25 ก.ค. เวลา 12:43 • ประวัติศาสตร์

14 ครั้ง กับการสูญเสียดินแดนของประเทศไทยในอดีต

เหมียวฟิวเล่าเรื่อง จะขอนำผู้อ่านไปทำความรู้จัก กับดินแดนของไทยที่สูญเสียไปทั้งหมด 14 ครั้ง ก่อนเริ่มเขียนบทความนี้ แอดมินก็บอกก่อนว่า เรื่องประวัติศาสตร์ ชาติการเมือง ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความคิดเห็นของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน อยากให้คอมเมนต์ให้เกียรติกันไม่ดราม่าซึ่งกันและกัน ถือว่าเป็นการมาแลกเปลี่ยนความรู้กันดีกว่าครับ
ไทย หรือในอดีตก็คือ สยาม ประวัติศาสตร์ของเรานั้นเผชิญการทำศึกสงครามยึดครองดินแดนมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่สมัยก่อตั้งราชธานีสุโขทัย ที่เรายึดถือกันว่าเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ตลอดจนผลัดเปลี่ยนขั้วอำนาจมาเป็นกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ราชธานีปัจจุบันของเรานั่นเอง ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราทั้งเสียเอกราช กอบกู้ รุกไล่ตีคืน ยึดครอบครองดินแดนมาอยู่ใต้อำนาจของไทย ซึ่งถ้าเราได้ดูจากแผนที่ของไทยในอดีต
ขอขอบคุณภาพจากเพจ Facebook อาเซียนศึกษา
จะเห็นได้ว่าประเทศลาว กัมพูชา เมียนมาร์บางส่วน มาเลเซียบางส่วน และจีนตอนใต้เป็นหัวเมืองประเทศราชภายใต้อำนาจของประเทศไทย เกริ่นมาซะยาว
แอดมินมาเข้าเรื่องเลยดีกว่า 14 ครั้ง และหัวเมืองประเทศราชที่ไทย ต้องเสียให้กับผู้ล่าอาณานิคมในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจักรวรรดิที่มีอำนาจอย่างอังกฤษ และฝรั่งเศส
ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ 2329 สูญเสียเกาะหมากหรือปีนัง สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระยาไทรบุรีปล่อยเกาะหมากหรือปีนังให้อังกฤษเช่าในพื้นที่ 375 ตารางกิโลเมตร เพื่อให้อังกฤษคุ้มครองพื้้นที่ของเกาะ เนื่องจากการยกทัพมาจัดระเบียบหัวเมืองทางภาคใต้ ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ภายหลังดินแดนนี้ตกเป็นของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ
แผนที่ เกาะหมาก หรือเกาะปีนัง
ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ 2336 สูญเสียทวาย มะริด และตะนาวศรี สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ด้วยเหตุที่ชาวเมืองทวายนั่นไม่พอใจที่กองทัพไทยนั่นเข้ายึดครอง และเจ้าเมืองทวายก็เป็นไส้ศึกเข้าร่วมกับทางเมียนมาร์ รัชกาลที่ 1 จึงทำการเข้าตีทวายเพื่อยึดกลับคืน แต่ทำไม่สามารถยึดทวายคืนกลับมาได้ เนื่องจากทางในสมัยนั้นสยามไม่ชำนาญการเดินทางไกล ทำให้ต้องเสีย ทวาย มะริด และตะนาวศรีไปพร้อม ๆ กัน ดินแดนนี้เป็นของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย รวมพื้นที่ 55,000 ตารางกิโลเมตร
แผนที่ เมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี
ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ 2353 สูญเสียเมืองบันทายมาศ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ช่วงนั้นเป็นช่วงหลังรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต องเชียงสือกษัตริย์ของญวณเกิดแข็งข้อกับทางสยามในเวลานั้น ได้ทำการยึดเอาบันทายมาศคืนไป รัชกาลที่ 2 ทรงเห็นว่าในช่วงเวลาเดียวกันมีสงครามกับพระเจ้าปดุงของเมียนมาร์ กับหัวเมืองทางใต้ และไม่สามารถรับศึกทั้ง 2 ด้านได้ จึงยอมปล่อยบันทายมาศให้กับญวณไป ปัจจุบันบันท้ายมาศอยู่ในจังหวัดกัมปอต ประเทศกัมพูชา
แผนที่ เมืองบันทายมาศ
ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ 2368 สูญเสียเชียงตุง เมืองพง และแสนหวี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงนั้นเกิดกบกเจ้าอนุวงศ์ในประเทศลาว ทำให้ต้องยกกองทัพไปปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ประกอบกับช่วงเวลานั้น ดินแดนเชียงตุง เมืองพง และแสนหวี (พื้นที่ประมาณ 62,000 ตารางกิโลเมตร) ที่อยู่ภายใต้การปกครองของไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เมียนมาร์ต้องการยึดดินแดนนี่กลับคืนมา แต่เมียนมาร์พ่ายแพ้สงครามกับอังกฤษ เชียงตุง เมืองพง และแสนหวี ก็ตกไปเป็นของอังกฤษด้วยเช่นเดียวกัน
แผนที่ เมืองเชียงตุง เมืองพง และแสนหวี
ครั้งที่ 5 ปี พ.ศ 2369 สูญเสียรัฐเปรัค ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 1 ปีผ่านไปหลังเสีย เชียงตุง เมืองพง และแสนหวีให้อังกฤษไปแล้ว อังกฤษยังมีทีท่าจะเข้ายึดรัฐเปรัคอีก หลังเคยได้เกาะหมากไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยทางรัฐเปรัคเองก็สนใจจะเข้ากับทางอังกฤษด้วยเพราะขณะนั้นอังกฤษกำลังมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก อังกฤษจึงเข้ามาเจรจากับทางสยามในเวลานั้นเพื่อเข้าดูแลรัฐเปรัค โดยห้ามไม่ให้สยามส่งกองทัพเข้าไป ประกอบกับสยามติดพันศึกกับเจ้าอนุวงศ์ ทำให้ต้องจำยอมเสียรัฐเปรัคไปให้กับอังกฤษในที่สุด
แผนที่ รัฐเปรัค
ครั้งที่ 6 ปี พ.ศ 2393 สูญเสียสิบสองปันนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุการณ์ก่อนหน้านั้น เกิดกบฎต่อต้านเจ้าแสนหวีฟ้า เจ้าผู้ครองเชียงรุ้ง เมืองหลวงในดินแดนสิบสองปันนา เนื่องจากเจ้าแสนหวีฟ้าปกครองประชาชนด้วยการขูดรีด จึงทำให้เจ้าแสนหวีส่งน้องชายเข้ามาเจรจาขอความช่วยเหลือกับทางสยาม ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะตีเอาเชียงตุงกลับมาด้วย (การจะไปถึงเชียงรุ่งต้องผ่านเชียงตุงก่อน) แต่การเข้าตีเชียงตุงไม่เป็นผลสำเร็จ
เหตุการณ์นี้ล่วงเลยจนมาถึงรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ยกทัพไปตีเชียงตุงเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นเคย ทำให้ต้องสูญเสียสิบสองปันนา ให้กับทางเมียนมาร์ ก่อนที่ดินแดนนี้จะถูกผนวกรวมเข้ากับประเทศจีน ปัจจุบันนอยู่ในเขตมณฑลยูนนาน สิบสองปันนามีพื้นที่ราวประมาณ 90,000 ตารางกิโลเมตร (การเสียดินแดนสิบสองปันนาเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจมาก ถ้ามีโอกาสจะมาเขียนบทความแยกต่างหากครับ)
แผนที่ ดินแดนสิบสองปันนา
ครั้งที่ 7 สูญเสียกัมพูชาส่วนนอก และเกาะอีก 6 เกาะ การเสียดินแดนครั้งที่ 7 เกิดขึ้นในปี พ.ศ 2410 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไทย หรือสยามในสมัยนั้นต้องเผชิญหน้ากับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกอย่างหนัก โดยฝรั่งเศสที่ต้องการเข้ามามีสิทธิในดินแดนของกัมพูชา หรือเขมรในสมัยนั้น ฝรั่งเศสทำสัญญากับกัมพูชาเพื่อแสดงตนเป็นรัฐอารักขาให้
ประกอบกับกัมพูชาในตอนนั้นก็ต้องการ
ดินแดนที่เสียไปให้กับ ญวณ และสยามคืนด้วย ขณะเดียวกันทางสยามเองก็ไม่มีกำลังพอที่จะต่อกรกับฝรั่งเศสได้ ทำให้สยามจึงต้องเสียดินแดนกัมพูชา และเกาะอีก 6 เกาะไปให้กับฝรั่งเศส รวมพื้นที่ประมาณ 120,000 ตารางกิโลเมตร
แผนที่ กัมพูชา ส่วนนอก
ครั้งที่ 8 สูญเสียแคว้นสิบสองจุไท เป็นอีกครั้งที่สยามต้องเสียดินแดนให้กับชาติอาณานิคมอย่างไม่เป็นธรรมอีกครั้ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2431 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากเกิดกบฏจีนฮ่อ ที่เข้ารุกรานดินแดนทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ และ 1 ในจุดสำคัญก็คือ แคว้นสิบสองจุไท ดินแดนที่อยู่ระหว่าง ลาว และเวียดนาม ทางสยามจึงจัดกองทัพ เพื่อเข้าช่วยเหลือ
ทางฝรั่งเศสมองเป็นช่องทางที่ดี แกล้งนำกองทัพเข้าช่วยเหลือกองทัพสยามปราบจีนฮ่อ
แต่เมื่อเสร็จสิ้นสงครามทหารฝรั่งเศสกลับไม่ถอนทัพออกจากสิบสองจุไทย สยามไม่มีทางเลือกจึงต้องทำสัญญายกสิบสองจุไท ให้กับฝรั่งเศส รวมพื้นที่ประมาณ 87,000 ตารางกิโลเมตร (สิบสองจุไท คือแคว้นที่ประกอบไปด้วย 2 เมืองหลัก คือเมืองไล และเชียงค้อ)
แผนที่ แคว้นสิบสองจุไท
ครั้งที่ 9 สูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน เกิดขึ้นในปี 2435 ห่างจากครั้งที่ 8 เพียง 4 ปีเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเหตุการณ์หลังอังกฤษทำการยึดครองเมียนมาร์ได้ทั้งหมด และพยายามที่จะเข้ายึดครองพื้นที่ตามแนวชายแดนหรือ ที่เรียกกันว่า ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน (ประกอบด้วย เมืองเงี้ยว และกระเหรี่ยง 13 หัวเมือง) ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก โดยดินแดนดังกล่าวอยู่ในการดูแลของล้านนา (เชียงใหม่) ซึ่งเป็นเขตของสยามประเทศ
แผนที่ แสดงพื้นที่ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน
แต่อังกฤษอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนนี้ว่าเคยเป็นของเมียนมาร์มาก่อน และทางฝั่งของสยามก็ไม่มีหลักฐานอ้างสิทธิ์เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ทำให้อังกฤษใช้ข้ออ้างนี้เป็นเหตุ ประกอบกับสยามในเวลานั้นไม่มีกำลังมากพอที่จะต่อกรกับอังกฤษ จึงต้องจำยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำสาละวินให้กับอังกฤษทั้งหมด พื้นที่โดยประมาณ 30,000 ตารางกิโลเมตร
ครั้งที่ 10 สูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หรือ ลาว การเสียดินแดนครั้งที่ 10 นี้ถือเป็นครั้งที่สร้างความเจ็บปวดให้ชาวสยามในเวลานั้นเป็นอย่างมาก ทำให้ชาวสยามได้รู้ซึ้งในความเจ้าเล่ห์ การเอารัดเอาเปรียบจากชาติตะวันตก เหตุการณ์เสียดินแดนครั้งที่ 10 นี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก จะสรุปพอให้ได้ใจความครับ ในปี 2436 หลังการเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำสาละวินให้กับอังกฤษ เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างสยาม กับฝรั่งเศส ทำให้เกิดการสู้รบกัน และเกิดความเสียหายขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย
โดยที่ฝรั่งเศสอ้างว่าทั้งหมดเป็นความผิดของฝ่ายสยามเพียงฝ่ายเดียว สยามจะต้องจ่ายค่าทำขวัญ เป็นจำนวนเงินสูงถึง 1 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินที่มูลค่าสูงมากในสมัยนั้น ขณะเดียวกันสยามยังต้องจ่ายเป็นเงินมัดจำอีกถึง 3 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันว่าไทยจะทำตามสัญญา
พร้อมกับยึดเมืองจันทบุรี และตราด ส่งเรือรบปิดล้อมบริเวณอ่าวไทยเอาไว้ ทำให้ทางสยามไม่มีทางเลือกต้องปฏิบัติตามที่ ฝรั่งเศสต้องการ ยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ประเทศลาวทั้งหมด พื้นที่ประมาณ 143,000 ตารางกิโลเมตร) ให้กับฝรั่งเศส และไทยต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ภายใน 1 เดือน (ถ้ามีโอกาสแอดมินจะมาเขียนขยายความการเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเพิ่มเติมนะครับ เนื่องจากรายละเอียดค่อนข้างเยอะพอสมควรครับ)
แผนที่แสดงพื้นที่ ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หรือลาว
ครั้งที่ 11 สูญเสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ในปี 2446 ให้กับฝรั่งเศส เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาจากผลกระทบ ร.ศ 112 ที่ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไป สรุปเหตุการณ์พอสังเขปได้ว่า ฝรั่งเศสนั่นยังไม่หยุดที่จะครอบครองดินแดนฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ และมีความต้องการที่จะยึดครองดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงอีกโดยใช้วิธีการแทรกแซงการปกครองเข้าไปในหลวงพระบาง เพื่อให้เกิดการต่อต้านกับทางรัฐบาลสยามในเวลานั้น
ทางฝั่งสยามเองไม่ต้องการที่จะมีปัญหากับฝรั่งเศสอีก และมีความต้องการที่จะนำจันทบุรีที่โดนยึดไปกลับคืนมาด้วย ด้วยเหตุนี้สยามจึงยินยอมจะยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงทั้งหมดให้ฝรั่งเศสระยะทาง 25 กิโลเมตร พื้นที่รวมทั้งหมด 25,500 ตารางกิโลเมตร
แผนที่แสดงพื้นที่ ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง
ครั้งที่ 12 สูญเสียพระตะบอง เสียมราฐ และเมืองศรีโสภณ ในปี 2449 หรือเสียดินแดนเขมรทั้งหมด พื้นที่ 51,000 ตารางกิโลเมตร หลังเคยเสียเขมรส่วนนอกไปแล้ว ครั้งนี้สยามต้องสูญเสียเขมรส่วนในให้กับฝรั่งเศสไปอีก
(พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ) สาเหตุมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นว่าเมืองตราด เมืองด่านซ้าย เกาะกูด เกาะกง เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของไทย จึงจะขอคืนจากฝรั่งเศส
แต่อย่างว่าไม่มีทางที่ชาติอาณานิคมจะยอม ทางฝรั่งเศสจึงใช้ข้ออ้างนี้ทำสนธิสัญญากับไทย โดยไทยต้องยกดินแดนเขมรส่วนใน พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส โดยฝั่งสยามจะได้เมืองตราด เมืองด่านซ้าย เกาะกูด และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของไทยคืนมา แต่ทางฝรั่งเศสก็ยังเล่นแง่ไม่คืน เกาะกงให้กับฝั่งสยามอีก
แผนที่ เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และเมืองศรีโสภณ
ครั้งที่ 13 สูญเสียรัฐกลันตัน ตังกานู ไทรบุรี และปะลิส ปี 2451 ในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามในเวลานั้นมองเห็นว่า หัวเมืองทางใต้บริเวณแหลมมลายู ที่ประกอบไปด้วยรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส เป็นเขตปกครองที่อยู่ห่างไกลยากต่อการดูแล จึงใช้ดินแดนส่วนนี้เป็นข้อแลกเปลี่ยนกับอังกฤษ เพื่อที่สยามจะได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตคืนมา และผลประโยชน์อื่นที่จะได้คืนมาจากอังกฤษ
หลังสยามเสียผลประโยชน์ในสนธิสัญญาเบาริ่ง และทำให้ชาวสยามในสมัยนั้นถูกกดขี่มาอย่างยาวนาน **รัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิสปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศมาเลเซีย พื้นที่ประมาณ 80,000 ตารางกิโลเมตร**
แผยที่แสดง รัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และรัฐปะลิส
ครั้งที่ 14 สูญเสียเขาพระวิหาร ในปี 2505 สำหรับความคิดของแอดมินแล้วมันเป็นกรณีพิพาทกันเสียมากกว่า แม้ว่าเส้นทางขึ้นเขาพระวิหารจะอยู่ในเขตของประเทศไทย แต่ตัวปราสาทกลับอยู่ในพื้นที่ของกัมพูชา ซึ่งทางฝั่งกัมพูชาก็มีหลักฐานกล่าวอ้างเป็นรูปถ่ายในยุคที่ยังตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เมื่อครั้งที่
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยือนเขาพระวิหาร แล้วฝรั่งเศสชักธงชาติขึ้นเอาไว้ ทำให้หลักฐานในส่วนนี้มีน้ำหนักมากพอในศาลโลก ทำให้เขาพระวิหารเป็นกัมพูชาไปในที่สุด
แผนที่แสดงพื้นที่ เขาพระวิหาร
***หากมีข้อผิดพลาดประการใดเกี่ยวกับเนื้อหาในบทความสามารถแสดงความคิดเห็น หรือแจ้งแก้ไขได้เลยนะครับ ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ***
บทความโดย เพจ เหมียวฟิวเล่าเรื่อง
รวบรวมข้อมูล เพจ เหมียวฟิวเล่าเรื่อง
โฆษณา