20 ส.ค. 2020 เวลา 07:02 • ประวัติศาสตร์
"สิ้นแสงฉาน"
รัฐฉาน หรือเมืองไต เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด มีพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นผืนป่าและภูเขาสูง เป็นรัฐที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรรมชาติ ตั้งแต่ในอดีตเรื่อยมาจนถึงปี ๒๕๐๒ รัฐฉานได้ปกครองด้วยระบบเจ้าฟ้า โดยมีเจ้าฟ้าสืบทอดเชื้อสายในตระกูล ในบันทึกประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมของอังกฤษ รัฐฉานมีเจ้าฟ้าปกครองทั้งสิ้น ๓๔ หัวเมือง
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐต่าง ๆ รวมถึงรัฐฉานได้ร่วมกับพม่าเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่ด้วยความที่ไม่เชื่อใจพม่ามาตั้งแต่ต้น ทางเจ้าฟ้าจึงขอให้มีการทำข้อตกลงกันไว้ที่เมืองป๋างโหลง ทางใต้ของรัฐฉานเมื่อปี ๒๔๙๐ เรียกว่า “สัญญาป๋างโหลง” โดย ๑ ใน ๙ ของข้อตกลงได้ระบุไว้ว่า หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษและอยู่ร่วมกับพม่าครบ ๑๐ ปีแล้ว รัฐฉาน รัฐชินและรัฐคะฉิ่นที่เข้าร่วมลงนามในสัญญาป๋างโหลงมีสิทธิ์แยกตัวออกจากพม่าไปตั้งประเทศได้ตามที่ต้องการ ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าก็มีการเขียนไว้ด้วยว่า ‘รัฐฉานสามารถเป็นอิสระจากพม่าได้ในปี ๒๕๐๑’
หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐต่าง ๆ และพม่าได้รวมตัวก่อตั้งเป็นสหภาพพม่าขึ้น มีประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และใช้ระบบสภาในการบริหาร
ความพยายามขอแยกตัวออกมาจากพม่ายังไม่ประสบความสำเร็จ ในปี ๒๕๐๒ เจ้าฟ้าถูกขอให้สละอำนาจ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกับพม่า แต่ความไม่ชอบมาพากลเริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อกองทัพพม่าได้ส่งทหารพม่าเข้ายึดครองพื้นที่ต่างๆ ของรัฐฉาน โดยใช้ข้ออ้างเข้ามาปราบปรามทหารก๊กมินตั๋งที่ถอยร่นมาจากประเทศจีน จนกระทั่งในปี ๒๕๐๕ นายพลพม่านามว่า ‘เนวิน’ ได้ยึดอำนาจและปกครองประเทศพม่าโดยระบอบเผด็จการทหาร
เจ้าฟ้าเมืองต่าง ๆ ทุกพระองค์ถูกจับกุมตัวไปคุมขังไว้ที่คุกอินเส่ง ในย่างกุ้งเป็นเวลานานเกือบนับ ๑๐ ปีในฐานะนักโทษทางการเมือง เจ้าฟ้าบางพระองค์สิ้นพระชนม์ในคุก เจ้าฟ้าหลายพระองค์ต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ ซึ่งเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าเมืองสีป้อ เมืองทางเหนือได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ในวันที่เนวินยึดอำนาจ "อิงเง เซอร์เจน" หรือ เจ้านางสุจันทรี พระมหาเทวีของเจ้าจ่าแสง หลายปีผ่านไปเจ้าสุจันทรีก็ไม่ได้รับข่าวของเจ้าฟ้าสีป้ออีกเลย เจ้านางจึงพาธิดาทั้งสอง ซึ่งก็คือ ‘เจ้าเกนรี’ และ ‘เจ้ามายารี’ เดินทางออกจากพม่า กลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐฯ จนถึงปัจจุบัน
ภายหลังการล้มล้างระบอบเจ้าฟ้า หอคำหลวงของหลายเมืองได้ถูกทุบทำลาย โดยเฉพาะหอคำหลวงเมืองเชียงตุง นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในแง่ของประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเป็นอย่างยิ่ง
 
#ข้อมูลและรูปภาพ BY TRANSBORDERNEWS ON 24 สิงหาคม, 2015 #เว็บไซต์สำนักข่าวชายขอบ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา