Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนในบัญชีและภาษี
•
ติดตาม
10 ส.ค. 2020 เวลา 23:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เจาะลึก งบกระแสเงินสด
เนื่องจาก เงินสด เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานของกิจการ และการที่กิจการมีกำไรมากๆ ไม่ได้แปลว่าจะมีเงินสดมากเสมอไป
ดังนั้น นักลงทุน ควรจะต้องดู งบกระแสเงินสด ประกอบด้วย จะช่วยทำให้ทราบแหล่งที่มาและใช้ไปของเงินสดนั้นได้
งบกระแสเงินสด แสดงถึงการได้มาและการใช้ไปของเงินสดของกิจการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น รอบปีบัญชี ช่วยให้นักลงทุนทราบถึงสภาพคล่องของกิจการ โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ และกระแสเงินสดที่ไหลเวียนในกิจการนั้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่
- กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO)
- กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (CFI)
- กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (CFF)
💥 กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Operating Activities ) หรือ CFO หมายถึง กิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้และค่าใช้จ่ายของกิจการ เป็นผลมาจากรายการต่างๆ ที่ใช้ในการคำนวณกำไรหรือขาดทุน สะท้อนถึงเงินสดที่แท้จริงจากกิจกรรมดำเนินงาน
CFO เป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับบัญชี สินทรัพย์หมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียน
1
📌 กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ควรจะมีค่าเป็นบวก ( + ) เพราะแสดงถึง กิจการมีรายได้และได้รับเป็นเงินสด
1
ตัวอย่างรายการในงบกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน
กระแสเงินสดเข้า
• เงินสดรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ
• เงินสดรับจากรายได้ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า และรายได้อื่น
• เงินสดรับจากลูกค้า หรือได้รับชำระหนี้จากลูกค้า
1
กระแสเงินสดออก
• เงินสดจ่ายให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ
• เงินสดจ่ายเงินเดือนแก่พนักงาน
• เงินสดจ่ายให้เจ้าหนี้การค้า
วิธีการคำนวณ คือ จะปรับจาก กำไรทางบัญชี –> เป็นกำไรเงินสด
ภาพจาก mrlikestock
การเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์ดำเนินงาน :
👉 สินทรัพย์-เพิ่ม (+) >> เงินสด-ลด (-)
👉 สินทรัพย์-ลด (-) >> เงินสด-เพิ่ม (+)
1
การที่บริษัทมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น แสดงว่าได้มีเงินสดจ่ายออกไปเพื่อได้มาของสินทรัพย์ ทำให้เงินสดลดลง จึงนำไปลบออก
ส่วนกรณีที่สินทรัพย์ที่มีอยู่ลดลง แสดงว่าสินทรัพย์นั้นได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ เปรียบเสมือนทำให้เงินสดเพิ่มขึ้น จึงนำมาบวกเข้าไป
2
การเปลี่ยนแปลงในหนี้สินดำเนินงาน :
👉 หนี้สิน-เพิ่ม (+) >> เงินสด-เพิ่ม (+)
👉 หนี้สิน-ลด (-) >> เงินสด-ลด (-)
การที่บริษัทมีหนี้สินเพิ่มขึ้น เปรียบเสมือนว่าได้มีเงินสดเข้ามา ทำให้เงินสดเพิ่มขึ้น จึงนำมาบวกเข้าไป
1
ส่วนกรณีที่หนี้สินที่มีอยู่ลดลง แสดงว่าบริษัทได้ชำระหนี้ด้วยเงินสด ทำให้เงินสดลดลง จึงนำไปลบออก
💥 กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (Investing Activities : CFI) หมายถึง การได้มาและจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวและเงินลงทุนอื่นๆ ที่ไม่กระทบการดำเนินงาน เน้นรายการด้านการลงทุน
CFI เป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับบัญชี สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน สินทรัพย์หมุนเวียน (เฉพาะที่เกี่ยวกับการลงทุน)
📌 กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน มักจะมีค่าเป็นลบ (–) เพราะกิจการมักมีการลงทุนอยู่เสมอ เพื่อดำเนินงานหรือขยายกิจการ
ตัวอย่างรายการในงบกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน
กระแสเงินสดเข้า
• เงินสดรับจากการขายที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
• เงินสดรับจากการขายเงินทุนระยะยาว เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้
• เงินสดรับชำระคืนจากเงินจ่ายล่วงหน้าและเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลอื่น
กระแสเงินสดออก
• เงินสดจ่ายเพื่อซื้อขายที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
• เงินสดจ่ายเพื่อซื้อเงินทุนระยะยาว เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้
• เงินสดจ่ายล่วงหน้าและเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลอื่น
เงินสดที่นำไปลงทุน
👉 ลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียน เช่น เงินลงทุนระยะสั้น
👉 ลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เช่น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เครื่องจักร
💥 กระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาเงิน (Financing Activities) หรือ CFF หมายถึง กิจกรรมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรายการในส่วนของเจ้าของและส่วนของการกู้ยืม
CFF เป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับบัญชี หนี้สินหมุนเวียน (เฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดหาเงิน) หนี้สินไม่หมุนเวียน ส่วนของเจ้าของ (ทุน)
📌 กระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาเงิน จะมีค่าเป็นบวก (+) ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินทั้งระยะสั้นและยาว ต้องพิจารณาว่ากิจการนำไปใช้วัตถุประสงค์ใด
1
ตัวอย่างรายการในงบกระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหา
กระแสเงินสดเข้า
• เงินสดรับจากการเพิ่มทุนหรือออกจำน่ายหุ้นทุน
• เงินสดรับจากออกหุ้นกู้
• เงินสดรับจากเงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้ยืมระยะยาว
1
กระแสเงินสดออก
• เงินสดจ่ายปันผล
• เงินสดจ่ายเพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้
• เงินสดจ่ายชำระเงินกู้ยืม
กิจกรรมการจัดหาเงิน
👉 การกู้ยืมเงิน จะเป็นส่วนที่มาจากหนี้สิน การกู้ยืมเงิน ทำได้สะดวกกว่า จำนวนหุ้นไม่เพิ่ม ไม่เกิด Dilution Effect (คือ การที่กำไรต่อหุ้นลดลงเนื่องจากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น) แต่ข้อเสีย ก็คือ ถ้ามีการกู้ยืมเงินมากเกินไปกิจการก็มีความเสี่ยงด้านหนี้สินเพิ่มขึ้น
👉 การเพิ่มทุน จะเป็นส่วนที่มาจากทุน (ส่วนของเจ้าของ) ข้อดีคือ ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ความเสี่ยงของกิจการไม่เพิ่ม แต่ข้อเสียคือ เกิด Dilution Effect กำไรต่อหุ้นที่จะได้ลดลง (ถ้าทำกำไรได้เท่าเดิม)
👉 การจ่ายปันผล สามารถจ่ายเป็นเงิน หรือ จ่ายเป็นหุ้น ก็ได้
📍 จ่ายปันผลเป็นเงิน
หากบริษัทมีกำไรสะสมสามารถจ่ายปันผลได้ หากนักลงทุนซื้อหุ้นก่อนวัน XD (Excluding Dividend) ก็จะได้รับปันผล ซึ่งปกติแล้วจะจ่ายปันผลเป็นเงินสด
การจ่ายปันผลเป็นเงินสดนั้นจะทำให้สินทรัพย์ (เงินสด) ลดลง และ ส่วนของเจ้าของ (กำไรสะสม) ก็ลดลงด้วยเช่นกัน เช่น หากประกาศจ่ายปันผล 100 ล้านบาท จะทำให้มูลค่ากิจการหายไป 100 ล้านบาทเช่นเดียวกัน จึงเป็นสาเหตุที่ทำไมหุ้นมักจะลงหลัง XD
1
📍 การจ่ายปันผลเป็นหุ้น
การจ่ายปันผลเป็นหุ้น มีข้อดี คือ สามารถเก็บเงินสดไว้ในบริษัท เพื่อนำไปขยายกิจการต่อไป บริษัทที่อยู่ในขั้นการเติบโต อาจจะเลือกการปันผลด้วยวิธีนี้
เมื่อมีการจ่ายปันผลไม่ว่าจะเป็นเงินหรือหุ้นก็ตาม จะทำให้กำไรสะสมลดลง การจ่ายเป็นหุ้นนั้นเงินสดไม่ได้ออก แต่จะเป็นหุ้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอยู่ในส่วนของเจ้าของเหมือนกัน
1
ดังนั้นมูลค่ากิจการจะยังเท่าเดิม แต่การที่หุ้นราคาลดลงก็เนื่องจากเกิด Dilution Effect ที่จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นนั่นเอง
สรุป กระแสเงินสดรับและจ่าย ทั้ง 3 กิจกรรม
สรุปกระแสเงินสด รับและจ่าย ทั้ง 3 กิจกรรม
⛳ ประโยชน์ของ งบกระแสเงินสด
👉 ช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินสภาพคล่องของกิจการได้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจ่ายเงิน เช่น จ่ายค่าสินค้าและบริการ จ่ายเงินเดือนพนักงาน เป็นต้น
👉 ใช้ตรวจสอบความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดสุทธิ
👉 ใช้ประเมินความสามารถของกิจการในการก่อให้เกิดกระแสเงินสดในอนาคต ทำให้สามารถบริหารเงินสดในงวดถัดไปได้อย่างระมัดระวัง ป้องกันปัญหาเงินสดขาดมือ
👉 ช่วยประเมินความสามารถของกิจการในการชำระหนี้ การจ่ายปันผล ความจำเป็นในการกู้ยืมเงิน
👉 ข้อมูลจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน ทำให้ทราบว่ากิจการนำเงินไปใช้สำหรับลงทุนเท่าไหร่ และอย่างไรบ้าง
👉 ข้อมูลจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหา ทำให้ทราบว่ากิจการมีการกู้ยืมเงิน ชำระหนี้ ออกหุ้นเพิ่มทุน จ่ายปันผล เท่าไหร่บ้าง
👉 เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงินของธุรกิจ ว่าเป็นส่วนของหนี้สินหรือส่วนของเจ้าของ สามารถนำไปประเมินความเสี่ยงของกิจการในอนาคตได้
ตัวอย่างงบกระแสเงินสด (บางส่วน)
ที่มา :
http://www.cvc.ac.th/cvc2011/files/10112711111051_16051916161742.pdf
https://www.mrlikestock.com/2018
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกการไลค์ แชร์ คอมเม้นท์ และการติดตามนะคะ 😊😘
144 บันทึก
75
19
135
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
งบการเงินเพื่อการลงทุน
144
75
19
135
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย