17 ส.ค. 2020 เวลา 17:56 • การเมือง
ขอสนทนากับผู้นิยมกษัตริย์ฉันท์มิตร ในเรื่องท่าทีและข้อเสนอของนักศึกษา
กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช
ผมทราบดีว่าพวกท่านน่าจะรู้สึกไม่สบายใจทั้งจากข้อเสนอและท่าทีของน้องๆ นักศึกษา โดยเฉพาะจากม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทนที่ผ่านมา ซึ่งผมเองซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับม็อบน้องๆ เขา มีแต่เพียงใจที่ช่วยสนับสนุน จึงอยากขอถือโอกาสสนทนากับพวกท่านน่ะครับ เพราะคิดว่าในเวลานี้ บทสนทนานี้มีความจำเป็นแล้ว และผมจะพยายามพูดคุยอย่างฉันทมิตรที่สุด ว่ากันตามหลักการและเหตุผลที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากท่านคิดว่าผมอภิปรายสิ่งใดผิดไป ก็ได้โปรดแย้งได้ตามที่เห็นสมควรเลยครับ
ผมคิดว่าส่วนที่ “กระทบกระเทือนจิตใจ” พวกท่านที่สุดในการชุมนุมดังกล่าวนั้น คือ 2 ส่วนหลักๆ ส่วนหนึ่งคือส่วนข้อเสนอ 10 ข้อ (ซึ่งเดี๋ยวผมจะพูดถึงโดยละเอียดต่อไป) กับอีกส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะมากเสียยิ่งกว่า นั่นก็คือ การฉายภาพของ อ.ปวิน และ อ.สมศักดิ์ ในกรอบทอง พร้อมข้อความล้อเลียนคำว่าถวายพระพร เท่าที่ผมสังเกตดู หลายท่านมองว่าส่วนนี้คือการกระทำที่มิบังควรเป็นอย่างมาก ผมจึงอยากขอเริ่มต้นการสนทนาด้วยจุดนี้ครับ
โดยเบื้องต้นแล้ว อำนาจของสถาบันหรือองค์กรทางการเมืองใดๆ รวมถึงสถาบันพระมหากษัติย์ด้วยนั้น อาจจะพอแบ่งบทบาทได้เป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ บทบาทในทางกฎหมาย, บทบาทในทางการเมืองและเศรษฐกิจ, และบทบาทในทางสังคมวัฒนธรรม
ในส่วนของบทบาททางกฏหมาย และการเมืองเศรษฐกิจนั้นผมขอยกไว้พูดถึงในส่วนของการอภิปรายข้อเสนอ 10 ข้อนะครับ เพราะข้อเสนอ 10 ข้อนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับ 2 ส่วนนี้ ในกรณีส่วนของวิดีโอคลิปส่วนเจ้าปัญหานี้เอง ผมคิดว่าโดยหลักแล้วเป็นเรื่องของการปะทะกันในมุมมองด้านสังคมวัฒนธรรมเป็นหลัก
โดยปกติเวลาที่เราพูดถึงอำนาจในทางวัฒนธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสากลโลกแล้ว เราแทบจะพูดได้ว่าเป็น “อำนาจลักษณะเดียว” ในทางปฏิบัติที่สถาบันพระมหากษัตริย์ “ได้รับอนุญาตให้มีได้” ภายใต้หลักการของระบอบประชาธิปไตยครับ ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, สแกนดิเนเวีย, สเปน, ฯลฯ กล่าวคือ เป็นสัญลักษณะในฐานะประมุขของรัฐอีกทีหนึ่ง และในทางหนึ่งก็ถูกใช้เป็นเครื่องแทนอัตลักษณ์บางส่วนของรัฐนั้นๆ ได้ อย่างการปรากฏรูปอยู่บนธนบัตรบ้าง การเป็นตัวแทนในเชิงภาพลักษณ์วัฒนธรรมต่างๆ เวลาที่แสดงภาพสัญลักษณ์แทนตัวรัฐนั้นๆ อย่างกรณีของพระราชินีของสหราชอาณาจักรเอง ก็ถูกใช้งานในลักษณะดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง “ทั้งในแบบทางการ และไม่เป็นทางการ” เช่น การอยู่ในวัฒนธรรมป็อป อย่างการ์ตูน เป็นต้น
ทีนี้ หากสภาพตามหลักการอันพึงจะเป็นในทางวัฒนธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเช่นนี้ ผมคิดว่าคำถามแรกที่พวกท่านต้องหวนกลับมาย้อนถามตัวเองก็คือ “หากการนำสัญญะต่างๆ ที่บ่งถึงตัวสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ได้ คือ เรื่องปกติในทางหลักการ แล้วทำไมพวกเราจึงรู้สึกโกรธ รู้สึกว่ารับไม่ได้เล่า?”
หากย้อนกลับมาคิดแบบแยกองค์ประกอบดีๆ เราจะพบได้เลยว่า ไม่เคยมีข้อห้ามทางกฎหมายที่ห้ามมิให้เราใช้กรอบรูปสีทองในลักษณะนั้น ไม่เคยมีความผิดอย่างเป็นทางการใดๆ กับใช้ตัวอักษรลักษณะแบบนั้น หรือกระทั่งการเขียนข้อความที่มีเนื้อความแบบนั้น เมื่อมันไม่ใช่ความผิดอะไรในทางกฎหมาย นี่จึงเป็นเรื่องสำนึกเชิงคุณค่าในทางวัฒนธรรมล้วนๆ
แต่นั่นแหละครับ เมื่อหลักการในเรื่องบทบาทเชิงวัฒนธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางสากลเอง ก็อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเพียงใด อะไรกันที่ทำให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกว่าการกระทำที่เป็นค่ามาตรฐานทั่วไปในทางวัฒนธรรมนี้เป็นเรื่อง "ล้ำเส้น" นั่นแปลว่า “เส้นในทางวัฒนธรรมของไทยนั้นมีปัญหา” ครับ แปลว่าเรานั้นอนุญาตให้ปริมณฑลทางอิทธิพล (Sphere of Influence) ด้านวัฒนธรรมของสถาบันการเมืองนั้นๆ ล้ำเส้นเข้ามาทำลายหลักการมาตราฐานสากลอย่างล้นเกินแล้วต่างหาก และต้องเกิดขึ้นอย่างยาวนาน จนกลายเป็นความคุ้นชินแล้วด้วย เราจึงกลับกลายไปรู้สึกว่า “ความผิดปกตินี้คือความปกติ”
ว่าอีกแบบให้ชัดเจนขึ้นก็คือ ไม่ใช่ภาพฉายของม็อบธรรมศาสตร์ไม่ทนหรอกครับที่ล้ำเส้นความเป็นปกติ แต่เป็นเส้นอำนาจทางจารีตดั้งเดิมต่างหากที่ล้ำเส้นวิถีการปฏิบัติอันเป็นสากลของระบอบประชาธิปไตยมานานแล้ว หากภาพฉายนั้นจะล้ำเส้นอะไรสักอย่าง มันคงจะเป็นการ “ล้ำเส้นความคุ้นชิน” ของเราเสียมากกว่า ซึ่งการไม่เป็นสิ่งที่คุ้นชิน ไม่ใช่ความผิดในตัวมันเองแน่ๆ และไม่ใช่ข้ออ้างที่จะบอกว่า “ไม่ให้มีตัวตนอยู่ได้” ครับ
ทีนี้ผมขอกลับมาอภิปรายถึงข้อเสนอทั้ง 10 ข้อของม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทนกับพวกท่านบ้าง โปรดอดทนอ่านไปกับผมอีกสักนิดนะครับ
ผมคิดว่า ก่อนจะเข้าที่ตัวเนื้อหาโดยละเอียด จุดหนึ่งที่เราควรจะยอมรับร่วมกันได้เป็นค่าเริ่มต้นก็คือ “ไม่มีใคร ไม่มีข้อเสนอใดๆ ที่เสนอให้ล้มสถาบันพระมหากษัตริย์” (คือไม่มีข้อเสนอว่า ประเทศไทยต้องเป็นสาธารณรัฐเลย) ทุกข้อเสนอนั้นวางอยู่บนฐานของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงแค่ว่ามุมมองที่พวกท่าน กับน้องๆ นักศึกษามีต่อการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายและสังคมนั้นแตกต่างกันออกไปเท่านั้นเองครับ ผมคิดว่าเราต้องเริ่มจากจุดนี้ก่อน เพื่อจะได้เข้าใจชัดเจนว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่เรากำลังทะเลาะกันคอเป็นเอ็นนั้น “ไม่ได้มีจุดตั้งต้นที่แตกต่างกันชนิดอยู่ร่วมกันไม่ได้อะไร” และเราสามารถพูดได้ด้วยซ้ำว่า ตัวข้อเสนอเองนั้นสร้างขึ้นเพื่อ “พัฒนาตัวสถาบันพระมหากษัตริย์” เพียงแค่มุมมองต่อเส้นทางการจัดการพระราชอำนาจของทั้งสองกลุ่ม คือ ม็อบน้องๆ นักศึกษา กับพวกท่านกลุ่มกษัตริย์นิยมนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป ที่ผมต้องกำชับตรงนี้ ก็เพราะว่า แม้ผมจะเรียกพวกท่านว่ากลุ่มกษัตริย์นิยม ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่ท่านมองว่าเป็นคู่ตรงข้ามของท่านจะถือเป็น “กลุ่มต้านกษัตริย์นิยม” (Anti-Monarchist) ไปได้โดยปริยายเลย ถ้าจะอภิปรายแบบตรงตัวอักษรและนำข้อเสนอไปวางในสเกลมาตรฐานทางสากลแล้ว อาจจะพูดได้ว่าเป็นเรื่องของ Divine Constitutional Monarchist กับ Neo-Constitutional Monarchist เสียด้วยซ้ำ กล่าวคือ อยู่บนเส้นทางหลักเดียวกัน แต่ “ต่างสำนักคิดและจุดเน้นกัน”
เมื่อตั้งหลักได้ดังนี้แล้ว ก็มาลองดูข้อเสนอข้อที่ 1 ของนักศึกษาดูครับ คือ
ข้อที่ 1 การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้ ทั้งเติมท่อนว่าให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการตรวจสอบและพิจารณาความผิดของพระมหากษัตริย์ได้
มิตรสหายของผมท่านหนึ่งได้พูดไปแล้วว่าแท้จริงเรื่องนี้ไม่ใช่อะไรใหม่เลย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ก็มีการบัญญัติแบบนี้ไว้แล้ว แต่พวกท่านเองก็อาจจะไม่ชอบคณะราษฎรกันอีก เพราะฉะนั้นผมจะอภิปรายด้วยผ่านอีกกรอบคือ ไม่เกี่ยวกับว่าเคยมีบัญญัติมาก่อนแล้ว ไม่ใช่อะไรใหม่ใดๆ เลยหรอก แต่นี่คือหลักการสากลที่เป็นปกติมากๆ ครับ นั่นคือ “องค์กร/สถาบันทางการเมืองใดๆ (ในนิยามว่า ได้รับเงินจากภาษีของประชาชน) นั้น ย่อมต้องได้รับการตรวจสอบโดยละเอียดจากสาธารณะได้ ทั้งยังต้องรับผิดชอบต่อความผิดตามอำนาจหน้าที่ของตนอีกด้วย” เพราะทุกสถาบันทางการเมืองซึ่งมีความสัมพันธ์กับเงินภาษีของประชาชนทั้งหมดนั้น นับว่ากำลังใช้เงินของประชาชาติอยู่ เพราะฉะนั้นการกระทำอะไรก็ตามทีที่ทำโดยเกี่ยวข้องกับงบประมาณดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการกระทำในทางสาธารณะไปด้วย เพราะมันมีผลกับสาธารณะ
เรื่องเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด อย่างกรณีล่าสุดเอง กษัตริย์ของสเปน ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเหลือเกินนั้น ก็เพิ่งจะโดนฟ้องร้องและตัดสินว่ามีความผิดไปเช่นกัน
ที่ผมกล่าวเช่นนี้ ผมไม่ได้จะปรักปรำหรือว่าร้ายสถาบันกษัตริย์ใดๆ เลยว่า สถาบันกษัริย์ของไทยนั้นมีความผิด จึงต้องควรถูกตรวจสอบนะครับ แต่ผมไม่รู้ครับ และไม่ใช่แค่ผม ผมสามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า “ไม่มีใครรู้” ด้วย เราอาจจะเชื่อไปเองได้ว่า “เรารู้” แต่การจะทราบได้ว่าองค์กรใดนั้นบริสุทธิ์โปร่งใสจริงๆ หรือไม่นั้น ล้วนแต่วางอยู่บนเงื่อนไขว่า องค์กรนั้นๆ สถาบันนั้นๆ ได้ผ่านการตรวจสอบโดยละเอียดถี่ถ้วนเป็นที่ยอมรับแก่สาธารณะแล้ว ซึ่งการยอมรับจากสาธารณะก็จะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะแต่เมื่อเปิดโอกาสให้ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นนั้นๆ อย่างเสรีและเต็มที่เสียก่อนนั่นเองครับ
ข้อเสนอข้อแรกของน้องๆ นักศึกษาจึงวางอยู่บนฐานคิดอันเป็นสากลนี้เองครับ และผมคิดว่าข้อเรียกร้องนี้สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า เป็นการพัฒนาให้สถาบันกษัตริย์ไทย ก้าวหน้าอยู่ในบริบทแบบที่สากลโลกยอมรับอีกด้วย ไม่ใช่การ “ดึงฟ้าลงต่ำ” อย่างที่พยายามว่าร้ายกันครับ
1
ข้อที่ 2 การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หรือที่เรารู้จักกันในนาม “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”) แล้วเปิดให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้โดยเสรี
จริงๆ คำอภิปรายของมาตรานี้มีการทำไว้มากแล้ว และดีกว่าผมมาก เช่นกลุ่มนิติราษฎร์ อย่างไรก็ดีตัวข้อเสนอข้อนี้เอง หากให้ผมอภิปรายโดยส่วนตัวแล้วยังไม่พอด้วยซ้ำ เพราะยังมีปัญหาในตัวระบบกฎหมายอีกชะนักหนึ่งอยู่
กล่าวคือ ในระบบกฎหมายอาญาไทย การดำเนินคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดานั้น “ยังมีโทษทางอาญา” ด้วยอยู่ การจะนำเสนอข้อเรียกร้องนี้อย่างครบถ้วนนั้น จึงต้องเสนอให้ยกเลิกโทษทางอาญากับกรณีการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาด้วย เหลือไว้แต่โทษในทางแพ่งพอ เพราะไม่ควรจะมีใครต้องจำคุกจากคำพูดหรือการแสดงออกของตนน่ะครับ ซึ่งเป็นแนวคิดสากลทั่วไปเช่นกัน
ทีนี้เรากลับมาในที่กรณีที่สมมติยกเลิกมาตรา 112 แล้วจริงๆ หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า “การปล่อยให้พระมหากษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่งด่าทอได้โดยเสรีนั้น เป็นเรื่องมิบังควรอย่างยิ่ง” ใช่ไหมครับ? แต่คำถามคือ ทำไมเราจึงต้องรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องมิบังควร? นี่ต่างหากครับที่ผมคิดว่าเป็นแก่นหลักของการเริ่มคิด คือ “คิดว่าทำไมเราจึงได้มีความคิดหรือข้อสรุปแบบนั้น”
เพราะพระองค์เป็นคนดี หรือ? แต่การเป็นคนดี กลายเป็นเหตุผลในการที่จะทำให้คนหนึ่งๆ ไม่ถูกวิจารณ์ได้หรือ?
และคำถามเรื่องความดีนี้เอง ก็ย้อนกลับมาสู่ข้อเสนอข้อนี้เองด้วยว่า “หากบุคคลใดๆ ก็ตาม ไม่เคยผ่านการตรวจสอบใดๆ มาก่อน ไม่เคยผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ อย่างจริงจัง” แล้วนั้น มีเพียงแต่ข้อมูลที่ถูกฉายออกมา โดยที่เราไม่เคยสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลชุดดังกล่าวได้เลย เช่นนั้น เราจะพูดได้อย่างแน่ใจอย่างไรว่าบุคคลคนนั้น ดีหรือไม่?
ผมคิดว่านี่คือคำถามระดับมาตรฐานมากๆ นะครับ ที่หากเราตั้งคำถามพื้นฐานนี้ ไม่ต้องกับใครหรอก กับตัวเราเองนี่แหละ อย่างจริงจังและทั่วถ้วนแล้ว เราจะพบได้เลยว่า นี่คือเรื่องปกติธรรมดา
อย่างการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรหรือสถาบันในทางสาธารณะใดๆ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง คำตัดสินของศาล องค์กรอิสระ ฯลฯ เหล่านี้เราสามารถนำมาสู่ข้อสรุปและจุดยืนส่วนตัวได้อย่างชัดเจน เพราะเราสามารถได้รับข้อมูลแบบค่อนข้างครบทุกด้าน ทั้งยังตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเหล่านั้นได้ด้วยใช่ไหมครับ? และองค์กรเหล่านี้ล้วน “จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและอภิปราย ถกเถียง พูดถึง อย่างถึงรากถึงโคนได้ เพราะทำงานโดยใช้เงินภาษีของประชาชนอยู่ด้วยทั้งสิ้น” นี่จึงเป็นเรื่องปกติครับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐที่ใดก็ตาม ก็เป็นแบบนี้ สื่อมวลชน และประชาชนในประเทศประชาธิปไตยจึงสามารถติดตาม ตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของเขาได้เฉกเช่นกับองค์กร/สถาบันทางการเมืองอื่นๆ ทั้งหมดครับ
ข้อที่ 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
ข้อนี้ผมคิดว่าคำอธิบายนั้นซ้อนกับข้ออื่นๆ ที่ว่าไว้ก่อนหน้านี้พอสมควรแล้ว เหตุผลมันก็ง่ายๆ คือ เงินส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีของประชาชนด้วย ย่อมเป็นเรื่องของสาธารณะ ที่ต้องได้รับการตรวจสอบโดยเคร่งครัด และควบคุมการใช้จ่ายโดยประชาชน ที่ใดในโลกก็เป็นแบบนี้ครับ แต่ทรัพย์สินส่วนใดที่องค์พระมหากษัตริย์หามาได้ด้วยน้ำพักตรน้ำแรงของพระองค์เอง ก็ย่อมมีสิทธิที่จะทรงนำไปใช้จ่ายได้ตามอัธยาศัย เท่านั้นเองครับ ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนเลย
วิธีคิดว่า ทรัพย์สินของประชากร คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ด้วยนั้น ไม่ใช่วิธีคิดตามระบอบประชาธิปไตยนะครับ แต่เป็นวิธีคิดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าผู้ปกครองสูงสุดและโดยหลักการแล้ว เป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในพระราชอาณาเขตที่เรียกว่ารัฐนั้นๆ แต่ในระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจสูงสุดเป็นของ “ประชาชนทั้งมวล” แล้วนั้น จึงไม่สามารถจะวางฐานวิธีคิดแบบเดิมได้อีกน่ะครับ
ข้อที่ 4 ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
ผมคิดว่านี่คือข้อเสนอแบบปกติธรรมดา ที่ประชาชนสามารถเสนอได้กับองค์กร หรือสถาบันสาธารณะใดๆ เลยครับ ไม่ต่างจากการเสนอให้ตัดงบทหาร การตัดลดงบกลาโหม เพื่อนำมากระตุ้นระบบเศรษฐกิจมากขึ้น หรือให้น้ำหนักกับการศึกษาเพิ่มขึ้น เป็นต้น ผมคิดว่าข้อนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนในการต้องอธิบาย หรือทำความเข้าใจนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุควิกฤตโควิด-19 ที่ทุกคนย่อมทราบดีว่าสภาพเศรษฐกิจทั้งไทยและทั่วโลกเข้าสู่ขาลง และอาจจะครั้งใหญ่ระดับเดียวกับเหตุการณ์ The Great Depression ในทศวรรษ 1930s นั้น ข้อเสนอนี้จึงปกติเสียยิ่งกว่าจะปกติธรรมดาครับ
ข้อ 5 ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก
เช่นกันกับข้อที่ 4 คือ หน่วยงานใด มีความซ้ำซ้อน หรือไม่มีความจำเป็นต่างๆ ก็ควรหาทางจัดการได้ครับ และแน่นอนว่าในรัฐประชาธิปไตยที่ประชาชนคือเจ้าของประเทศนั้น ประชาชนย่อมมีสิทธิเสนอให้ทำการปรับเปลี่ยนส่วนงานซึ่งพวกเขามองว่าไม่ก่อให้เกิดอรรถประโยชน์ที่คุ้มค่าต่อเม็ดเงินที่เสียไปได้ครับ ซึ่งเรื่องนี้แต่ละคนสามารถเห็นต่างและอภิปรายกันได้ หากฝั่งพวกท่านคิดว่า “การทำงานนั้นคุ้มค่าดีแล้ว ไม่ควรต้องปรับเปลี่ยน หรือยกเลิก” ก็สามารถอภิปรายโต้แย้งได้ แล้วหากข้อเสนอเป็นวาระทางสาธารณะแล้ว ก็ควรอภิปรายในสภา เพื่อจะหาข้อสรุปในทางนิติบัญญัติต่อไปได้ หลักการพื้นฐานเลยครับ
แต่นั่นแหละครับ เราจะทราบว่า องค์กรใดๆ ทำงานได้คุ้มค่าหรือไม่นั้น ก็ต้องมาจากฐานในข้อ 2 คือต้องสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยเต็มที่ก่อนนั่นเองครับ
ข้อที่ 6 ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
สำหรับผมแล้วข้อนี้เป็นประเด็นที่กึ่งหลักกึ่งย่อย คือ จะรวมไว้กับข้อ 3 ก็ได้ หรือจะแยกมาให้ชัดๆ แบบนี้ก็ได้น่ะครับ ว่าง่ายๆ เลยก็คือ เงินบริจาคมันตรวจสอบไม่ได้ และเมื่อตรวจสอบไม่ได้มันเป็นปัญหากับองค์กรสาธารณะใดๆ โดยหลักการก็คือ ทำให้เงินของทุกองค์กรมันตรวจสอบได้โดยชัดเจนน่ะครับ ในแง่นี้หากจะโอนถ่ายการบริจาคไปให้กับกระทรวงการคลังแทน (ที่เข้าดูแลในส่วนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ผมก็คิดว่ามีทางที่จะทำได้อยู่ด้วย ก็อาจจะสามารถเสนอปรับปรุง หรือทางเลือกอื่นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมดูได้ครับ เพราะไม่ได้มีวิธีการที่เบ็ดเสร็จหนึ่งเดียวในกรณีนี้ หลักๆ คือ ต้องตรวจสอบได้ เท่านั้นเอง
ข้อที่ 7 ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
จริงๆ แล้วข้อนี้เชื่อมโยงกับประเด็นในข้อแรกๆ ที่พูดถึงไป รวมถึงคำอธิบายเรื่องอำนาจทางวัฒนธรรมด้วยน่ะครับ จุดนี้อาจจะ “ชวนอ่อนไหว” (sensitive) สักหน่อยนะครับ แต่โดยหลักการสากลทั่วไปแล้ว พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็น “ตำแหน่งของรัฐ” แบบหนึ่งครับ จะเรียกว่าเป็นลูกจ้างถาวรของรัฐนั้นๆ โดยมีเงื่อนไขการเข้ารับตำแหน่งตามที่มาทางสายเลือด ข้อกำหนดทางจารีต หรือในบางกรณีผ่านการเลือกตั้งก็ไม่ผิดอะไรนักครับ โดยหน้าที่ตามตำแหน่งก็คือ “เป็นสัญลักษณ์ของรัฐนั้นๆ” ในนามประมุขของรัฐ ที่มีประชาชนในรัฐนั้น “เป็นเจ้าของ”
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การกระทำใดๆ ในฐานะพระมหากษัตริย์ จึงนับเป็นการกระทำตามหน้าที่ที่รัฐมอบให้หรือระบุให้ทำ จะใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปไม่ได้ เพราะการกระทำที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่การกระทำ “ในฐานะส่วนบุคคล” ครับ แต่เป็นการทำงานตามตำแหน่งหน้าที่ ด้วยเหตุนี้แล้วพระมหากษัตริย์จึงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะได้ “ในทุกกรณี” ทุกครั้งจะต้องผ่านการร่างและตรวจสอบโดยสภาก่อนครับ เป็นเรื่องปกติสากล
แน่นอนว่าความไม่อิสระในการแสดงออกนี้เฉพาะกับกรณีสาธารณะนะครับ ถ้าในทางส่วนพระองค์แล้ว จะแสดงความคิดเห็น จะพูดคุยอะไรยังไงนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้เฉกเช่นมนุษย์ทุกคน แต่เฉพาะเรื่องในทางสาธารณะเท่านั้นที่ห้าม เพราะเป็น “บทบาทตามหน้าที่” น่ะครับ ซึ่งเป็นแก่นกลางของระบอบการปกครองแบบ Constitutional Monarchy เลย คือ The king can do no wrong “because the king can do nothing”. คือ พระมหากษัตริย์ทำผิดไม่ได้ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำอะไรใดๆ ได้นั่นเอง
เมื่อการกระทำในทางสาธารณะของพระองค์ไม่ได้มาจากพระองค์เอง เป็นสภาหรือคณะรัฐมนตรีเสนอและให้ปฏิบัติตามดังนั้น ก็จะต้องมีผู้รับผิดชอบแท้จริงเป็นคนลงนามสนอง และหากการกระทำดังกล่าวนั้นมีความผิดพลาดอันใด ก็ให้เอาผิดกับคนที่ลงนามสนองนั่นเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นธรรมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะเพียงทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาเท่านั้น ผู้ซึ่งบอกให้ทำ ก็ต้องรับผิดไปนั่นเอง
ข้อที่ 8 ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
ประเด็นนี้เหมือนจะเรียบง่าย แต่ก็แอบซับซ้อนและชวนอ่อนไหวสักหน่อยครับ คือ นอกจากจะเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องความตรวจสอบได้ต่างๆ ที่ว่ามาแล้ว เรื่องนี้ยังสัมพันธ์โดยตรงกับสถานะและภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแต่ละรูปแบบการปกครองด้วยน่ะครับ
คือ การปกครองในรูปแบบกษัตริย์ก่อนการเกิดขึ้นของระบอบประชาธิปไตยนั้น แบ่งได้หลักๆ แล้วเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ ครับ คือ กษัตริย์นักรบ (Warrior King) กับกษัตริย์ที่เป็นสมมติเทพ (Divine King) ซึ่งในกษัตริย์คนหนึ่งๆ อาจจะมีภาพแบบใดแบบหนึ่ง หรือทั้งสองแบบก็ได้ หรือบางครั้งกษัตริย์ผู้ปราชเปรื่อง (Wisdom King) ก็อาจจะมีให้เห็นบ้าง แต่มักจะถูกรวมไว้กับ 2 กลุ่มแรกไป
ภาพลักษณ์ของกษัตริย์นักรบนั้น มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาของสงคราม ทั้งป้องกันดินแดน และขยายเขตแดน หรือในสังคมที่ค้นหาผู้นำสังคมนั้นๆ ผ่านกรอบคิดของความแข็งแกร่งเหนือยิ่งกว่าใคร และในส่วนของกษัตริย์แบบสมมติเทพนั้น ก็มีได้ทั้งในลักษณะของการเป็นเทพจริงๆ ที่ลงมาปกครองมนุษย์ เป็นตัวแทนของสวรรค์มา เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า หรือเป็นผู้สืบสายเลือดต่อจากเทพเจ้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ เราย่อมทราบกันดีว่า “พระมหากษัตริย์ใดๆ นั้น ก็ล้วนแต่เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา ในสปีชี่ส์ Homo Sapiens ดังเช่นผมและท่านนี่แหละ” แต่คำถามคือ ทำไมคนในยุคก่อนประชาธิปไตยจึงต้อง “ให้ภาพผู้ปกครองแบบนั้น” ไม่ได้มองพระมหากษัตริย์ในฐานะมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับตนเอง นั่นก็เพราะว่าการจะทำให้มนุษย์คนหนึ่ง สามารถถืออำนาจและได้รับการยอมรับให้มีสถานะที่เหนือกว่าคนอื่นๆ นับหมื่น แสน หรือล้านคน ที่มีทุกอย่างทางกายภาพเหมือนกับตนเลยได้นั้น เขาจำเป็นที่จะต้องมีเรื่องเล่าที่มาทำให้ตัวตนของเขานั้น “กลายเป็นข้อยกเว้น” เฉพาะขึ้นมาได้ครับ
หนึ่งในคำอธิบายลักษณะอำนาจขององค์อธิปัตย์ของคาร์ล ชมิดต์ และนำไปใช้ต่อโดยจอร์จิโอ อะแกมเบ้นนั้น ได้อภิปรายเรื่องนี้โดยละเอียดด้วยซ้ำ ว่า สิ่งที่เป็นลักษณะบ่งชี้ผู้ถือครองอำนาจในฐานะองค์อธิปัตย์ของรัฐนั้นๆ ก็คือ ผู้ซึ่งถือครองอำนาจในการกำหนดสภาวะยกเว้น กล่าวคือ ใครก็ตามที่ได้รับการยกเว้นจากอำนาจข้อบังคับใดๆ ทั้งมวลตามกติการ่วมของสังคม และมีอำนาจในการจะใช้อำนาจนั้นๆ กับใครอื่นก็ได้ด้วย คนนั้นแหละคือองค์อธิปัตย์ที่แท้จริงแห่งรัฐ ฉะนั้นแล้วการสร้างเรื่องเล่า ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ให้มีลักษณะเหนือกว่าโฮโมเซเปี้ยนทั้งมวลในสังคมนั้นจึงจำเป็น ไม่ว่าจะด้วยเรื่องเล่าของการเป็นผู้แข็งแกร่งที่สุดอย่างกษัตริย์นักรบ หรือผู้ซึ่งศักดิ์สิทธิทรงภูมิที่สุดอย่างกษัตริย์สมมติเทพก็ตาม เพื่อให้ทั้งตัวตนและอำนาจของกษัตริย์นั้นมีสภาพในการใช้อำนาจการ “ยกเว้น” ดังว่ามา และก็เป็นฐานวิธีคิดสืบมาในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย
ในแง่นี้ การประชาสัมพันธ์และให้การอบรมสั่งสอนคนในสังคมด้วยเรื่องเล่าของกษัตริย์ที่เหนือล้นกว่าความเป็นมนุษย์ธรรมดา จึงเป็นกลไก “ปกติและสากล” ในรูปแบบการปกครองดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเข้าสู่กระแสความคิดใหม่ คือ ระบอบประชาธิปไตยแล้ว คุณค่าที่เชิดชูความเป็นมนุษย์ได้รับการรับรอง และอุดมการณ์รากฐานที่ว่ามนุษย์ทุกคนย่อมคือ “คนเสมอเหมือนกัน” และต้องได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันนั้น จึงเป็นคุณค่าหลักสากลไป
ว่าอีกแบบก็คือ ภายใต้เงื่อนไขการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนี้ การประชาสัมพันธ์แบบเดิมที่เคยทำมานั้น “ไม่จำเป็น และไม่ควรจะมีอยู่อีกต่อไป” น่ะครับ เพราะว่าพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ผู้ถือครองอำนาจอธิปไตยแล้ว แต่เป็นประชาชนของรัฐต่างหาก โดยเฉพาะในยุคที่เราทราบกันดีในทางวิทยาศาสตร์ว่า คนทุกคนคือคนนั้น และมนุษย์ทุกคนย่อมมีทั้งข้อดีข้อด้อย การสร้างเรื่องราวอันเกินจริงนั้นจึงยิ่งจะเป็นผลลบกับตัวสถาบันพระมหากษัตริย์เองในเงื่อนไขนี้มากกว่าเป็นประโยชน์ในระยะยาวนะครับ
ข้อที่ 9 สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
ผมคิดว่าเป็นความจริงอันโหดร้ายที่เราต้องยอมรับนะครับ ไม่ว่าจะยืนอยู่บนฟากฝั่งไหนของความคิดเห็น คือ ประเทศเรามีการก่อและใช้ความรุนแรงที่อ้างในนามพระมหากษัตริย์มาไม่น้อยครั้ง ความรุนแรงทางการเมืองแทบทุกครั้งมีฝักฝ่ายที่อ้างว่า “ทำเพื่อปกปักรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์” มาโดยตลอด และบ่อยครั้งพอๆ กันที่เมื่อความรุนแรงยุติลง การสืบหาข้อเท็จจริงจากความรุนแรงดังกล่าวนั้น ก็ถูกซุกไว้ใต้พรมและปล่อยให้เลือนหายไปกับกระแสประวัติศาสตร์ไปเสีย
การทำเช่นนี้ นอกจากจะไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เองด้วย เพราะหากเราสร้างมาตรฐานของการไม่ตรวจสอบแบบนี้ไว้ ต่อไปการใช้ความรุนแรงใดๆ ก็ย่อมใช้และอ้างในนามสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เสียสิ้น เช่นนี้ต่างหากที่เป็นการ “จาบจ้วงและล้ำเส้น” ต่อตัวสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ข้อเสนอนี้ของน้องๆ นักศึกษา ที่เอาเข้าจริงๆ แล้ว หากพิสูจน์ได้โดยแน่ชัดว่าอย่างไร ก็จะทำให้ความเคลือบแคลงใจใดๆ ที่อาจเกิดมีขึ้นยุติลงด้วย ทั้งยังป้องกันไม่ให้เกิดการอ้างชื่อเช่นนี้ซ้ำอีก
ข้อที่ 10 ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
ผมคิดว่าข้อนี้ชัดเจนในตัวเอง และสัมพันธ์กับที่อภิปรายมาแล้วทั้งหมด นั่นคือ หากเรายืนยันโดยหลักว่า ประเทศไทยเป็นรัฐประชาธิปไตย นั่นแปลว่าอำนาจอธิปไตย หรืออำนาจในฐานะ “เจ้าของประเทศ” นั้น คือของประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ใดๆ องค์กร/สถาบันสาธารณะใดๆ ก็มีหน้าที่ตามระบอบที่จะต้องยืนยันในหลักการดังกล่าวนี้ เช่นนั้นแล้วการลงพระปรมาภิไธยรับรอง หรือการที่องค์กร/สถาบันใดๆ จะออกมาสนับสนุนในทางใดทางหนึ่ง (เช่น รับรองกฎหมายการนิรโทษกรรมความผิดฐานการรัฐประหาร) ย่อมถือเป็นความผิดต่อหลักการและระบอบทั้งหมดครับ
ในจุดนี้ ผมเคยเห็นหลายครั้งที่นักวิชาการฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามจะอธิบายว่า ก็เมื่อเขาทำการรัฐประหารมาแล้ว เขามีอำนาจเบ็ดเส็จสูงสุด เขาก็ย่อมมีอำนาจในฐานะองค์อธิปัตย์หรือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไปอย่างเสียมิได้
ผมอยากอภิปรายว่า คำอธิบายนี้ผิดครับ และผิดในระดับตรรกะเลยด้วย คือ เวลาที่เราพูดถึงเรื่อง การเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หรือการถือครองอำนาจในฐานะองค์อธิปัตย์นั้น เราไม่ได้พูดเฉพาะในแง่ของการมีอำนาจสูงสุดในการใช้กำลังทางกายภาพเท่านั้นนะครับ แต่เราพูดถึง “สถานะในการเป็นเจ้าของ” หรือ Ownership ด้วย (ในความหมายพื้นฐานแบบเสรีนิยมธรรมดาเลยนี่แหละครับ) ซึ่งต้องมีสองส่วนนี้ประกอบกันเท่านั้น จึงจะยอมรับถึงสถานะดังกล่าวได้ ทีนี้โปรดลองค่อยๆ คิดตามผมดังนี้นะครับ
สมมติว่านาย A เป็นเจ้าของสร้อยคอเส้นหนึ่งโดยชอบธรรม (ซื้อมาเอง อะไรเอง) แล้วจู่ๆ โจร B เอาอาวุธมาจี้หรือวิ่งราวขโมยสร้อยคอนั้นไป ... และนำไปสวมใส่ แม้ โจร B จะกลายเป็นผู้ถือครองสร้อยคอในท้ายที่สุดและเป็นคนที่ได้ใช้งานสร้อยคอนั้นตามวัตถเประสงค์ของการมีอยู่ของมัน แต่พร้อมๆ กันไป “ความเป็นเจ้าของของสร้อยคอ” นั้นไม่ได้ตกไปเป็นของโจร B นั้นด้วย เจ้าของยังคงเป็นนาย A ที่โดนปล้นขโมยสร้อยไปดังเดิม ความเป็นเจ้าของตามหลักการแล้วไม่ได้ “ย้ายตามไปด้วย” เช่นนั้นเอง A จึงยังสามารถแจ้งตำรวจเพื่อให้นำ “สร้อยของ A ที่โดนยึดไปกลับคืนมาได้” เพราะโดยหลักการแล้วมันยังเป็นของ A อยู่ ทำนองเดียวกับการที่โจรแย่งปืนตำรวจไปยิงคน ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นเจ้าของปืนไปอยู่ที่โจร แต่โจรคือผู้ใช้ปืน เท่านั้นเอง
ว่ากันอีกแบบก็คือ สภาวะของการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในช่วงเวลาที่เกิดการรัฐประหารนั้น มีความซับซ้อนค่อนข้างจะมากมายเลยครับ อย่างในการรัฐประหารครั้งล่าสุดของไทยก็ได้ เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ในทางปฏิบัติ อำนาจทางการปกครอง การสั่งการต่างๆ นั้น ไปอยู่ในมือของ คสช. แต่พร้อมๆ กัน “สิทธิและความเป็นเจ้าของต่ออำนาจในการปกครองรัฐ” นั้นไม่ได้ย้ายตามไปด้วย มันจึงเกิดเป็นสภาวะอิหลักอิเหลื่อทางอำนาจ ซึ่งจริงๆ แล้วพอจะมีคำทางรัฐศาสตร์ที่ใช้กันอยู่ครับ แม้อาจจะไม่แพร่หลาย นั่นคือคำว่า Kleptocracy หรือแปลไทยได้ว่า “โจราธิปไตย” หรือก็คือระบอบการปกครองที่ผู้ปกครอง “ขโมย” มา หรือผู้ปกครองคือโจรนั่นเอง
ในสภาวะแบบนี้ หากสถาบันสาธารณะที่ยึดโยงกับประชาชน หรือเป็นตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ไม่ไปรับรองอำนาจให้กับเหล่าโจราธิปไตย สถานะทางอำนาจมันก็จะมีที่ทางให้เกิดการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอันชอบธรรมของประชาชนมากขึ้นน่ะครับ ว่าอีกแบบก็คือ ข้อที่ 10 นี้ของข้อเสนอนั้น คือ การปกป้องทั้งระบอบประชาธิปไตยและตัวสถาบันพระมหากษัตริย์เอง ไม่ให้ไปแปดเปื้อนหรือเกี่ยวข้องกับระบอบโจราธิปไตยที่อาจจะเกิดขึ้นได้
เช่นนี้เอง ผมจึงเห็นว่าข้อเสนอทั้งหมด รวมไปถึงท่าทีที่พวกท่านกังวลกันนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เราสามารถมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างฉันท์มิตรได้นะครับ
โฆษณา