Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ไทอิสาน
•
ติดตาม
14 ส.ค. 2020 เวลา 14:02 • การเกษตร
หมากขะยิง (ไทลาว) ,แพล ตะยึง (เขมรท้องถิ่น), ไปลอาถึง หรือ ไปลกะจ๊ะ (กวย,กูย)
ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนชอบพาเพื่อนเดินป่า หายิงนก กะปอม เก็บผลไม้ป่า ฯลฯ ก็พูดง่ายๆว่า เป็น "เด็กไทบ้านกับการเดินป่า" ในความหมายของคำว่า "เด็กไทบ้าน" นั้น หมายถึงเด็กน้อยต่างจังหวัด ในชนบทห่างไกลความเจริญพอสมควร ซึ่งจะเล่าย้อนกลับไปสมัยตัวเองยังเด็ก ย้อนไปไม่นานมากก็แค่ประมาณสัก 20 กว่าปีที่แล้ว ในสภาพแวดล้อมที่พวกเราอาศัยอยู่นั้น ความเจริญทั้งทางวัตถุ การสัญจรต่างๆ ไม่ได้เจริญมากนัก ทุกครั้งที่เป็นวันหยุดเรียน เสาร์-อาทิตย์ พวกเราเหล่าเด็กน้อย (วัยประถม) ก็จะนัดแนะกันเองบ้าง หรือไปกับผู้ใหญ่บ้าง ไปไหน? ไปเดินป่าหาของป่ามากินหรือมาทำอาหาร หาง่ายกว่าไปซื้อที่ตลาดเสียอีก
ทุกครั้งที่เราไปเดินป่า สิ่งที่ดึงดูดความสนใจเราได้มากที่สุด คือ ผลไม้ป่ามากมาย ตั้งแต่ บักยาง ถ้าสุกแล้วจะเป็นลูกสีส้ม ถ้าไม่สุกจะสีเขียว ออกลูกเป็นแซง (แซง = พวง) แซงหนึ่งก็ประมาณ 8-10 ลูกได้ เนื้อข้างในจะสีส้ม มียางสีขาวออกมาด้วยเมื่อแกะเปลือก รสชาติจะเปรี้ยวผสมฝาด รวมๆ ก็อร่อยสำหรับผลไม้ป่าที่เราหาได้ พอได้ลิ้มรสของบักยางแล้ว ก็จะเก็บใส่ถุง ไม่ก็กระเป๋า ไม่ก็กะต่า (กะต่า = ตะกร้าสาน) เก็บไปกินต่อที่บ้าน แล้วก็เดินทางต่อผ่านต้นไม้ต่างๆ มากมายที่เรารู้จักชื่อบ้างไม่รู้บ้างก็มี เดินไปตามทางที่เคยมีคนเดินบ่อยๆ จะทำให้เราไม่หลงทาง เดินไปร้องเพลงไป สนุกสนานกันเหลือเกิน ถ้าระหว่างเดินมีต้นผลไม้ป่าน่าอร่อยเราก็จะวิ่งแล้วปีนต้นไม้ขึ้นไปเก็บทันที เช่น ต้นหมากขะยิง ลูกจะเล็กๆ รสชาติและกลิ่นจะคล้ายๆ ละมุด คาดว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์เดียวกัน แต่ลูกจะเล็กกว่าละมุด กลิ่นหอมกว่า และตอนสุกลูกจะมีสีเขียวเข้ม มักขึ้นเองตามคันแทนา ตามโพนต่างๆ และจะออกผลในช่วงฤดูฝน ถ้าได้พบต้นนี้เหมือนสวรรค์ เพราะหายาก และลูกจะไม่ดกมาก อร่อยระดับลูกท้อของเง็กเซียนฮ่องเต้ แต่สมัยนี้ไม่น่าจะมีแล้ว ดีใจที่เคยได้ลิ้มลองรสชาติและได้รู้จักบักขะยิง
ถ้าไปกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะพาหาเห็ดที่เอาไปต้มแกงเป็นอาหารได้ ผู้ใหญ่จะดูออกว่าแบบไหนเห็ดเบื่อ (เห็ดเบื่อ = เห็ดมีพิษ) แต่เราเป็นเด็กก็จะดูไม่ออก แค่เห็นเห็ดสักดอกก็วิ่งไปเก็บละ แต่มันดันเป็นเห็ดเบื่อ หรือบางทีก็หาผักที่เอาไปต้มแจ่วได้ หรือเก็บฟืนจากกิ่งไม้ที่ตายแล้ว เอาไปทำเป็นฟืนให้พลังงานแก่การประกอบอาหาร พอได้ของล้นไม้ล้นมือและใกล้ค่ำแล้ว (ดูจากแสงพระอาทิตย์ที่เริ่มจางลง) ก็เริ่มเดินทางกลับหาทางออกกันอีกที ผู้ใหญ่ก็ได้อาหารป่า พวกเด็กๆ ก็ได้ผลไม้ป่า กลับไปกินได้อีกสามสี่วัน เป็นการใช้ชีวิตแบบอยู่กินและอาศัยธรรมชาติ อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนกัน เป็นน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าจริงๆ
สำหรับปัจจุบัน ความเจริญเข้ามาสู่หมู่บ้านตามลำดับ อาหารป่า ผลไม้ป่าก็เริ่มน้อยลง และการเข้าไปหาอาหารป่าก็ลดน้อยลง โดยหันไปซื้อของที่ตลาดสดแทน ก็เป็นการปรับเปลี่ยนตามยุค ตามเวลา ไม่มีสิ่งถูกหรือผิด การปรับตัวให้ใช้ชีวิตได้ต่างหากที่สำคัญกว่า ความสุขของเด็กน้อยไทบ้านเมื่อก่อน เปิดหูเบิกตากับธรรมชาติมากกว่าวัตถุหรือสิ่งเจริญหูเจริญตาแบบปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตาม...กาลเวลา
ขอบคุณภาพจาก : Saichon Soonthornsawad
1 บันทึก
6
1
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย