30 ส.ค. 2020 เวลา 01:30 • ประวัติศาสตร์
‘Cross the Rubicon’ วลีนี้มาจากไหน ?
ข่าวการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก (Free People Movement) ของไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้ถูกรายงานข่าวไปทั่วโลก แม้แต่สื่อดังอย่าง The Guardian ของอังกฤษยังเปรียบการชุมนุมครั้งใหญ่นี้ว่าเหมือนการ "ข้ามแม่น้ำรูบิคอน (cross the Rubicon)"
วลีนี้มีที่มาที่อย่างไร ?
ประโยคดังกล่าวมีจุดกำเนิดย้อนไปเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว
ในช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล ยุคของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ที่การเมืองโรมันอยู่ในสภาพเปราะบางมาก
การเมืองของโรมยุคนั้นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย กลุ่มขั้วอำนาจเก่าหรือฝ่ายอ็อปติเมเตส (Optimates) ประกอบด้วยชนชั้นสูงและตระกูลขุนนางได้คุมวุฒิสภา (Roman Senate) มายาวนาน กับฝ่ายตรงข้ามอย่างป๊อปปูลาเรส (Populares)
ที่เชื่อว่าอำนาจมาจากสามัญชน (Plebeians) แม้จะมีความพยายามปฏิรูปการเมืองโดยผู้นำฝ่ายป๊อปปูลาเรสหลายครั้ง แต่พวกเขากลับถูกตราหน้าว่าจ้องจะทำลายรัฐโรมันเสมอ อันเป็นข้อกล่าวหาคลาสสิคของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก่อนลงเอยด้วยการถูกอัปเปหิหรือสังหารในเกมการเมืองสุดแสนอันตราย
1
จูเลียส ซีซาร์เกิดในตระกูลเก่าแก่ของฝั่งป๊อปปูลาเรส ไต่เต้าขึ้นมาในฐานะนักการเมืองป๊อปปูลาเรสคนหนึ่ง เขาได้รับความนิยมล้นหลามด้วยนโยบายกระจายที่ดินทำกินแก่คนจนระหว่างได้รับเลือกเป็นกงสุล สภาที่หวั่นอำนาจของซีซาร์จึงส่งเขาไปดูแลแคว้นกอล (Gaul) อันห่างไกล พร้อมกองทัพขนาดใหญ่ ซีซาร์ใช้กองทัพนั้นพิชิตส่วนอื่นๆ ของแคว้นกอลจนสำเร็จ ข่าวความสำเร็จของเขาทำให้คะแนนนิยมยิ่งพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อการเจรจาที่ล้มเหลวระหว่างฝ่ายอ็อปติเมเตสกับฝ่ายป๊อปปูลาเรสไม่เป็นผล ซีซาร์จึงนำกองทัพไปยังตอนเหนือของอิตาลี ฝ่ายอ็อปติเมเตสในสภาที่ยิ่งหวาดวิตกจึงประกาศให้ซีซาร์เป็น 'ศัตรูของรัฐ' พร้อมสั่งให้ซีซาร์ยุบกองทัพและไปรายงานตัวที่โรมในทันที
1
วันที่ 10 มกราคม 49 ปีก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ พร้อมกองทัพที่เพิ่งกลับมาจากสงครามยาวนานในดินแดนกอล ต้องเผชิญกับทางเลือกตัดสินชะตาครั้งสำคัญ เบื้องหน้าของเขาคือ แม่น้ำรูบิคอน (Rubicon) ที่เป็นตัวกั้นเขตแดนระหว่างแคว้นซิซาลพีน กอล (Cisalpine Gaul) ทางตอนเหนือของอิตาลีกับแคว้นอิตาลี (Italia) ที่ปกครองด้วยสภาโดยตรง
ตามกฎหมายโรมันสมัยนั้น แม่ทัพไม่สามารถนำกองทัพผ่านแม่น้ำรูบิคอนเข้ามาในแคว้นอิตาลีได้ และจะต้องยุบกองทัพลงเสียก่อนจะกลับเข้ามาได้ เพื่อป้องกันการชิงอำนาจจากสภา หากแม่ทัพคนไหนนำกองทัพล้ำเขตแม่น้ำมา มีโทษถึงตาย ทั้งแม่ทัพ นายทหาร และพลทหารทุกคนในกองทัพ ดังนั้นการข้ามแม่น้ำจึงเปรียบเสมือนการ 'ทุ่มหมดหน้าตัก' ต้องชนะให้ได้เท่านั้นถึงจะรอด ไม่มีทางให้หันหลังกลับอีกแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน หากซีซาร์ยอมทำตามคำสั่งสภาและกลับไปโรม เขาจะต้องถูกตามล่าสังหารเช่นเดียวกับนักปฏิรูปฝ่ายป๊อปปูลาเรสในอดีต
1
จูเลียส ซีซาร์ชั่งใจอยู่นาน จึงตัดสินใจขี่ม้านำหน้ากองทัพข้ามแม่น้ำเข้าสู่แคว้นอิตาลี เพื่อฟาดฟันกับศัตรูทางการเมืองในโรมทันที สงครามกลางเมืองโรมันครั้งใหญ่จึงปะทุขึ้น การข้ามแม่น้ำรูบิคอนครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะไม่มีทางหวนกลับของชะตาชีวิตซีซาร์และทหารทุกคนในกองทัพ การต่อสู้ครั้งนี้จะจบลงที่ชัยชนะหรือความตายเท่านั้น
1
ความขัดแย้งครั้งนี้นำไปสู่จุดจบของสาธารณรัฐโรมันเอง เมื่อซีซาร์ได้ชนะสงครามกลางเมืองและกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในโรม แม้ตัวเขาจะถูกสังหารในปี 44 ก่อนคริสตกาล แต่ผู้สืบทอดทางการเมืองของซีซาร์ได้กลายมาเป็นจักรพรรดิในภายหลัง
นับเป็นเรื่องย้อนแย้งที่ฝ่ายอำนาจเก่าอย่างอ็อปติเมเตสที่อ้างว่าต้องการรักษารัฐโรมันไว้ด้วยการกุมอำนาจไว้เพียงผู้เดียว กลับกลายเป็นผู้บ่อนทำลายสาธารณรัฐโรมันทางอ้อมเสียเอง.
โฆษณา