5 ก.ย. 2020 เวลา 09:26 • การศึกษา
ต้องสอบ TOEIC ให้ได้อย่างน้อย 550 เตรียมตัวอย่างไรดี? โดยไม่ต้องเสียเงินเรียนตามสถานบันต่างๆ
ปัจจุบันมีคอรสสอนภาษาและเตรียมสอบมากมาย ทั้งแบบเรียนในชั้นเรียนและเรียนออนไลน์ การเตรียมตัวสอบ TOEIC จริงๆ แล้ว ไม่ต้องไปเสียเงินติวคอรสพวกนั้นก็ได้ หากผู้ศึกษามีความตั้งใจจริง วันนี้อยากจะแนะนำวิธีเตรียมตัวสอบและติว TOEIC ด้วยตัวเองค่ะ
1. ต้องรู้ลักษณะของข้อสอบที่จะต้องเจอก่อน
ข้อสอบ TOEIC มีทั้งหมด 200 ข้อ ใช้เวลาสอบ 2 ชั่วโมง
แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ Listening Part และ Reading Part ซึ่งทั้ง 2 ส่วน ยังแบ่งย่อยออกไปอีกเป็น 7 ส่วนย่อยค่ะ
สามารถหาดูข้อสอบตัวอย่างได้จากสถาบันของต่างประเทศที่เค้าเป็นผู้ออกข้อสอบโดยตรงคือ ETS ได้ตามลิ้งค์ค่ะ
มาทำความรู้จักกับข้อสอบทั้ง 2 ส่วนกัน คร่าวๆนะคะ
#Listening Parts 100 ข้อ เวลาสอบ 45 นาที (ฟังได้แค่รอบเดียว ผู้คุมสอบจะเปิดเทปเสียงให้ฟังพร้อมๆกันทุกคน ไปเรื่อยๆ จนครบ 45 นาที แน่นอนว่าเราจะหยุดเทปตามใจชอบไม่ได้ เพราะผู้คุมสอบดูแลตรงนี้ให้เรา) แบ่งเป็น part ย่อย ทั้งหมด 4 part ด้วยกันค่ะ ลักษณะข้อสอบมีทั้งดูรูปแล้ว เลือกคำบรรยาย ฟังคำถามแล้วตอบ ไปจนถึงการฟังบทสนทนาหรือ ประกาศ โฒษณาวิทยุ ต่างๆ แล้วตอบคำถามค่ะ
วิธีฝึกฝนในส่วนของการฟังทั้งให้ได้คะแนนดี
• ฝึกหูให้คุ้นเคยกับคำศัพท์ให้ได้ หากสมองรู้ว่าเทปพูดคำไหนอยู่มันก็จะแปลได้อัตโนมัติ คำไหนไม่รู้ก็เปิดดิคชั่นนารี่แปลเอาไว้และฟังซ้ำพร้อมกับดูตัวหนังสือหรือบทพูดอันนั้นไปด้วย ทำบ่อยครั้งเข้าหูจะชินและฟังออกเองค่ะ ควรจะทำซ้ำเกิน 3 รอบในแต่ละข้อที่เราทำไม่ได้ค่ะ
• ฝึกการตั้งใจหรือตั้งสติและควบคุมสมาธิให้แน่วแน่จดจ่ออยู่กับการฟังเอาความเป็นเวลานาน 45 นาที โดยไม่เบื่อไม่ท้อและฝึกการบริหารเวลาในการทำข้อสอบให้ทันภายใน 45 นาที ซึ่งตรงนี้จะเป็นของง่ายถ้ามีสมาธิที่มั่นคง และรู้จักละกังวลในข้อที่ตอบไม่ได้หรือฟังไม่ทันก่อนหน้านี้ แล้วเอาใจจดจ่ออยู่กับข้อที่ทำอยู่
#Reading Parts ข้อสอบ 100 ข้อ เวลาสอบ 75 นาที
แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ วัดความเข้าใจเรื่อง grammar, การใช้ tenses และความสามารถในการอ่านจับใจความสำคัญค่ะ เนื้อหาของข้อสอบเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและการทำงานในบริษัทหรือองค์กร (คนที่ยังไม่เคยทำงานในบริษัทจะเสียเปรียบหน่อยเพราะจิตนาการสถานการณ์ในที่ทำงานลำบาก)
ในส่วนข้อสอบ grammar และ tenses จะวัดความเข้าใจในการใช้ภาษา เนื้อหาความรู้และคำศัพท์อยู่ในระดับการเรียน ม.6- ปริญาตรี
• คำศัพท์ไม่ยากมาก ถ้าทำข้อสอบบ่อยๆก็จะคุ้นชินกับคำศัพท์ขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ ข้อสอบแต่ละชุดควรทำอย่างน้อย 3 รอบ
• Grammar มีตั้งแต่ Pronouns Agreement, Subject and Verb Agreement, Parallel Structure ในการเชื่อม, If Clause, Wish Clause, Subjuctive, การใช้คำเชื่อมตามความหมายของมัน, การใช้ Preposition, การใช้ Adj. และ Adv. ไปจนถึงการใช้ dependent clause แบบต่างๆ ค่ะ
ในส่วนข้อสอบอ่านจับใจความสำคัญมักจะเป็นเอกสารสั่งซื้อ บริจาคเงิน หรือส่งมอบของ บางครั้งจะเป็นใบปลิวโฒษณา ตารางเวลาการท่องเที่ยว หรือ E-mail ประสานงานเรื่องต่างๆ
ข้อสอบอ่านจับใจความสำคัญมี 2 แบบค่ะ ผู้สอบจะเจอทั้งสองแบบนี้
• Single Passages คือ บทความเดียว ยาวตั้งแต่ ครึ่งหน้าถึง 1 หน้า 1 บท ความ มี 3 คำถาม
• Double Passages คือ บทความ 2 บท ยาวตั้งแต่ ครึ่งหน้าถึง 1 หน้า โดยที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกัน ต้องอ่านทั้งสองบทความจึงจะตอบคำถามได้ ใช้ตอบ 3-5 คำถาม
หากผู้สอบขาดประสบการณ์การทำงาน จะทำให้เสียเปรียบตรงที่ไม่เคยประสบพบเจอเหตุการณ์แบบนี้ หรือไม่เคยเห็นเอกสารเหล่านี้มาก่อน ทำให้ทำความเข้าใจได้ยาก ควรหาซื้อหนังสือที่มีการอธิบายคำตอบอย่างละเอียดมากขึ้นว่าทำไมคำตอบนั้นๆถึงถูกมาศึกษาค่ะ
วิธีฝึกฝนหรือทบทวนในส่วนของ grammar และ อ่านจับใจความสำคัญให้ได้คะแนนสูง
• ให้หาหนังสือสรุป grammar เพื่อติว TOEIC ที่มีการแยกเนื้อหาและแบบฝึกหัด ออกเป็นเรื่อง ๆ ให้เรา จากนั้นให้เราทำแบบฝึกหัดแต่ละเรื่องดูค่ะ แบบนี้เราก็จะรู้ว่าตนเองไม่ได้ grammar เรื่องอะไรบ้าง
• หาหนังสืออ่านหรือดูคลิปอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องที่เราไม่ได้จนเข้าใจกระจ่าง แล้วหาแบบฝึกหัดในเรื่องนั้นๆ มาฝึกเพิ่มเติมเพื่อทดสอบความเข้าใจ หนังสือที่ใช้ทบทวนจะเป็นหนังสือ grammar ม.3-ม.6 หรือหนังสือตอนเราเรียนปริญญาตรีก็ได้ค่ะ จำไว้ว่า grammar ไม่ว่าระดับไหนก็เหมือนๆกันค่ะกระทรวงศึกษาให้เราเรียนซ้ำไปซ้ำมา เพียงแต่คำศัพท์ยากขึ้นเรื่อย ๆ แค่นั้นเองค่ะ มีแค่บางเรื่องที่เรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นเช่นการสร้างประโยคความรวมความซ้อน แต่ก็ไม่ต้องกังวลมากเพราะ TOEIC ไม่ได้วัดเรื่องนี้
• ลองหาข้อสอบมาลองทำดูค่ะ ในเว็ปต่างๆมีให้โหลดฟรีมากมาย แค่ Google ก็หาเจอได้ไม่ยาก ทั้งนี้จะได้รู้ตัวเองว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้เรื่องอะไรบ้าง อยากรู้ว่าข้อสอบ Grammar นั้นวัดเรื่องอะไรให้ดูที่ตัวเลือก a,b,c,d ค่ะ ถ้าตัวเลือกเป็นคำประเภทใด ก็มักจะวัดเรื่องนั้น ๆ ค่ะ
• การทำข้อสอบให้แยกเป็น 2 รอบเป็นอย่างน้อยค่ะ รอบที่ 1 ให้ใช้เวลาอย่างเต็มที่โดยตั้งเป้าให้ได้คะแนนมากสุด รอบที่ 2 ให้จำกัดเวลาเสมือนสอบจริงดูค่ะ ดูว่าหากมีความดกดันเรื่องเวลาเพิ่มมาเราจะทำได้แค่ไหน แย่ลงไปมากไหม เรื่องไหนที่เราไม่ชำนาญเรามักจะหลุดเมื่อมีเวลามาบีบ ให้กลับไปทบทวนเรื่องนั้นเพิ่มเติมให้มากๆค่ะ
• ***สำคัญมาก*** หากใครอยากได้คะแนนมากขึ้น ต้องทำข้อสอบทีละชุดแล้วตรวจดูข้อที่เราผิด รวมถึงทำความเข้าใจในส่วนที่เราทำผิดให้หมดเสียก่อน แล้วจึงไปทำข้อสอบชุดต่อไป เพราะมันจะช่วยพัฒนาเราให้เก่งขึ้นให้ได้คะแนนมากขึ้น การถาโถมทำข้อสอบเยอะ ๆ จะไม่ได้ผลถ้าเราไม่แก้ไขจุดอ่อนของตนเองคะแนนเราจะได้เท่าเดิม เราก็จะผิดที่เดิมซ้ำ ๆ เรื่อยไปค่ะ
2. ต้องเลือกหนังสือที่เหมาะสมกับเรา คือต้องรู้จุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง ว่าชอบหรือไม่ชอบอ่านหนังสือลักษณะแบบไหน
• เลือกหนังสือที่ดูแล้วน่าอ่านสำหรับเรา หรือเปิดอ่านแล้วดูน่าสนใจ อ่านดูก็เข้าใจได้ไม่ยากมากนัก แสดงว่าหนังสือนั้นเหมาะสมกับระดับความรู้ของเรา หากเปิดๆหลายๆเล่มแล้วยากหมด ให้นำมาเปรียบเทียบกันดูว่าเล่มไหนเรารู้สึกว่าพอจะพยายามศึกษาได้มากสุดให้เลือกเล่มนั้น ทำเล่มนั้นเสร็จแล้วค่อยไปศึกษาเล่มที่เราดูว่ายากตอนแรก จะทำให้การศึกษาของเราง่ายขึ้น อย่าไปใจร้อนทำเล่มที่อยากเลย แบบนั้นจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจตน สุดท้ายก็จะยอมแพ้ไปเสียก่อนจะสำเร็จผล
• เลือกหนังสือที่ผ่านการรับรองจาก ETS (องค์กรที่จัดสอบ TOEIC) หรือจากสถาบันดังอื่นๆ ที่เชื่อถือได้ เช่น Cambridge, Barron, Longman
• เลือกหนังสือที่มีตัวอย่างจำลองข้อสอบจริงจำนวน 200 ข้อให้ลองทำ มากกว่า 4 ชุด
เลือกหนังสือไวยกรณ์ที่มีทั้งเนื้อหาไว้ให้อ่านทำความเข้าใจและแบบฝึกหัดเพื่อทดสอบความเข้าใจของเรา
• เลือกหนังสือแบบฝึกหัดคำศัพท์และสำนวนที่มักบพบ่อยใน TOEIC Test โดยเฉพาะ อย่างน้อย 500 คำ และฝึกฝนอย่างเป็นประจำ ควรจะได้คำศัพท์เบื้องต้นที่คนมักใช้บ่อยในชีวิตประจำวันอย่างน้อย 1,000 - 1,500 คำ
3. ต้องรู้จักค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล้งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แหล่งข้อมูลมีมากมายค่ะ อย่าหาข้อมูลสะเปะสะปะไปเรื่อย ๆ จะเสียเวลาเปล่า ให้เอาหนังสือเป็นตัวยืนพื้น แล้วหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ทมาเสริม ควรมีหนังสือ 2-3 เล่ม เพื่อเปรียบเทียบเนื้อหา เนื่องจากผู้เขียนแต่ละคนจะมีสไตล์การเขียนหรือการอธิบายที่ไม่เหมือนกัน เราต้องอ่านเอาแก่นแท้ของเนื้อหาที่เหมือนและต่างกันในแต่ละเล่ม แล้วสรุปออกมาเป็นความเข้าใจของเราเอง ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เราจะแก้ไขจุดอ่อนของตนเองได้ และจะเข้าใจเนื้อหาขึ้นเรื่อย ๆ คะแนนก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ
4. ต้องมีการจำลองสถานะการณ์ให้ตนเองทดลองทำข้อสอบเสมือนเวลาสอบจริง ข้อนี้คือให้เราหัดบริหารเวลาและบริหารสติของตนเอง เวลาทำข้อสอบจริงจะได้ไม่ต้องกังวลหรือลนลานมาก
• ตอนแรกที่ทำให้แยกทำ ส่วนของ Listening 100 ข้อ อย่างเดียว หรือ Reading 100 ข้อ อย่างเดียวก่อน เมื่อทำเวลาในแต่ละส่วนได้ตามเวลาที่ควรจะเป็นและได้ตามคะแนนที่เราต้องการแล้ว
• จึงหัดทำ Full Test หรือก็คือทำทั้ง 2 ส่วน รวมกัน ในคราวเดียวเป็นเวลานาน 2 ชั่วโมง ต่อ 1 รอบ ที่ฝึก เสมือนเวลาสอบจริง
• ฝึกทำอยู่บ่อยๆ จนชำนานให้ได้คะแนนอย่างน้อย 650 และทำได้ทันเวลา นั่นแสดงว่าเราพร้อมสำหรับการสอบให้ได้คะแนนอย่างน้อย 550 แล้ว เพราะเวลาสอบจริงเราจะเจอข้อสอบที่ยากกว่านี้นิดหน่อยเพราะ ets ปรับปรุงข้อสอบอยู่เสมอทุกปี และต้องอย่าลืมว่าวันสอบจริงเราจะประหม่าตื่นเต้น แน่นอนว่าเราอาจจะมีสมาธิไม่ดีเท่าตอนฝึกซ้อม
5. ต้องหัดวางกลยุทธการได้มาซึ่งคะแนนของเราว่าจะมาจาก Part ไหนบ้าง แต่ละ Part ประมาณกี่คะแนน อย่าลืมว่าข้อสอบ 200 ข้อ คะแนนเต็มคือ 990 คะแนน แบ่งเป็น Listening 495 คะแนน และ Reading 495 คะแนน สรุปคือโดยเฉลี่ยคร่าวๆ ข้อละ 4.95 คะแนน (ที่จริงมีตารางเทียบจำนวนข้อสอบและคะแนน TOEIC ที่ได้ ลอง google ดูนะคะ) เราควรรู้ตัวเราว่าทำ Part ไหน ได้ดีกว่ากัน หัดคำนวณคะแนนของตนเองด้วยตอนฝึก และในส่วนของ Reading ให้เลือกทำ Part ที่เราถนัดก่อน ซึ่งเราเลือกได้และบริหารจัดการเวลาได้ ไม่เหมือน Listening ที่ต้องทำเป็นลำดับตามเทป listening ที่เค้าเปิดให้ฟัง อย่าลืมค่ะการวางกลยุทธ์เป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งในการสอบ
เอาละค่ะ นั่นคือทั้งหมดที่ควรรู้ สำหรับการเตรียมตัวทบทวน และฝึกฝนการสอบ TOEIC ด้วยตัวเองค่ะ
หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เตรียมตัวสอบทุกคน เป็นกำลังใจให้ สู้ๆ นะคะ
Have fun learning English!
ผู้เขียนขอรับรองว่าเนื้อหาในบทความนี้ทั้งหมดไม่ได้ทำการคัดลองมาจากแหล่งข้อมูลอื่นใด หากแต่เป็นการกลั่นกรองจากประสบการณ์การสอนจริง การสอบจริง และการใช้ภาษาอังกฤษในต่างแดนมาเป็นเวลานานของผู้เขียนเอง
โฆษณา