Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
น
นานปีจึงมีเรื่องเล่า
•
ติดตาม
17 ส.ค. 2020 เวลา 09:33 • ท่องเที่ยว
อยุธยา วันเดียวก็เที่ยวได้ (ฉบับไม่มีรถ)
การเดินทางของลูกสาวตระกูลหวัง
ออกเดินทางโดยรถไฟ จากสถานีหัวลำโพง ซึ่งมีหลายขบวนให้เลือกมากๆ แต่ครั้งนี้เลือกไปรอบเช้า เวลา 06:40 น. เนื่องจากคนน้อย และอากาศไม่ร้อนนั่นเอง
สถานีรถไฟหัวลำโพง
ใช้ระยะเวลาถึงอยุธยาไม่เกิน 2 ชม. หลังถึงสถานีรถไฟอยุธยาแล้ว ทำการเช่ารถจักรยานยนต์ พร้อมตะลุยไหว้พระตามเส้นทาง ดังนี้
สถานีรถไฟอยุธยา
1. วัดมหาธาตุ : สิ่งที่โดดเด่น คือ เศียรพระพุทธรูปกว่าร้อยปีในรากไม้
วัดมหาธาตุ
2. วัดราชบูรณะ : โด่งดังมากในเรื่องการขุดพบเครื่องทองมากมายในกรุพระปรางค์ใหญ่และยังสามารถลงไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้นภายในกรุได้อีกด้วย
วัดราชบูรณะ
3. วัดธรรมิกราช : เดิมชื่อ “วัดมุขราช” มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ เศียรพระธรรมิกราช ซึ่งนับเป็นเศียรพระพุทธรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย
วัดธรรมิกราช
4. วัดพระงาม : วัดแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานในเอกสารว่าสถาปนาขึ้นในปีใด แต่มีปรากฏในโคลงบทที่ 23 ของนิราศนครสวรรค์ ซึ่งเชื่อว่าแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้เอ่ยถึงวัดแห่งนี้ จึงสรุปได้ว่าวัดแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นและถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สิ่งที่โดดเด่น คือ ซุ้มประตูโบราณที่ถูกโอบล้อมด้วยต้นโพธิ์ จนได้รับขนานนานว่า “ประตูแห่งกาลเวลา”
วัดพระงาม
5. วัดพระหน้าเมรุ : มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชการาม” ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด แต่เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก
วัดพระหน้าเมรุ
6. วัดเชิงท่า : มีชื่อเรียกมากมาย ทั้งวัดตีนท่า วัดติณ วัดคลัง หรือวัดโกษาวาสน์ ทั้งยังมีตำนานที่กล่าวถึงหลายตำนานด้วยกัน เช่น ตำนานว่ามีเศรษฐีสร้างเรือนหอให้บุตรสาวซึ่งหนีตามชายคนรักไปแล้วไม่ย้อนกลับ จึงถวายเรือนหอแก่วัด ชื่อว่า วัดคอยท่า โดยตำนานเล่าสืบกันมานี้ หลวงจักรปาณีได้นำมาประพันธ์ไว้ในนิราศทวารวดี เป็นต้น
วัดเชิงท่า
7. วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวิหารมงคลบพิตร :
• วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสำคัญสูงสุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีฐานะเป็นวัดประจำพระราชวังและวัดส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ในอดีตวัดแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญมากมาย (แต่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา) รวมถึงพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และเป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์บางพระองค์อีกด้วย ภายในวัดจะมีเจดีย์ทรงลังกาสามองค์ที่วางตัวเรียงยาวตลอดทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยเจดีย์ทางด้านทิศตะวันออก สร้างโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในปี พ.ศ. 2035 บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชบิดา, เจดีย์องค์กลาง สร้างโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในปี พ.ศ. 2035 เช่นกัน เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา และดีย์ทางด้านทิศตะวันตก สร้างโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร) บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
• วิหารมงคลบพิตร ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เป็นสถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อมงคลบพิตร ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพระนครศรีอยุธยา
วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวิหารมงคลบพิตร
8. วัดพระราม : เป็นวัดที่ใหญ่โตกว้างขวาง มีพระปรางค์ขนาดใหญ่เห็นเด่นชัดแต่ไกล
9. วัดไชยวัฒนาราม : สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าปราสาททอง มีชื่อเดิมว่า “วัดชัยวัฒนาราม” ซึ่งสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือกรุงละแวก (พนมเปญ) เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าปราสาททอง ทั้งยังเคยใช้จัดพิธีถวายพระเพลิงศพในพระมหากษัตริย์เกือบทุกพระองค์ของอยุธยา รวมไปถึงเป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลาย กับเจ้าฟ้าสังวาลย์
วัดไชยวัฒนาราม
10. วัดพนัญเชิงวรวิหาร : วัดที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจีนเสื่อมใส เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปไตรรัตนายก (หลวงพ่อโต หรือซำปอกง) ทั้งยังแทรกโศกนาฏกรรมตำนานรักตามพงศาวดารเหนือ ระบุว่า ผู้สร้างวัดพนัญเชิง คือ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง โดยในยุคแรกนั้น ชื่อของวัดแห่งนี้คือ “วัดพระนางเชิง” ซึ่งมีที่มาจากตำนานเล่าขานว่าพระนางสร้อยดอกหมาก พระราชธิดาบุญธรรมในพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งเดินทางมาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ได้เสียชีวิตลง และมีการจัดพระราชพิธีศพขึ้นที่บริเวณที่ตั้งของวัดพนัญเชิง ซึ่งปัจจุบัน ภายในวัดยังมีตำหนักเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก สถานที่ซึ่งประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก หรือ ชาวจีนเรียกว่า “จู๊แซเนี้ย”
วัดพนัญเชิงวรวิหาร
11. วัดใหญ่ชัยมงคล : เดิมชื่อ " วัดป่าแก้ว " เป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดดเด่นด้วยเจดีย์องค์ใหญ่ที่สูงที่สุดในอยุธยา
วัดใหญ่ชัยมงคล
สิ้นสุดการเดินทางใน 1 วัน ถึงสถานีรถไฟหัวลำโพงโดยสวัสดิภาพ
ค่าใช้จ่าย
1. ค่าตั๋วรถไฟ ไป-กลับ 40 บาท (เที่ยวละ 20 บาท เป็นตั๋วรถไฟขบวนด่วน มีการระบุที่นั่งเรียบร้อยแล้ว)
2. ค่าเช่าจักรยานยนต์ 150 บาท/วัน
3. ค่าเข้าวัดแบบเหมา 40 บาท
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย