Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขียนตามใจ ทำตามชอบ
•
ติดตาม
19 ส.ค. 2020 เวลา 14:42 • สุขภาพ
“🧑⚕️บันทึกหมอเด็กวัยเก๋า”🧸 ตอนที่ 1
🏥ตึกสองชั้นเก่าๆหลังนั้น เป็นเสมือนหนึ่งหลักจารึกเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านไปในชีวิตการเตรียมตัวเป็นแพทย์ของหมอนภาเพ็ญ
🎈ความจริงมันก็เป็นเพียงตึกคนไข้หลังหนึ่งในหลายๆหลัง……แต่มีความพิเศษในตัว …..ดูขรึมขลัง และศักสิทธิ์ หมอเพ็ญยอมรับว่ารู้สึกหวั่นๆเสียด้วยซ้ำในวันแรกๆที่ต้องเดินไปรับคนไข้ในยามดึกเพียงลำพัง..ก็มีแต่ตึกเก่าๆ..ทางเดินทั้งมืดและเงียบ..
🎈ตึกนี้เป็นตึกสองชั้นสำหรับรับคนไข้เด็กที่เป็นโรคติดเชื้อ อยู่ติดริมรั้วที่ปิดไว้ตลอดเวลา เพื่อกั้นไม่ให้เด็กวิ่งออกถนน
ตึกชั้นล่างสำหรับเด็กโต ชั้นบนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้นตึกนี้จึงมีการหมุนเวียนของคนไข้เข้าออกจำนวนมากที่สุดในแต่ละวัน
ตึกอานันทมหิดลหลังแรก (สร้างจากเงินพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2500)https://www2.si.mahidol.ac.th/siriraj130years/details/7/131
…..มีคนงานเข็นเปลเข้ามาส่งคนไข้
…..พยาบาลอุ้มเด็กที่มีสายน้ำเกลือระโยงระยางเดินขึ้นบันไดไปชั้นบน
......นักศึกษาแพทย์เดินกันขวักไขว่ เสื้อกาวน์ปลิว เพื่อรีบไปเจาะเลือดทำแล็บบ้าง ซักประวัติคนไข้บ้าง
......อาจารย์พานักศึกษาแพทย์กลุ่มย่อยเดินดูคนไข้ตามเตียง สาธิตวิธีตรวจผู้ป่วย
❣️ความเคลื่อนไหวต่างๆเหล่านี้ทำให้ตึกเก่าๆหลังนี้มีชีวิตชีวา❣️
เมื่อนภาเพ็ญเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ผ่านภาควิชากุมารเวชศาสตร์เป็นครั้งแรก อาจารย์พามาสาธิตการให้น้ำเกลือเข้าเส้นที่ตึกนี้ ตอนนั้นเพ็ญรู้สึกทึ่งกับวิธีการให้น้ำเกลือเด็กเล็กที่นี่ เพราะ ให้เข้าทางเส้นเลือดดำที่บริเวณหนังศีรษะ!
พยาบาลจะเอาผ้าห่อหุ้มลำตัวเด็กอย่างแน่นหนา ไม่ให้กระดุกกระดิก โผล่ออกมาเฉพาะหัว เอามือจับหัวให้มั่นคง โกนผมจนเห็นเส้นชัดเจนแล้วอาจารย์จึงบรรจงลงมือเอาเข็มแทงเข้าไปในเส้นอย่างนิ่มนวล โดยใช้คีมที่เป็นตัวหนีบจับเข็มค่อยๆสอยเข้าไป ถ้ามือหนักไปนิดหรือแทงแรงไปหน่อย เข็มก็จะออกนอกเส้น ดังนั้นงานนี้จึงต้องใช้ประสบการณ์ประสานกับความใจเย็น จึงจะทำได้สำเร็จ
คีมจับกับเข็มแทงน้ำเกลือ
เมื่อผ่านมาเป็นแพทย์ฝึกหัดที่เรียกว่า อินเทิร์นที่หมุนเวียนมาประจำตึกนี้ หมอเพ็ญก็ได้ฝึกการให้น้ำเกลือเด็กเล็ก หลังจากทำหน้าที่สั่งการรักษาคนไข้ตามปกติแล้ว อินเทิร์นยังมีหน้าที่แทงน้ำเกลือเข้าเส้นคนไข้ทุกคนที่ให้น้ำเกลือด้วย…….
ทุกคนบ่นกันอุบ เพราะคนไข้ไม่ใช่คนสองคน แต่เป็นสิบๆ ดังนั้นตลอดช่วงเช้าหลังจากดูคนไข้แล้ว ก็ต้องมานั่งหลังขดหลังแข็งแทงน้ำเกลือกันอยู่นั่น…..คนสุดท้ายเสร็จ….อ้าว! คนแรกน้ำเกลือหลุดเสียแล้ว กลับมาแทงใหม่อีกรอบ…..
ต่อเมื่อนภาเพ็ญจบการฝึกเป็นแพทย์ฝึกหัด จึงตระหนักว่า ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าที่เสียไปในการนั่งแทงน้ำเกลือนั้น ไม่ได้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะยามฉุกเฉินความชำนาญอันนี้จะช่วยชีวิตคนไข้ไว้ได้
เย็นวันนั้นเป็นวันลอยกระทง หมอเพ็ญอยู่เวรห้องฉุกเฉิน ดังนั้นหลังจากดูคนไข้รอบเย็นแล้วจึงแวะไปรับวิทยุติดตามตัวใส่กระเป๋าไว้ พบกับหมอศุภพร หมอรุ่นเดียวกันที่เป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกสูติกรรม
“ วันนี้อยู่เวรเหมือนกันหรือ? .” เพ็ญถาม
“ จ้ะ เดี๋ยวเราแว้บไปดูขบวนแห่กระทงกันก่อนไหม แล้วค่อยไปกินข้าวเย็นกัน” ศุภพรชวน
ขบวนแห่กระทงจัดกันอย่างสวยงาม กระทงใบใหญ่ตกแต่งด้วยดอกไม้บ้าง ผัก ผลไม้ บ้าง ล้วนทำอย่างวิจิตรบรรจง ขบวนนางนพมาศตัวน้อยๆ แต่งชุดไทย นุ่งโจงกระเบน มุ่นผมมวย มีพวงมาลัยดอกไม้สดรัดเอาไว้ ทุกคนเดินด้วยความตั้งอกตั้งใจ ดูน่ารักน่าเอ็นดูเป็นที่สุด
ภาพจาก เพจ siriraj pr :ศิริราช 130 ปี สืบสานประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2561 Photo by Mr. Wisit Sombatthawornkun
“วันนี้อยู่เวร อย่าไถลนาน เดี๋ยวจะถูกตามเสียก่อน”
“ จริงด้วยไปกันเถอะ “ เพ็ญตอบ แต่พูดยังไม่ทันขาดคำ
“ ปิ๊บ…ปิ๊บ…ปิ๊บ..” ทั้งคู่คว้าวิทยุของตัวเองขึ้นมาฟัง เพราะต่างก็นึกว่าเป็นของตัวเอง (ยุคก่อนมีโทรศัพท์มือถือ ใช้beeper ติดตามตัว)
“ เสียงลูกเธอร้องต่างหาก แหม! ร้องแต่หัววันเชียว “ ศุภพรกล่าว
พวกเรามักจะเปรียบวิทยุตามตัวว่าเป็น “ลูก” ก็เพราะ ถ้าร้องแต่ละที เราจะต้องหยุดทำอะไรทุกอย่าง รีบหันมาฟังว่าถูกบัญชาให้ไปที่ไหน และทำอะไร ซึ่งก็เหมือนกับ “ ลูกอ่อน” เราดีๆนี่เอง
“ ฉันไป E.R. ก่อนนะ “ เพ็ญหมายถึงห้องฉุกเฉิน และรีบเดินแยกทาง เดินตรงไปยังจุดหมาย
ความวุ่นวายโกลาหลหน้าห้องฉุกเฉินเป็นเรื่องปกติ คนไข้นอนบนเปลรถเข็นล้อมรอบด้วยหมู่ญาติ หมอหนุ่มๆสาวๆหน้าเคร่งเครียดเดินสวนกันไปมา.....เพ็ญเดินฝ่าฝูงชนเข้าไป ใจครุ่นคิดว่าวันนี้จะเจออะไรหนอ...
“หมอเข้ามาข้างในเลยค่ะ ….. เด็กท้องเสียมาก “ พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินส่งเสียงเรียก
หมอนภาเพ็ญเดินเข้าไปในห้องให้การรักษาด้านใน มีเด็กชายอายุประมาณ 3-4 เดือนนอนอยู่บนเตียง แพทย์ฝึกหัดกำลังพยายามแทงน้ำเกลือให้ ดูจากลักษณะภายนอก เพ็ญบอกได้ทันทีว่าเด็กอยู่ในสภาพขาดน้ำ
ความวุ่นวายใน E.R. ภาพจากซีรี่ย์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน
กระหม่อมหน้าซึ่งปกติจะเต็มพอดีๆ ดูบุ๋มลึกลงไปจนเห็นขอบรอยต่อกระโหลกศีรษะ ดวงตาเด็กซึ่งปกติจะแจ่มใส กลับดูลึกโบ๋ ริมฝีปากแห้ง เมื่อจับผิวหนังยกขึ้น จะตั้งอยู่สักครู่ก่อนจะกลับสู่สภาพเดิม ชีพจรเร็ว มือเท้าเริ่มเย็น
กระหม่อมทารก จาก https://www.doctor.or.th/article/detail/4981
“ มาให้พี่แทงให้ดีกว่า โกนหัวตรงนี้อีกหน่อยค่ะ” เพ็ญบอกพยาบาล
เมื่อพิจารณาดูเส้นเลือดที่หนังศีรษะ ที่คดเคี้ยวประหนึ่งเส้นแม่น้ำในแผนที่ เพ็ญเลือก เอาเส้นที่ตรงที่สุด เพื่อจะได้ให้น้ำเกลือได้สะดวก ค่อยๆบรรจงสอยเข็มเล็กๆเข้าไปอย่างเบามือ
โชคดีที่แทงครั้งเดียวก็ได้...
“ มือโปรมาเอง มีหรือจะแทงไม่ได้” พยาบาลเย้า
“ กำลังคิดในใจว่า ถ้าแทงไม่ได้จะต้อง cut down แต่คิดอย่างนี้ทีไร เป็นแทงได้ทุกที” ถอนหายใจโล่อกไปอีกเปลาะ
Cut down คือ การใส่สายน้ำเกลือเข้าไปในเส้นเลือดโดยตรง จะทำในกรณีช็อค หรือหาเส้นแทงไม่ได้
หมอเพ็ญให้น้ำเกลือฉีดเข้าเส้นโดยเร็วในระยะแรกก่อน เพราะเด็กต้องการสารน้ำทดแทนอย่างเร่งด่วน สักครู่ใหญ่ เมื่อเด็กเริ่มดีขึ้นจึงให้ย้ายไปรักษาที่ตึกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ
เมื่อรถเข็นผู้ป่วยถูกเข็นพ้นประตูห้องฉุกเฉิน แม่เด็กก็ถลาเข้ามาหา
“ เป็นยังไงบ้าง หมอ ลูกของหนูจะเป็นอะไรไหม “ ผู้เป็นแม่ถาม น้ำตาคลอ
“ ตอนนี้ให้น้ำเกลืออยู่ ดีขึ้นกว่าตอนแรกแล้วค่ะ เดี๋ยวคุณแม่เดินตามเข้าไปที่ตึกนะคะ หมอจะได้ซักประวัติด้วย “
(อ่านตอนต่อไป พรุ่งนี้ 20 สค63 ค่ะ)
บันทึก
6
6
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
บันทึกหมอเด็กวัยเก๋า
6
6
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย