18 ส.ค. 2020 เวลา 13:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
MovieTalk Special Series:
N - O - L - A - N PROJECT 1:
M E M E N T O
Memento เป็นหนังยาวเรื่องที่สองของ คริสโตเฟอร์ โนแลน แต่เป็นหนังที่เสมือนกับใบเบิกทางให้คนดูส่วนใหญ่รู้จักหนังของเขา เป็นหนังที่สะท้อนชุดความคิด, วิธีเล่าเรื่องไม่ลำดับเวลา และการใช้สมาธิยอกย้อนล่อหลอกคนดู ซึ่งมันคือลายเซ็นที่เรามักจะเห็นในหนังของโนแลนแทบจะทุกเรื่อง
Memento ยังถือเป็นหนังที่ทำให้ชื่อของ 'คริสโตเฟอร์ โนแลน' กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ (ในเวลานั้น) และเป็นที่จับตามองทัั้งจากผู้สร้าง และคนดูนอกเกาะอังกฤษ
MovieTalk จะพาคุณไปสำรวจชุดความคิดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ใน MovieTalk Special Series ชุด N – O - L – A- N - F ด้วยการอุ่นเครื่องไปกับ 10 หนังของเทพโนแลน
Memento (2000)
Directed: Christopher Nolan/Screenplay: Christopher Nolan/Based on "Memento Mori" by Jonathan Nolan/Music: David Julyan/Cinematography: Wally Pfister/Edited: Dody Dorn/Distributed: Newmarket
Starring: Guy Pearce, Carrie-Anne Moss, Joe Pantoliano
Running time113 minutes
ลีโอนาร์ด ชายผู้สูญเสียความทรงจำปัจจุบันเมื่อเวลาผ่านไป 10 นาที สิ่งเดียวที่เขาจดจำได้คือ ฆาตกรที่ฆ่าภรรยาของเขา จอห์น จี และเขาตามแกะรอยเพื่อล้างแค้น โดยมีผู้คนแวดล้อมตัวเขาไม่ว่าจะเป็น เท็ดดี้ ชายกลางคนที่ไม่น่าไว้ใจ, นาตาลีสาวบาร์เบียร์ที่มีส่วนพัวพันกับพ่อค้ายา ลีโอนาร์ด ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาควรจะไว้ใจใคร สิ่งเดียวที่พอจะเชื่อถือได้คือ ภาพถ่ายจากกล้องโพลาลอยด์ที่เขียนโน๊ตสั้น ๆ ไว้ด้านหลัง และรอยสักประโยคสั้น ๆ เพื่อเตือนความจำ ลีโอนาร์ดมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้จะคือเบาะแสที่ช่วยให้เขาเข้าถึงฆาตกร จอห์น จี. ได้ในที่สุด
Memento น่าจะเป็นหนังที่เรียกร้องสมาธิในการดูมากที่สุดของโนแลน ความที่หนังเดินเรื่องเหมือนย้อนถอยหลังทีละนิด และอีกส่วนเดินไปข้างหน้าก่อนจะมาบรรจบเป็นเส้นเรื่องเดียวกัน นี่คือหนังที่เห็นความซับซ้อนทางความคิดของโนแลน และวิธีเล่าเรื่องแบบโนแลน ที่ไม่ตามลำดับเวลา จึงเป็นหน้าที่ของคนดูที่จะต้องปะติดปะต่อเรื่องราวกันเอาเอง
กลวิธีการเล่าเรื่องที่ตีคู่กันไประหว่างเหตุการณ์ปัจจุบันที่เป็นสีสัน ที่เล่าเรื่องแบบย้อนกลับ ตัดสลับกับเหตุการณ์ในอดีตในส่วนที่เป็นภาพขาว-ดำ สำหรับคนที่ดูรอบแรกแล้วไม่ ‘มึน’ แสดงว่าคุณ ‘เทพ’ พอ ๆ กับโนแลน
แต่ถ้าจะจับจุดในการดูก็คือสีของภาพนั่นล่ะ
โนแลนใช้วิธีเล่าเรื่องแบบนี้สะท้อนให้เห็นความคิดอันสับสนของลีโอนาร์ด ไม่เพียงแค่ลีโอนาร์ดเท่านั้นที่รู้สึกสับสนกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า แม้กระทั่งคนดูเองก็คงไม่ต่างกัน ขนาดผมดูอีกรอบเพื่อจะรีวิว (น่าจะ 4 หรือ 5 อ้าว...เราเองก็เริ่มสับสนแล้วรึเนี่ย?) ก็ยังรู้สึกว่าหนังมีประเด็นอะไรให้คิดตาม และหลายเรื่องที่เราเองก็ลืมไปเพราะความเล่าเรื่องแบบโนแลนนี่ล่ะ
ที่ล่อหลอกคนดูให้หลงลืมไป
เบาะแสที่มาพร้อมความสงสัยตลอดเวลาที่หนังเดินหน้า (หรือถอยหลัง....?) ผ่านภาพถ่าย, ช๊อตโน๊ตก่อนจะลืมที่รีบเขียนไว้ และ รอยสักข้อความ ที่เหมือนจะทำให้ลีโอนาร์ด (และคนดู) เข้าใจเรื่องเพิ่มขึ้น แต่มันจะใช่อย่างที่เข้าใจจริงหรือ? เพราะมันถูกทิ้งไว้พร้อมความสงสัยทุกครั้งก่อนจะตัดสลับไปมาระหว่าง ความจริง (ที่เป็นภาพสี) กับ อดีต (ที่เป็นภาพขาว-ดำ)
เมื่อหนังเดินทางไปสู่จุดจบมันก็อดทำให้เรา ‘อึ้ง’ กับความจริงตรงหน้าไม่ได้ จนต้องกลับมาทบทวนอะไรที่แน่นอนมากกว่ากัน ระหว่าง ‘ความจริง’ กับ ‘ข้อเท็จจริง’
กาย เพียร์ซ ทำให้ ลีโอนาร์ด ที่ตนเองสวมบทเป็นชายที่สมองสับสนได้อย่างน่าเชื่อถือ พอ ๆ กับสองนักแสดงจาก The Matrix แคร์รี่ แอน มอสส์ ในบท นาตาลี และ โจ แพนโตเลียโน ในบท เท็ดดี้ ก็ทำให้คนดูไม่ไว้วางใจได้เช่นเดียวกัน
นี่คือหนังที่ ‘ต้องดู’ เป็นอย่างยิ่ง เพื่อลับสมอง ประลองเชาวน์ของคุณเอง ว่าจะ ‘เท่าทัน’ โนแลนรึเปล่า
'ความจริง' ที่รับรู้ กับ 'ข้อเท็จจริง' ที่เกิดขึ้น อะไรที่มันจะ 'แท้จริง'
ขอบคุณที่มาข้อมูล: IMDb, Wikipedia, Rotten Tomatoes, Youtube
ขอบคุณที่มาภาพประกอบ: IMDb, Wikipedia, Rotten Tomatoes, Twitter, The Playlist, Dailymotion, Whatculture.com, FilmLoverss

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา