13 ส.ค. 2020 เวลา 15:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
พลวัตแห่งเส้นทางแม่น้ำ: ตอนที่ 2 หลุยซีแอนน่าแห่งแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ที่ยิ่งใหญ่และการต่อสู้กับการเปลี่ยนเส้นทางแม่น้ำของวิศวกร
 
ช่วง พ.ศ. 2068 - 2094 ในยุคที่อาณาจักรล้านนากำลังเป็นจลาจล (ในตอนที่ 1) ขุนนางทั้งหลายต่างแย่งชิงกันเป็นใหญ่ ควบคุมการครองราชและลอบปลงพระชนม์กษัตริย์พระองค์เล่า ในอีกซีกนึงของโลกใบกลมๆ ด้านตรงกันข้ามจากอาณาจักรล้านนา เป็นปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ตอนล่าง แม่น้ำมหึมาที่กว้าง 1 กม. ลึกเกือบ 40 เมตร การแสวงหาอำนาจ อาณาเขต และทรัพยากร ของมนุษยชาติก็แทบไม่ต่างกัน ... ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงอพยพเข้ามาอาศัยในอเมริกาเหนือ 2-3 หมื่นปีก่อน และมีหลายเผ่าพันธุ์ขยายไปตามฟากฝั่งแม่น้ำที่อุดมนี้ พอมาในปี ค.ศ. 1542 (พ.ศ. 2085) เป็นครั้งแรกที่นักบุกเบิกชาวสเปน นาย Hernando de Soto และทหารหลายร้อยนาย หลังจากช่วยทลายอาณาจักรอินคาในเปรู ได้สำรวจเกาะคิวบา ขึ้นฝั่งที่ฟลอริด้า และสุดท้ายได้ล่องเรือจากทิศเหนือของรัฐหลุยซิแอนน่าในปัจจุบัน ไปตามกระแสน้ำยาว 1000 กม. สู่ปากแม่น้ำเพื่อสำรวจ ระหว่างทางได้ประหน้ากับเผ่าอินเดียนแดงสุดโหดมากมายที่ลงเรือแคนูใหญ่ไล่ตามและยิงธนูใส่ทหารสเปนกันเป็นวันๆ ทหารเหลือเพียงอาวุธหน้าไม้ที่หมดสภาพไปแล้ว ทำได้เพียงเอาชุดเกราะและเสื่อนอนมาป้องกันลูกธนู ทหารตายไปบ้างและบาดเจ็บมากมาย สเปนจึงไม่สามารถประกาศชัยชนะยึดครองพื้นที่ได้ [อ้างอิง 1]
รูป 1 การล่องเรือไปตามแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ของนักบุกเบิกชาวสเปน Hernando de Soto และทหาร มีการสู้รบกับเผ่าอินเดียนแดง
รูป 2 นาย Hernando de Soto ได้ผูกมิตรกับอินเดียนแดงบางเผ่าในการแสวงหาทองและบุกเบิกพื้นที่อเมริกา ว่ากันว่าได้หลอกอินเดียนแดงว่าตนเป็นลูกพระอาทิตย์ที่เป็นอมตะ เพื่อไม่ให้สู้กัน อินเดียนแดงบ้างไม่ค่อยเชื่อนัก (แถวบ้านเรียก หลอกไม่เนียน ไปเรียนมาใหม่) แม้จะผ่านสงครามอินคาในเปรูมาโชกโชน แต่เขากลับเสียชีวิตง่ายๆบนฝั่งมิสซิสซิปปี้ด้วยไข้สูง (ไวรัสไม่เข้าใครออกใคร) เนื่องจากหลอกอินเดียนแดงไว้ว่าอมตะ ตอนตายลูกน้องเลยต้องแอบทำพิธีหย่อนศพลงแม่น้ำยามราตรี
จน 140 ปีต่อมา ยุคฝรั่งเศสล่าอาณานิคม แผ่ศาสนาคริสต์และมุ่งหมายการค้า ได้ตั้งฐานที่มั่นในบริเวณทางใต้นี้และบริเวณจากปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ และประกาศการครอบครองดินแดนอันไพศาลลากยาวขึ้นเหนือไปถึงแคนาดา (สีฟ้าในรูป 3) และก่อตั้งอาณาจักรค้าขาย ...ผืนดินแห่งหลุยซิแอนน่า(ในรูป 3)ถูกตั้งขึ้นในปี คศ 1682 เพื่อเป็นเกียรติแก่กษัตริย์หลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ต่อมา การขัดแย้งทางการค้าทำให้แบ่งแยกอาณาเขตระหว่างส่วนแคนาดาและส่วนทางใต้แถวอิลลินอยส์ มิชิแกนลงมา ...จนมาปี คศ 1763 ฝรั่งเศสเสียอาณาเขตจำนวนมากให้แก่อังกฤษหลังจากแพ้สงครามแย่งชิงพื้นที่กัน และบางพื้นที่แก่สเปน และภายหลังที่สหรัฐอเมริกาถือกำเนิดขึ้นแล้ว ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ พระเจ้านโปเลียนแห่งฝรั่งเศสได้ขายพื้นที่หลุยซิแอนน่า(ซึ่งประกอบด้วยกว่า 12 รัฐในปัจจุบัน) ให้แก่สหรัฐฯ ในปี คศ 1803 ด้วยเพราะนโปเลียนยอมพ่ายแพ้แก่ความฝันตนที่จะสร้างอาณาจักรฝรั่งเศสแห่งทวีปอเมริกา หลังจากแพ้ยับในการเข้าครอบครองพื้นที่เกาะเฮติแห่งคาริบเบียน [1]
รูป 3 แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่เป็นของอังกฤษ (สีแดง) ฝรั่งเศส (สีฟ้า) และสเปน (สีส้ม) ก่อนที่ต่อมาสหรัฐอเมริกาจะเริ่มประกาศอิสรภาพปี คศ 1776 และผนวกดินแดนเป็นหนึ่งเดียว ...แสดงเมืองต่างๆ รวมทั้งเมืองท่านิวออลีนส์อยู่ล่างสุด (Nouvelle = New = ใหม่)
ตลอดเวลาที่ฝรั่งเศสครอบครองพื้นที่ใกล้ปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ก็ได้สำรวจเต็มที่ และก่อตั้งเมืองนิวออร์ลีนส์ขึ้นมาในปี คศ 1718 ต่อมาเป็นเมืองหลวงแห่งฝรั่งเศสหลุยซิแอนน่า เพื่อเป็นเมืองแห่งยุทธศาสตร์และมีระบบทางการเงินที่ดึงดูดประชากรมาอยู่ ...หลังจากตกเป็นของสหรัฐฯ แล้ว แม้จะผ่านทั้งเฮอริเคน ไฟไหม้ใหญ่ และต่อมามีตลาดค้าทาสที่ใหญ่ที่สุด เมืองเลยร่ำรวยและเป็นเมืองใหญ่อันดับสามของชาติอยู่พักนึง นิวออร์ลีนส์กลับกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญจนถึงปัจจุบัน เรือขนาดใหญ่เข้าออกท่าเรือในระดับนานาชาติ เพื่อการค้า ... แต่ทว่า ไม่มีใครรู้ว่าผืนดินที่เป็นเมืองนิวออร์ลีนส์นี้ เมื่อ 2500 ปีก่อนยังไม่กำเนิดขึ้นเลย
รูป 4 เมืองท่านิวออร์ลีนส์ และแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ตอนล่างราว 200 ปีก่อน
ค.ศ. 1960
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆมา ขณะที่ฝรั่งผู้บุกเบิกมากมายพยายามเป็นเจ้าของอาณาเขตและทรัพยากร ความรู้วิทย์ด้านแม่น้ำ ตะกอนและธรณีสัณฐาน ยังไม่ได้มีนัก การเลือกทำเลที่ตั้งของเมืองนิวออร์ลีนส์จึงคำนึงเพียงยุทธศาสตร์ที่แข่งขันต่อสู้กับอังกฤษและสเปนในการเป็นเจ้าของทวีปอเมริกาเหนือ และใกล้ปากแม่น้ำที่จะนำเมืองไปสู่การค้าระดับโลก ไม่ได้คำนึงถึงภัยแห่งการตวัดเปลี่ยนเส้นทางแม่น้ำหรือ avulsion ของแม่น้ำเดลต้ามิสซิสซิปปี้ขนาดยักษ์นี้ ฉันใดฉันนั้นกับการเลือกทำเลเวียงกุมกามเพื่อเป็นตลาดการค้าแห่งล้านนาด้วยคมนาคมทางเรือของพญามังราย ... ในปัจจุบัน นักวิทย์ได้ทราบแล้วว่าในอดีต 4600 ปีที่ผ่านมา ส่วนความยาว 500 กม. ของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ตอนล่างนั้นเกิด avulsion มาแล้ว 5 ครั้ง เพื่อกระจายตะกอนไปทั่วเดลต้า เมื่อพื้นที่นึงตะกอนทับถม(ช่วงน้ำท่วม)เป็นเวลานานจนสูงกว่าด้านข้าง ดังรูป 5 แต่ละส่วนจะห่างกันราว 1000 ปีโดยเฉลี่ย ...แน่นอนว่าหากเกิด avulsion ในยุคปัจจุบัน จะสูญเสียมากมาย เรื่องนี้ในอเมริกา นักธรณีและวิศวกรแม่น้ำจะตระหนักกันมาก ทำวิจัยกันมามาก รวมทั้งข้าพเจ้าเองและอาจารย์ที่ปรึกษาตอนสมัยเรียนและวิจัย
รูป 5 อดีต 4600 ปีที่ผ่านมา ส่วนความยาว 500 กม. ของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ตอนล่างนั้นเกิดตวัดเปลี่ยนทิศหรือ avulsion มาแล้ว 5 ครั้ง
[เกร็ดเสริม] แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ตอนล่างที่ยาว 1500 กม. นี้ต่างกับแม่น้ำปิงตรงที่ นอกจากขนาดคนละไซส์มากแล้ว มิสซิสซิปปี้ตอนล่างนี้ ยังไหลลงสู่ทะเลอ่าวเม็กซิโก ทะเลจึงกำหนดระดับในท้ายน้ำ ส่งผลต่อพลวัตแม่น้ำในแง่ avulsion และแง่อื่นๆ ต่างจากแม่ปิง ... เนื่องจากขนาดใหญ่ สเกลเวลาของการเกิด avulsion ก็นานกว่าเช่นกัน... ภัยในยุคปัจจุบันของหลุยซีแอนน่าและรัฐรอบๆ เนื่องจากภาวะโลกร้อน เฮอริเคนในทะเลน่านน้ำสหรัฐอเมริกาตอนใต้นี้ยังรุนแรงมากขึ้น นำมาสู่น้ำท่วมฉับพลัน กอปรกับการที่ผืนดินเมืองนิวออร์ลีนส์และรอบๆทรุดลงๆ จนต่ำกว่าระดับทะเล เพราะการสูบน้ำบาดาล สูบน้ำมัน น้ำหนักตัวเดลต้าเองกดลงๆ และการไม่ปล่อยให้แม่น้ำท่วมเข้าพื้นที่อยู่อาศัยโดยการสร้างทำนบดินสูงๆเป็นระยะยาวมาก ตะกอนจึงลงทะเลไปแทนที่จะทดแทนผืนดินให้สูงตามธรรมชาติในอดีต เวลาเฮอริเคนลง จึงท่วมนานอย่างตอนเฮอริเคน Katrina เพราะการจะปั๊มน้ำสูบออกจากพื้นที่ท่วมที่ต่ำกว่าระดับทะเลนั้นทำได้ยากลำบาก
รูป 6 แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ และเรือขนสินค้าในปัจจุบัน
รูป 7 เดลต้าแม่น้ำมิสซิสซิปปี้เส้นขวาที่มีเมืองนิวออร์ลีนส์และเขตระเบียงอุตสาหกรรมสมัยใหม่ขนาบไปตามแม่น้ำ (สเกลรูปนี้คือ จากแถวๆ Old River Control Structure ถึงปากแม่น้ำเทียบเท่าระยะจาก จ.อุตรดิตถ์ ถึง กทม. นี่แค่รัฐขนาดกลางรัฐเดียวนะ อเมริกาใหญ่มากๆ) ส่วนด้านซ้ายคือลุ่มแม่น้ำ Atchafalaya ที่พื้นที่ต่ำกว่า ปัจจุบันมิสซิสซิปปี้จึงเสี่ยงมากที่จะไหลเปลี่ยนทิศมาลงทางนี้
ในยุค คศ 1960 นั้น วิศวกรอเมริกันเริ่มตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่แม่น้ำขนาดยักษ์นี้จะเปลี่ยนเส้นทางจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ด้านตะวันออกไปด้านตะวันตกสู่แม่น้ำ Atchafalaya (อัตจาฟาลายา) ทางตะวันตก สู่ความลาดชันที่มากกว่า ออกสู่ทะเลด้วยระยะทางที่สั้นกว่าสองเท่า ดังรูป 7 ...ตั้งแต่ต้นยุค คศ 1800 มาแล้วที่สังเกตกันว่าน้ำจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้เริ่มไหลไปทางแม่น้ำ Atchafalaya มากขึ้นๆ ปี 1963 กรมทหารวิศวกรรมจึงเริ่มใช้งบกว่า 2 พันล้านดอลล่าร์ในการสร้างระบบประตูน้ำขนาดยักษ์ขึ้นมา (เรียก Old River Control Structure) ดังรูป 8, 9 เพื่อควบคุมการไหลผันของน้ำที่ยอมให้ไปสู่ Atchafalaya ได้ไม่เกิน 30% ของน้ำจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ... หนึ่งในวิศวกรชลศาสตร์/ตะกอนที่มาช่วยออกแบบระบบประตูผันน้ำนี้ก็คือ ดร. ฮานส์ อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ ลูกชายคนโตของ อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ นักฟิสิกส์ระดับโลกนั่นเอง ฮานส์ อัลเบิร์ต ตอนนั้นเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมโยธา มหาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลี่ย์ .. หลังจากสร้างประตูน้ำขนาดยักษ์เหล่านี้ขึ้นมา พอเจอน้ำหลากปริมาณมากในปี 1973 ถึงกับพังไปบางส่วนเลยทีเดียว คนงานที่ไปตรวจประตูน้ำยักษ์นี้ในคืนเมษายนนั้น ช๊อคกับส่วนประตูที่พังลงมาต่อหน้า จนมวลน้ำเทียบเท่ากับหกเท่าน้ำตกไนแองกาล่าทะลักสู่ Atchafalaya ..แรงสั่นสะเทือนของน้ำผ่านช่องแหว่งนี้มากพอที่จะปิดประตูรถของเขาเอง
รูป 8 ภาพถ่ายทางอากาศของระบบประตูน้ำขนาดยักษ์ที่ใช้ควบคุมอัตราการไหลของน้ำจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้(ขวามือ)ที่พยายามไหลสู่แม่น้ำอัตจาฟาลายา(ซ้ายมือ)
รูป 9 ภาพถ่ายของ ระบบประตูน้ำทั้งสี่ที่ใช้ในการควบคุมการไหลของน้ำ ในมุมมองทิศใต้ Image credit: U.S. Army Corps of Engineers.
ตรงทางเชื่อมของสองแม่น้ำนี้ มองได้ว่าเป็นจุด node หรือจุดแกว่งของพัด (เดลต้า เป็นคำที่ใช้เรียกการกระจายรูปพัดของตะกอนที่ปลายทางคือทะเล/ทะเลสาป) ในบริเวณนี้และเส้นทางท้ายน้ำไม่ไกล เกิดการทับถมตะกอนบนท้องน้ำที่หนาขึ้นๆ ตามธรรมชาติ จนปัจจุบัน ท้องน้ำมิสซิสซิปปี้สูงกว่าท้องน้ำอัตจาฟาลายาใกล้ๆถึง 6 เมตร ทำให้น่าเย้ายวนต่อมวลน้ำมหาศาล(โดยเฉพาะช่วงน้ำหลาก)ที่จะกระโดดข้ามตลิ่งไปฝั่งอัตจาฟาลายา เพื่อให้ถึงทะเลโดยไว ... ลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี้นั้นแบกรับมวลน้ำฝน/หิมะและตะกอนจากหน้าดินของสหรัฐอเมริกาถึง 41% ของพื้นที่ประเทศ ..กว่า 2800 ปีแล้วที่มันไม่ได้ไหลไปทางฝั่งอัตจาฟาลายาเต็มที่ ผืนดินและท้องน้ำด้านตะวันออกสูงขึ้นๆ จนสักวันอะไรก็คงทานไว้ไม่ไหว
หลายทศวรรตที่ผ่านมา ยิ่งนับวันระดับน้ำในมิสซิสซิปปี้ช่วงฤดูน้ำหลากก็ยิ่งสูงขึ้นๆ เพราะทั้งประตูน้ำยักษ์นี้และงานวิศวกรรมแม่น้ำหลายอย่างส่งผลต่อการทับถมของตะกอนบนท้องน้ำด้วยอัตราสูงขึ้นๆ ในระยะทาง 50 กม. วิศวกรจะต้องสร้างทำนบดินป้องกันน้ำท่วมให้สูงและยาวไปถึงไหนกันเล่า ...ตะกอนมหาศาลยังเสี่ยงที่จะถมทับและอุดประตูน้ำยักษ์นี้อีกด้วย อย่างปี 2011 ที่ทำลายสถิติอัตราน้ำไหลหลาก จนต้องขุดตะกอนทรายออกเป็นปี ... นอกจากนี้ avulsion ไม่ได้จะเกิดได้แค่ตรงประตูน้ำที่เชื่อมอัตจาฟาลายานี้เท่านั้น หากทำนบดิน(บางที่อาจเป็นคอนกรีต)แตก ณ จุดใด มวลน้ำมหาศาลก็อาจไหลลัดลงทะเลผ่านทางพื้นที่ตะวันตกและลงเส้นอัตจาฟาลายาได้เสมอ
แม่น้ำมิสซิสซิปปี้นั้นถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของอเมริกาก็เป็นได้ ถ้าเกิดเปลี่ยนเส้นทาง ความเสียหายจะเกิดราวหลักสิบล้านล้านบาทได้ทีเดียวในระยะสั้นและยาว อีกทั้งกระทบต่อคลังอุปทานอาหารโลก ...ท่าเรือทั้งสี่ในมิสซิสซิปปี้ตอนล่างนี้ช่วยขนส่งผลิตภัณฑ์ข้าวโพดข้าวสาลี ฯลฯ กว่า 60% ของทั้งชาติไปสู่โลก ผ่านเรือขนส่งสินค้าดังรูป 6 และเรือนำพาปุ๋ย น้ำมัน วัตถุดิบต่างๆ หล่อเลี้ยงอเมริกาไปตามต้นน้ำ (แม้ว่าไทยจะส่งออกข้าวอันดับต้นๆ แต่ถ้านับทุกอย่างที่เป็นผลิตผลเม็ดๆ จีนและอเมริกาต่างครองผลผลิตสูงกว่าไทยราว 20 เท่าเพราะประเทศใหญ่)
ถ้าแม่น้ำตวัดเปลี่ยนเส้น การคมนาคมขนส่งทางเรือจะหยุดชะงักเป็นเดือนๆทีเดียว แม่น้ำมิสซิสซิปปี้เส้นใหม่ผ่านอัตจาฟาลายานี้จะไม่เสถียร ปั่นป่วนและอันตรายมาก ..ตรงประตูน้ำยักษ์ (control structure) ตะกอนจำนวนมากจะบล๊อคอุดเส้นทางมิสซิสซิปปี้เก่า จนเดินเรือแทบไม่ได้ แม้นกรมทหารวิศวกรรมจะขุดท้องน้ำสักแค่ไหนก็ไม่เทียบทัน การปิดเส้นทางเรือจะกระทบเศรษฐกิจวันละ 295 ล้านดอลล่า และไม่มีทางที่รถไฟรถบรรทุกจะมาแทนเรือ เพราะเรือ barge 15 ลำที่ลากจูงนั้น เทียบเท่ารถบรรทุกใหญ่ 1000 คัน ไม่มีรถใดๆจะมีเหลือมาแทนที่ขนาดนั้น อีกทั้งค่าน้ำมันมหาศาล
เรื่องนี้ไม่ควรเป็นปัญหาแค่สหรัฐฯ หากเกิดขึ้นหลายเดือน การขาดคลังอาหารระดับโลกก็จะเกิดขึ้นทีเดียว ประเทศที่ช่วยตัวเองด้านอาหารไม่ได้อย่างไทยก็ย่ำแย่เอาได้ ยิ่งถ้าประจวบกับปีแล้งๆในจีน อินเดีย ที่ส่งอุปทานต่อทั่วโลกด้วยแล้ว
รูป 10 บ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในรัฐหลุยซิแอนน่าตอนล่างและในอ่าวเม๊กซิโก และท่อน้ำมันจากทะเล (เส้นสีจางๆ)
ในส่วนรัฐหลุยซิแอนน่า นอกจากเมืองขนาดกลางหลายเมืองในพื้นที่ที่เกิด avulsion จะถูกทลายและท่วมไปแล้ว ท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซอันมากมายจะถูกทำลาย เพราะรัฐแถวอ่าวเม็กซิโกนี้เป็นแหล่งน้ำมันของชาติ และไฟฟ้าจะตัดขาดอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมขนาบแม่น้ำเดิม โรงกลั่นน้ำมันกว่า 10 แห่ง ฐานส่งออกน้ำมัน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การส่งก๊าซและน้ำมันไปหลายรัฐตอนเหนือก็ชะงัก แล้วยังสูญเสียน้ำจืดเพื่อประชากร 1.5 ล้านคนอีกด้วย น้ำเค็มก็จะรุกขึ้นไปตามแม่น้ำเดิม 300-400 กม.
ในตอนที่ฝรั่งเศสก่อตั้งเมืองนิวออร์ลีนส์ในปี คศ 1718 และหวังให้เป็นเมืองท่าสำคัญของโลกคงไม่ได้คาดคิดเป็นแน่ว่าสักวันจะลำบากลำบนและหวั่นกลัวต่อแม่น้ำกันขนาดนี้ ความลำบากที่เป็นผลมาจากน้ำมือมนุษย์เอง เช่นเดียวกับที่คงไม่ได้คาดคิดว่าฝรั่งเศสจะไม่ได้ยึดครองพื้นที่ทวีปอเมริกาเหนืออีกต่อไป
มองไปข้างหน้าสู่เมตตาต่อ Mother Earth เมื่อ 2000 ปีก่อน โลกมีประชากร 0.2 พันล้าน ต่อมาปี ค.ศ. 1800 มีประชากร 1 พันล้าน และปัจจุบัน 7.8 พันล้านคน หลายสิ่งในธรรมชาติดำเนินมาด้วยกระบวนการทางธรณีฟิสิกส์ (รวมทั้งชีวะเคมี) ตั้งแต่โลกเราถือกำเนิดมา หลายอย่างเข้าสู่สมดุล แต่การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์อย่างไม่หยุดหย่อน นำไปสู่อำนาจและการแย่งชิง การครอบครองสิ่งต่างๆ และก็หนีไม่พ้นการพยายามควบคุมธรรมชาติ ให้รองรับอุปสงค์ตน ... ทุกวันนี้ หลายอย่างบนโลกก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามีแต่ มนุษยชาติ vs ธรรมชาติ ที่รอวันแตกหักมาเป็นระลอกๆ การระบาดของโควิด-19 ก็เป็นอีกระลอกนึงที่น่าเศร้านัก
โปรดติดตามตอนที่ 3 ความกวัดแกว่งที่สุดในโลกของแม่น้ำโคสีแห่งอินเดียเหนือที่รองรับการทะยานสู่ฟ้าของหิมาลัย
ดร. ไพลิน ฉัตรอนันทเวช
วิศวกรแม่น้ำ ตะกอน และธรณีสัณฐาน
อ้างอิง
4. P Chatanantavet, MP Lamb, JA Nittrouer, 2012, Backwater controls of avulsion location on deltas, Geophysical Research Letters
5. McPhee J., 1989, The Control of Nature, Book, Farrar, Straus and Giroux
6. Barry, J. M. , 1997, Rising Tide: The Great Mississippi Flood of 1927 and How It Changed America (Simon & Schuster)
7. Masters J., 2019, If the Old River Control Structure Fails: A Catastrophe With Global Impact, www.wunderground.com
8. Sanjeev J, & Jun X, 2018, Recent changes in channel morphology of a highly engineered alluvial river – the Lower Mississippi River, Physical Geography
9. Blum, M. D. & Roberts, H. H. 2009, Drowning of the Mississippi Delta due to insufficient sediment supply and global sea-level rise. Nature Geoscience
โฆษณา