19 ส.ค. 2020 เวลา 08:17 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หุ้น ‘เสี่ยเจริญ’ มูลค่าวูบแสนล.พิษโควิดกดกำไรกลุ่ม ครึ่งปี 63 ดิ่งหนัก 47%
1
หุ้นกลุ่ม “เจ้าสัวเจริญ” อ่วมพิษโควิด มาร์เก็ตแคปวูบกว่า 1 แสนล้าน ขณะ กำไรครึ่งปี 63 ดิ่งหนัก 47% เหลือ 2.9 พันล้าน “แอสเสท เวิรด์” หนักสุดพลิกขาดทุนกว่า 768 ล้าน ราคาหุ้นยังไม่พ้นไอพีโอ
1
หุ้น ‘เสี่ยเจริญ’ มูลค่าวูบแสนล.พิษโควิดกดกำไรกลุ่ม ครึ่งปี 63 ดิ่งหนัก 47%
ด้าน “โบรกเกอร์” ประเมินระยะยาวได้ประโยชน์จากท่องเที่ยวในประเทศฟื้นเหตุมีโรงแรมในไทย 100% ขณะ “เสริมสุข” เป็นบริษัทเดียวที่มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น
บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่ง “เสี่ยเจริญ” หรือ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นใหญ่ทั้งในนามบุคคลและผ่านบริษัทในเครือ ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 10 บริษัท ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีทั้งสิ้น 11 บริษัท เนื่องจาก บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) ได้ยื่นขอเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และซื้อขายวันสุดท้ายเมื่อ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา
ปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ของหุ้นทั้ง 10 บริษัท รวมกันอยู่ที่ราว 3.56 แสนล้านบาท โดย 2 ใน 10 บริษัทนี้ เป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปสูงกว่าหนึ่งแสนล้านบาท คือ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) และ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) มีมูลค่า 1.50 แสนล้านบาท และ 1.25 แสนล้านบาท ตามลำดับ
1
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว จะเห็นว่ามูลค่าของหุ้นทั้ง 10 บริษัท ในระดับสูงกว่า 3 แสนล้านบาทนี้ ลดลงมาจากเมื่อปลายปีก่อนซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ 4.6 แสนล้านบาท ลดลงไปถึง 1.05 แสนล้านบาท หรือราว 22.8% โดยมูลค่าที่ลดลงไปส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของราคาหุ้น AWC ที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3.92 บาท ยังคงต่ำกว่าราคาไอพีโอที่ 6 บาท กว่า 30%
1
ทั้งนี้ จะเห็นว่ามูลค่าหุ้น “เสี่ยเจริญ” ทั้ง 10 บริษัทนี้ มี 9 บริษัท ที่ลดลง เช่น หุ้น BJC มูลค่าลดลงไป 1.8 หมื่นล้านบาท โดยมีเพียงบริษัทเดียวที่มูลค่าเพิ่มขึ้น คือ บมจ.เสริมสุข (SSC) ซึ่งทำธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเพิ่มขึ้นราว 731 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจที่บริษัทกลุ่มเสี่ยเจริญดำเนินกิจการอยู่นั้น กระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ ไล่มาตั้งแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งดำเนินการโดย AWC และ บมจ.ยูนิเวนเจอร์ (UV) ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ผ่านบมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FPT) ธุรกิจอาหาร ผ่านบมจ.โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) และบมจ.อาหารสยาม (SFP) ธุรกิจประกันภัยผ่าน บมจ.อินทรประกันภัย (INSURE) และบมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) รวมถึงธุรกิจสื่อ ผ่าน บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (AMARIN)
ผลประกอบการของทั้ง 10 บริษัทรวมกันในช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 (1 ม.ค.-30 มิ.ย.) มีกำไรสุทธิรวมกัน 2.9 พันล้านบาท ลดลง 47.8% จากปีก่อนซึ่งทำได้ 5.6 พันล้านบาท โดยมี 4 บริษัทที่ผลประกอบการพลิกมาเป็นขาดทุนสุทธิ ได้แก่ AWC ที่ขาดทุน 768 ล้านบาท SFP ขาดทุน 122 ล้านบาท AMARIN ขาดทุน 85 ล้านบาท และ INSURE ขาดทุน 17 ล้านบาท
3
โฆษณา