18 ส.ค. 2020 เวลา 04:56 • บันเทิง
I Am Mother (2019)
ดิฉันเห็นเรื่องนี้ติดอันดับ Top10 ใน Netflix เมื่อวานนี้ค่ะ ด้วยความที่ชื่นชอบหนัง Sci-fi เป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ดิฉันก็เลยกดเข้าไปชมแบบไม่ได้ลังเลอะไร กดแบบที่ไม่รู้โครงเรื่อง ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กำกับหรือใครคือนักแสดง แล้วหนังเข้าโรงฉายไหม ค่ายไหน กระแสเป็นยังไง ได้รางวัลอะไรบ้าง ... คือ เอาเป็นว่าไม่รู้อะไรเลยล่ะค่ะ 😆
หนังเปิดเรื่องมา ณ วันที่มนุษย์ชาติสูญพันธ์จนหมดสิ้น ภายในฐานที่พัก (ที่มีลักษณะแบบพิมพ์นิยมของหนัง Sci-fi 😁) ก็ได้มีการประกอบหุ่นยนต์ Droid ขึ้นมา หุ่นยนต์นั้นได้นำตัวอ่อนมนุษย์เพศหญิงที่แช่แข็งอยู่มาทำให้เป็นคน เฝ้าเลี้ยงฟูมฟักเสมือนลูกตนเอง สอนวิชาความรู้ให้ จนกระทั่งมีมนุษย์เพศหญิงที่อยู่ข้างนอกมาเคาะประตูฐานนั่นแหล่ะค่ะ ... อ้าว ก็แม่ (หุ่นยนต์) บอกว่ามนุษย์สูญพันธ์ไปหมดแล้วนี่นา ... ก็นั่นแหล่ะค่ะ เรื่องราวจึงได้เกิดขึ้น
ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ คือมันเป็นหนัง Sci-fi ที่พูดถึงแนวคิดปรัชญาค่ะ ลองคิดดูสิคะว่าในวันที่หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์หยิบยกเอาแนวคิดคำสอนของนักปราชญ์คนแล้วคนเล่าเพื่อมาเป็นบททดสอบความคิดด้านศีลธรรมจริยธรรมของมนุษย์ วันนั้นจะเป็นยังไง เราจะสู้กับ AI ได้ไหมนะ 😁
ดูหนังจบแล้ว ดิฉันซึ่งเป็นนักเรียนทางสายวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ด้านปรัชญาเท่ากับศูนย์ ต้องไปค้นหาบทความมาอ่าน ว่านักปรัชญาที่กล่าวถึงมีใคร และมีแนวคิดแบบไหนที่อยู่ในหนังกันบ้างค่ะ
Jeremy Bentham กับหลักการพื้นฐาน (fundamental axiom) ที่ว่า การกระทำที่ดีที่สุดคือ การกระทำที่ก่อให้เกิดความสุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด (the greatest happiness of the great number) ... ในหนังหุ่นยนต์แม่ให้ลูกสาวเลือกค่ะ ว่าจะช่วยชีวิตผู้ป่วยหนึ่งคน แล้วปล่อยให้ผู้ป่วยอีกห้าคนตาย หรือจะช่วยชีวิตผู้ป่วยห้าคน แล้วปล่อยให้ผู้ป่วยหนึ่งคนตาย ... ลูกสาวเลือกช่วยห้าคนค่ะ
Auguste Comte กับหลักปฏิบัติที่เห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นเป็นที่ตั้ง (Altruistic) ... ในหนังพูดถึงการเสียสละชีวิตตัวเอง เพื่อเอาอวัยวะไปช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น ... ตามหลักปรัชญามันก็ใช่อ่ะนะ แต่มนุษย์เรามันมีอารมณ์ความรู้สึกและกระบวนการคิดที่ซับซ้อนมากกว่าที่จะนำเอาหลักปรัชญาเพียงหนึ่งข้อมาใช้ในการตัดสินใจนะคะ ... ถ้าคนที่เราช่วยเป็นโจรหรือเป็นฆาตกรล่ะ ไม่เท่ากับว่าเราช่วยให้เค้าไปทำร้ายผู้อื่นต่อเหรอ ... อันนี้ลูกสาวถามค่ะ
Emmanuel Kant กับทฤษฎีคุณค่าในตัวเอง (Intrintic Value) นักปรัชญาท่านนี้เชื่อว่ามนุษย์ล้วนแสวงหาคุณค่าในตัวเองผ่านการกระทำที่แสดงถึงเจตนาอันดี (good will) ... อันนี้ต่อเนื่องจากย่อหน้าข้างบนนะคะ ถ้านำทฤษฎีนี้มาใช้ นั่นหมายถึงโจรหรือฆาตกรก็สามารถเป็นคนดีได้ เพราะทุกคนล้วนมีความสามารถในการทำความดีเพื่อสร้างคุณค่าในตัวเอง
ในหนังมีประเด็นพูดถึงศาสนาด้วยนะคะ แต่ดิฉันจะข้ามประเด็นนี้ไป เพราะดิฉันก็ยังกราบไหว้พระพุทธรูปอยู่ค่ะ 🙂
ในตอนจบหนังทิ้งซีนไว้ให้คิดต่อเองค่ะ สำหรับตัวดิฉัน ดิฉันเชื่อในคำโบราณที่ว่า การเลี้ยงลูกเราเลี้ยงได้แค่ตัว ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรก็ต้องสุดแล้วแต่เค้าจะคิดหาจัดการเองค่ะ
ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ดิฉันนึกถึงวิชาสร้างเสริมลักษณะนิสัย (สลน.) ที่เรียนตอนประถมเลยค่ะ คุณครูในตอนนั้นบอกว่าไม่ต้องกังวลว่าจะสอบตก เพราะข้อสอบไม่มีถูกไม่มีผิด ดิฉันไม่แน่ใจว่าในยุคนี้เด็กๆ ยังมีเรียนกันอยู่ไหม ถ้าใครทราบ เข้ามาคอมเมนต์ตอบหน่อยนะคะ
ดิฉันขอจบบทความนี้ด้วยเพลงประกอบในหนังค่ะ ชื่อเพลง Baby Mine ซึ่งเป็นเพลงที่นำมาจากการ์ตูนของดีสนีย์เรื่อง Dumbo ค่ะ เพราะดีนะคะ เนื้อหาในเพลงก็ดีด้วยค่ะ
โฆษณา