18 ส.ค. 2020 เวลา 01:39 • การศึกษา
สภาพัฒน์เตือน “มหาวิทยาลัยร้าง”
วิกฤติอุดมศึกษาไทย
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานภาวะสังคมไตรมาส 2 ปี 2563 มีประเด็นที่น่าสนใตเกี่ยวกับสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยที่เริ่มมีปัญหาผู้เรียนลดลงชัดเจนมาขึ้น
สภาพัฒน์ได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มจำนวนนักศึกษาอุดมศึกษาลดลงต่อเนื่องช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีที่ว่างในมหาวิทยาลัยมาก รายได้มหาวิทยาลัยลดลง จึงท้าทายให้สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไตรมาส 2 ปี 2563
ที่ผ่านมาจำนวนมหาวิทยาลัยไทยไม่เปลี่ยนแปลงนัก แต่มีการเพิ่มจำนวนสถานศึกษาจากการขยายวิทยาเขตของสถาบันที่มีชื่อเสียง และการเปิดหลักสูตรเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ขณะที่นักศึกษาใหม่มีแนวโน้มลดลงทุกปี สะท้อนจากสถิติผู้สมัครและผู้ผ่านการคัดเลือกในระบบ TCAS (รอบที่ 4) ปี 2558–2562 ลดลงต่อเนื่อง
ภาวะสถาบันศึกษาล้นมีปัจจัยจากอัตราการเกิดลดลง รวมทั้งการขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงทำให้เปิดวิทยาเขตและหลักสูตรใหม่ที่สนองความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงาน เพื่อดึงดูดนักเรียนนักศึกษา
จำนวนผู้เรียนที่ลดลง การแข่งขันดึงผู้เรียนของสถาบันอุดมศึกษาที่สูง รวมถึงการพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นความท้าทายที่นำมาซึ่งการปรับตัวของสถาบันการศึกษาให้อยู่รอดได้ ที่ผ่านมาสถาบันอุดมศึกษาพยายามปรับตัว อาทิ
1.ปรับหลักสูตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและแต่ละช่วงวัย โดยส่งเสริมการเรียนแบบสหวิชาการ การพัฒนาหลักสูตรรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้เรียน การพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเพื่อตอบสนองคนแต่ละวัยและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2.การพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยการใช้นวัตกรรมการศึกษาในการจัดการเรียนการสอน การเปิดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ
3.การขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการขยายกลุ่มเป้าหมายการรับนักศึกษาที่ครอบคลุมไปถึงนักศึกษาต่างชาติ
แนวทางดังกล่าวทำให้การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งระหว่างสถาบันการศึกษาภายในประเทศ และสถาบันการศึกษาภายในประเทศกับต่างประเทศ และการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักศึกษาที่รุนแรงอาจกระทบคุณภาพการศึกษา และการคงอยู่ของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหรือคุณภาพน้อยกว่า
รวมทั้งแนวทางการปรับตัวยังขาดการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับและสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการศึกษาภายในประเทศ
สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไตรมาส 2 ปี 2563
ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในอนาคต ได้แก่
1. การกำหนดแนวทางการปรับตัวที่เป็นเอกภาพ โดยการบริหารจัดการและบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากร การขยายงานวิชาการทั้งด้านศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การบริการสังคม ตลอดจนการวิจัยเพื่อการพาณิชย์ที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
2. การนำแนวคิดด้านการตลาดมาใช้ในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา โดยดึงอัตลักษณ์และความแข็งแกร่งทางวิชาการมาเป็นจุดขายในการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อพัฒนาให้ตรงจุดที่ควรมุ่งเน้น รวมถึงการบริหารต้นทุนมหาวิทยาลัย อาทิ การลดต้นทุนด้านที่มิใช่จุดแข็งโดยยุบหรือรวมสาขาที่มิใช่ความเชี่ยวชาญหรือแข่งขันไม่ได้
3. การทบทวน/ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยคำนึงความต้องการผู้เรียนและสอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงาน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อดึงนักเรียนต่างชาติมาชดเชยปริมาณนักศึกษาไทยที่ลดลง การเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะความรู้แก่คนทำงาน ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุ
4.การนำนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนมาใช้ในมหาวิทยาลัย อาทิ การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ให้นักศึกษาจัดองค์ประกอบของวิชาเรียนได้ การพัฒนารายวิชาใหม่ที่ตอบโจทย์บริบทการเปลี่ยนแปลง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบการเรียนการสอนมากขึ้น
5.การส่งเสริมการวิจัยที่มุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งทบทวนหรือปรับปรุงระเบียบและข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาของรัฐ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความคล่องตัวในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์
หมายเหตุ : สภาพัฒน์เผยแพร่รายงานฉบับนี้วันที่ 17 ส.ค.2563
โฆษณา