Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่ารัฐฉาน ล้านนา ล้านช้างและสยามประเทศ
•
ติดตาม
20 ส.ค. 2020 เวลา 10:10 • ประวัติศาสตร์
#กำเนิดเจ้าเจ็ดตน
เรื่องราว การสร้างเมืองลำปาง-เชียงใหม่ พ.ศ. 2275-2360
เจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว (ปีเกิด ไม่แน่ชัด พ.ศ.... -2317) เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่สอง มีพระนามเดิมว่านายชายแก้ว เป็นพระโอรสในพระยาสุลวฤาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) กับแม่เจ้าปิมปา เป็นราชบุตรองค์ที่ 2 จากจำนวนราชโอรสธิดา 6 พระองค์ เมื่อพระบิดาถึงแก่พิราลัยแล้ว ได้ขึ้นเป็นเจ้านครลำปางในปี พ.ศ. 2303 ต่อมาราชสำนักพม่าได้เฉลิมพระนามพระองค์เป็นเจ้าฟ้าสิงหราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว
เจ้าฟ้าหลวงชายแก้วเษกสมรสกับนางจันทาราชเทวี มีพระราชโอรสธิดารวม 10 องค์ เป็นเจ้าชาย 7 องค์ เจ้าหญิง 3 องค์ เป็นที่มาของ ราชสมัญญา เขื้อเจ็ดตน หรือ เจ้าเจ็ดตน ได้แก่
1. เจ้ากาวิละ หรือ พระเจ้ากาวิละ ( พ.ศ. 2285-2358) นับเป็น "เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 3" ในราชวงศ์ทิพย์จักร ซึ่งต่อมา เป็นพระเจ้านครเชียงใหม่ พระองค์ที่ 1
2. พระยาคำโสม พระยานครลำปาง องค์ที่ 4
3. พระยาธรรมลังกา เจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 2
4. พระเจ้าดวงทิพย์ พระเจ้านครลำปาง องค์ที่ 5
5. เจ้าศรีอโนชา พระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
6. เจ้าหญิงสรีวัณณา (ถึงแก่พิราลัยแต่เยาว์)
7. พระยาอุปราชหมูหล้า พระราชมหาอุปราชานราธิบดีศรีสุวรรณฝ่ายหน้าหอคำนครลำปาง
8. พระยาคำฝั้น พระยานครเชียงใหม่ พระองค์ที่ 3 และพระยานครลำพูน องค์ที่ 1
9. เจ้าสรีบุญทัน (พิราลัยแต่เยาว์)
10. พระเจ้าลำพูนไชย พระเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 2
เมืองลำปาง ในสมัยเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว มีฐานะเป็นประเทศราช ของ กรุงอังวะ ซึ่ง เรืองอำนาจในขณะนั้น ส่วนเมืองเชียงใหม่ นั้น มีพม่าส่งแม่ทัพมาครองเมืองอยู่
ในช่วง พ.ศ. 2307-2310 ทัพอังวะแข็งแกร่งมาก พยายามยกทัพมาประชิดกรุงศรีอยุธยา หลายครั้ง ซึ่งในที่สุด ก็ทำได้สำเร็จ เมื่อสามารถ ทำลายกรุงศรีอยุธยา แตกลงได้ใน พ.ศ. 2310
ในปี พ.ศ. 2310 นั้นเอง อังวะได้ส่งแม่ทัพมาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ชื่อ โป่มะยุง่วน
ตามตำนานโยนก และ พงศาวดารพม่าว่า โป่มะยุง่วนเมื่อมาครองเมืองเชียงใหม่ ก็เกิดความไม่ไว้ใจเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว หรือ อาจไม่ไว้ใจเจ้ากาวิละด้วย จึงสั่งให้เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว มาช่วยราชการที่เชียงใหม่ นัยว่าเป็นตัวประกัน ส่วนที่ลำปางให้เจ้ากาวิละ ว่าการเมืองแทนพระบิดา โป่มะยุง่วนยัง ข่มเหง ลิดรอน ประโยชน์ และ อำนาจ ของเจ้ากาวิละ ชาวเมืองลำปาง เชียงใหม่ และ รวมทั้งของพระยาจ่าบ้าน ซึ่งดูแลเมืองเชียงใหม่มาแต่เก่า สร้างความแค้นเคืองให้แก่ เจ้ากาวิละ และพระยาจ่าบ้านเป็นอันมาก แต่ต้องจำใจ ไม่สามารถทำอย่างไรได้
ต่อมาเมื่อพระยาตาก สามารถกอบกู้อิสรภาพ ขับไล่พม่า ออกจากกรุงศรีอยุธยา และย้ายราชธานี มาอยู่ที่กรุงธนบุรี ปราบดาภิเษกเป็น พระเจ้ากรุงธนบุรี
ทางพม่าเมื่อ ทราบว่า มีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ใหม่ จึงยกทัพมาหมายจะมาตีกรุงธนบุรี แต่ก็ต้องใช้กำลังทหารเป็นจำนวนมาก ในช่วงนี้เอง จักรพรรดิเฉียนหลงของจีน เห็นเป็นโอกาส ที่ดีที่จะตีเมืองอังวะให้ได้ เพราะเห็นว่าทัพอังวะส่วนใหญ่ กำลังรุกรานทางใต้ จึงยกทัพจีนมาทางรัฐฉาน ฝ่ายอังวะเห็นจวนตัวจึง เรียก เจ้าประเทศราชต่างๆ เกณฑ์ กำลังไปร่วมรบ ต้านทัพจีน การนี้ เจ้ากาวิละ และพระยาจ่าบ้าน ก็ได้เกณฑ์ไพร่พลไปเป็นกำลังสำคัญช่วยอังวะต้านทัพจีนด้วย ฝ่ายจีนเมื่อเห็นว่า การศึก หลายครั้ง ไม่สำเร็จโดยง่าย จึงล้มเลิกความคิดตีเมืองอังวะ เมื่อมีความชอบหลายคราดังนี้ เจ้ากาวิละ และ พระยาจ่าบ้าน จึงทูลพระเจ้าอังวะขอพระราชทาน คืน อำนาจปกครอง เมืองลำปาง และเชียงใหม่ ที่มีมาแต่เก่า ซึ่งก็ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอังวะ
เมื่อกลับจากเมืองอังวะ เจ้ากาวิละ และพระยาจ่าบ้าน ก็เริ่มมีท่าทีแข็งขืนกับอำนาจของโป่มะยุง่วน แม่ทัพพม่าซึ่งครองเมืองเชียงใหม่
พระเจ้ามังระแห่งอังวะ หลังจาก ตีกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อปี พ.ศ. 2310 ก็ยังต้องทำศึกกับจีนต่อเนื่องไปอีก กว่าจะเสร็จศึกกับจีน ก็เมื่อราวปี พ.ศ. 2313-2314 ตรงกับสมัย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ในปี พ.ศ. 2313 นั้นเอง พระยาจ่าบ้าน ซึ่งมีความชอบจากการช่วยอังวะต้านทัพจีน ได้รับอำนาจปกครองเมืองเชียงใหม่บางส่วนกลับคืน ก็ถึงจุดแตกหัก ยกพวกเข้าต่อสู้ กับโป่มะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยาจ่าบ้านมีกำลังน้อยสู้ไม่ไหวจึงหนีไปหาโป่สุพลา หรือ อีกชื่อหนึ่ง ก็คือ เนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่า ผู้ตีกรุงศรีอยุธยาแตกนั่นเอง ซึ่งขณะนั้นแต่งทัพไปตีล้านช้าง โป่สุพลากับโป่มะยุง่วนนั้นไม่ค่อยถูกกัน โป่สุพลาจึงรับพระยาจ่าบ้านไว้ในความดูแล
พ.ศ. 2313 ช่วงเวลาเดียวกัน นั้นเอง พระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพ ขึ้นมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรี (อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) จนแตกพ่าย เจ้าพระฝางได้หนีไปพึ่ง โป่มะยุง่วนที่เชียงใหม่ พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงยกทัพกลับกรุงธนบุรี ต่อมาไม่นาน ในปีเดียวกัน โป่มะยุง่วนก็ ยกทัพจากเชียงใหม่ มาล้อมเมือง สวรรคโลก พระยาพิชัย ซึ่งรั้งเมืองสวรรคโลก และ เจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งยกทัพไปช่วย ได้ตีพม่าแตกพ่ายกลับไป
เมื่อเสร็จศึก ที่เมืองสวรรคโลก พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นเป็นโอกาสอันควร ที่จะยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พระองค์จึงเตรียมกองทัพหลวง เมื่อต้นปี เถาะ พ.ศ. 2314 จึงเดินทางไปตั้งทัพที่เมืองพิชัย แล้วเรียกกองทัพหัวเมืองเข้ามาสมทบ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นนายทัพหน้า คุมพลพวกหัวเมืองยกขึ้นไปก่อน พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นจอมทัพยกทัพหลวงตามไป โดยเดินทัพไปตามเส้นทางเมืองสวรรคโลก เมืองเถิน เมืองลี้
กองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไปถึงเมืองลำพูนโดยสะดวก โปมะยุง่วน ออกมาตั้งค่ายอยู่นอกเมือง พอกองทัพหน้าของเจ้าพระยาสุรสีห์ไปถึง ก็เข้าโจมตีค่ายโป่มะยุง่วน แตกหนีกลับเข้าไปในเมือง โปมะยุง่วนก็ให้กองทัพตั้งรักษาเมืองไว้อย่างมั่นคง
เมื่อกองทัพกรุงธนบุรีไปถึง ก็ให้เข้าล้อมเมืองไว้ แล้วเข้าตีเมืองครั้งหนึ่ง รบกันอยู่เกือบครึ่งคืน ตั้งแต่ เวลา 3 นาฬิกาจนรุ่งสาง ไม่สามารถเข้าเมืองได ้ ต้องถอนกำลังกลับออกมา พระเจ้ากรุงธนบุรีมีดำริว่า เมืองเชียงใหม่มีป้อมปราการมั่นคงนัก พระมหากษัตริย์ พระองค์ใดเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกคงตีไม่ได้ ต้องตีครั้งที่ 2 จึงจะได้ ดังนั้น เมื่อพระองค์ประทับล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่ 9 วัน จึงดำรัสสั่งให้ถอยทัพกลับลงมา
พงศาวดารโยนกระบุว่า เมื่อโป่สุพลา ยกทัพจากล้านช้างกลับมาถึงเชียงใหม่ ในปีพ.ศ. 2316 พระเจ้ามังระ เกรงว่ากรุงธนบุรี จะแข็งแกร่งขึ้น จึงคิดจะยกทัพมาตีกรุงธนบุรีให้ราบคาบ ดั่งอยุธยา จึงสั่งการให้ โป่สุพลา เตรียมเรือจำนวนหนึ่งเพื่อจะยกพล ไปตีกรุงธนบุรี ทางลำน้ำปิง
พระยาจ่าบ้าน หลังจาก ศึกระหว่างเชียงใหม่ กับพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้งแรกเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะวางแผนโค่นล้มอำนาจพม่า จึงได้ลอบให้คนถือหนังสือไปบอกข่าวแก่เจ้ากาวิละที่ลำปางว่าตนจะ "ฟื้นม่าน" หรือเป็นขบถต่อพม่า โดยเข้ากับกรุงธนบุรี เจ้ากาวิละได้ตอบตกลงเข้าร่วมเป็นพวกด้วย และบอกว่าจะคิดการณ์อยู่ทางลำปาง และทางเชียงใหม่ เพียงแต่ให้พระยาจ่าบ้าน หาทางไปนำกองทัพของกรุงธนบุรีขึ้นมาเท่านั้น
เมื่อได้ความดั่งนี้ พระยาจ่าบ้านจึงออกอุบายต่อโป่สุพลาว่าเส้นทางน้ำที่กองทัพเรือของโป่สุพลาจะใช้นั้นเต็มไปด้วยกิ่งไม้และท่อนซุงกีดขวาง จึงขออาสาไปจัดการทางน้ำให้เดินทางสะดวก โป่สุพลาก็หลงเชื่อมอบทหารพม่าและลาว (หมายถึงชาวล้านนา) ให้พระยาจ่าบ้านไปจำนวนหนึ่ง
ครั้นเมื่อถึงเมืองฮอด แล้วเมื่อถึงเวลาดึก พระยาจ่าบ้านก็พาพวก สังหารทหารพม่าทั้งหมดแล้ว พาทหารล้านนา ไปเข้าพบเจ้าพระยาจักรีเพื่อขอสวามิภักดิ์ที่เมืองกำแพงเพชร เจ้าพระยาจักรีจึงส่งข่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
#หนังสือพระราชพงศาวดารไทยกล่าวว่า
ในปีื พ.ศ. 2317 พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้จัดกองทัพโดยพระเจ้ากรุงธนบุรีเองคุมทัพหลวง และ เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ฯคุมทัพหน้ายกขึ้นมา หมายจะตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อโปสุพลาทราบว่ากองทัพไทยยกขึ้นไปครั้งนั้น ให้โปมะยุง่วนซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่แล้วจัดกองทัพให้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละคุมพวกชาวเมือง เป็นกองทัพหน้ายกลงมาก่อน แล้วตัวโปสุพลาคุมกองทัพ มีจำนวนพลมากกว่า ยกทัพตามลงมา หมายจะมาตั้งต่อสู้ที่เมืองนครลำปาง พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเป็นชาวไทยล้านนา ต้องอยู่กับพม่าด้วยความจำใจ ครั้นลงมาถึงนครลำปาง รู้ว่าทัพไทยข้างเมืองใต้ มีกำลังพอที่จะเป็นที่พึ่งได้แล้ว ก็พาพวกกองหน้ามาสามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาจักรี ๆ ให้พระยาจ่าบ้าน พระยากาวิละถือน้ำกระทำสัตย์แล้ว จึงให้คุมพลชาวล้านนากลับนำทัพไทยยกขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายโปสุพลา ยกพลลงมาถึงกลางทางรู้ว่าพระยาจ่าบ้าน พระยากาวิละ กลับมาเข้ากับธนบุรีก็ตกใจ รีบถอยกลับไปรักษาเมืองเชียงใหม่ ให้กองทัพพม่ามาตั้งค่ายสกัดทางอยู่ริมฝั่งแม่น้ำพิงเก่า ข้างเหนือเมืองนครลำพูนกอง ๑ ส่วนโปสุพลากับโปมะยุง่วนนั้นตระเตรียมต่อสู้อยู่ที่เมืองเชียงใหม่
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่ที่บ้านระแหงเมืองตาก ได้รับข่าวจากเจ้าพระยาจักรีว่า พระยาจ่าบ้าน กับ พระยากาวิละ พาพวกชาวเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปางมาเข้ากับกรุงธนบุรี จึงเสด็จยกกองทัพหลวงจากบ้านระแหง ตามกองทัพเจ้าพระยาจักรีขึ้นไปเมืองเชียงใหม่
ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรี ยกทัพจากเมืองนครลำปาง ไปถึงเมืองลำพูนพบกับกองทัพพม่ามาตั้งค่ายสกัดทางอยู่ริมลำน้ำพิงเก่า ข้างเหนือเมืองลำพูน ก็ให้เข้าตีค่ายพม่า รบพุ่งติดพันกันอยู่หลายวัน
กองทัพหลวงพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อเสด็จไปถึงเมืองลำพูนนั้น กองทัพเจ้าพระยาจักรีได้ไปล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ ให้ตั้งค่ายล้อมเมือง ๓๔ ค่าย เจ้าพระยาจักรี บอกลงมายังกองทัพหลวง ว่าพอตั้งค่ายด้านเหนือแล้วจะให้เข้าปล้นเมืองเชียงใหม่พร้อมกันทีเดียว พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งห้ามไปว่าพม่าตั้งค่ายรับอยู่ในเมือง ซึ่งจะกรูเข้าไปพร้อมกันนั้นไม่ชอบกล ถ้าทางไหนเสียทีก็จะพาทางอื่นเสียทีไปตามกัน อย่าให้เข้าตีพร้อมกันเลย ถ้าตั้งค่ายล้อมเมืองมั่นคงแล้ว จะทำทางไหนก็ทำเข้าไปเฉพาะด้านนั้น ให้ขุดคูวางขวากและวางปืนจุกช่องเตรียมไว้ทุกค่าย แล้วให้ขุดทางเดินเข้าไปประชิดเมืองให้คนเดินบังทางปืนเข้าไป ถ้าหากว่าข้าศึกยกออกมาตี ก็ให้ไล่คลุกคลีติดตามเข้าเมืองทีเดียว เจ้าพระยาจักรีก็เร่งตระเตรียมการตามรับสั่ง
ฝ่าย โปสุพลา โปมะยุง่วน นายทัพพม่าที่รักษาเมืองเชียงใหม่ เห็นกรุงธนบุรีไปตั้งค่ายล้อมเมืองก็คุมพลออกมาตั้งค่ายประชิด แล้วให้มาปล้นค่ายกรุงธนบุรีหลายครั้ง ถูกฝ่ายกรุงธนบุรียิงไพร่พลล้มตาย ต้องถอยกลับเข้าค่ายทุกที จนไพร่พลย่อท้อ ก็ได้แต่รักษาค่ายป้องกันเมืองมั่นไว้ ขณะนั้นพวกชาวเมืองเชียงใหม่ที่แตกซ่าน ไปเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ในป่า เห็นฝ่ายธนบุรีไปตั้งค่ายล้อมพม่าอยู่ก็พากันออกมาเข้ากับกองทัพธนบุรีเป็นอันมาก ทั้งพวกที่อยู่ในเมืองก็พากันเล็ดลอดหลบหนีออกมาหาเนือง ๆ ได้ครอบครัวชาวเชียงใหม่มาเข้ากับกองทัพธนบุรีเป็นจำนวนมาก
ต่อมา พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกกองทัพจากเมืองลำพูนไปประทับที่ค่ายหลวงริมน้ำใกล้เมืองเชียงใหม่ แล้วไปทอดพระเนตรค่าย ที่ตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่หวังจะเร่งให้ตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้โดยเร็ว ในวันนั้นเจ้าพระยาจักรีก็ยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่าซึ่งออกมาตั้งรับอยู่นอกเมือง ข้างด้านใต้กับด้านตะวันตกแตกหมดทุกค่าย เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกเข้าตีค่ายพม่าที่ออกมาตั้งรับตรงประตูท่าแพด้านตะวันออกได้ทั้ง ๓ ค่าย ในค่ำวันนั้นโปสุพลากับโปมะยุง่วนก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่อพยพผู้คนหนีออกไปทางประตูช้างเผือกข้างด้านเหนือ ซึ่งเป็นด้านหน้าเจ้าพระยาสวรรคโลก ๆ ตั้งค่ายล้อมเมืองยังไม่เสร็จ จึงตีหักออกไปได้ กองทัพธนบุรีไล่ติดตามฆ่าฟันพม่าล้มตายและชิงครอบครัวพลเมืองกลับคืนมาได้เป็นอันมาก
รุ่งขึ้น วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราเข้าเหยียบเมืองเชียงใหม่ แม่ทัพนายกองและ พวกท้าวพระยาชาวเมืองมาเฝ้าพร้อมกัน
พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงทรงตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้พระยากาวิละเป็นพระยานครลำปาง ให้พระยาลำพูน เป็นพระยาวัยวงศาคงเป็นเจ้าเมืองตามเดิม
เรื่องพระยาจ่าบ้าน กับเจ้ากาวิละมาเข้ากับไทยครั้งนั้น มีความต่างกัน ระหว่างพงศาวดารไทย กับ พงศาวดาร พม่า และตำนานโยนก อยู่พอควร ดังปรากฏในพงศาวดารพม่ากับหนังสือตำนานโยนก ว่า เมื่อพระยาจ่าบ้านและเจ้ากาวิละ กลับจากการช่วยศึกจีน ได้ไม่นาน โป่มะยุง่วนบอกกล่าวโทษพระยาจ่าบ้านกับเจ้ากาวิละ ออกไปยังเมืองอังวะ ว่าตั้งแต่กลับจากเมืองพม่ามาก่อการกระด้างกระเดื่อง กำเริบต่าง ๆ ให้พระเจ้าอังวะพิจารณาโทษ
ก็มีตรา มาจากเมืองอังวะตอบใบบอกที่โปมะยุง่วนกล่าวโทษพระยาจ่าบ้าน พระยากาวิละไปแต่ก่อน สั่งว่าให้พระยาทั้ง ๒ ไปที่อังวะ จะพิจารณาคดีที่เมืองอังวะ โปมะยุง่วนจึงให้ไปขอตัวพระยาทั้ง ๒ ที่โปสุพลา ๆ ก็ไม่ยอมส่งให้ ว่าพระยาจ่าบ้านคุมคนไปชำระแก่งเสียแล้ว เจ้ากาวิละนั้นก็ให้ช่วยนายทัพพม่ารักษาเมืองนครลำปางอยู่ จะไปถอนตัวกลับมาเกรงจะเสียราชการสงคราม โปมะยุง่วนก็ขัดใจ เห็นว่าจะเอาตัวพระยาจ่าบ้านกับเจ้ากาวิละมาลงโทษไม่ได้ จึงให้จับเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว พระ บิดาเจ้ากาวิละ กับบุตรภรรยาพระยาจ่าบ้านเป็นตัวจำนำคุมส่งไปเมืองอังวะ
เมื่อ เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ คุมทัพหน้ายกขึ้นมา จนถึงเมืองเถิน
ในเวลานั้น มีทหารพม่าและไทยใหญ่ มาประจำการในเมืองลำปาง ก็มากอยู่ เจ้ากาวิละ จึงวางแผน ให้เจ้าคำโสม ผู้น้อง เป็นแม่ทัพคุมไพร่พลชาวพม่า ไทใหญ่และไทยวน (ล้านนา) ไปต้านทานกองทัพกรุงธนบุรี โดยให้เหลือไพร่พล ชาวพม่า ไทใหญ่ในเมืองลำปางแต่น้อย เจ้าคำโสมก็เข้ารบกับกองทัพกรุงธนบุรีแล้วถอยคืนพอให้พม่าไว้ใจ
ฝ่ายเจ้ากาวิละครั้นทราบว่าพม่าจับบิดาไป ก็ฆ่านายทัพพม่าที่อยู่เมืองนครลำปางเสีย แล้วคุมพรรคพวกรีบตามไปชิงเอาบิดาของตัวกับครอบครัวของพระยาจ่าบ้านกลับมาได้
เมื่อเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ได้ยกทัพมาถึงลำปาง เจ้ากาวิละได้นำเอาเสบียงอาหารไปต้อนรับกองทัพแล้ว จึงนำทัพกรุงธนบุรีขึ้นมาเชียงใหม่ โป่มะยุง่วนเกณฑ์คนออกต้านทานกองทัพของเจ้ากาวิละ และกรุงธนบุรีแต่ก็พ่ายแพ้ เจ้ากาวิละจึงยกพลไล่ติดตามทหาร พม่าที่แตกทัพไปยังเมืองเชียงใหม่ โป่มะยุง่วน แลโป่สุพลา เห็นเหตุการณ์โกลาหลเช่นนั้นจึงพาพวกหนีจากเชียงใหม่ โดยออกไปทาง ประตูช้างเผือก แล้วไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเชียงแสน
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ โดยมี เจ้าน้อยก้อนแก้วผู้หลานเป็นอุปราช แล้วจึงยกทัพกลับไปทางลำปาง และแวะพักนมัสการพระธาตุลำปางหลวง
ฝ่ายเจ้ากาวิละ เมื่อกลับไปยังลำปางแล้ว ก็พาน้องทั้งหก เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ทรงตั้งเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองลำปาง ขณะนั้น เจ้ากาวิละ มีอายุได้ 32 ปี นับเป็น เจ้านครลำปาง องค์ที่สาม โดยมีเจ้าธรรมลังกาผู้น้องลำดับที่สาม เป็นอุปราช
ลำปางก็กลาย เป็น ประเทศราช ขึ้นกับกรุงธนบุรี ตั้งแต่บัดนั้น
จากนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยกทัพ กลับไปทางเมืองเถินแล้วเดินทางกลับกรุงธนบุรีโดยทางเรือ
#เรียบเรียงโดย
นพดล อริยะเครือNoppadol Ariyakrua
บันทึก
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เจ้าหลวงเชียงใหม่ เชื้อเจ้าเจ็ดตน
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย