20 ส.ค. 2020 เวลา 09:08 • ปรัชญา
ศีลกับกฎหมาย
ศีล คือข้อปฏิบัติทางศาสนาเพื่อบรรลุเป้าหมายทางศาสนา กฎหมาย คือข้อปฏิบัติทางสังคมเพื่อสังคมที่สงบสุข กฎหมายหลายข้อถูกพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับข้อบัญญัติทางศาสนา ถ้าฝ่าฝืนย่อมมีบทลงโทษ แต่ก็มีกฎหมายหลายข้อที่รับรองการหรืออนุญาตให้ทำได้แม้จะสวนทางกับข้อบัญญัติทางศาสนา
การเรียงลำดับของศีล 5 ในศาสนาพุทธ มีความสำคัญตามระดับจากการเบียดเบียนจากชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน บริวาร จิตใจผู้อื่น จนถึงการเบียดเบียนความคิด วาจา การกระทำ และสติตัวเอง แต่กฎหมายไทยมิได้นำพาศีล 5 ทุกข้อทำให้ผิดกฎหมาย ซ้ำยังสนับสนุนให้มีเหมาะแก่การผิดศีลเมื่อกระทำตามขั้นตอนการขออนุญาตตามกฎหมาย
เริ่มที่ ปานาติปาตา งดเว้นการฆ่าสัตว์ จะเห็นได้ว่า รัฐมีการอนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนสามารถประกอบกิจการโรงฆ่าสัตว์ เพื่อเป็นเงินรายได้ของตน ส่งผลให้ประชากรในประเทศค้าขายปศุสัตว์ชำแหละเพื่อบริโภคได้อย่างไม่ขาดแคลน ส่วนสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา งดเว้นการเสพของมึนเมา รัฐอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมา ศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารา งดเว้นการประพฤติผิดในกาม สังคมไทยไม่อนุญาตให้เรื่องนี้ถูกกฎหมายอยู่แล้ว แต่ก็ทำตัวขยะแขยงและไม่พยายามไม่ยอมรับว่ามีเรื่องมีธุรกิจค้ากามมีอยู่จริงในสังคม ศีลสองข้อที่เหลือคืองดเว้นการลักทรัพย์และงดเว้นการพูดเท็จ ในแง่กฎหมายแล้วมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ จะต้องมีการแสดงเจตนาฉ้อฉล ใช้กลอุบาย แสดงความเท็จ ปกปิดความจริง เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ทรัพย์สิน
ข้อสังเกตของผมคือ 1.รัฐไทยมีวิธีปฏิบัติที่เป็น secular มือถือสากปากถือศีลและปากว่าตาขยิบ ทั้งที่บอกว่าตัวเองเป็น “เมืองพุทธ,วิถีพุทธ” เช่น การอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายสุรา หรือเป็นเพราะว่าศีลให้เว้นการเสพ แต่ไม่ได้เว้นการผลิตและจำหน่ายจึงสามารถทำได้ และเมื่อใช้วิธีคิดนี้กับศีลข้อเว้นการประพฤติผิดในกาม แต่ไม่ได้ห้ามค้ากาม แต่ในกรณีหลังที่ไม่มีการอนุญาตให้ถูกกฎหมายกลับเป็นแหล่งสร้างอิทธิพลให้ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง นายทุน หาผลประโยชน์โดยมิชอบ และถึงที่สุดแล้วคนพวกนี้ก็ไม่อยากให้ถูกกฎหมายเพราะประโยชน์ที่ตนจะได้รับจะลดลง 2.การอนุญาตตามกฎหมายสิทธิมักตกแก่กิจการเอกชนรายใหญ่ที่เป็นอดีตขุนนางในระบอบเก่า นายทุน และกิจการของรัฐ ในลักษณะผูกขาด หรือกึ่งผูกขาด ซึ่งในระบบทุนนิยมแล้วเป็นการสร้างช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำให้ห่างยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่า กิจการใดที่ขัดกับศีลแต่รัฐอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้ รวมถึงสลากกินแบ่งรัฐบาล สลากกินรวบเอกชน(หวยใต้ดิน) รัฐจะได้ประโยชน์ ไม่ว่าในรูปภาษี ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เราคงต้องกลับทบทวนกันใหม่แล้วว่า “เมืองไทยวิถีพุทธ” เป็นเมืองพุทธแค่ไหน เรื่องใดบ้าง ที่สำคัญเป็นพุทธแบบไหน และยอมรับความจริงได้เพียงใด
ขอบคุณนายแบบ น้องกานู ที่นอนเอาหัวขัดกับขาเก้าอีั และน้องควายเผือกและควายโบราณ จากฟาร์มลุงโทนี่
โฆษณา