19 ส.ค. 2020 เวลา 08:31 • การเมือง
สรุป จุดเด่น รัฐธรรมนูญ ปี 2540
แม้จะผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 14 ปีแล้ว ที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ปิดฉากลงไป หลังจากการรัฐประหาร ปี 2549
แต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มักถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง รวมถึงมีเสียงเรียกร้องให้นำมาใช้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือใช้เป็นโมเดลในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความโดดเด่น แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ อย่างไร ?
สปริงนิวส์ ได้สรุปมาเล่าสู่กัน ดังต่อไปนี้
1. ที่มาของรัฐธรรมนูญ
ถ้าย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ก็สืบเนื่องมาจากการตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชน หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2534
หลายมาตรา
แต่ถึงกระนั้นก็ตามที จากการที่รัฐธรรมนูญ ปี 2534 เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร
ของ รสช. ในเวลาต่อมาจึงมีการเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
กระทั่งกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 16 ของไทย
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540
2. สสร. ส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของประชาชน
ได้มีการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และจัดทำประชาพิจารณ์อย่างครอบคลุมทุกจังหวัดและทุกภาคส่วน
กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 99 คน แบ่งเป็น 2 ประเภท
ประเภทที่ 1 มาจากเลือกตั้งทางอ้อมจากประชาชน โดยแต่ละจังหวัด มีตัวแทน 1 คน รวมเป็น 76 คน ส่วนประเภทที่ 2 เป็นนักวิชาการ จำนวน 23 คน
3. ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นฉบับแรกและฉบับเดียวของไทย ที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งหมดจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้ง
อีกทั้งมีการแบ่งอำนาจระหว่างวุฒิสภา กับสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดเจน แม้ ส.ว. จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีสิทธิในการเลือกนายกฯ
ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่สมาชิกวุฒิสภา (บทเฉพาะกาล 5 ปี) จำนวน 250 คน มาจากการแต่งตั้ง แต่สามารถเลือกนายกฯ ได้
4. นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.
ประเด็นนี้เป็นไฮไลต์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เลยทีเดียว สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร แกนนำ รสช. ขึ้นเป็นนายกฯ จนนำไปสู่การประท้วงขับไล่ เพราะถูกมองว่า เป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ
ดังนั้นในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 จึงกำหนดอย่างชัดเจนว่า นายกฯ
ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น
5. รูปแบบการเลือกตั้ง ที่เอื้อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ
รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้มีการออกแบบเพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ โดยระบบการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ มีโอกาสยากมากที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะมีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด
ทำให้ต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค และมีพรรคเล็กพรรคน้อยมากมาย ส่งผลให้การดำเนินงานต่างๆ ไม่มีเอกภาพ และมักต้องยุบสภาก่อนครบเทอม
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เขตเดียว เบอร์เดียว จำนวน 400 คน และเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 100 คน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 500 คน
โดยพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งจากระบบดังกล่าวอย่างถล่มทลายในปี 2554 และสามารถอยู่ได้ครบเทอม 4 ปี และสร้างปรากฏการณ์เป็นพรรคการเมืองพรรคแรก ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสภาเกินครึ่ง ในปี 2558
ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะปิดฉากลง จากการรัฐประหาร ปี 2549
ซึ่งโมเดลของการเลือกตั้งแบบนี้ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือ สร้างความเข็มแข็งให้พรรคการเมือง พรรคร่วมรัฐบาลจึงมีจำนวนไม่มากนัก และมีเสถียรภาพ
ทำให้สะดวกในการดำเนินการด้านต่างๆ
แต่ข้อเสียก็คือ พรรคเล็กๆ แทบไม่มีโอกาสเข้ามาในสภา ต่างจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่มีการดีไซน์ให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย
เพื่อไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งมีคะแนนเสียงมากเกินไป
ดังจะเห็นได้จากการที่พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.เขต จำนวนมาก แต่กลับไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้แต่คนเดียว
6. เป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรอิสระต่างๆ
องค์อิสระ อาทิเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ , คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ฯลฯ มีจุดเริ่มต้นมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้นี่แหละ
ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริง เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง โดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาล
ข้อดีก็คือ หากองค์กรอิสระ มีความเข้มแข็ง ก็จะทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนข้อเสียก็คือ หากองค์อิสระมีความอ่อนแอ ก็จะกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองในการสร้างชอบธรรมให้กับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
และทั้งหมดนี้ก็คือ 6 จุดเด่น ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่สปริงนิวส์รวบรวมมานำเสนอ
ที่เมื่อถึงขั้นตอนการดำเนินการ ก็อาจพบปัญหาในบางจุดบางส่วน ที่ต้องปรับแก้ปรับปรุงกันไป
โดยการแก้ไขเพื่อทำให้ดียิ่งขึ้น เรียกว่า พัฒนา
แต่การเปลี่ยนแปลง แล้วไม่ได้ทำให้ดียิ่งกว่า... อันนี้ก็ไม่รู้... เรียกว่าอะไร ?
สรุปจุดเด่น รัฐธรรมนูญ ปี 2540
โฆษณา