15 ส.ค. 2020 เวลา 10:07 • นิยาย เรื่องสั้น
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ :
เรื่องสั้น The death of Van Gogh (ตอนที่ 2)
ธีโอ ร้องขอให้ผมช่วยรักษาพี่ชายของเขาหลังจากฟินเซนต์เข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตที่แซ็งค์ เรมี เดอ พรอว็องส์ ผมรักษาผู้ป่วยมามากและคนไข้หลายรายของผมก็เป็นจิตรกรเช่นเดียวกับฟินเซนต์
พวกเขาได้เติมเต็มความฝันวัยเด็กของผม ผมละทิ้งความฝันนั้นเพราะรู้ว่าตนเองโง่เขลาเกินกว่าจะสร้างงานศิลปะที่ยอดเยี่ยมได้
การได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคือสิ่งที่หลายคนมองว่ามีแต่อัจฉริยะเท่านั้นที่ทำได้ แต่ความเป็นจริงแล้วสุนทรียะทางศิลปะต่างหากที่มีเพียงอัจฉริยะเท่านั้นที่ทำได้
1
ผลงานของฟินเซนต์คือสิ่งที่พิสูจน์คำกล่าวอ้างนี้ได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ที่เห็นภาพวาดของเขา ผมก็รู้ทันทีว่านี่คืองานศิลปะที่ล้ำค่า
ฟินเซนต์เอ๋ย แม้ว่าความตายจะพรากนายไป แต่ฉันเชื่อเหลือเกินว่ามันไม่ได้สร้างความเศร้าให้เกิดขึ้นในจิตใจของนายหรอก
.
" มนุษย์เป็นเพียงพืชไร่ที่โดนเก็บเกี่ยวชีวิตไปด้วยชาวไร่ แต่ในความตายนี้ ไม่มีสิ่งใดที่น่าเศร้าเลย มันเกิดขึ้นในเวลากลางวันแสกๆ ที่ดวงอาทิตย์ส่องประกาย อาบทุกอย่างภายใต้แสงสีทองอร่าม "
(เครดิตผู้แปล : พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ)
.
คงจริงดังคำที่นายเคยกล่าวไว้ สักวันเราคงจะได้พบกันอีก และฉันก็หวังว่ามันคงจะเป็นท้องทุ่งแห่งความตายที่สวยงามและเปล่งประกายดังเช่นผลงานที่นายวาด
ด้วยความอาลัยแด่ฟินเซนต์จาก พอล เกเซต์ คุณหมอที่รักนายประดุจน้องชาย
1
พยานคนที่ 3 : พอล เกเซต์ หมอที่เคยรักษาอาการป่วยของฟินเซนต์
เวลา 13:00 น. ชายร่างสูงในชุดสูทสีเทาเดินเข้ามาที่ห้องสืบสวนของสถานีตำรวจโอแวร์ซูร์อัวส์ ผมของเขาสีแดงแปร่ง มีรอยย่นและหนวดเคราอยู่เต็มใบหน้า
แม้สถานการณ์จะดูตึงเครียด แต่ใบหน้าของเขากลับสงบนิ่ง นายตำรวจสองนายพาเขาเดินมาจนถึงโต๊ะทำงานของผู้กองเซดริก
" นี่คือคุณหมอพอล เกเซต์ ครับ " ตำรวจนายหนึ่งรายงานกับผู้กองเซดริก
" ต้องขออภัยด้วยที่เรียกตัวคุณมากะทันหัน ผมมีเรื่องสำคัญที่ต้องสอบถามคุณหมอเกี่ยวกับการตายของฟินเซนต์ "
" ผมคิดว่าการตายของเขาไม่ได้ซับซ้อน ฟินเซนต์จบชีวิตด้วยตัวเขาเอง " หมอเกเซต์พูดขึ้น ก่อนที่จะถือวิสาสะนั่งลงบนเก้าอี้ที่อยู่ตรงข้ามกับเซดริก
2
" ผมได้รับรายงานจากแหล่งข่าวว่าคุณหมออาจให้รายละเอียดในเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ "
" คุณต้องการรู้เรื่องไหนล่ะ? ผู้กอง " หมอเกเซต์ถาม
" ผมอยากรู้ว่าทำไมฟินเซนต์จึงฆ่าตัวตาย "
หมอเกเซต์นิ่งไปพักหนึ่ง ก่อนจะเอ่ยขึ้นมาว่า
" เพราะมันเป็นความประสงค์ของฟินเซนต์ "
" ดูจากประวัติของเขา ฟินเซนต์เป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวน เขามักจะเห็นภาพหลอนอยู่บ่อยครั้ง ผมคิดว่าการตายของเขาอาจไม่ใช่การยินยอม แต่เป็นผลที่เกิดจากภาพหลอน ทำให้เขาคลุ้มคลั่งชั่วขณะและอาจทำร้ายตนเอง เป็นเรื่องแปลกที่คนฆ่าตัวตายจะยิงที่ท้อง ผมว่าคุณหมอก็น่าจะรู้เรื่องนี้ "
" ฟินเซนต์มักจะเห็นภาพหลอนก็จริง แต่อาการของเขาดีขึ้นแล้ว ที่สำคัญฟินเซนต์เป็นคนบอกผมเองว่าเขายิงตัวเอง " หมอเกเซต์ยืนยัน
" อะไรนะ ? ฟินเซนต์บอกกับคุณเมื่อไหร่ ? " เซดริกสวนขึ้นมาในทันที เขาแปลกใจกับคำตอบของหมอเกเซต์มาก
" ผมไปพบฟินเซนต์ตอนที่เขานอนเจ็บอยู่ "
" แล้วคุณหมอได้เจอฟาเบียนไหม ? " เซดริกถาม
" เจอสิครับ ฟาเบียนเป็นผู้จัดการที่นั่น เขาเป็นคนทำแผลให้ฟินเซนต์ด้วย !!! "
 
เซดริกไม่รู้มาก่อนว่าหมอเกเซต์มาหาฟินเซนต์ก่อนที่เขาจะตาย ฟาเบียนไม่ได้ให้การในเรื่องนี้ เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะเห็นว่าไม่สำคัญ
หรือไม่ก็จงใจที่จะปกปิด ถ้าหมอเกเซต์มีส่วนในการตายของฟินเซนต์เขาคงจะไม่ให้การว่าได้พบกับฟินเซนต์ก่อนตายแน่ๆ
1
" คุณหมอครับ ขอบอกตามตรงเลยว่าผมไม่เชื่อว่าฟินเซนต์ฆ่าตัวตาย ถึงแม้เขาจะบอกแบบนั้น ในฐานะที่คุณเคยรักษาอาการทางจิตให้เขา เป็นไปได้ไหมว่าเขาจะเกิดภาพหลอนที่ทำให้ต้องยิงตัวเอง หรือไม่ก็ถูกทำร้ายแต่เห็นภาพหลอนจนคิดว่าเป็นการยิงตัวเอง "
" ฟินเซนต์ ไม่ได้เห็นภาพหลอนอีกเลยหลังจากเข้ารับการรักษา และในฐานะแพทย์ผมว่าอาการป่วยของฟินเซนต์ไม่ใช่อาการทางจิต "
" อะไรนะ ? " เซดริกอุทาน
1
" ฟินเซนต์ไม่ได้ป่วยทางจิต "
" สิ่งที่ผมจะบอกต่อไปนี้ ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์แต่เพราะผมรักษาผู้ป่วยที่เป็นจิตรกรมาเยอะ อาการของพวกเขาใกล้เคียงกันและมีพฤติกรรมเหมือนๆกัน
สมมติฐานของผมก็คือ ความเจ็บป่วยของพวกเขาอาจเป็นผลมาจากสารพิษที่ปะปนอยู่ในสีที่พวกเขาใช้ "
ภาพ : Wheat Field with Crows
" สี ... มียาพิษ ? " ผู้กองเซดริกสงสัย
" ผมเองก็ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าสารที่นำมาใช้ทำสีอาจมีส่วนผสมที่เป็นพิษและทำให้เกิดภาพหลอน อาการนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับฟินเซนต์เพียงคนเดียว ศิลปินที่มักจะใช้สีแบบเข้มข้นก็เกิดภาพหลอนแบบนี้ ฟินเซนต์มักจะขลุกตัวอยู่กับการวาดรูปทั้งวัน และสิ่งที่เขาทำบ่อยๆก็คือการคาบแปรงสีไว้ที่ปากเมื่อต้องใช้ความคิด เขาคงเผลอกินสีเข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัว " ( ** ดูคำอธิบายเพิ่มเติมในหมายเหตุ ** )
เซดริกพิศวงกับคำอธิบายของหมอเกเซต์มาก แต่เขาไม่อาจสรุปคดีว่าแวนโก๊ะฆ่าตัวตายเพราะหลอนจากการกินสีได้ มันเป็นเพียงความเห็นของหมอเกเซต์เท่านั้น และยังไม่มีผลพิสูจน์ที่เป็นหลักฐานทางการแพทย์มายืนยันเรื่องนี้
" งานของฟินเซนต์ในยุคหลังเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ภาพของเขามักจะมีส่วนผสมของรูปแบบที่ชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ ภาพขดวงกลมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นอาจเป็นผลมาจากภาพที่ฟินเซนต์มองเห็นเพราะผลของสารพิษ " หมอเกเซต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
" คุณหมอมั่นใจในสิ่งที่พูดมากแค่ไหน ? "
" ผมมั่นใจเรื่องนี้พอๆกับที่เชื่อมั่นว่าฟินเซนต์ไม่ได้บ้านั่นแหล่ะ เขาคืออาจารย์ของผม ผมสนทนากับเขาหลายเรื่อง ผมเลียนแบบภาพวาดของเขา
เขาเป็นทั้งคนไข้ เป็นทั้งครูและเป็นเหมือนน้องชายของผม ฟินเซนต์ได้มอบคุณค่าแห่งศิลปะให้กับจิตใจของผม เขาวาดรูปเหมือนให้ผมด้วยนะ เป็นภาพที่มีสีสันฉูดฉาดและใช้สีที่ตัดกันอย่างชัดเจนตามสไตล์ของเขา "
2
ภาพ : Portrait of Dr. Gachet
" ฟินเซนต์ใส่ใจในรายละเอียดเป็นอย่างมาก เขาวาดภาพนี้โดยใส่รูปของต้นถุงมือจิ้งจอก ( Fox Glove)ลงไปด้วย มันเป็นพืชที่ผมนำมันมาสกัดเป็นยารักษาโรคหัวใจ
เขาบอกว่านี่คือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าผมเป็นหมอ และผมก็นำมันมาใช้เพื่อรักษาอาการลมชักของเขาด้วย "
1
เซดริกฟังหมอเกเซต์อธิบายยืดยาว จนเขาเองก็อดคิดไม่ได้ว่าคุณหมอก็มีอาการป่วยทางจิตอยู่เหมือนกัน แต่ก่อนที่จะพูดอะไรออกไปคุณหมอก็เฉลยเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
" ฟินเซนต์เคยบอกกับน้องชายของเขาว่า ผมเป็นหมอรักษาอาการทางจิตที่บ้ามากกว่าเขาเสียอีก แม้เขาจะบอกแบบนั้นผมก็ไม่ถือสา เพราะเขาได้วาดภาพเหมือนให้กับผมเป็นการตอบแทนแล้ว
.
ฟินเซนต์บอกว่า เขาคุมโทนสีของภาพให้ดูหม่น เศร้า มีความสุภาพแต่เปี่ยมไปด้วยความแจ่มใสและปัญญา ผมบอกได้เลยว่าภาพนี้คือสมบัติที่ล้ำค่าชิ้นหนึ่งของโลกที่ฟินเซนต์มอบให้กับผม "
" เอาเป็นว่า หมอยืนยันว่าฟินเซนต์ยิงตัวเองตายใช่ไหมครับ ? " ผู้กองเซดริกรวบรัดก่อนที่หมอเกเซต์จะนอกเรื่องไปไกล
.
" แน่นอน ฟินเซนต์บอกเรื่องนี้กับผมด้วยตัวเอง "
" เขาบอกกับหมอเมื่อไหร่ ? ผมต้องการทราบวันเวลาที่แน่นอน "
" วันที่ 28 กรกฎาคม เวลาประมาณบ่ายสาม ที่จริงวันนั้นผมตัดสินใจจะผ่ากระสุนออกจากท้องของเขา แต่ฟินเซนต์ปฏิเสธ เขาต้องการจากไปอย่างสงบและคืนชีวิตอันสดใสให้กับธีโอน้องชายที่คอยหาเงินช่วยเหลือเขามาตลอด "
1
" 28 กรกฎา !!! ฟินเซนต์ไม่ได้เสียชีวิตวันที่ 27 หรือครับ ? " เซดริกตกใจกับคำตอบที่ได้รับ
" ใครบอกคุณว่าฟินเซนต์ตายวันนั้น เขาเสียชีวิตในอีกสองวันถัดมา วันตายของฟินเซนต์คือวันที่ 29 กรกฎาคม " หมอเกเซต์พูดเสียงแข็งกลับมา
.
" แต่ในบันทึกของหมอเรม็องด์แจ้งไว้แบบนี้ และมันก็ตรงกับคำให้การของคุณฟาเบียน "
" ผมคิดว่าผู้กองคงต้องสอบปากคำสองคนนั้นอย่างละเอียดอีกครั้งแล้วล่ะครับ "
เซดริกตะลึงงันแน่นิ่งอยู่ตรงนั้น แม้เขาอยากจะเก็บความสงสัยเอาไว้ไม่ให้หมอเกเซต์รู้ แต่ก็ทำไม่ได้ สีหน้าของเขาแสดงออกมาอย่างชัดเจนจนคุณหมอน่าจะสังเกตเห็นได้ มีคำถามมากมายเกิดขึ้นในหัวและหนึ่งในคำถามที่เขาสงสัยที่สุดก็คือ
" ใครกันแน่ที่โกหก !!! "
จบตอนที่ 2
หมายเหตุท้ายบท :
1.
หมอพอล เกเซต์ คือบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง เป็นหมอที่รักษาแวนโก๊ะภายหลังจากที่เขาออกจากโรงพยาบาลจิตเวชแล้ว
คุณหมอชื่นชอบผลงานของแวนโก๊ะมากถึงขนาดที่ยอมรับค่ารักษาเป็นภาพวาด
หมอเกเซต์หลงใหลงานศิลปะเพราะตอนเด็กเขาอยากจะเป็นจิตรกร แต่พ่อของเขาอยากอยากจะให้เป็นหมอ เขาจึงเลือกเดินตามความฝันของพ่อ
.
มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าคุณหมอชอบนำภาพเขียนของแวนโก๊ะมาลอกเลียนแบบ
ดังนั้นผลงานหลายชิ้นของแวนโก๊ะจึงต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้มั่นใจว่าภาพเหล่านั้นไม่ใช่ภาพเลียนแบบที่หมอเกเซต์วาด
2.
ในประวัติชีวิตของแวนโก๊ะ มีหมออีกคนหนึ่งที่เขาวาดภาพเหมือนให้ หมอคนนั้นชื่อ " เฟลิกซ์ เรย์ " หมอเรย์ เป็นแพทย์ฝึกหัดที่คอยดูแล ทำแผลและช่วยบำบัดอาการของแวนโก๊ะอยู่หลายครั้ง
เขาวาดภาพหมอเรย์ในปี 1889 โดยใช้สีโทนหลักในภาพสองสีคือ สีเขียวและสีแดง แต่หมอเรย์เข้าไม่ถึงจินตนาการของแวนโก๊ะ เขารู้สึกแปลกๆกับวาดภาพของแวนโก๊ะ แถมยังไม่เข้าใจเรื่องที่แวนโก๊ะระบายปอยผมของเขาด้วยสีแดง คุณหมอจึงนำภาพนี้ไปเก็บไว้ที่เล้าไก่หลังบ้าน
1
หลายปีถัดมาหลังจากที่แวนโก๊ะเสียชีวิตแล้ว คุณหมอได้ขายภาพนี้ให้กับพ่อค้าศิลปะจากปารีสในราคาที่ไม่สูงมาก ซึ่งต่อมาภาพนี้ถูกขายให้กับนักสะสมชาวรัสเซีย
และในปัจจุบันภาพนี้ถูกนำมาจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะพุชกิ้นที่รัสเซีย โดยมีราคาประเมินอยู่ที่ 1,600 -1,800 ล้านบาท
(** ตัวละครหมอเรม็องด์ที่ผู้เขียนแต่งขึ้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากหมอเรย์ **)
ภาพ : Portrait of Dr. Felix Ray
3.
แวนโก๊ะวาดภาพหมอพอล เกเซต์ ในปี 1890 นับเป็นภาพในช่วงสุดท้ายของชีวิตเขา ภาพนี้ถูกวาดขึ้นมา 2 ภาพ โดยทั้งสองภาพคุณหมอทำท่าในลักษณะเดียวกันคือนั่งเกยหน้ากับแขนขวา ซึ่งท่านี้แวนโก๊ะนำมาจากภาพเขียนของเออแฌน เดอลาครัวที่ได้วาดภาพเหมือนของตอร์กวาโต ตัสโซ กวีชาวอิตาลี ขณะที่เขาอยู่ในโรงพยาบาลซานตันนาที่แฟร์รารา
"ตอร์กวาโต ตัสโซในโรงพยาบาลซานตันนาที่แฟร์รารา" โดยเออแฌน เดอลาครัว
แวนโก๊ะเขียนจดหมายถึงน้องชายของเขาในปี ค.ศ. 1890 และบรรยายถึงภาพเหมือนคุณหมอเกเซต์ไว้ว่า " ในภาพนี้เขามีใบหน้าที่หดหู่ อาจจะดูเหมือนว่าบูดบึ้งสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น แม้จะเศร้าแต่อ่อนโยน มีความชัดเจนและเปี่ยมไปด้วยสติปัญญา นี่คือการเขียนภาพเหมือนในแบบที่ควรจะเป็น "
4.
ภาพเหมือนหมอเกเซต์ (Portrait of Dr. Gachet)เป็นภาพคุณหมอกับต้น Fox Glove(ถุงมือจิ้งจอก) ซึ่งเป็นต้นไม้ในตระกูลของวงศ์เทียนเกล็ดหอย (Plantaginaceae)จัดเป็นพืชสมุนไพรที่นำมาสกัดเพื่อใช้รักษาโรคหัวใจบางประเภท รวมถึงอาการลมชัก แวนโก๊ะนำพืชชนิดนี้เข้ามาในภาพเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าเกเซต์เป็นหมอ
โดยภาพนี้มี 2 รูป รูปแรกแวนโก๊ะมอบให้น้องสะใภ้ของเขา (ภรรยาของธีโอ) ซึ่งในปี 1897 ภาพนี้ถูกขายไปในราคา 300 ฟรังก์ และถูกขายต่อกันเป็นทอดๆอีกหลายครั้ง
จนมาอยู่ในการครอบครองของหอศิลป์แห่งรัฐแฟรงก์เฟิร์ต ในปี 1911 ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่นั่นจนถึงปี 1933 ก่อนจะถูกนำไปซ่อน
 
ต่อมาภาพนี้ได้ถูกยึดโดยกระทรวงส่งเสริมการประเทืองปัญญาของสาธารณชนและการโฆษณาชวนเชื่อ (Ministry of Public Enlightenment and Propaganda)
ของพรรคนาซีเยอรมัน ในปี 1937 ต่อมาแฮร์มันน์ เกอริง ซึ่งเป็นนักการเมืองคนหนึ่งของพรรคนาซีได้นำภาพนี้มาขายให้กับนักสะสมในอัมสเตอร์ดัม
ก่อนจะถูกขายต่อไปอีกจนได้มาอยู่ในการครอบครองของ " พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน " ที่นิวยอร์ค
หลังจากนั้นภาพก็ถูกขายต่อให้กับ ไซโต เรียวเอ นักธุรกิจซึ่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัทผลิตกระดาษไดโชวะ โดยมีราคาประมูลสูงถึง 82.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
(ประมาณ 4,000 - 5,000 ล้านบาท) นับเป็นหนึ่งในภาพวาดที่มีราคาสูงที่สุดของโลก และเมื่อไซโต เรียวเอ เสียชีวิตในปี 1996 ก็ไม่มีการยืนยันว่าภาพนี้ตกไปอยู่กับใคร
คาดว่ามีการขายภาพนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆจนไม่สามารถระบุเจ้าของภาพตัวจริงได้ ? มีการสันนิษฐานกันว่าภาพนี้น่าจะสูญหายไปแล้ว
2
ส่วนภาพที่ 2 ที่ครอบครองโดยคุณหมอเกเซต์ ถูกส่งต่อมาจนถึงทายาทคุณหมอ และในที่สุดทายาทของคุณหมอก็ได้ส่งมอบภาพนี้ให้กับสาธารณรัฐฝรั่งเศสตามเจตจำนงค์ของหมอเกเซต์ ซึ่งปัจจุบันได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ออร์แซ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส
5.
ข้อสันนิษฐานว่าแวนโก๊ะไม่ได้บ้าที่อ้างอิงในเรื่องสั้นตอนนี้ ไม่ได้เป็นการค้นพบของหมอเกเซต์ แต่เป็นข้อสันนิษฐานของ ดร.เอเดรียน สเปราส์ (Adrienne Sprouse) ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจศึกษาประวัติของแวนโก๊ะ
เธอได้เดินทางไปศึกษาเอกสารการรักษาแวนโก๊ะรวมถึงประวัติต่างๆของเขาเพื่อรวบรวมข้อมูลนานนับสิบปี จนได้ข้อสันนิษฐานว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับแวนโก๊ะไม่น่าจะใช่อาการทางจิตแต่เป็นผลมาจากสารเคมีที่ผสมอยู่ในสีที่เขาใช้ เนื่องจากสีในสมัยก่อนมีส่วนผสมของตะกั่วและปรอท ซึ่งถ้าได้รับสารทั้งสองเข้าทางร่างกายไม่ว่าจะทางสูดดมหรือกินเข้าไปก็มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดภาพหลอนและคุ้มคลั่งได้
จากประวัติของแวนโก๊ะ เขามักจะวาดภาพโดยใช้สีในปริมาณที่เข้มข้น และใช้เวลาทั้งวันอยู่กับการวาดรูปด้วยสีน้ำมันจำนวนมหาศาล เขาต้องสูดดมสารเคมีเข้าร่างกายมากมาย
รวมถึงนิสัยที่ชอบกัดแปรงสีในระหว่างที่ใช้ความคิด ทำให้เขาได้รับผลกระทบจากสารเคมีเหล่านี้จนอารมณ์แปรปรวน คุ้มคลั่งและเห็นภาพหลอนในบางครั้ง
ซึ่งหนึ่งในอาการข้างเคียงของผู้ที่ได้รับสารพิษจากตะกั่วก็คือ พวกเขามักจะเห็นภาพต่างๆเป็นวงกลมดวงๆในแบบเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในภาพเขียนช่วงหลังของเขา
6.
ภาพวาดของแวนโก๊ะตั้งแต่ปี 1888 มักจะมีสีเหลืองเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งมีสองสมมติฐานในเรื่องนี้
- ข้อสันนิษฐานแรกคือ แวนโก๊ะชอบสีเหลือง มีเรื่องเล่าว่าตอนที่รักษาอาการทางจิตที่โรงพยาบาลแซ็งค์ เรมี เดอ พรอว็องส์ แวนโก๊ะเคยกินสีเหลืองเข้าไปเพราะคิดว่ามันจะทำให้เขามีความสุข
- ข้อสันนิษฐานที่สองคือ แวนโก๊ะอาจมีความผิดปกติในการมองเห็นสี เขาอาจจะตาบอดสีอันเนื่องมาจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาโรคลมชัก ซึ่งยาที่แวนโก๊ะได้รับจะเป็นยากลุ่ม "Digitalis" ซึ่งสามารถสกัดได้จากพืชที่มีชื่อว่า Fox Glove ซึ่งเป็นพืชที่ปรากฏอยู่ในภาพเหมือนหมอเกเซต์
1
ผลที่ได้รับจากการได้รับยาตัวนี้เกินขนาดจะทำให้มีความผิดปกติในการมองเห็น ซึ่งชื่อเรียกของอาการนี้ในทางการแพทย์จะเรียกว่า "xanthopsia" เป็นการที่ตาจะมองเห็นสีของภาพผิดเพี้ยนไปเป็นสีเหลืองและสีฟ้า ซึ่งเป็นโทนสีที่ปรากฏอยู่ในภาพของแวนโก๊ะ เป็นไปได้ว่าแวนโก๊ะวาดภาพโทนสีนี้ออกมาเพราะเขามองเห็นแบบนั้นจริงๆ
ภาพวาดที่เน้นโทนสีเหลืองเป็นหลักของแวนโก๊ะ
โฆษณา