13 ส.ค. 2020 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
สวนกล้วยเก่าแก่ 2,000 ปี หลักฐานการเพาะปลูกของชนพื้นเมืองออสเตรเลีย
ก่อนอื่นจะขอเกริ่นประวัติคร่าวๆ ของประเทศออสเตรเลียสั้นๆ กันก่อน
เดิมในผืนดินออสเตรเลียนั้นมีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่ คือชาวอะบอริจิน และชาวเกาะทอร์เรสสเทรต แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคอาณานิคมก็เริ่มมีชาวยุโรปเข้ามาในออสเตรเลีย โดยมีบันทึกการเข้ามาของชาวยุโรปเป็นครั้งแรกในประมาณปีค.ศ. 1606 ซึ่งเป็นเรือของชาวดัตช์ โดยมีกัปตันชื่อว่า Willem Janszoon ต่อมาในช่วงปีค.ศ. 1606-1770 ก็มีเรือของชาวยุโรปอีกหลายลำเดินทางมาที่ออสเตรเลีย ซึ่งในช่วงนั้นจะเรียกออสเตรเลียว่านิวฮอลแลนด์
ต่อมาในปีค.ศ. 1770 ได้มีนักสำรวจและนักเดินเรือชาวอังกฤษชื่อว่าJames Cook เดินทางมาสำรวจและทำแผนที่ฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียเอาไว้ จากนั้นได้ประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรชื่อว่านิวเซาท์เวลส์ ผู้ที่มาตั้งถิ่นฐานช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกนักโทษและทหาร ต่อมาจึงค่อยๆ มีผู้อพยพเสรีเพิ่มตามมา ซึ่งสหราชอาณาจักรก็ได้มีการตั้งอาณานิคมต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ จนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวอาณานิคมก็ได้เริ่มสถาปนาและเริ่มปกครองตนเองขึ้น
กลับมาที่การค้นพบการเพาะปลูกกล้วยที่คาดว่ามีอายุกว่า 2,000 ปี พบอยู่ในบริเวณเกาะเล็กๆ ชื่อว่าMabuiag ทางตอนเหนือของช่องแคบTorres ซึ่งอยู่ระหว่างออสเตรเลียและเกาะหนึ่งของนิวกินี ค้นพบโดยโรเบิร์ต วิลเลียม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ซึ่งได้ค้นพบไมโครฟอสซิล เครื่องมือหิน และกำแพงกันดินในบริเวณไซต์ที่ขุดพบ
ภาพบริเวณที่ค้นพบ
การค้นพบนี้เป็นการลบล้างความเชื่อที่ว่าชนพื้นเมืองซึ่งก็คือชาวอะบอริจิน และชาวเกาะทอร์เรสสเทรตในช่วงก่อนอังกฤษจะมาตั้งอาณานิคมในออสเตรเลียเป็นเพียงผู้ล่าเก็บของป่า เพราะทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วชนพื้นเมืองนั้นมีการทำสวนและเพาะปลูกได้เอง รวมถึงยังบ่งบอกถึงระบบเกษตรกรรมและการรับประทานอาหารของชาวท้องถิ่นซึ่งมีวัตถุดิบหลัก เช่น มันเทศ เผือก และกล้วย อีกด้วย
นักประวัติศาสตร์บางคนก็ออกมาบอกว่าชาวอังกฤษปฏิเสธการมีระบบเกษตรกรรมของชนพื้นเมืองเพื่อที่จะสามารถอ้างได้ว่าดินแดนนั้นยังไม่มีการตั้งรกรากนั่นเอง
โฆษณา