11 ส.ค. 2020 เวลา 04:18 • ปรัชญา
ระยะห่างทางสังคม
หลังจากที่เรารู้จักกับไวรัสโคโรน่า เราก็รู้จักกับการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคดังกล่าว ระยะห่างทางสังคม หรือ social distance ก่อนที่จะเป็นการอยู่ห่างๆ กันทางกายภาพอย่างปัจจุบัน มันเป็นทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ ที่ใช้ตรวจสอบระยะห่างทางความรู้สึก
Emory Bogardus เริ่มศึกษาการวัดระยะห่างทางสังคมตั้งแต่ ค.ศ. 1925 และเผยแพร่มาตรวัดระยะห่างทางสังคมใน ค.ศ. 1933 นิยมใช้กันในสาขาสังคมศาสตร์ เป็นการจัดลำดับสถานการณ์ทางสังคมใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1.ทางความรู้สึก 2.ทางบรรทัดฐาน 3.ทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ในเชิงจิตวิทยาสังคม ระยะห่างทางสังคมถูกจัดอยู่ในการแสดงออกของอคติ โดยการวัดที่ใช้ความแตกต่างของแบบสอบถามผ่านกลุ่มทางสังคมจากความใกล้ชิดตั้งแต่ระดับครอบครัว เชื้อชาติ ภาษา ความเชื่อ ชุมชน สังคมโรงเรียน/ที่ทำงาน จังหวัด ภาค ไปจนถึงระดับประเทศหรือภูมิภาคในที่สุด มโนทัศน์ของระยะห่างทางสังคม คือ ความเข้าใจของความเห็นในที่มีระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่ม Bogardus ได้สร้างมาตรวัดระยะห่างทางสังคม เรียกว่า social distance scale โดยอาศัยแนวคิดของ Park โดย Bogardus นิยาม “ระยะห่างทางสังคม” ว่า ระดับและขั้นของความเข้าใจ และความรู้สึกที่มีต่อกันและกัน โดยพิจารณาตามเงื่อนไขของสังคมสัมพันธ์มี 7 ระดับของความสัมพันธ์ใกล้ชิด 1.ยอมแต่งงานด้วย 2.ยอมรับเป็นเพื่อนสนิท 3.ให้เป็นเพื่อนร่วมงาน 4.ให้เป็นเพื่อนบ้าน 5.ให้เป็นคนรู้จัก 6.ให้อาศัยในประเทศได้ 7.ไม่ให้เข้าประเทศ
จากระยะห่างทางจิตใจที่เป็นนามธรรม ถูกนำเสนอให้เป็นรูปธรรมด้วยกลไกของการประมวลผลจากแบบสอบถาม สู่ระยะห่างทางกายภาพเพื่อเอาตัวรอดในภาวะโรคระบาด ผมสัมผัสได้ถึงบางอย่างที่สัมพันธ์กัน ระหว่างระยะห่างทางสังคมทางทฤษฎีกับระยะห่างทางสังคมที่เราพูดและใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือ “ความรู้สึกของความใกล้ชิด” กล่าวคือ ถ้าเรารู้สึกว่าสนิทหรือใกล้ชิดกับใครได้มากแล้ว เราก็จะลดการป้องกันตัวเองทางกายภาพมากเท่านั้น
โฆษณา