17 ส.ค. 2020 เวลา 06:22 • ความคิดเห็น
ไม่มีสื่อไหนบนโลกใบนี้ที่เป็นกลางอย่างแท้จริง
มีเพียงสื่อที่ซ่อนความไม่เป็นกลางแต่นำเสนอรอบด้าน
หลายๆ​ ครั้งสื่อมักโดนตั้งคำถามเรื่องการนำเสนอข่าวว่าเป็นกลางบ้าง​ ไม่เป็นกลางบ้าง​ จรรยาบรรณมีไหม​ แล้วความเป็นกลางมันมีจริงหรือไม่​ หรือมันแค่คำพูดสวยหรูในมายาคติที่เราเชื่อกันแบบผิดๆ​ มาตลอด​ วันนี้ผมจะเขียนในมุมจากประสบการณ์ทำงาน​ 10 ปีในวงการข่าวละกันครับ
"บนโลกนี้ไม่มีสื่อไหนหรอกที่ไม่เลือกข้าง แต่สื่อที่ซ่อนความไม่เป็นกลางและวางตัวได้อย่างเหมาะสมนั่นต่างหากคือสื่อมืออาชีพ"
ในโลกยุคปัจจุบันที่การแข่งขันในวงการสื่อสารมวลชนเป็นไปอย่างดุเดือดและเข้มข้น สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่สื่อออนไลน์ ต่างต้องช่วงชิงพื้นที่การรับรู้ของกลุ่มเป้าหมายที่บริโภคสื่อของตัวเอง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหรือผมขอใช้คำว่าแฟนคลับ ก็มักจะเลือกเสพสื่อจากสำนักข่าวต่างๆ ตามที่ตัวเองชื่นชอบซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทั่วโลก
และคำถามที่มักจะถูกถามอยู่เสมอจากสังคมในเรื่องของการปฏิบัติตัวของสื่อมวลชน ในการวางตัว หรือการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้น ได้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องตามครรลองคลองธรรมหรือไม่ สื่อมีการวางตัวอย่างเป็นกลางในการนำเสนอข่าวตามอุดมคติของวิชาชีพสื่อหรือตามความคิดของประชาชนหรือไม่?
1
ผมจะขอตอบในฐานะที่ผมเองก็อยู่ในวงการข่าวมานานหลายปี แม้จะไม่ใช่เป็นนักข่าวที่เก่งกาจมือฉมัง หรือเป็นระดับบรรณาธิการอาวุโส แต่ผมก็พอที่จะรู้เรื่องราวความเป็นไปในวงการสื่อพอสมควร โดยผมขอแยกออกเป็น 2 ข้อแบบนี้ดีกว่า
1. เรื่องของจรรยาบรรณสื่อ ผมเชื่อว่าเนื้อแท้ของนักสื่อสารมวลชน ทั้งผู้สื่อข่าว คนทำสารคดีข่าว ผู้ประกาศข่าว ทุกคนล้วนมีจรรยาบรรณของวิชาชีพอยู่ในใจ แต่ที่ผ่านมาการเข้าไปอยู่ในองค์กรต่างๆ บางครั้งจรรยาบรรณก็ถูกลดทอนลงโดยกลุ่มนายทุนที่มีอิทธิพล​ต่อการตัดสินใจของคนทำสื่อที่เป็นเพียงลูกจ้าง สั่งให้ทำในสิ่งที่นายทุนต้องการ เพื่อหาผลประโยชน์ทางธุรกิจจากการมีอำนาจสื่ออยู่ในมือ ทำให้บางครั้งจรรยาบรรณ​ถูกวางเอาไว้เฉยๆ และจำเป็นที่จะต้องลืมๆ มันไปบ้าง เพื่อปากท้องและเรตติ้ง
แต่อย่างที่บอกมันคือความจำเป็น เพราะการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ถูกให้เป็นผิด สิ่งที่ผิดให้เป็นถูกมันไม่ใช่หน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดี ที่เราจะใส่ความเชื่อแบบผิดๆ เหล่านี้ลงไปสู่สาธารณะชน หลายคนกระอักกระอ่วน​ใจที่จะทำ เพราะคำว่าจรรยาบรรณ​มันค้ำคอ แต่สุดท้ายก็ต้องทำเพราะมันคือ "คำสั่งจากนายจ้าง"
1
2. สื่อมวลชนต้องมีความเป็นกลางหรือไม่ และผิดหรือไม่ถ้าสื่อจะเลือกข้าง... ผมบอกแบบนี้แล้วกันว่า ถ้าในระดับบุคคลผมว่าคนทุกคนมีมาตรฐานความเป็นกลางของตัวเอง แต่มาตรฐาน​ความ "กลาง" นั้นก็อยู่ที่แต่ละคนว่าจะวางไว้ตรงไหน สื่อก็คือคน​ มีรัก​ มีเกลียด​ มีชอบ​ มีไม่ชอบ ดังนั้นคนเรามีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ​ ความกลางไม่กลางอยู่ที่เข็มของแต่ละคน
ส่วนในระดับองค์กร​บอกเลยว่า บนโลกนี้ไม่มีสื่อไหนหรอกที่ไม่เลือกข้าง แต่สื่อที่ซ่อนความไม่เป็นกลางและวางตัวได้อย่างเหมาะสมนั่นต่างหากคือ​ "มืออาชีพ" เพราะอย่าลืมว่าสำนักข่าว หรือสื่อส่วนใหญ่ทั้งทีวี​ วิทยุ​ ออนไลน์​มันอยู่ในมือของกลุ่มนายทุน ซึ่งแน่นอนว่าการนำเสนอข่าวอะไรก็จะต้องไม่กระทบต่อตัวผู้สนับสนุน หรือบางครั้งอาจต้อง "อวย" อย่างออกนอกหน้าเสียด้วยซ้ำ เพื่อสร้างความประทับใจต่อเจ้าของเงิน
นายทุนส่วนใหญ่ก็มักมีสายสัมพันธ์​ที่ดีต่อนักการเมือง พรรคการเมือง​ หรือผู้มีอำนาจในประเทศ ซึ่งการที่สื่อไหนจะออกตัวแรงชัดเจนว่าสนับสนุนฝ่ายไหน ฝั่งไหนก็มีให้เห็นชัดเจนอยู่ในตอนนี้ แต่ผมก็เชื่อยังว่ามีหลายสื่อ หลายสำนักข่าวที่ตัวเจ้าของเองหรือกลุ่มทุนก็สนับสนุนฝ่ายการเมืองต่างๆ ก็ยังคงมีมารยาท และคงไว้ซึ่งจรรยาบรรณ​ในการนำเสนอข่าวที่รอบด้านต่อประชาชน แม้จะเสนอข่าวฝั่งที่ตัวเองสนับสนุนมากหน่อยแต่ก็ไม่ละเลยที่จะนำเสนอฝั่งตรงข้ามหรือฝั่งอื่นๆ แบบตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่การใส่ร้ายป้ายสี บิดเบือน หรือนำเสนอเรื่องเท็จเพื่อโจมตีอีกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนได้เป็นผู้ตัดสินใจจากข่าวสารที่ได้รับ ผมมองว่าถ้าเป็นแบบนี้ถือว่ามีความเป็นมืออาชีพเพียงพอ
ในสหรัฐอเมริกาองค์กรสื่อหลายๆ แห่ง ทั้งสื่อเล็กหรือใหญ่ ต่างก็เลือกข้างในการสนับสนุนพรรคการเมือง หรือแม้แต่นักการเมืองแบบออกนอกหน้าได้เช่นกัน หากในช่วงของการเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือการเลือกตั้งทั่วไปในสหรัฐก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า สื่อไหนสนับสนุนพรรคไหน ฝ่ายไหน
CNN คือสื่อที่ออกตัวชัดเจนมาเสมอว่าอยู่ตรงข้ามกับทรัมป์ และสนับสนุนพรรคเดโมแครต​ เป็นกระบอกเสียงให้พรรค​นี้มาตลอด​ ส่วน​ FOX News ก็สนับสนุนรีพับลิกันเสมอ​ เป็นกระบอกเสียงให้พรรคการเมืองนี้อย่างชัดเจนเช่นกัน
แต่ความแตกต่างของสื่อในสหรัฐอเมริกาก็คือ แม้จะมีการสนับสนุนหรือเลือกข้างอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นการโจมตีหรือใส่ร้ายป้ายสีกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยปราศจากมูลความจริง การนำเสนอข่าวของสื่อในสหรัฐอเมริกาที่เลือกข้างเรียบร้อยแล้วนั้น ก็จะเป็นการนำเสนอข่าวในเรื่องของนโยบายพรรคการเมือง การเชียร์​ตัวแทนพรรค หรือการเกาะติดการหาเสียงปราศรัย​เวลาเดินสายพบปะกับผู้สนับสนุนพรรค​ หรือโจมตีเรื่องนโยบายและการทำงานของผู้นำหรือรัฐบาล เป็นต้น
ไม่ว่าความเป็นกลางจะมีจริงหรือไม่ในสังคมของการทำสื่อในยุคปัจจุบัน แต่ความเป็นกลางก็ควรเป็น "อุดมการณ์" ของนักสื่อสารมวลชน สื่อจะเป็นสื่อที่มีความน่าเชื่อถือมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าสามารถเข้าใกล้อุดมการณ์​ได้มากหรือน้อยเช่นกัน แต่จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่สังคมตั้งคำถามการทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบันนั้นก็คงจะมองเห็นแล้วว่า สื่อสามารถที่จะนำเสนอได้อย่างมืออาชีพและแฟร์มากพอที่จะนำเสนอข่าวสารฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่มีการใส่ร้าย หรือสื่อไหนที่เล่นกับความเกลียดชัง และอาจสร้างความบิดเบือนต่อสังคมจนนำไปสู่ความแตกแยก...ซึ่งเราก็คงเห็นอยู่แล้ว
ดังนั้นบรรทัดฐาน​ความกลางมันคือเราเป็นตัวกำหนด ถ้าคอนเทนต์​ที่สื่อๆ​ นั้นนำเสนอแล้วมันดันเข้ากับจริตความชอบของเรา​ เราก็จะมองว่าสื่อนี้เป็นกลางในสายตา​ แต่อาจจะไม่ได้กลางสำหรับคนอื่นก็ได้​ ซึ่งคนเป็นสื่อก็เหมือนกันดังที่ผมเขียนอธิบายยาวเหยียดตั้งแต่ต้นนั่นแหละ
ก็ลองพิจารณา​ดูกันครับว่าเราจะมองหรือตัดสินใจอย่างไรในการเสพข่าวสาร​ แต่สำหรับผมแล้ว​ ผมไม่เคยบอกตัวเองว่ากลาง​นะ​ แต่ผมนำเสนอรอบด้านทุกมุม​ เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุดในการตัดสินใจ ส่วนใครจะตัดสินยังไงก็สุดแท้แต่ละบุคคล​ แต่ผมอยากจะขอว่าก่อนจะเชื่อข้อมูลอะไรต้องเช็คจากหลายๆ​ แหล่งครับ​ มือถือในมือเรามันพาเราไปเจอข้อมูลมากมายบนโลกใบนี้​ง่ายเพียงปลายนิ้ว​ ใช้ประโยชน์จากมันให้คุ้มค่ากับราคาที่ซื้อมา โดยเฉพาะกับการหาความรู้นั่นเอง
"เสรีภาพ" บนความ​ "รับผิดชอบ"
โฆษณา