11 ส.ค. 2020 เวลา 01:07 • การศึกษา
เมื่อ...ปลาจมน้ำ...ตาย 🌿🌿
ใครได้ยินคงจะแปลกใจไม่น้อย ในเมื่อปลาอาศัยอยู่ในน้ำ แล้วมันจะจมน้ำตายได้ยังไงกัน
...ขณะที่คุยกันเรื่องปลาหมอชุดใหม่ที่อนุบาลแล้วปลาไม่ค่อยติด (อัตรารอดน้อย) ทั้ง ๆ ที่ช่วงแรกฟักก็ให้ไรแดงเต็มที่ หรือมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ปลาชุดนี้ไม่ค่อยติด
หรือว่า..ปลาจะจมน้ำตาย !!!!
ขอบคุณภาพโดย endriqstudio จาก Pixabay
เป็นสมมติฐานที่สามีตั้งข้อสังเกตขึ้น เพราะช่วงลงปลาในบ่อดินมอเตอร์มีปัญหา เลยเติมน้ำไปเต็มบ่อ ปกติช่วงแรกจะเติมน้ำน้อย แล้วค่อยเพิ่มทีหลัง
แล้วทำไมน้ำเยอะปลาถึงตาย ?
ถ้าเป็นปลาที่ต้องโผล่ขึ้นมาฮุบอากาศหายใจบนผิวน้ำ เช่น ปลากัด ปลาช่อน ปลาหมอ เมื่อไม่มีโอกาสขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำก็ตายได้
2
เมื่อเราเติมน้ำเยอะ แปลว่าความลึกของน้ำก็เยอะ ถ้าลูกปลายังตัวเล็กมากก็จะไม่สามารถว่ายขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้
ปกติเรื่องปลาจมน้ำตายจะพูดถึงกันในการเพาะปลากัด ซึ่งการเพาะปลากัดจะเพาะในน้ำตื้น ๆ เพราะกลัวว่าลูกปลาจะว่ายขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำไม่ได้ แต่ไม่ค่อยได้ยินในปลาอื่นเท่าไหร่ มันจึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของเราเท่านั้น
กะละมังเพาะปลากัด
เรื่องการโผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำนี่เคยเจอประสบการณ์ตอนจับปลานิล ซึ่งมีปลาตะเพียน และปลาช่อนปนอยู่ด้วยหลายตัว ปลาช่อนตัวใหญ่เป็นกิโล
เราก็ยัดมาเต็มถังแล้วเปิดออกซิเจนแรงเต็มที่ กลัวจะมีปัญหาปลานิลและตะเพียนขาดอากาศ ส่วนปลาช่อนนี่ไม่ได้สนใจ ชิว ๆ เพราะคิดว่าเป็นปลาที่ทน
พอกลับมาถึงบ้าน ขนปลาลงบ่อซีเมนต์ ปรากฏว่าปลานิล ปลาตะเพียนแข็งแรงดี แต่ปลาช่อนตายไปหลายตัว เพราะเราใส่ปลาแน่นจนปลาช่อนไม่สามารถโผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้
ที่จริงถ้าเราแยกปลาช่อนใส่ถังเล็ก ๆ มา ต่อให้ไม่มีน้ำ ปลาช่อนก็ไม่ตาย เรื่องเล็ก ๆ ที่เราทำพลาดจนได้
มีเรื่องเล่าว่า ถ้าจับปลาช่อนกับเป็ดมากดน้ำพร้อม ๆ กัน ปลาช่อนจะตายก่อนเพราะไม่ได้หายใจ จริงเท็จไม่ทราบเหมือนกัน ไม่ค่อยรู้เรื่องเป็ด แค่นึกก็ทรมานแล้ว สงสารทั้งคู่
ปลาช่อน
ส่วนเรื่องปลาติดน้อยก็ต้องลองดูปลาชุดต่อ ๆ ไป เพราะมันมีหลายปัจจัยที่ทำให้ปลาติดน้อย เช่น อาหารซึ่งก็คือไรแดงไม่เพียงพอ ความแข็งแรงของพ่อแม่พันธุ์ สภาพน้ำ สภาพอากาศ การเตรียมบ่อไม่ดีทำให้มีศัตรูในน้ำ
ถ้าตัวแปรอื่นยังเหมือนเดิม และมีการเติมน้ำน้อยแล้วปลาติดเยอะ สมมติฐานเรื่องปลาจมน้ำตายก็อาจเป็นจริง 🌿🌿
ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจกันนะคะ ❤️❤️
โฆษณา