุรี กวาดต้อนจากสิบสองพันนา ลงไปตั้งหลักแหล่งที่เชียงใหม่
1
" หลักฐานมีแต่คนพูดตระกูลภาษาไต-ไท
ในกวางสีนั้นมีหลายกลุ่ม เรียกตัวเองหลายชื่อ
แต่สมัยต่อมาเรียกรวมชื่อเดียวว่า จ้วง
ส่วนในเดียนเบียนฟูก็มีหลายกลุ่ม
แต่กลุ่มใหญ่เรียกตัวเองว่า ผู้ไต/ผู้ไท หรือไตดำ/ไทดำ
จากกวางสี ไม่เคยพบคำบอกเล่าว่ามีคนโยกย้ายไปเป็นคนไทย"
ทฤษฎีที่ 4 ถิ่นเดิมของไทยอาจอยู่ทางบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยหรืออินโดจีน หรือบริเวณคาบสมุทรมลายู และค่อย ๆ กระจายไปทางตะวันตก
และทางใต้ของอินโดจีนและทางใต้ของจีน
กลุ่มนี้ศึกษาประวัติความเป็นมาของชนชาติไทยด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ บนรากฐานวิชาพันธุศาสตร์
คือการศึกษาความถี่ของยีน
และหมู่เลือดและการศึกษาเรื่องฮีโมโกลบินอี
เช่น นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบุญ ได้ศึกษาความถี่ของยีนและหมู่เลือด พบว่าหมู่เลือดของคนไทยคล้ายกับชาวชวาทางใต้มากกว่าจีนทางเหนือ สรุปได้ว่าคนไทยมิได้สืบเชื้อสายจากคนจีน
1
ส่วนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฮีโมโกลบินอีนั้น
นายแพทย์ประเวศ วะสี และกลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปว่า ฮีโมโกลบินอี พบมากในผู้คนในแถบเอเชียอาคเนย์
คือ ไทย ลาว พม่า มอญ และอื่น ๆ สำหรับประเทศไทยผู้คนทางภาคอีสานมีฮีโมโกลบินอีมากที่สุด(คนจีนเกือบไม่มีเลย)
1
ส่วนแนวคิดของนักวิชาการปัจจุบันให้คำอธิบาย
ในบางส่วนไว้ ดังต่อไปนี้
พลตรี ดำเนิน เลขะกุล แสดงความเห็นว่า
ผลการตรวจอาจไม่สามารถสรุปได้
เนื่องจากผู้ที่ตรวจอาจมิใช่คนไทยทั้งหมด
1
ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช แสดงความเห็นว่า
ดินแดนแถบหมู่เกาะมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าดินแดนประเทศไทย จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้
ที่จะมีการอพยพไปอยู่ที่อื่น
1
ทฤษฎีที่5 ถิ่นเดิมของไทยอยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน
1
พอล เบเนดิคท์ (Paul Benedict)
นักภาษาศาสตร์ และนักมนุษยวิทยาชาวอเมริกัน ค้นคว้าเรื่องเผ่าไทยโดยอาศัยหลักฐานทางภาษาศาสตร์ สรุปว่าถิ่นเดิมของไทยน่าจะอยู่ในดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อประมาณ 4000-3500 ปีมาแล้ว พวกตระกูลมอญ เขมร อพยพมาจากอินเดียเข้าสู่แหลมอินโดจีนได้ผลักดันคนไทยให้กระจัดกระจายไปหลายทางขึ้นไปถึงทางใต้ของจีนปัจจุบัน ต่อมาถูกจีนผลักดันจนอพยพลงใต้ไปอยู่ในเขตอัสสัม ฉาน ลาว ไทย และตังเกี๋ย จึงมีกลุ่มชนที่พูดภาษาไทยกระจัดกระจายไปทั่ว
1
ส่วนแนวคิดของนักวิชาการปัจจุบันให้คำอธิบาย
เพิ่มเติม ในบางส่วนไว้ ดังต่อไปนี้
สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เสนอในบทความ
"คนไทยไม่ได้มาจากไหน"
คนไทยอาศัยอยู่ดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน
เป็นเวลาช้านานแล้ว โดยเกิดจากการรวมตัวกัน
ของแคว้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเป็นประเทศเดียวกัน
เนื่องจากวัฒนธรรมพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน
และการที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียเหมือนกัน
โดยถือว่าคนที่พูดภาษาที่คล้ายคลึงกัน
เป็นบรรพบุรุษทางวัฒนธรรม
อันก่อให้เกิดพัฒนาการมาเป็นคนไทยในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ประชาชนเหล่านี้ไม่ค่อยมีความรู้สึก
ในเรื่องเชื้อชาติ แต่เน้นไปทางแว่นแคว้นมากกว่า
1
ทฤษฎีทั้งหมดของแหล่งที่มาของกลุ่มคน
ที่เชื่อว่าเป็นคนไทยในอดีต ที่มีภาษาและวัฒนธรรมร่วมกัน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอุษาคเนย์
ซึ่งปัจจุบันได้ถูกหลอมรวมไปด้วยกัน
กับกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติจนกลายเป็นประเทศต่างๆ
หลักฐานใหม่อันน่าสนใจ ถูกวิจัย และค้นคว้า
ทางหลักฐานต่างๆด้วยความรู้ใหม่ทางวิชาการและการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเพิ่มเติมนั้นเป็นประเด็นที่น่าศึกษา
ในการหาหลักฐานว่า " คนไทยมาจากไหนนั้น "
คงยังไม่จบเท่านี้ เพราะไม่มีใครหาข้อสรุปได้
ทุกอย่างเป็นเพียงสมมุติฐาน
เพื่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์เท่านั้น
ส่วนสมมติฐานใหม่ข้าพเจ้าจะขอนำข้อมูลนั้น
ในบทความถัดไป
ในบทความนี้ ส่วนหนึ่งคัดลอกจากข้อมูลเดิม
ที่เคยเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เนื้อความนั้นผิดเพี้ยนจากผู้เขียนทฤษฎีเดิมมากนัก
และเป็นการบันทึกเรื่องราวไว้ในเพจนี้
เพื่อใช้ต่อยอดสู่บทความต่อไปสำหรับอ้างถึง
หากเนื้อความใน Ep.นี้ มีความผิดพลาดประการใด
ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ ด้วยนะครับ
ทุกคนคู่ควร..ที่จะประสบความสำเร็จ
.........ไซตามะ
1
โฆษณา