21 ส.ค. 2020 เวลา 09:08 • กีฬา
อวสานสายแทงค์ : NBA DRAFT LOTTO ... กฎล้างบางทีมหัวหมอ
แม้จะอยู่ในช่วงการแข่งขันรอบเพลย์ออฟของบาสเกตบอล NBA แต่สำหรับแฟน ๆ ของทีมที่ไม่มีลุ้นอะไรแล้วนั้น ก็ยังมีอีกสิ่งให้ต้องติดตาม นั่นคือ ดราฟต์ ล็อตเตอรี่ หรือการจับฉลากเพื่อหาทีมที่จะมีโอกาสได้จิ้มเอาผู้เล่นที่ดีที่สุดในการดราฟต์ครั้งต่อไป
ปกติแล้ว เมื่อคุณยิ่งเล่นห่วย ยิ่งแพ้มากเท่าไหร่ คุณจะมีโอกาสเลือกผู้เล่นก่อนใครในการดราฟต์ ดังนั้นจึงเกิดการเล่นไม่เต็มที่ หรือการแสร้งว่าผู้เล่นตัวหลักเจ็บลงเล่นไม่ได้ เพื่อเป็นการเซฟตัวในเกมที่ไม่มีผลอะไรแล้ว และนั่นทำให้ NBA ต้องเข้ามาจัดการ เพื่อให้ทุกเกมมีความหมายมากขึ้น
สิ่งนั้นคืออะไร และต่างจากเดิมอย่างไร ? ติดตามกับ Main Stand ได้ที่นี่
ดราฟต์คืออะไร?
บาสเกตบอล NBA รวมถึงอเมริกันเกมส์นั้นยึดมั่นในความแฟร์เป็นอย่างมาก พวกเขาไม่ได้คิดกฎกติกาเพื่อความเสมอภาคยามลงแข่งในสนามเท่านั้น แต่ NBA พยายามวางระบบให้ทุกทีมในลีกสามารถมีโอกาสคว้าแชมป์ด้วยกันทั้งหมดโดยใช้กฎที่เรียกว่า "การดราฟต์" ขึ้นมา
NBA นั้นไม่ได้มีโครงสร้างทีมเยาวชนในแต่ละทีมเหมือนกับในกีฬาฟุตบอลที่สามารถดึงดาวรุ่งขึ้นมาใช้งานได้เอง ดังนั้นหลังจากฤดูกาลจบลง การเลือกผู้เล่นเข้าทีมก็จะเกิดขึ้นในวันที่เรียกกันว่า "ดราฟต์เดย์" โดยในวันดังกล่าวจะเป็นวันที่ลีก NBA จะนำผู้เล่นหน้าใหม่จากทั่วฟ้าแดนอเมริกา (และรอบโลกที่อยากมาเล่นในเวทีเพชรยอดมงกุฎแห่งนี้) ที่ยังไม่เคยเซ็นสัญญาการเล่นทีนี่มาก่อนมากองรวมกันไว้ในส่วนกลาง และหลังจากนั้นแต่ละทีมจะมีสิทธิ์เข้ามาเลือกผู้เล่นเหล่านี้เข้าสู่สังกัด
Photo : NBA.com
โดยการ ดราฟต์ ใน NBA นั้นไม่ใช่แค่มีเงินอย่างเดียวก็สามารถจิ้มผู้เล่นหน้าใหม่โดยเอาแต่ตัวผู้เล่นเก่ง ๆ มารวมตัวกันในทีมได้ หรือแม้แต่ทีมที่เก่งอยู่แล้วจะใช้ชื่อเสียงดึงดูดผู้เล่นตัวท็อปในการดราฟต์ได้ง่าย ๆ เพราะ NBA ได้จัดสรรสิทธิ์และลำดับการดราฟต์ไว้อย่างชัดเจนว่าทีมไหนจะได้สิทธิ์เลือกเป็นทีมแรก และไล่อันดับไปเรื่อย ๆ จนถึงอันดับสุดท้าย
ความเท่าเทียมยังไม่จบเท่านั้น กฎทุกอย่างวางไว้อย่างชัดเจน ไม่ได้เอื้อทีมรวยแต่อย่างใด เพราะทุก ๆ ทีมจะถูกกำหนดเพดานค่าเหนื่อยไว้เท่ากันหมด อย่างไรก็ตามหากทีมไหนอยากจะทำลายเพดานค่าเหนื่อย ก็จะต้องพบกับการจ่ายภาษีฟุ่มเฟือยในจำนวนที่มากแบบได้ไม่คุ้มเสีย
นอกจากนี้ทีมที่มีชื่อเสียงหรือทีมระดับแชมป์ก็จะไม่ได้เปรียบเช่นกันสำหรับการดราฟต์ เพราะชื่อเสียงเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่แม้จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจแค่ไหนแต่ก็ไม่มีผลในการดราฟต์ เพราะเมื่อผู้เล่นถูกทีมใดก็ตามเลือกที่จะดราฟต์พวกเขาแล้ว ผู้เล่นนั้นมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธน้อยมาก เพราะหากพวกเขาไม่ยอมย้ายไปอยู่กับทีมที่เลือก พวกเขาจะมีโอกาสสูญรายได้มหาศาล
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในเคสของ ไซออน วิลเลียมสัน ดราฟต์หมายเลข 1 ปี 2019 และเจ้าของฉายา "นิว เลบรอน เจมส์" เคยมีข่าวว่าเขาอาจจะสูญรายได้มากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสัญญารุกกี้ (ผู้เล่นหน้าใหม่) หากเขาเลือกที่จะปฎิเสธ นิวออร์ลีน เพลิแกนส์ ทีมที่ได้สิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1 ในปีดังกล่าว
Photo : Tie Breaker
เพราะการปฏิเสธการดราฟต์และเข้าเรียนต่อ แม้ทำให้โอกาสได้ถูกเลือกเข้าทีมใหญ่ ๆ ซึ่งหมายความถึงมูลค่าทางการตลาดที่จะได้เพิ่มขึ้นยังมีอยู่ แต่อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเด็กเทพจะยังโชว์ฟอร์มเทพอยู่ หรือดวงซวยต้องเจอกับอาการบาดเจ็บหรือไม่
ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ใช่ว่าทีมใหญ่นั้นจะได้ดราฟต์เบอร์ 1 เสมอไป ...
จัดลำดับการดราฟต์ของแต่ละทีมแบบไหน?
จุดนี้อธิบายง่าย ๆ และอยู่บนความแฟร์อีกเช่นเคย ทาง NBA พยายามจะปรับกฎการจัดลำดับการดราฟต์มาแล้ว 3 ครั้งในก่อนหน้านี้ โดยกฎใหญ่ ๆ หลัก ๆ คือทีมซึ่งมีสถิติแย่สุดในฤดูกาลก่อนหน้า จะได้สิทธิ์เลือกผู้เล่นเป็นทีมแรกในฤดูกาลถัดไปโดยอัตโนมัติ (ยกเว้นกรณีที่มีการเพิ่มทีมในลีก ซึ่งทีมใหม่จะได้สิทธิ์เลือกผู้เล่นก่อนหน้าทีมที่มีสถิติแย่สุด) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ทีมไหนห่วยสุด ทีมนั้นได้เลือกดราฟต์ผู้เล่นเข้าทีมก่อนนั่นเอง ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการของอเมริกันเกมส์อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังเห็นถึงความไม่แฟร์ของกฎนี้ เพราะมีหลายทีมที่มองเห็นช่องโหว่ของกฎการดราฟต์ และใช้ความหัวหมอแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นั่นเมื่อพวกเขารู้ตัวว่าทีมจะไม่ได้เข้าเพลย์ออฟแน่นอนแล้ว พวกเขาก็แทบจะทิ้งฤดูกาลนั้นไปเลยด้วยการเล่นไม่เต็มที่ อารมณ์ประมาณว่าต่อให้แพ้ก็ไม่เป็นไร เพราะยิ่งแพ้มากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะมีโอกาสได้สิทธิ์เป็นทีมที่เลือกผู้เล่นเป็นทีมแรกในฤดูกาลต่อไป และนั่นทำให้มันมีสิทธิ์ที่พวกเขาจะได้ผู้เล่นที่ดีที่สุดของรุ่นไปด้วย
Photo : Sportscasting | Pure Sports
การเห็นทีมหัวหมอพยายามทิ้งเกมที่เหลือที่ไม่มีความหมายเพื่อสิทธิ์การดราฟต์ หรือศัพท์ทาง NBA เรียกกันว่า "การแทงค์" (Tank) ทำให้ทางฝ่ายจัดต้องแก้กฎใหม่ด้วยการใช้ "ล็อตเตอรี่" (Lottery)
ระบบล็อตเตอรี่คืออะไร?
จริง ๆ แล้วการแก้ปัญหาเรื่องการแทงค์หรือตั้งใจแพ้นั้นไม่ได้มีการใช้ ล็อตเตอรี่ ในตอนแรก เพราะในช่วงปี 1966-1984 มีการลดโอกาสดราฟต์อันดับ 1 ของทีมบ๊วยจาก 100% ให้เหลือ 50% ด้วยการเอาทีมที่แย่ที่สุดของสายตะวันตก กับทีมที่แย่ที่สุดของสายตะวันออกมาโยนเหรีญเสี่ยงทายกัน ... ซึ่งจริง ๆ แล้ว 50% ก็ถือว่าเป็นอะไรที่มากโขอยู่ และคุ้มที่จะแทงค์ เพราะโอกาสเพียง 1 ใน 2 เท่านั้น ... ทำให้การโยนเหรียญเสี่ยงทาย ยังแก้ปัญหาการแทงค์ไม่ได้อยู่ดี
Photo : SB Nation
ดังนั้นจึงมาถึงช่วง ล็อตเตอรี่ ยุคแรกในปี 1985 โดยทีม ฮิวส์ตัน ร็อคเก็ตส์ โต้แย้งว่ามีหลายทีมยอมแพ้ในช่วงฤดูกาลปกติเพื่อเข้าไปชิงสิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1 ดังนั้นทาง NBA จึงเห็นด้วยและเลือกเปลี่ยนมาเป็นการนำทุกทีมที่ไม่ได้เข้ารอบเพลย์ออฟ มาเขียนชื่อใส่ในซองและสุ่มจับขึ้นมา 1 ทีม โดยกฎนี้ไม่สนอันดับในตารางใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะคุณจะดีหรือแย่แค่ไหน แต่แค่ไม่ได้เล่นเพลย์ออฟ คุณมีสิทธิ์เท่า ๆ กับทีมอื่นที่จะได้สิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1
อย่างไรก็ตามกฎนี้ก็ยังแก้ไม่ตก เพราะมันเป็นการทำร้ายทีมที่อ่อนที่สุดจริง ๆ เกินไป พวกเขาจะไม่มีสิทธิ์ได้ผุดได้เกิดด้วยสภาพทีมที่แย่อยู่แล้ว อีกทั้งโอกาสการสุ่มล็อตเตอรี่ก็ไม่ได้เปรียบทีมอื่นเลย เรียกได้ว่าระบบล็อตเตอรี่ใส่ซองจึงเป็นการหักดิบจนเกินไป ทีมอ่อนยากที่จะพัฒนา และทีมที่ดีกว่าก็มีสิทธิ์ที่จะเก่งกว่าเดิมยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
ปี 1990 ทาง NBA จึงคิดระบบล็อตเตอรี่ ขึ้นใหม่หรือเรียกกันว่า "Weighted Lottery System" เพื่อสุ่มเลือกทีมที่ไม่ได้เข้ารอบเพลย์ออฟว่าทีมใดจะได้เลือกผู้เล่นก่อน เพื่อเป็นการปรามทีมเหล่านั้นว่า ถึงจะทิ้งฤดูกาลหวังดราฟท์อันดับ 1 แต่ก็ใช่จะสมหวังทุกครั้งไป ...
หากจะถามว่า ล็อตเตอรี่ คืออะไร ? หากจะอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ คือเอาทุกทีมที่ไม่ได้เข้ารอบเพลย์ออฟ ไม่ว่าจะเก่งมากเก่งน้อยชนะมากชนะน้อยไม่เกี่ยง ทุกทีมมีสิทธิ์ที่จะได้ได้เขียนชื่อตัวเองใส่กระดาษและเข้าไปสู่โถ "ล็อตเตอรี่วัดดวง" โดยจะมีสลากทั้งหมด 1,000 ใบ สำหรับการนำมาสุ่มจับ นอกจากนั้น ทีมซึ่งเกิดใหม่ใน NBA ยังไม่ได้สิทธิ์เป็นดราฟท์เบอร์ 1 อีกด้วย
Photo : SB Nation
อย่างไรก็ตามมันก็ยังดัดหลังทีมหัวหมอได้ไม่มากนัก เพราะทีมที่มีสถิติแย่กว่า ก็ยังมีโอกาสถูกล็อตเตอรี่ดราฟท์มากกว่าอยู่ดี ใน ล็อตเตอรี่ 1,000 ใบ จะถูกแบ่งให้แต่ละทีมเป็นเปอร์เซนต์ ยิ่งที่ไหนผลงานแย่แพ้เยอะ ทีมนั้นก็จะได้จำนวนบัตรล็อตเตอรี่มากกว่าทีมอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่นในปี 1990 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้ระบบล็อตเตอรี่ นิวเจอร์ซี่ย์ เน็ตส์ (บรูคลิน เน็ตส์ ในปัจจุบัน) ทีมที่แพ้มากที่สุด (65 เกม) ก็เป็นทีมที่มีล็อตเตอรี่จำนวนมากกว่าทีมอื่น ๆ และแน่นอนแม้จะมีการจับฉลากในตอนท้าย แต่ด้วยจำนวนล็อตเตอรี่ในโถที่มีชื่อของ นิวเจอร์ซี่ย์ เน็ตส์ มากกว่าใคร พวกเขาก็ได้สิทธิ์ดราฟต์เป็นอันดับ 1 อยู่ดี เท่ากับว่าแม้จะมีโอกาสพลิกล็อกที่สิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1 จะตกไปอยู่กับทีมที่ผลงานดีกว่าอยู่บ้าง แต่ที่สุดแล้ว หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ทีมที่แพ้มากที่สุดมีโอกาสเข้าวินอันดับ 1 อยู่ดี ไม่ว่าจะตั้งใจแพ้หรือไม่ก็ตาม
ระบบล็อตเตอรี่จึงถูกนำมาปรับใหม่ในปี 2005 โดยมีเป้าหมายให้ทีมอันดับบ๊วยมีโอกาสชนะล็อตเตอรี่น้อยลงมากกว่าเดิม ด้วยการแบ่งค่าเฉลี่ยของทั้ง 14 ทีมใหม่ โดยเพิ่มจำนวนล็อตเตอรี่ให้กับทีมอันดับ 2-4 หากนับจากท้ายตาราง จากเดิมที่รองบ๊วยมีโอกาสชนะล็อตเตอรี่ 16.40% เพิ่มเป็น 19% (190 ใบจาก 1000 ใบ) ขณะที่ทีมอันดับ 3 และ 4 จากท้าย มีโอกาสชนะ 15.6% (156 ใบจาก 1000 ใบ) และ 11.9% (119 ใบจาก 1000 ใบ) ตามลำดับ ซึ่งแน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้วผลก็ยังไม่ต่างกันมาก บ๊วยยังมีโอกาศชนะล็อตเตอรี่ 25% (250 ใบจาก 1000 ใบ) อยู่ดี ดังนั้นการแทงค์จึงยังไม่มีทางหมดไปง่าย ๆ ตราบใดที่สถิติมันฟ้องว่า หากคุณเป็นอันดับสุดท้ายจะมีโอกาสชนะล็อตเตอรี่และได้สิทธิ์ดราฟต์เป็นทีมแรกอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2016-2018 ซึ่งทีมสถิติแย่สุด เหมาดราฟต์เบอร์ 1 เรียบ ...
อวสานสายแทงค์?
1
ในปี 2019 เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะเมื่อ NBA พยายามปรับแล้วปรับอีกแต่ก็แก้ปัญหาการแทงค์ไม่หาย พวกเขาจึงต้องใช้ไม้แข็งเพื่อจัดการกับปัญหานี้ โดยกฎใหม่จะไม่มีอีกแล้วสำหรับทีมบ๊วยที่ถือบัตรล็อตเตอรี่ 250 ใบ หรือมากกว่าทีมอื่นเกิน 100 ใบ เพราะ NBA ปรับระบบใหม่ด้วยการให้ 3 ทีมสุดท้ายที่ผลงานแย่ที่สุด มีจำนวนล็อตเตอรี่ในมือเท่ากันคือ 140 ใบ หรือตีเป็นโอกาสชนะ 14% เท่านั้น ขณะที่ทีมอื่น ๆ ในลำดับรองลงมายังได้รับจำนวนล็อตเตอรี่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
Photo : Dallas Mavericks
การทำแบบนี้ทำให้เปอร์เซนต์ในการคว้าสิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1 ของทีมบ๊วยลดลงไปมากโข ซึ่งผลล็อตเตอรี่ในปี 2019 ก็ออกมาเหมือนกับเป็นการต้อนรับการปรับระบบใหม่ เพราะทีมที่ชนะกลายเป็น นิวออร์ลีนส์ เพลิแกนส์ ทีมอันดับที่ 7 (จาก 14 ทีมที่ไม่ได้เพลย์ออฟ) ที่มีล็อตเตอรี่ในมือ 60 ใบ โดยบ๊วยตัวเต็งอย่าง นิวยอร์ก นิคส์ ได้แค่อันดับ 3 เท่านั้น เช่นเดียวกับปี 2020 ที่ โกลเด้นสเตท วอร์ริเออร์ส ทีมที่มีสถิติแย่สุด ได้เพียงดราฟต์อันดับ 2 ขณะที่อันดับ 1 คือ มินนิโซตา ทิมเบอร์วูล์ฟส์ ซึ่งสถิติแย่เป็นอันดับ 3
ผลดราฟต์ล็อตเตอรี่หลังมีการปรับรูปแบบในปี 2019 ถือเป็นการ "อวสานสายแทงค์" อย่างแท้จริง ถึงกระนั้น เมื่อลดเปอร์เซนต์การได้ดราฟต์อันดับ 1 ของทีมผลงานแย่ หลาย ๆ ทีมจะเต็มที่มากขึ้นแค่ไหนในเกมที่ไม่มีความหมายอะไรแล้ว เรื่องนี้ยังต้องรอการพิสูจน์
อย่างไรก็ตาม เมื่อเหล่าสตาร์ลงสนามและแต่ละทีมเล่นกันอย่างเต็มที่ แน่นอนว่าผลที่สะท้อนกลับคือแฟน ๆ จะได้เห็นเกมที่สนุกและมีความหมายยิ่งกว่าเดิม และท้ายที่สุดหากแฟน ๆ ชื่นชอบ NBA เองนั่นแหละที่จะได้รับผลประโยชน์กับการปรับกฎล็อตเตอรี่ดราฟต์มากที่สุด
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา