20 ส.ค. 2020 เวลา 13:12 • ประวัติศาสตร์
พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์ทิพจักรา
พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา
พระราชประวัติ
พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา ทรงเป็นราชโอรสองค์ที่ 3 ในเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้าผู้ครองนครลำปาง กับ แม่เจ้าจันทาราชเทวี และทรงเป็นราชนัดดา (หลานปู่) ในพระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม (พระญาสุละวะฤๅไชยสงคราม) กับ แม่เจ้าพิมพาราชเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมวงศ์ "ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)"
พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา เป็นพระอนุชาของพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ มีพระเชษฏา พระอนุชาและพระขนิษฐา รวม 10 พระองค์ (หญิง 3 ชาย 7) (เจ้าชายทั้ง 7 พระองค์ได้ทรงช่วยกันต่อสู้อริราชศัตรูขยายขอบขัณฑสีมาล้านนาออกไปอย่างเกรียงไกร เป็นเหตุให้มีพระสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน") มีพระนามตามลำดับ ดังนี้
พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 (นับเป็น "พระเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 3" ใน "ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)")
พระเจ้าคำโสม พระเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4
พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 2
พระเจ้าดวงทิพย์ พระเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 5
พระอัครชายาเธอ เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
เจ้าหญิงสรีวัณณา (ถึงแก่พิราลัยแต่เยาว์)
เจ้าอุปราชหมูหล้า พระราชมหาอุปราชานราธิบดีศรีสุวรรณฝ่ายหน้าหอคำนครลำปาง
เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 3 และ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 1
เจ้าหญิงสรีบุญทัน (พิราลัยแต่เยาว์)
พระเจ้าบุญมาเมือง พระเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 2
พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา ได้ทรงปกครองนครเชียงใหม่อย่างสงบสุข ตราบจนเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 เหนือ พ.ศ. 2364 (ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2365) พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา ประชวร และได้ถึงแก่พิราลัยในวันรุ่งขึ้น (ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2365) รวมพระชนมายุ 77 พรรษา ทรงปกครองนครเชียงใหม่รวมทั้งสิ้น 6 ปี
ราชโอรส ราชธิดา
พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา มีพระราชโอรสและราชธิดา รวม 16 พระองค์ อยู่ในราชตระกูล ณ เชียงใหม่ มีพระนามตามลำดับ ดังนี้
เจ้าหญิงศรีปิมปา ณ เชียงใหม่
พระเจ้ามโหตรประเทศฯ, พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 5 - พระอัยกา (เจ้าตา) ใน เจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกษร ณ เชียงใหม่ และ พระไปยกา (เจ้าตาทวด) ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าหลวงน้อยคำแสน ณ เชียงใหม่, พระยารัตนอาณาเขต เจ้าเมืองเชียงราย
เจ้าอุปราชน้อยหน่อคำ ณ เชียงใหม่, เจ้าอุปราชนครเชียงใหม่ - เจ้าปู่ใน "เจ้าไชยสงครามสมพมิตร ณ เชียงใหม่, เจ้าไชยสงครามนครเชียงใหม่" ซึ่ง "เจ้าไชยสงครามฯ" เป็นเจ้าปู่ใน ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่, อดีตรัฐมนตรีฯ" และเป็นเจ้าตาทวดใน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร, อดีตนายกรัฐมนตรี และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เจ้าน้อยพรหมา ณ เชียงใหม่
เจ้าหนานอินตา ณ เชียงใหม่
เจ้าหญิงสุธรรมมา ณ เชียงใหม่
เจ้าหญิงปทุมมา ณ เชียงใหม่
เจ้าหญิงคำทิพย์ ณ เชียงใหม่ - ชายา "เจ้าน้อยจักรคำ ณ เชียงใหม่" ราชโอรสใน "เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น, เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 3"
เจ้าหญิงบัวคำ ณ เชียงใหม่ - รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมใน ร.3 (ไม่มีพระราชโอรส พระราชธิดา) [3]
เจ้าหญิงองค์ทิพย์ ณ เชียงใหม่
เจ้าหญิงกาบแก้ว ณ เชียงใหม่
เจ้าหญิงบุญปั๋น ณ เชียงใหม่ - เจ้ามารดาใน "เจ้าหลวงมหาวงศ์ ณ เชียงใหม่, พระยามหิทธิวงศา เจ้าเมืองฝาง"
เจ้าหญิงเกี๋ยงคำ (ณ เชียงใหม่) ตุงคนาคร - ชายา "เจ้าราชภาติกวงษ์ น้อยดวงทิพย์ ตุงคนาคร, เจ้าราชภาติกวงษ์นครลำพูน" เจ้านายราชวงศ์เม็งราย จากเมืองเชียงตุง ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่นครเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2348 ได้รับพระราชทานนามสกุลจาก ร.6
เจ้าหญิงจันทร์เป็ง ณ เชียงใหม่
แม่เจ้าแก้วยวงคำ, เทวีใน เจ้าหลวง หนานสุยะ, พระยารัตนอาณาเขต เจ้าเมืองเชียงราย
พระราชกรณียกิจ
ในปี พ.ศ. 2317 เมื่อพระเจ้ากาวิละ ร่วมมือกับพระยาจ่าบ้าน และพระเจ้ากรุงธนบุรี ปลดปล่อยล้านนาจากอำนาจของพม่าได้สำเร็จ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้สถาปนาพระยาจ่าบ้าน เป็น "พระยาวชิรปราการ" เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ากาวิละ เป็นเจ้าเมืองลำปาง และแต่งตั้งเจ้าธรรมลังกา เป็น อุปราชนครลำปาง และได้รับการเลื่อนอิสริยยศเป็น "เจ้ามหาอุปราชนครเชียงใหม่" ในปี พ.ศ. 2348
ต่อมาในปี พ.ศ. 2359 พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ ถึงแก่พิราลัย เจ้ามหาอุปราชธรรมลังกา จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "พระเจ้าธรรมลังกา" เมื่อวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (ตรงกับวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2360) และอัญเชิญเจ้าคำฝั้น เจ้าเมืองลำพูน (พระอนุชา) มาเป็นอุปราชา และให้เจ้าอุปราชบุญมา เป็นเจ้านครลำพูนสืบแทน
ในช่วงรัชสมัยของพระองค์ มีพระราชกิจที่สำคัญ อาทิ
ทรงนำช้างเผือกไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2359
ทรงโปรดให้ซ่อมแซมเมืองเชียงใหม่ และขุดลอกคูเมือง ในปี พ.ศ. 2361
ทรงโปรดให้สร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ โดยใช้อิฐ ในปี พ.ศ. 2363 เริ่มต้นจากด้านแจ่งศรีภูมิ เวียนไปทางซ้าย
โฆษณา