17 ส.ค. 2020 เวลา 11:45 • สุขภาพ
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าวัคซีนชนิดไหนดีกว่ากัน ?
หลายรูปแบบ หลายชนิด หลายบริษัท หลายราคา แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าตัวไหนจะดีที่สุด
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าวัคซีนชนิดไหนดีกว่ากัน ? : Freepik/editor
ในแง่ของความคืบหน้าตอนนี้ต้องบอกว่าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 คืบหน้าไปค่อนข้างมากเลยทีเดียวครับ
กลุ่มบริษัทผู้นำทั้ง 6 กำลังทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ในหลากหลายประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปบริเวณโซนที่การระบาดยังคุกรุ่น....ถ้าใครสนใจรายละเอียดเชิงลึก ผมเคยเขียนไว้โพสต์ก่อนหน้านี้ลองอ่านดูได้ครับ....
กลับมาที่คำถามที่ว่า แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าวัคซีนมัน work หรือ ไม่ work ?
ก่อนอื่นอยากแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับคำว่า ประสิทธิภาพ (Efficacy) และประสิทธิผล (Effectiveness)
ดูโดยเผินๆบางคนอาจแปลเป็นความหมายเดียวกันได้โดยเฉพาะเวลาที่เจอข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ แต่ในแง่ของการวิจัยจะต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ
Efficacy หรือประสิทธิภาพของวัคซีนมักจะรายงานเป็น % การลดลงของการเกิดโรคใดโรคหนึ่ง (ที่เราสนใจ) ในกลุ่มที่ให้วัคซีนตัวที่พัฒนาขึ้นมาใหม่กับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอะไรเลยหรือได้ยาหลอกๆ
ภายใต้ระยะเวลา (Time frame) ที่กำหนดไว้แต่แรกว่าเราจะตามดูกี่เดือนหรือกี่ปีซึ่งจะเป็นข้อมูลจากการวิจัยระยะที่ 3
ในกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น
สมมุติเราอยากรู้ว่าวัคซีน A ป้องกันโควิด-19 ได้มั้ยและได้มากแค่ไหนในกรอบระยะเวลา 1 ปี ?
ข้อมูลขั้นต้นที่ต้องรู้จะอาศัยการนับเลยว่าแต่ละกลุ่มที่ให้วัคซีนไปกับได้วัคซีนหลอกมีกี่คนที่ติดโควิด-19 ในช่วงเวลา 1 ปี ซึ่งเราจะได้มาเป็นจำนวนคนถูกมั้ยครับ
แต่การรายงานผลในงานวิจัยเชิงระบาดวิทยามักจะต้องทำเป็นในรูปสัดส่วนที่เรียกว่า Risk ratio เพื่อดูว่ามันลดความเสี่ยงที่จะติดโรคได้มากแค่ไหนเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้วัคซีนซึ่งก็ไม่ยากครับ หาคำตอบได้โดยใช้ทักษะการบวก ลบ คูณ หารธรรมดา
อย่างแรกที่ควรจะเท่ากันก็คือจำนวนคนที่ได้วัคซีน A กับกลุ่มที่ได้วัคซีนหลอก สมมุติให้เท่ากับกลุ่มละ 10,000 คน
ผลติดตาม 1 ปีพบว่า....
คนฉีดวัคซีน A ติดโควิด 2,000 คน ที่เหลือ 8,000 ยังปกติ คิดเป็นความเสี่ยงติดโรค 0.2
คนฉีดวัคซีนหลอก ติดโควิด 6,000 คน ที่เหลือ 4,000 ยังปกติ คิดเป็นความเสี่ยงติดโรค 0.6
ซึ่งหากต้องการดูว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะป้องกันการติดโรคได้เท่าไหร่ก็จะได้ = 66.67 % ดูรูปเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นครับ
รูปอธิบายการคำนวณประสิทธิภาพวัคซีนอย่างง่าย : Editor
ตัวเลข % ที่ได้สำคัญมากนะครับ เนื่องจากตรงนี้ใช้ขึ้นทะเบียนกับทางอย.โดยตรงซึ่งเขาจะดูว่าได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะตอนนี้ทางอย.สหรัฐก็บอกแล้วว่าวัคซีนที่จะรับขึ้นทะเบียนควรมีประสิทธิภาพป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคได้อย่างน้อย 50 %
ถ้าไม่ได้ตามนี้ทุกอย่างก็จบครับ เอามาขายคนอื่นไม่ได้ ฉีดกับไม่ฉีดก็ติดเชื้อได้ไม่ต่างกันประมาณนััน
นอกจากนี้ก็ยังต้องดูในแง่ความปลอดภัย (Safety) ด้วยว่าเกิดผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหนซึ่งหลักการคำนวณก็จะใกล้เคียงกันกับการหาประสิทธิภาพไม่ได้ต่างกันมากครับ
สำหรับ Effectiveness หรือประสิทธิผลจะดูผลของวัคซีนในกลุ่มประชากรที่กว้างกว่าที่ศึกษาในขั้นหาประสิทธิภาพคือเก็บข้อมูลในแบบที่เรียกว่า real world เพราะวัคซีนที่ work
ในขั้นวิจัยก็อาจจะไม่ work ในการนำไปใช้จริง
นั่นเป็นเพราะว่ามีหลายปัจจัยมากครับที่อาจมารบกวนผลของวัคซีนได้ เช่น การขนส่ง การควบคุมอุณหภูมิ ราคาความคุ้มค่าของวัคซีน
โดยเฉพาะความร่วมมือในการฉีดซึ่งมีผลโดยตรงเพราะสมมุติว่าต้องฉีดบ่อยอาจทำให้คนไม่อยากมาฉีด ส่งผลให้ไม่เกิดประโยชน์อะไร ต่างจากเวลาอยู่ในขั้นวิจัยที่นักวิจัยจะต้องติดตามอาสาสมัครมาฉีดตามนัด
การศึกษาประสิทธิผลก็จะเป็นตัวช่วยดูว่านโยบายหรือการลงทุนไปตรงนี้จะคุ้มค่าหรือไม่และในอีกแง่หนึ่งก็ช่วยกระตุ้นการพัฒนาวัคซีนให้สามารถนำมาใช้ได้ในสภาวะจริงมากยิ่งขึ้นเช่น ขนส่งง่าย คงตัวสูง หรือไม่ต้องฉีดวัคซีนบ่อย
มาถึงคำถามสุดท้ายที่หลายคนอาจสงสัย...ถ้าเรารู้ % ประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละบริษัทแล้วเราสามารถสรุปได้เลยหรือไม่ว่าตัวที่มีค่า % มากที่สุดจะ work สุด ?
ต้องบอกว่าเราไม่สามารถเทียบแบบนั้นโดยตรงได้ครับ เนื่องจากสภาวะของการแต่ละงานวิจัยจะแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ อายุ กรอบระยะเวลาที่ศึกษา หรือแม้แต่การนับเคสผู้ติดเชื้อที่อาจจะวัดต่างกันก็ล้วนเข้ามารบกวนการเปรียบเทียบโดยตรง
2
ทำให้อาจบอกไม่ได้ชัดเจนว่าตัวไหนจะดีกว่ากันนั่นเอง
****สุดท้ายสำหรับการคำนวณประสิทธิภาพที่ได้นำเสนอไป อันที่จริงหลักการคำนวณรูปแบบเต็มจะต้องใช้สถิติขั้นสูงเข้ามาอีกทีครับ เนื่องจากมีปัจจัยรบกวนการตีความผลการศึกษาได้อีกมาก ตรงนี้เป็นการอธิบายเพียงพื้นฐานเท่านั้นเพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายครับ****
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา