20 ส.ค. 2020 เวลา 02:24 • ประวัติศาสตร์
#เราได้ให้คำมั่นสัญญากันไว้ที่ป๋างโหลง เพื่อให้คนไตก่อตั้งเป็นประเทศปกครองตนเอง แต่จนถึงตอนนี้ ผ่านมาแล้ว 10 ปี 20 ปี ไหนล่ะคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ทำไมเราถึงยังไม่ได้รัฐฉานกลับคืน หรือสัญญาป๋างโหลงตายไปพร้อมกับนายพลอองซานแล้วหรือไร จนถึงตอนนี้ ใครหลอกลวงใคร ไม่บอกก็รู้ แต่คนไตทุกคนรู้ดี
#ประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้นในรัฐฉานถูกสะท้อนออกมาเป็นบทเพลงเก่าซึ่งยังคงฮิตติดหูในหมู่คนไทใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ มากกว่านั้นตอกย้ำถึงความเจ็บใจที่ไม่มีวันหายจากการที่ต้องสูญเสียรัฐฉานให้พม่า นับตั้งแต่การลงนามสัญญาป๋างโหลง ผ่านมาแล้ว เกือบเจ็ดสิบปี ความฝันที่จะแยกตัวก่อตั้งเป็นประเทศของคนไทใหญ่ที่ระบุไว้ในสัญญาป๋างโหลงนั้นไม่เคยเป็นจริงเลยสักครั้ง
รัฐฉาน หรือเมืองไต เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด มีพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นผืนป่าและภูเขาสูง เป็นรัฐที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรรมชาติ ตั้งแต่ในอดีตเรื่อยมาจนถึงปี 2502 รัฐฉานได้ปกครองด้วยระบบเจ้าฟ้า หรือคล้ายๆ กับเจ้าเมืองปกครอง โดยเจ้าฟ้าสืบทอดเชื้อสายในตระกูล ในบันทึกประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมของอังกฤษ รัฐฉานมีเจ้าฟ้าปกครองทั้งสิ้น 34 หัวเมือง เจ้าฟ้าอาจไม่ใช่คนไทใหญ่ทั้งหมด เช่น ที่เมืองน้ำสั่น ทางเหนือรัฐฉาน เจ้าฟ้าคือ เจ้าขุนปานจิ่ง ซึ่งเป็นชาวปะหล่อง เจ้าฟ้าเมืองป่างตะละ เจ้าวินจี่ เป็นชาวทะนุ เป็นต้น แต่แม้จะแตกต่างหลากหลายชาติพันธุ์อยู่ด้วยกันในรัฐฉาน แต่ผู้คนในยุคนั้นต่างพึ่งพาถ้อยทีถ้อยอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง นายพลอองซาน (บิดาของนางอองซาน ซูจี) ได้หันมาโน้มนาวให้รัฐต่างๆ รวมถึงรัฐฉานร่วมกับพม่าเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ด้วยความที่ไม่เชื่อใจพม่ามาตั้งแต่ต้น ทางเจ้าฟ้าจึงได้ขอให้มีการทำข้อตกลงกันไว้ที่เมืองป๋างโหลง ทางใต้ของรัฐฉานเมื่อปี 2490 ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “สัญญาป๋างโหลง” ซึ่ง 1 ใน 9 ข้อตกลงนั้นระบุไว้ว่า หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษและอยู่ร่วมกับพม่าครบ 10 ปี รัฐฉาน รัฐชินและรัฐคะฉิ่นที่เข้าร่วมลงนามสัญญาป๋างโหลงมีสิทธิ์แยกตัวออกจากพม่าไปตั้งประเทศได้ตามที่ต้องการ ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าก็มีการเขียนไว้ด้วยว่า ‘รัฐฉานสามารถเป็นอิสระจากพม่าได้ในปี พ.ศ. 2501
หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐต่างๆ และพม่าได้รวมตัวก่อตั้งเป็นสหภาพพม่าขึ้น มีประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีและใช้ระบบสภา แต่อาจกล่าวได้ว่า การรวมกันเป็นสหภาพนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายพลอองซาน มาตั้งแต่ต้น แต่มาจากริเริ่มของเจ้าฟ้าไทใหญ่ ที่พยายามก่อตั้งสหภาพขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ 2488 โดยในตอนแรกมีแนวคิดจะร่วมกับรัฐคะฉิ่นและรัฐชิน แต่ไม่รวมกับพม่า
ความพยายามขอแยกตัวออกมาจากพม่ายังไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 2502 เจ้าฟ้าถูกขอให้สละอำนาจ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกับพม่า แต่ความไม่ชอบมาพากลเริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อกองทัพพม่าได้ส่งทหารพม่าเข้ายึดครองพื้นที่ต่างๆ ของรัฐฉาน โดยใช้ข้ออ้างเข้ามาปราบปรามทหารก๊กมินตั๋งที่ถอยร่นมาจากประเทศจีน แต่ฝันร้ายที่สุดของรัฐฉานเกิดขึ้นจนได้ในปี 2505 เมื่อนายพลพม่านามว่า ‘เนวิน’ ได้ยึดอำนาจและปกครองประเทศโดยระบอบเผด็จการทหาร
หลังเนวินยึดอำนาจในปี 2505 เจ้าฟ้าเมืองต่างๆ ทุกพระองค์ถูกจับกุมตัวไปคุมขังไว้ที่คุกอินเส่ง ในย่างกุ้งเป็นเวลานานเกือบนับ 10 ปีในฐานะนักโทษทางการเมือง เจ้าฟ้าบางพระองค์สิ้นพระชนม์ในคุก หนึ่งในนั้นคือเจ้าฟ้าส่วยแต้ก แห่งเมืองหยองห้วยที่สิ้นพระชนม์จากโรคหัวใจล้มเหลว หลังอยู่ในคุกนานกว่า 8 เดือน
ก่อนหน้าที่เนวินจะยึดอำนาจนั้น เจ้าส่วยแต้กดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศพม่า ในหนังสือ ‘The White Umbrella’ ได้กล่าวไว้ว่า ในงานพิธีศพของเจ้าส่วยแต้กที่จัดขึ้นที่วังหยองห้วยนั้น มีประชาชนจำนวนมาก ทั้งชาวไทใหญ่ ชาวพื้นเมืองที่เดินเท้ามาจากภูเขาอันห่างไกลเป็นเวลาหลายวันเพื่อมาเคารพศพของเจ้าส่วยแต้กเป็นครั้งสุดท้าย ภาพของผู้คนจำนวนมากที่มาร่วมงานศพของเจ้าฟ้าองค์นี้กลายเป็นภาพที่แสดงออกถึงการต่อต้านไม่ยอมรับกองทัพพม่าโดยปราศจากอาวุธ เป็นงานศพเจ้าฟ้าที่จัดอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติและเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นในรัฐฉาน
อีกหนึ่งเจ้าฟ้าที่ชีวิตพลิกผันนั่นคือ ‘เจ้าจายหลวงแห่งเมืองเชียงตุง’ เมืองใหญ่สำคัญอันดับต้นๆ ของรัฐฉาน เจ้าจายหลวงที่สำเร็จการศึกษามาจากต่างประเทศและเพิ่งได้ขึ้นบริหารเมืองเชียงตุงเพียง 15 ปี ถูกเนวินจับคุมขังเป็นเวลา 6 ปี ที่คุกอินเส่ง มรสุมชีวิตของท่านยังไม่จบแค่นั้น ถึงแม้ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเชียงตุง ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่ย่างกุ้งจนวาระสุดท้าย เจ้าจายหลวงวัย 70 ปี สิ้นพระชนม์ที่ย่างกุ้งเมื่อปี 2540 โดยไม่มีโอกาสได้เห็นบ้านเกิด ปิดฉากเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายแห่งเชียงตุง
ส่วนเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าสีป้อ เมืองทางเหนือได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ในวันที่เนวินยึดอำนาจ อิงเง เซอร์เจน หรือ เจ้าสุจันทรี มหาเทวี ของเจ้าจ่าแสงเชื่อว่า เจ้าจ่าแสงนั้นถูกทหารของเนวินจับตัวไป เพราะหลังถูกจับตัวไปไม่นานได้รับจดหมายข้อความสั้นๆ จากเจ้าจ่าแสงที่ระบุว่า ถูกจับตัวไว้ที่กระท่อมแห่งหนึ่ง แต่เมื่อหลายปีผ่านไป ไม่ได้รับข่าวของเจ้าฟ้าสีป้ออีกเลย เจ้าสุจันทรีจึงได้พาธิดาทั้งสอง ซึ่งก็คือ ‘เจ้าเกนรี’ และ ‘เจ้ามายารี’เดินทางออกจากพม่า ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐฯจนถึงปัจจุบัน #ในภาพกลุ่มเจ้าฟ้า รัฐ ฉาน แต่งกายเต็มยศสนทนากัน.ที่ลานสนาม เมืองเดลี.ประเทศอินเดีย บรรดาเจ้าฟ้า ซึ่ง ไปประชุมเดอบาร์ที่อินเดีย ร่วมกันกับ อินเดีย และ พม่า ที่เป็นเมืองภายใต้ การปกครอง ของอังกฤษ เจ้าอาณานิคม ในปี ค.ศ. 1903--- ขอบคุณภาพจาก ยวนลับแลง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา