17 ส.ค. 2020 เวลา 06:51 • กีฬา
คนเดียวไม่ไหว สองคนอาจไม่พอ : จุดกำเนิด "บิ๊กทรี" วงการบาสเกตบอล
“คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนยิ่งสบายเข้าไปใหญ่” เพราะกีฬาบาสเก็ตบอลไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เก่งคนเดียว ถึงจะดีพอเป็นแชมป์ แต่นี่คือกีฬาที่ต้องสู้กันด้วยทีมเวิร์ก และอยู่รอดด้วยความนิยม นำมาซึ่งแนวคิด ทรีโอ ที่ถูกอุบัติในสังเวียนยัดห่วงที่ดีสุดในโลกอย่าง NBA ตั้งแต่ยุค 70’S
อย่างที่ทราบกันดีว่า บาสเกตบอล เป็นกีฬาที่ต้องอาศัยการเล่นร่วมกันของ ผู้เล่นทั้ง 5 ตำแหน่ง ตั้งแต่เซนเตอร์ ยันการ์ดจ่าย
การที่จะเล่นเพียงคนเดียวแบบ “วันแมนโชว์” แล้วจะพาทีมได้แชมป์นั้นมันเป็นเรื่องยาก ต่อให้คนๆนั้นจะเป็นนักบาสเกตบอลที่เก่งสุดตลอดกาลอย่าง “ไมเคิล จอร์แดน” ก็ไม่อาจพา ชิคาโก้ บูลส์ คว้าแชมป์ได้ด้วยตัวคนเดียว ตราบใดที่ บาสเกตบอล ยังเป็นกีฬาที่มีคำว่า “ทีม” นำหน้าอยู่ดี
ย้อนไปในศตวรรษ 1970 บรรดาสโมสรต่างๆ ในลีก NBA ต่างประสบปัญหาใหญ่ในการเทรดผู้เล่นเก่งๆนั้น ทำได้ยากมาก เพราะเหล่าผู้เล่นกำลังหลักของแต่ละทีม ไม่นิยมที่จะย้ายไปเล่นให้สังกัดอื่นๆ เนื่องจากมีความผูกพัน และแฟนคลับของทีม
การย้ายทีมของ ผู้เล่นฝีมือดีคนหนึ่ง ในยุคนั้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก จนแทบจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของพวกเขาเลยก็ว่าได้ เพราะในอดีตเมื่อนานมาแล้ว บาสเกตบอล ยังเป็นกีฬาที่พึ่งผู้เล่นดาวเด่นแบกทีม หรืออย่างมากสุดก็ ดูโอ้ สองคนเท่านั้น
ดังจะเห็นได้ว่า เหล่าตำนานในอดีต อาทิ วิล เชมเบอร์เลน บุรุษ 100 แต้ม ที่อยู่โยงกับทีมอย่าง ฟิลาเดลเฟีย วอร์ริเออร์ส (ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ซานฟรานซิสโก และ โกลเด้นสเตท ในเวลาต่อมา) อยู่กับทีมเกือบ 10 ปี กว่าจะมีการย้ายสังกัด หรืออย่าง บิล รัสเซล ที่เป็นเครื่องหมายของ บอสตัน เซลติกส์
แต่เมื่อบาสเกตบอลนั้นเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น มีแฟนๆ เข้าชมมากขึ้น บรรดาสโมสรต่างๆใน NBA ก็เริ่มมองหาแนวทางใหม่ๆ ที่สร้างสตาร์มาประดับทีมตัวเองมากกว่า 1 คน เพื่อดึงดูดแฟนคลับ ให้ติดตามไปนานๆ และแนวคิดในสร้างตำนาน บิ๊กทรี ก็เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่วินาทีนั้น…
จุดกำเนิด ‘บิ๊กทรี’
ในปี 1978 เซลติกส์ จัดการดราฟท์เอา แลร์รี่ เบิร์ด มาในอันดับที่ 6 ด้วยความคาดหวังว่าหนุ่มน้อยผิวขาวคนนี้ จะช่วยสานต่อประวัติศาสตร์ทีมให้ยิ่งใหญ่ต่อไป
Photo : NBA.com
ถึงแม้ว่า เบิร์ด นั้นจะเก่งกาจเพียงใดก็ตาม แต่เจ้าตัวก็ยังไม่สามารถพาทีมพุ่งชนกับความสำเร็จได้สักที ในช่วง 2 ปีแรก ในเวลานั้น เรด เออแบช ประธานสโมสรของเซลติกส์ จึงได้ตัดสินใจทำสิ่งหนึ่ง เพื่อทำให้เซลติกส์ กลับมาเป็นยอดทีมของวงการอีกครั้ง
เพราะเมื่อเหลือบสายตามองไปยังคู่แข่งของเซลติกส์ อย่าง ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส พวกเขากลับเป็นทีมที่ทรงเสน่ห์ ด้วยคู่หูดูโอ คารีม อับอุล จาบาร์ กับ แมจิค จอห์นสัน ที่นอกจากช่วยให้ เลเกอร์ส เข้าวินในสนามแล้ว ทั้งคู่ยังเรียกพ่อยก แม่ยก ให้กับทีมได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย
สิ่งที่ เออแบช ทำเป็นอย่างแรก คือการดราฟท์เอา “เควิน แมคเฮล” ฟอร์เวิร์ดตาหวานจากมหาวิทยาลัยมินนิโซต้าเข้ามาในปี 1980 และยิ่งทำให้สื่อตกใจเข้าไปใหญ่ ด้วยการเทรดดึงตัวเซนเตอร์จอมป้องกัน “โรเบิร์ต แพริช” จากทีมวอริเออร์สเข้ามาอีกด้วย นับเป็นดีลที่รันวงการของแท้ มาตั้งแต่ปลายยุค 70’s
Photo : NBA.com
“เมื่อมองย้อนไป ผมว่ามันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากๆ เรามีวงในที่แข็งแกร่งสุดๆ” เบิร์ดกล่าวถึงการรวมพลังที่มีเด็กปั้น และยอดเซนเตอร์ที่เข้ามาเสริมทีมภายหลัง
เซลติกส์ จากแต่เดิมมีแค่ เบิร์ด พอได้ แมคเฮล กับ แพริช เข้ามาประสานงาน ก็ผงาดขึ้นมาเป็น ทีมตัวท็อปของลีกไปเลย และถือเป็นการฟื้นยุคบิ๊กทรี รุ่นออริจินัลในยุค 1960 ที่พวกเขาเคยมี บิล รัสเซล, บ๊อบ คูซี่ และ ทอม เฮนซอน ลงเล่นด้วยกัน พร้อมกับกวาดความสำเร็จแบบไร้คู่แข่ง
Photo : NBA.com
บิ๊กทรีของ เซลติกส์ สร้างแรงสั่นสะเทือนวงการ NBA เป็นอย่างมาก รวมถึงยังทำให้ยอดแฟนคลับของเซลติกส์ เพิ่มขึ้นอีกมากโข
ไอเดียบิ๊กทรีสุดเฟอร์เพคนี่ ก็ดันไปเข้าตาโดนใจ เจอรี่ บัสส์ ประธานทีมเลเกอร์สที่เริ่มมองหาผู้เล่นมือดี 1 อีกราย มาผนึกกับดูโอนรกแตก คารีม แอนด์ แมจิค
เลเกอร์ส ตัดสินใจ ดราฟท์ดาวรุ่งจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลน่า นามว่า เจมส์ เวอร์ตี้ เข้ามาสู่ทีมในฐานะดราฟท์เบอร์แรกของปี 1982 ก่อนจะใช้เวลาค่อยๆ ปลุกปั้นจนบิ๊กทรีของเลเกอร์ส ที่มีทั้ง เวอร์ตี้, คารีม และเมจิค แข็งแกร่งทั่วแผ่น และเรียกมันว่า “โชว์ไทม์” เพื่อเอามาประชันกับบิ๊กทรีของเซลติกส์
ผลพวงจากการสร้างและปั้นบิ๊กทรีของสองยักษ์ใหญ่อย่าง เซลติกส์ และ เลเกอร์ส ได้พิสูจน์ให้ NBA เห็นแล้วว่า บาสเกตบอล มันไปได้ไกลกว่าคำว่า กีฬา เพราะด้วยความเอนเตอร์เทนนี่เอง ได้ทำให้ฐานแฟนๆ มีมากขึ้น รวมถึงเรทติ้งขายดีเทน้ำเททา
แถมยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า ผู้เล่นสตาร์ 3 คน ก็สามารถเล่นร่วมกันได้อย่างยอดเยี่ยม แล้วยังทำให้ทีมประสบความสำเร็จอีกด้วย เซลติกส์ได้แชมป์ไป 3 ครั้ง ส่วนเลเกอร์สคว้าไปถึง 5 ครั้ง กลายส่วนผสมของความสำเร็จ ที่ไปกระตุ้นให้ทีมอื่นๆ ในลีก คิดทำตาม
ความสำเร็จที่ต้องเลียนแบบ
ถัดมาในยุค 80’s หลายทีม เริ่มหันมาสนใจแนวคิดการสร้างบิ๊กทรี เพื่อให้ทีมปังเหมือนกับเซลติกส์และเลเกอร์ส
Photo : img2018cool.pw
อาทิ ดีทรอยท์ พิสตันส์ ที่มี ไอเซย์ โทมัส, โจ ดูมาร์ และ บิล แลมเบียร์ (ก่อนเติม เดนนิส ร็อดแมน เข้ามาอีกราย) ก็นับเป็นอีกสูตรสำเร็จที่ปลุกปั้นผู้เล่นในทีมให้เก่งขึ้น จนถูกขนานนามว่า บิ๊กทรีแห่งสายตะวันออก ผลที่ตามมาก็คือ พิสตันส์ ได้แชมป์ 2 สมัย
แต่สูตรสำเร็จของการรวมผู้เล่นระดับสตาร์ให้ได้ 3 คน แต่ละทีมก็มีแนวทางไม่เหมือนกัน บางทีเริ่มปั้นกันมาตั้งแต่เป็นวุ้น บางทีก็หาเทรดผู้เล่นตัวเก่งจากทีมอื่น บางทีก็ไปหยิบดราฟท์ฝีมือดีมาเติมเต็ม
ช่วงระหว่างยุค 80s มาถึงยุค 90s นั้น การสร้างบิ๊กทรี ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ การดราฟท์เด็กหนุ่มวัยกลัดมันขึ้นมาปลุกปั้น เพื่อรอวันให้พวกเขาเติบโตจนกลายเป็น กำลังหลักของทีมที่ใช้งานได้จริง
ยกตัวอย่าง ชิคาโก้ บูลส์ ในยุคที่ ไมเคิล จอร์แดน ยังคงสวมวิญญาณเดอะ แบก ฉายเดี่ยวอยู่นั้น ทีม ชิคาโก ยังไม่เคยสัมผัสกับความสำเร็จเสียที แม้ว่า พี่ไมค์ของเรา จะทำได้เกิน 30 แต้มแทบทุกเกมแล้วก็ตาม
กระทั่งพวกเขาเห็น บิ๊กทรีของ เซลติกส์ และ เลเกอร์ส ดังระเบิดเถิดเทิง บลูส์ จึงหันมาปั้นผู้เล่นอีก 2 คน อย่าง สก๊อตตี้ พิพเพ่น และ ฮอเรซ แกรนท์ เข้ามาเขี่ยวเข็ญ จนในที่สุด สามประสานของ บลูส์ ก็ได้รับการขนานนามว่า “บิ๊กทรีช่วงแรกของยุค 90”
การเลือกที่จะปั้นผู้เล่น แม้ว่าจะใช้เวลานานแต่มันก็คุ้มค่า เพราะหลังจากทีมปั้นเอา พิพเพ่น และ แกรนท์ มาปั้นอยู่ 3 ปี บูลส์ ก็ผงาดคว้าแชมป์ NBA ได้ 3 ครั้งติดต่อกันเป็นหนแรกในประวัติศาสาตร์สโมสร จนเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ว่า “บิ๊กทรี” ไม่ได้มีดีแค่เพียงแง่ของการตลาด แต่เป็นไอเดียที่ช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จแบบจับต้องได้จริงๆ
ส่วนผสมของ บิ๊กทรี นั้นสามารถทำได้หลากหลายกระบวนท่า ขึ้นอยู่กับว่า สโมสรเหล่านั้น ต้องการจะปั้นให้ไปเป็นในรูปแบบไหน
อีกหนึ่งบิ๊กทรีที่เป็นจุดเริ่มของการเอาผู้เล่นระดับเทพมารวมกัน ก็ยังคงเป็น ชิคาโก บลูส์ เจ้าเก่าที่คราวนี้ดึง เดนนิส ร็อดแมน มาผนึกกับ จอร์แดน และ พิพเพ่น จนรวมร่างเป็น 3 ทหารเสือแห่งบูลส์ ช่วงกลางยุค 1990
Photo : The Mercury News
จริงอยู่ที่ จอร์แดน กับ พิพเพ่น เข้าขากันได้ดี ส่วนหนึ่งนั้นเพราะทั้งสองคนต่างเป็นศิษย์สำนักเดียวกันที่ถูกฝึกวิชามาจาก ชิคาโก บลูส์
แต่ในรายของ ร็อดแมน นั้น นอกจากจะไม่ใช่คนในสถาบันเดียวกันแล้ว ยังเรียกได้ว่าเป็น โจทก์เก่าของนักบาสฯ ทีมบลูส์แบบยกทีม ตั้งแต่สมัยที่เจ้าตัวยังซ่าตามสไตล์อยู่กับ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส จนถูกต้นสังกัดปล่อยตัว ราชารีบาวด์เจ้าปัญหารายนี้พ้นทีม ภายหลังประสบอุบัติเหตุจากการขับควบบิ๊กไบค์ไปจูบถนน
ประกอบกับนิสัยส่วนตัวที่ไม่น่ารักเอาเสียเลย ทำให้ ร็อดแมน กลายเป็นที่ผู้เล่นหลายทีมมองข้ามความสามารถเขา ก่อนจะได้ บลูส์ มารับช่องทาง แม้ในช่วงแรกทั้ง จอร์แดน และ พิพเพ่น จะไม่ค่อยยอมรับการตัดสินใจที่ทีมไปคว้าตัวอริเก่าอย่าง ร็อดแมน มาร่วมทีมก็ตาม
แต่ ฟิล แจ๊คสัน โค้ชของบูลส์ขณะนั้น ก็เข้ามาเป็นกาวใจให้ ร็อดแมน เข้าไปปรับความเข้าใจกับ จอร์แดน และ พิพเพน โดยเริ่มจากการแบ่งหน้าที่การเล่นให้ชัดเจนไปเลย จอร์แดนทำแต้ม พิพเพ่นทำเกม ร๊อดแมนรีบาวด์
จนสุดท้ายของ บิ๊กทรีเวอร์ชั่นสวรรค์เบี่ยงชุดนี้ ก็ทำให้บูลส์ คว้าแชมป์ 3 สมัยรวด กลายเป็นหนึ่งในบิ๊กทรีในตำนานของลีกไปโดยปริยาย
สูตรสำเร็จที่แตกต่าง
การสร้างบิ๊กทรีที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่เอานักบาสฯ เก่งๆมายัดรวมกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดนั้น อีกเรื่องคือ ความเข้าใจกันระหว่างผู้เล่นและทีม
ถ้า บิ๊กทรีของบลูส์ คือตัวแทนของ ส่วนผสมที่เน้นจุดเด่นและจุดขาย บิ๊กทรีของ สเปอร์ส ในยุค 2000 ก็น่าจะเป็นตัวแทนของคำว่า “ความเป็นหนึ่งเดียว”
ทิม ดันแคน, โทนี่ พาร์คเกอร์ และ มานู จิโนบิลี่ คือ 3 ผู้เล่นเด็กสร้างของสเปอร์ส ที่มาจาก 3 ชาติ และคงไม่มีใครคิดว่า พวกเขาจะกลายเป็นตำนานที่ว่ากันว่าเป็นบิ๊กทรีที่ผูกพันกันยาวนานที่สุด
Photo : CBC.ca
ย้อนไปเมื่อปี 1997 เกร็ก โปโปวิช บรมกุนซือของสเปอร์ส ได้บอกกับสื่อถึงเหตุผลในการดราฟท์เอา ทิม ดันแคน ฟอร์เวิร์ดจากมหาวิทยาลัยเวค ฟอเรสต์ เข้ามาร่วมทีมว่า “เด็กคนนี้จะเข้ามาเป็นตัวหลักของทีม เขาจะเป็นผู้เล่นระดับตำนานของลีกและทีมเรา”
คำพูดของโค้ชป๊อป ไม่ผิดเลยแม้แต่พยางค์เดียว เพราะเพียงแค่ปีที่ 2 ดันแคน ก็ช่วยให้ทีมคว้าแชมป์มาครองได้ในสมัยที่เจ้าตัวยังเป็น “หอคอยคู่” กับ เดวิด โรบินสัน
ต่อมาทีมได้มีการดราฟท์เอา มานู จิโนบิลี ในรอบที่ 2 ปี 1999 ตัวเลือกที่ 57 (แต่กว่าที่จะเซ็นสัญญาและเล่นกับทีมก็ต้องรอถึงปี 2002) และโทนี่ พาร์คเกอร์ ในรอบแรกตัวเลือกที่ 28 ปี 2002 ไม่มีใครคาดคิดว่าสองผู้เล่นที่มาจากการดราฟท์ จะกลายมาเป็นตัวหลักของทีม และตำนานของลีก
ดันแคน, มานู และ พาร์คเกอร์ ดูท่าทางจะเป็น ส่วนผสม ที่ไม่น่าจะไปรอดในสายตาของสื่อ แต่คำพูดเหล่านั้น แทบไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นของ โค้ชป๊อป เลยสักนิด “เราจะเติมช่องว่างที่ขาดไปของเดวิด (โรบินสัน) ผมเชื่อว่าทั้งโทนี่และมานูจะช่วยเราได้” โค้ชป๊อปกล่าวถึงการสร้างทรีโอยุคใหม่ของทีมขึ้นมา
โค้ชป๊อป มีปรัชญาง่ายๆ ในการสร้างบิ๊กทรี แบบง่ายดายที่สุดนั่นคือ การทำให้ทั้งสามคนรู้สึกว่าตัวเองต่างเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เขาพยายามทำให้ทุกคนในทีม มีความรักกลมเกลียวประดุจญาติมิตรพี่น้อง
ความสัมพันธ์ของ สามโทนแห่งสเปอร์สนั้น แนบแน่น ชนิดที่ว่า เมื่อครั้งที่ โทนี่ พาร์คเกอร์ คบหากับ อีวา ลองโกเลีย ดาราสาวสวยของฮอลีวู้ด เขาก็ต้องพาเธอไปไหนมาไหนกับเพื่อนๆ ภายในทีมอยู่เสมอ จนอีวารู้สึกว่าตนเองในตอนนั้น เหมือนเป็นส่วนเกินของทีม เพราะดู โทนี่ มีความสนิทกับทุกๆ คนภายในทีมสเปอร์สมากๆ
สามเพื่อนซี้ดันแคน, มานู และพาร์คเกอร์ เล่นร่วมกันตั้งแต่่ปี 2002 ลากยาวไปจนปี 2016 แม้ว่าในช่วงแรกนั้น พวกเขาอาจจะไม่ได้สมบูรณ์สักเท่าไหร่ สุดท้ายบิ๊กทรีชุดนี้ ก็กอดคอพา สเปอร์ส กวาดไป 4 แชมป์ และชนะรวมกันมากกว่า 1,000 เกม
การเล่นร่วมกันตลอดระยะเวลา 15 ปีของบิ๊กทรีสเปอร์สนั้นเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า ในยุคที่มีธุรกิจเข้ามาใน NBA เหตุใดทีมจึงสามารถที่จะรักษาทั้ง 3 คนนี้ เอาไว้ด้วยกันตลอดได้
เรื่องนี้ โค้ชป๊อป ได้กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมรักทุกคนเหมือนลูก เหมือนคนในครอบครัว พวกเขาเป็นเพื่อนรักกัน ที่เหลือก็แค่ออกไปทำงานในแต่ละคืนให้ดีเท่านั้น”
ด้วยคำกล่าวนี้ บวกกับการปฏิบัติของ โค้ชป๊อป ทำให้ทุกคนรู้สึกว่า สเปอร์สคือครอบครัวจริงๆ ไม่ใช่แค่คำพูดที่สวยหรูอย่างเดียว
ยกตัวอย่าง ทิม ดันแคน ช่วงที่เข้ามาอยู่ในลีกใหม่ๆ โค้ชป๊อป แนะนำให้เขาพยายามอยู่กับสื่อให้น้อยที่สุด แล้วใช้เวลาอยู่กับทีมให้มากขึ้น รวมถึงยังดูแลเอาใจใส่เรื่องอาหารการกิน การใช้ชีวิตประจำวันของ ดันแคน ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อย
ส่วน มานูและพาร์คเกอร์ ที่เป็นชาวต่างชาติ ป๊อปมักจะเข้าไปพูดคุย และกินข้าวด้วยกัน หลังการฝึกซ้อมอยู่ตลอด รวมถึง คอยช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่บาสเกตบอลด้วย
การปฏิบัติในลักษณะนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้บิ๊กทรีทั้งสามหนุ่มอยู่ด้วยกันอย่างยาวนานจนถึงตอนแก่ และช่วยทีมกวาดความสำเร็จมาได้อย่างมากมาย จนสื่อหลายสื่อยกย่องว่า “นี่คือบิ๊กทรีที่ผูกพันและประสบความสำเร็จมากที่สุด”
ดันแคนได้บอกถึงสาเหตุที่เขาไม่ได้ไปไหน และอยู่กับมานูและพาร์คเกอร์ตลอดหลายสิบปี ว่า “มันไม่มีอะไรมาก แค่ผมอยู่ที่นี่กับเพื่อนๆ แล้วมันสบายใจ”
ความสำเร็จที่รอไม่ได้
โมเดลบิ๊กทรีในปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก เพราะมีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีความสำเร็จเข้ามาเป็นเส้นชัย
ดังนั้น การประสบความสำเร็จให้เร็วขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ทีมและผู้เล่นมองหา ประกอบกับ การเทรดก็ไม่ได้ยากเหมือนในอดีตที่ผู้เล่นไม่ค่อยย้ายออกจากทีม
เช่นเดียวกับ สปอนเซอร์ ที่ให้ราคากับความสำเร็จมากขึ้นด้วย ทำให้บิ๊กทรีในปัจจุบัน จึงเป็นรูปแบบการรวมตัวกันแบบที่ถูกใจและขัดใจใครหลายคน แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องผิด หากทีมที่ต้องการความสำเร็จ จะไม่รอเวลาปลุกปั้นดาวดวงใหม่
การรวมตัวที่สร้างปรากฏการณ์อีกครั้งหนึ่งคือ บิ๊กทรี ของ ไมอามี่ ฮีต ที่มีการรวมตัวกันแบบช็อกโลก เลบรอน เจมส์ ย้ายจาก คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ทีมบ้านเกิด และ คริส บอช ออกจาก โตรอนโต้ แร็พเตอร์ ทีมที่เขาเป็นตัวหลัก
Photo : atlantablackstar.com
ทั้งสองเข้ามาสู่ไมอามี่ ฮีต ที่มี ดเวย์น เหวด เป็นกำลังหลักของทีมอยู่แล้ว แถมยังยอมลดค่าเหนื่อยตนเองลงไปเพื่อไม่ให้เกินเพดานเงินเดือนด้วย
การรวมตัว 3 มหาเทพครั้งนี้ ช่วยให้ฮีตได้แชมป์ถึง 2 ครั้ง และเป็นทรีโอที่ได้รับความนิยมมาก เพราะพวกเขาทั้งสามคน ต่างเป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ ซึ่งมันเป็นสถานการณ์ที่วิน-วิน ทั้งผู้เล่น สโมสร และสปอนเซอร์ที่เข้ามา
นอกจากนี้ในปัจจุบัน ยังมีบิ๊กทรี ที่ได้รับความนิยม ต่อจากยุคของฮีต ก็คือ บิ๊กทรีของวอริเออร์ส์ ที่มี สตีเฟ่น เคอร์รี่, เคลย์ ธอมป์สัน และ เควิน ดูแรนท์ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบิ๊กทรีที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก รวมถึงได้รับความนิยม ตลอดจนความหมั่นไส้ จากแฟนๆ มากเช่นเดียวกัน
Photo : yardbarker.com
ไม่ว่าบิ๊กทรีจะเป็นการดราฟท์ผู้เล่นมาปั้นจนเก่ง หรือจะเป็นการเทรดดาวดังมาเติมเต็มขุมกำลัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านั้นที่ทำลงไป ล้วนเป็นทำทีมเพื่อให้สโมสรเดินต่อไปได้
เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า บาสเกตบอลไม่ใช่กีฬาที่เล่นคนเดียวแล้วจะพาทีมคว้าชัยชนะได้ มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง การมีบิ๊กทรี ก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในแนวคิดทางเลือกเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นการการันตีว่ามันจะประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซนต์
มีตัวอย่างความล้มเหลวของ บิ๊กทรี ทั้งในอดีตและปัจจุบันมานักต่อนักแล้ว ไม่ว่าจะเป็น วอริเออร์ส (คริส มัลลิน/มิทช์ ริชมอนด์/ทิม ฮาร์ดอเวย์), อินเดียน่า เพเซอร์ส (เรจจี้ มิลเลอร์/ริค สมิธท์/มาร์ค แจ็คสัน), ซีแอตเทิ่ล ซูเปอร์โซนิคส์ (ฌอน เคมป์/แกรี่ เพย์ตัน/เดเลฟ เชรมป์)
หรือในยุคปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเลยอย่าง โอกลาโฮม่าซิตี้ ธันเดอร์ (คาร์เมโล่ แอนโธนี่/รัสเซล เวสบรูค/พอล จอร์จ), นิวออร์ลีนส์ เพลิแกนส์ (ราจอน รอนโด/เดอมาร์คัส คัสซิ่นส์/แอนโธนี่ เดวิส)
แต่ไม่ว่าจะยังไง การรวมตัวกัน เพื่อให้เกิดบิ๊กทรีของสโมสร แม้สุดท้ายผลที่ออกมา จะมี ประสบความสำเร็จ หรือไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่า...ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงๆ จากแนวคิดบิ๊กทรีของบรรดาสโมสรต่างๆ ก็คือตัว NBA ลีก นั่นเอง
บทความโดย วัชรินทร์​ จัตุชัย
โฆษณา