16 ส.ค. 2020 เวลา 15:24 • ดนตรี เพลง
เพลง "อุ๊ยคำ" ขับร้องโดย จรัล มโนเพ็ชร คำร้อง-ทำนอง จรัล มโนเพ็ชร
คุณมานิด อัชวงศ์ ผู้จัดการส่วนตัวของคุณจรัล มโนเพ็ชร เขียนเล่าถึงที่มาของเพลงนี้ว่า
"วันนั้นเวลาเย็นแล้ว เรานั่งอยูบนรถไฟชั้นสองตู้นอนเพื่อกลับบ้านเชียงใหม่ รถไฟกำลังผ่านย่านทุ่งรังสิต ตะวันกำลังตกดิน ที่หนองน้ำมีคนเฒ่าคนหนึ่งกำลังพายเรือเกี่ยวยอดผักบุ้ง เป็นภาพชีวิตที่งดงาม
จรัลขอกระดาษจากผม ผมฉีกกระดาษสีขาวของหนังสือพิมพ์ส่งให้ จากนั้นไม่นาน จรัลก็ยื่นกระดาษแผ่นนั้นให้ ก้มลงหยิบกีตาร์แล้วเล่นเพลงให้ฟัง
นอกจากผมแล้ว คงมีผู้โดยสารที่นั่งอยู่ใกล้ๆกันในโบกี้นั้น ได้ยินเพลง"อุ๊ยคำ"เป็นครั้งแรก
จรัล มโนเพ็ชร เล่าเสริมว่า อุ๊ยคำมีชีวิตจริง แต่ชีวิตแกไม่ได้เศร้าอย่างเพลง แกดูมีความสุขแม้ไม่มีลูกผัว บ้านที่แกอาศัยอยู่มีหนองน้ำ แกก็อาศัยเก็บยอดผักบุ้งไปขายบ้าง แจกบ้าง บางวันตอนเย็น จรัลก็ไปนั่งคุยด้วย แกชอบเล่าเรื่องเก่าๆให้ฟัง
สองสามวันแล้วที่ไม่มีใครเห็นหน้าแก จรัลบุกไปถึงบ้าน จึงพบว่าแกนอนตายแล้ว จึงช่วยกันทำศพให้
คุณมานิดถามคุณจรัลถึงทำนองเพลงนี้ว่ามีที่มาอย่างไร คุณจรัลเล่าว่าสมัยเป็นเด็กชอบไปโบสถ์คริสต์ ทำนองเพลงนี้เป็นเพลงประกอบศาสนกิจของชาวคริสต์ และเป็นเพลงที่ปีเตอร์ แอนด์ พอล แมรี่ สร้างเป็นเพลงเพลงหนึ่ง คุณจรัลนำมาดัดแปลงทำนองเพื่อให้เข้ากับวรรณยุกต์ของภาษาคำเมือง
เพลง"อุ๊ยคำ" บันทึกเสียงครั้งแรกที่ห้องบันทึกเสียงโซนิค ไม่มีเสียงระฆัง บันทึกเสียงครั้งที่สองที่ห้องบันทึกเสียงศรีกรุง จรัลสั่งซื้อระฆังมา 1 ใบเพื่อใช้ตีประกอบเพลง และผู้ตีระฆังตลอดไม่ว่าจะเป็นการบันทึกเสียงหรืองานคอนเสิร์ต คือคุณมานิด อัชวงศ์
"สิเหร่" เขียนถึงเพลง"อุ๊ยคำ" ของ จรัล มโนเพ็ชร ไว้ว่า
"บทเพลง อุ๊ยคำ ของจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินแห่งลานนา นับเป็นงานคลาสสิกของวงการเพลงไทยในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา และยังคงอยู่ในความรู้สึกของผู้ฟังตลอดกาล
ย่อมไม่มีใครปฏิเสธ ความดีเด่นทั้งด้านเนื้อหาและท่วงทำนอง ตลอดจนความรู้สึก กระทั่งเสียงสะท้อนของระฆังที่กังวานในช่วงสุดท้ายของบทเพลง ซึ่งทำให้ความรู้สึกยะเยือกอยู่ในอารมณ์ของผู้ฟังตลอดกาล นับเป็นงานสูงส่งที่สุดเท่าที่คนหนุ่มได้สร้างขึันจากใจ..."
ขอขอบคุณข้อมูลจาก อ.ชวลิต ลาชโรจน์
โฆษณา