24 ส.ค. 2020 เวลา 10:50 • ประวัติศาสตร์
เปิดเส้นทาง 6 ประเทศ (พระถังซัมจั๋ง)
จุดพักสำคัญ ตั้งแต่จีน จนถึงอินเดีย
2
Ep.009 เปิดเส้นทางพระถังซัมจั๋ง
เรื่องราวการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎก
ของพระถังซัมจั๋งพร้อมกับเหล่าบรรดาลูกศิษย์
จากเมืองจีนไปชมพูทวีป นั้นทำให้ข้าพเจ้า
เกิดความประทับใจอยู่ 2 ครั้ง
1
ครั้งแรก คือความตื่นตาตื่นใจของหนังไซอิ๋วในวัยเด็ก
ครั้งที่2 คือการได้รู้ว่าการเดินทางไปชมพูทวีป
ของพระถังซัมจั๋ง...นั้นคือเรื่องจริง...
หนัง ไซอิ๋ว
ไซอิ๋ว Journey to the west เรื่องราวการเดินทาง
ไปยังชมพูทวีปเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฏก
ของพระถังซัมจั๋ง และเหล่าลูกศิษย์
นวนิยายคลาสสิคในสมัยราชวงศ์หมิง
แห่งอาณาจักรจีน
โดยผู้เขียนอ้างอิงจากผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์
ผู้มีนามว่าพระเสวียนจั้ง และมีศิษย์ร่วมทางคือ
หงอคง ตือโป๊ยก่าย และซัวเจ๋ง
ระหว่างการเดินทางต้องพบกับการขัดขวาง
ของเหล่าปีศาจมากมายด้วยเนื้อหาที่เป็นการผจญภัย
และมีสัตว์เป็นตัวเอก ทำให้ไซอิ๋วได้รับความนิยม
มากที่สุดในวรรณกรรมเอกทั้ง 4 เรื่องของจีน
การเดินทางจากจีนไปอินเดีย ของพระเสวียนจั้ง
เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.627ในสมัยพระเจ้าถังไท่จง
ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ถัง ของจีนเพื่อไปศึกษาธรรม
และแสวงหาความรู้อันถ่องแท้ของพระพุทธศาสนา
ในดินแดนอันเป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิม
4
บทความนี้จะขอนำเสนอเส้นทางสำคัญ
ของพระถังซัมจั๋ง(ขาไป) อันได้ปรากฎในบันทึก
ข้าพเจ้าได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ
มาพล็อตจุดลงบนแผนที่ เพื่อให้ได้มองเห็นภาพ
อดีตและปัจจุบันไปพร้อมๆกัน
โดยแบ่งเป็นเขตประเทศ ดังต่อไปนี้
ภาพรวมเส้นทาง ของพระถังซังจั๋ง
1.เขตประเทศ จีน ปัจจุบัน
ลั่วหยาง - ฉางอัน
เริ่มต้นจากเมืองลั่วหยาง บ้านเกิดของพระถังซัมจั๋ง
ปัจจุบันตั้งอยู่ทางตะวันตกของมณฑลเหอหนาน
เป็นแหล่งกำเนิดทางอารยธรรมที่สำคัญของจีน
1
วัดถ้ำหลงเหมิน
ถ้ำหินหลงเหมิน สร้างเมื่อศตวรรษที่ 5
สมัยราชวงศ์เว่ยในเมืองลั่วหยาง
ฮ่องเต้ทุกพระองค์ในสมัยราชวงศ์เว่ย
จนถึงราชวงศ์ถัง และราชวงศ์โจวให้ช่างแกะสลักหิน
ที่ถ้ำหลงเหมินเป็นรูปสลักพระพุทธรูปอย่างต่อเนื่อง
พบว่ามีการสร้างประติมากรรมโดยสกัดช่องไว้
ตามผนังเขาหินแห่งนี้ จำนวน 1,352 โพรงถ้ำ
ระยะทางกว่า 1.5 กิโลเมตร
1
วัดต้าฉือเอิน
วัดต้าฉือเอิน ในเมืองฉางอัน(ซีอาน)
จะมีเจดีย์ห่านป่าใหญ่
สร้างไว้เพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฎก
ที่ได้อันเชิญมาจากอินเดียโดยพระถังซัมจั๋ง
1
ฉางอัน - เหลียงโจว
พระถังซัมจั๋งตัดสินใจออกเดินทางไปแสวงธรรม
และศึกษาพระธรรมที่มหาวิทยาลัยนาลันทา อินเดีย
และ จุดเริ่มที่ออกเดินทางคือ เมืองฉางอัน
1
เวลานั้นพระเจ้าถังไท่จงห้ามมิให้ผู้คนในอาณาจักร
เดินทางไปดินแดนภายนอก เพราะราชวงศ์ถัง
กำลังทำสงครามกับพวกเติร์กตะวันออกอยู่
จึงมีราชโองการให้ปิดเส้นทาง การเดินทางสู่ตะวันตก
เอาไว้โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติ และขบวนสินค้า
ผ่านได้เท่านั้น หากผู้ใดฝ่าฝืนกฏนี้
จะต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต
1
ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว (Crescent Lake)
ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว เมืองตุนหวง
มณฑลกานซู ภาคตะวันตกของจีน
โอเอซิสในทะเลทรายโกบี รูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว
ถูกล้อมรอบด้วยเนินทราย
จุดพักระหว่างทางของพระถังซัมจั๋ง
ก่อนเดินทางไปยังเขตซินเจียง-อุยกูร์
1
แผนที่เขตทะเลทราย
ทะเลทรายโกบี ในหนังเสวียนจ้าง บุรุษพุทธานุภาพ
ทะเลทรายโกบี ในเขตมนฑล กานซู
บันทึกพระถังซัมจั๋งได้กล่าวไว้ว่า :
“มีผู้คนมากมายมาหลงทางเสียที่นี่ ในทุ่งกว้างแห่งนี้เมื่อมองไปจนสุดสายตาก็ไม่มีเส้นทาง มองไปทางไหน ก็แลเห็นแต่กระดูกคนเป็นเครื่องชี้หนทาง เมื่อไม่มีน้ำ จึงไม่มีสิ่งที่มีชีวิตใดๆจะงอกงามขึ้นมาได้ ในยามที่มีลมร้ายพัดวูบมา ก็อาจทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยไปตามๆกันหรือในบางที ก็อาจได้ยินเสียงของภูตผีปีศาจดังโหยหวนและร่ำไห้ และหากขืนตามเสียงนั้นไป ก็อาจจะหลงทางได้ เพราะถูกมารร้ายมาตามหลอกหลอน”
1
เหลียงโจว -โกบี -ทากลามากัน-ฮามิ
พระถังซัมจั๋ง และคณะลอบเดินทางออกจากอาณาจักร
ทางเขตชายแดนเมือง เหลียงโจว(หลานโจว ปัจจุบัน)
ของมณฑลกานซู โดยเดินทางอยู่ในทะเลทรายโกบี
ผ่านไปทางมณฑลชิงไห่ ต่อจากนั้นก็เดินทาง
สู่ทะเลทรายทากลามากัน เขตมณฑลซินเจียง ปัจจุบัน
1
ทะเลทราย ทากลามากัน
ทะเลทรายทากลามากัน เป็นทะเลทรายขนาดใหญ่
ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ของประเทศจีน
บางครั้งอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
นานหลายสัปดาห์
ขึ้นชื่อในเรื่องที่เป็นแหล่งที่ฝังร่างของนักเดินทาง
จำนวนมากมาย เนื่องจากในเวลากลางวัน
ทะเลทรายแห่งนี้จะมีอุณหภูมิสูงมาก
แต่พอในเวลากลางคืนกลับหนาวมาก
และนอกจากอากาศที่เลวร้ายอยู่แล้ว
ยังเป็นแหล่งที่ขาดแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร
แต่ในทะเลทรายยังมีโอเอซิสหลายแห่ง
เช่นเมืองถู่หลู่ฟาน(ทูร์ฟาน) และเมืองคูชา(อักสู)
1
ฮามิ - ถู่หลู่ฟาน(ทูร์ฟาน)
ฮามิในฉากหนังเสวียนจ้าง บุรุษพุทธานุภาพ
พระถังซัมจั๋ง เดินทางระหว่างทะเลทราย
จนมาถึงเมือง YiWuในฮามิ เขตซินเจียง อุยกูร์
แล้วจึงเดินทางต่อไปยังเมืองเกาชาง
บริเวณถู่หลู่ฟาน ตามคำเชิญของเจ้าเมือง
1
ทูร์ฟาน หรือเมืองถู่หลู่ฟาน
ตั้งอยู่ในที่ลุ่มทางภาคตะวันออกของภูเขาเทียนซาน
เขตปกครองตนเองชนเผ่าอุยกูร์ ในมณฑลซินเจียง
เขตเชื่อมต่อประเทศจีนกับเอเชียกลาง
มีวัฒนธรรม และศาสนาของตะวันออกและตะวันตก
ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน
1
ซากเมืองเกาชาง
เมืองโบราณเกาชาง ในถู่หลู่ฟาน
มีอาณาเขต 20 ตารางกิโลเมตร
อายุราวๆ 2000 ปี ในบันทึกจีนเขียนไว้ว่า
"สมัยเจริญรุ่งเรือง เมืองนี้เคยมีผู้คน3หมื่นคน และมีพระภิกษุถึง 3 พันรูป"
1
กษัตริย์ ฉวีเหวินไถ้ แห่งเกาชาง ได้ทำการต้อนรับ
พระถังซัมจั๋ง และสร้างโรงธรรมให้แก่ท่าน
เพื่อให้เทศนาอยู่ที่นั่น นานถึง 1 เดือน
ซึ่งซากโรงธรรมนั้น ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
1
เมืองเกาชาง ในฉากหนังเสวียนจ้าง บุรุษพุทธานุภาพ
ในบันทึกพระถังซัมจั๋งกล่าวไว้ว่า
"เจ้าเมืองเกาชางพยายามเหนี่ยวรั้งให้ท่านอยู่ที่นี่
แต่ต่อมาเมื่อเห็นว่าคงไม่สามารถเปลี่ยนใจ
พระถังซัมจั๋งได้ จึงมีรับสั่งให้สามเณรจำนวน4รูป
พร้อมทั้ง พุทธบริษัทอีก 25 คน
ร่วมเดินทางเพื่อคอยอำนวยความสะดวก
รวมทั้งส่งมอบสาส์นไปถึงเจ้าเมืองต่างๆระหว่างทาง
ให้ช่วยรับรองดูแลท่าน ตลอดเส้นทาง
1
ภูเขาเปลวไฟในถู่หลู่ฟาน
พื้นที่บริเวณนี้จะมีความร้อนเฉลี่ย70องศา
จัดว่าเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้ง และร้อนจัดที่สุด
ในประเทศจีน
1
ในวรรณกรรมไซอิ๋วกล่าวไว้ว่า
หงอคง เมื่อครั้งอยู่บนสวรรค์ได้เผลอ
ไปเตะโดนเตาไฟปรุงยาอมฤตทำให้ถ่านในเตาร่วงตกลงมายังโลก
ซึ่งก็คือภูเขาเปลวไฟแห่งนี้
2
เมื่อคณะเดินทางของพระถังซัมจั๋งผ่านมา
ด้วยความร้อนระอุ ทำให้เดินทางผ่านนั้นยากลำบาก หงอคงจึงไปขอยืมพัด
จากองค์หญิงพัดเหล็กซึ่งเป็น ภรรยาของปีศาจกระทิง
แต่นางก็ไม่ยอมให้มา และเกิดการต่อสู้กันวุ่นวาย
จนสุดท้ายต้องขอให้เจ้าแม่กวนอิม ลงมาช่วยเจรจา
ถู่หลู่ฟาน - คูชา - อักสู
คณะเดินทางของพระถังซัมจั๋งเดินทางออกจากถู่หลู่ฟาน
เพื่อยังเมืองอักสู โดยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก
ระหว่างเส้นทางมักมีโจรผู้ร้ายคอยปล้นสะดม
ผู้เดินทางผ่านไปผ่านมาอยู่บ่อยครั้ง
ท่านและคณะต้องใช้เส้นทางเลี่ยงโจรผู้ร้าย
ในระหว่างนั้น ท่านก็ได้เดินทางไปตามวัดต่างๆ
ในอาณาจักรคูชา(Kucha)
1
ซากเมืองซูบาช แคว้นคูชา
เมืองโบราณซูบาช แห่งคูชา
ในบันทึกของพระถังซังจั๋งได้กล่าวไว้
เป็นเมืองพุทธที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก
ท่านได้พักอยู่เมืองคูชาเป็นเวลา 3 เดือน
เพื่อสอนธรรมะให้แก่ชาวเมือง และองค์หญิงเมืองนี้
1
"ในเมืองคูชา มีอารามกว่า 100 แห่ง
มีพระภิกษุกว่า 5,000 รูป ไฝ่ใจศึกษาในลัทธิหินยาน
พุทธคำภีร์ รวมทั้งคำสอนต่างๆ ของพระพุทธองค์
รักษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นผู้ถือพร้อมด้วยศีล
ภาวนา ประกอบกิจวัตรทางศาสนาอย่างหมั่นเพียร
และยินดีในการแข่งขันเอาดี ทางสมถะวิปัสสนา
1
"มีอาราม2 แห่งที่หันหน้าเข้าหากัน
โดยมีแม่น้ำคั่นกลางระหว่างอาราม
ซึ่งวัดแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อว่า วัดเจาฮูหลี่
เป็นวัดที่มีความงดงาม ปราณีต
ยากที่จะเชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้สร้าง"
1
วัดถ้ำคีซีล
ถ้ำคีซีล เป็นถ้ำพระที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศจีน
อยู่ทางตอนเหนือของเมืองคูชา ประมาณ75กิโลเมตร
และเป็นหนึ่งในถ้ำพระที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน
รองจากถ้ำโมเกา ในตุนหวง
ยังคงความสมบูรณ์เมื่อเทียบกับถ้ำอื่นๆ
ในซินเจียง อุยกูร์
1
ได้รับอิทธิพลจากพุทธแบบหินยานในช่วงแรกๆ
แต่หลังจากศตวรรษที่8-10 เป็นต้นมา
ได้เปลี่ยนมาเป็นมหายาน
จะเห็นได้จากรูปแบบของภาพวาดส่วนใหญ่ในถ้ำ
ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก
1
2.เขตประเทศ คีร์กีซสถาน ปัจจุบัน
อักสู - ทะเลสาบอิสซิก กูล - ต็อกมัก
ออกจากเมืองอักสู คณะเดินทางก็วกขึ้นไปทาง
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อข้ามช่องเขาเทียนซาน
ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ และน้ำแข็ง
เพื่อเดินทางเข้าสู่เขตแดนอันเป็นประเทศ
คีร์กีซสถานในปัจจุบัน
1
เทือกเขาเทียนซาน หนังเสวียนจ้าง บุรุษพุทธานุภาพ
ระหว่างการเดินทางนั้น มีอยู่ระยะหนึ่ง
พระถังซัมจั๋ง ต้องนำคณะเดินทางผ่านช่องเขา
ที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ซึ่งที่นั่นคณะเดินทาง
ส่วนหนึ่งได้เสียชีวิตลง จากเหตุการณ์หิมะถล่มบ้าง
ถูกแท่งหิมะแทงจนเสียชีวิตบ้าง
บ้างก็โดนหิมะกลบฝังทั้งเป็น
บ้างก็พลัดตกเหว บ้างก็หนาวตาย
จนเดินทางถึงทะเลสาบอิสซิก กูล (Issyk Kul)
1
ทะเลสาบ อิสซิก กูล Issyk-Kul คีร์กีซสถาน
อิสซิก กูล เป็นทะเลสาบในเทือกเขาเทียนชาน
ทางภาคตะวันออกของคีร์กีซสถาน
ทะเลสาบนี้เป็นทะเลสาบที่ลึกเป็นอันดับที่ 7 ของโลก
และใหญ่เป็นอันดับที่ 10 ของโลกตามปริมาตร
และทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่เป็นอันดับที่สอง
รองจากทะเลแคสเปียน
อิสซิก กูล แปลว่าทะเลสาบอุ่นในภาษาคีร์กีซ
แม้ว่าจะล้อมรอบด้วยยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ
แต่น้ำที่นี่ก็ไม่เคยกลายเป็นน้ำแข็ง
1
ในบันทึกพระถังซัมจั๋งได้กล่าวไว้ว่า
"เมื่อเดินทางอยู่ท่ามกลางเขาเหลียงซาน
ประมาณ400ลี้ ก็มาถึงทะเลสาบต้าชิงฉือ
วัดความกว้างโดยรอบได้1000 ลี้ โดยประมาณ
จากด้านเหนือจรดด้านใต้มีภูเขาล้อมรอบทั้ง4ทิศ
มีแม่น้ำหลายสายไหลมาบรรจบทีนี่
น้ำในทะเลสาบสีเขียวคล้ำ มีรสชาติทั้งขื่น และเค็ม
ในน้ำมีทั้งปลาและมังกร ผสมปนคละกัน
มีเทพบ้าง พรายบ้าง ปรากฎตัวให้เห็นอยู่เป็นนิจ
ดังนั้นผู้คนที่สัญจรจะแสดงความนอบน้อม
และตั้งจิตอธิษฐานให้มีความผาสุก
และแม้มีสัตว์น้ำมากมาย แต่ก็หามีใครกล้าจับไม่"
1
ต็อกมัก - ทาสเคนท์
ต่อจากทะเลสาบอิสซิก กูล ที่อยู่ทางตอนเหนือ
ของเทือกเขาเทียนซาน พระถังซัมจั๋งและคณะเดินทาง
ก็เลาะเลียบทะเลสาบนี้ ไปจนไปถึงเมืองซูยับ
(ต็อกมัก)ในประเทศคีร์กีซสถาน
1
หอสังเกตการณ์ Burana Tower คีร์ก
ซูยับ Suyab เป็นเมืองโบราณ
อยู่ในบริเวณเขต ต็อกมัก ปัจจุบัน
ในบันทึกพระถังซัมจั๋งกล่าวไว้ว่า
"จากทะเลสาบต้าชิงฉือ บ่ายหน้าไปทาง
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 500 ลี้ โดยประมาณ
ก็ถึงเมืองซูยับ"
1
เมืองนี้มีอาณาเขตโดยรอบ 6-7 ลี้
พ่อค้ากองคาราวานจากแคว้นต่างๆต่างมาพำนักที่นี่
เนื้อดินบริเวณนี้เหมาะที่จะปลูกลูกเดือย ข้าวสาลี องุ่น
พืชพันธุ์ขึ้นค่อนข้างบาง เพราะอากาศหนาวจัด
และ ลมแรง ส่วนเครื่องนุ่งห่มก็มักตัดเย็บ
ด้วยสักหลาด และผ้ากาสา
1
ซากเมือง ครัชรายา เรชกา
ครัชนายา เรชกา
เมืองโบราณที่เป็นวัดพุทธ ที่ถูกขุดค้นอยู่ 2 แห่ง
อยู่บนจุดผ่านสำคัญของเส้นทางสายไหม
ระหว่างต็อกมัก และทาสเค่น เป็นการบ่งบอก
ว่าบริเวณนี้ เป็นจุดเชื่อมต่อพระพุทธศาสนา
จากอินเดียสู่จีนผ่านเส้นทางสายไหม
1
ในฉากหนังเสวียนจ้าง บุรุษพุทธานุภาพ
ในบันทึกพระถังซัมจั๋งกล่าวไว้ว่า
“เมื่อเดินทางมาถึงเมืองนี้ได้พบกับ เยฮูข่าน
ข่านแห่งเติร์กตะวันตกที่มีความสัมพันธ์อันดี
กับราชวงศ์ถัง ท่านข่านได้จัดงานเลี้ยงรับรอง
ให้กับท่านและคณะหลังจากนั้นเป็นอย่างดี”
1
“หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาก็เกิดความศรัทธา
เป็นอย่างมาก จึงขอร้องให้พระถังซัมจั๋ง
ล้มเลิกการเดินทาง และขอให้อยู่ที่นี่ต่อไป
แต่พระท่านก็กราบทูลข่านว่าตนเองมีความตั้งมั่น
จะไปอัญเชิญพระคัมภีร์ให้จงได้ เมื่อเยฮูข่านเห็นถึงความตั้งใจอันแน่วแน่
จึงไม่คิดเหนี่ยวรั้งอีกต่อไป"
1
"แล้วพอถึงเวลาเดินทาง จึงสั่งให้จัดเตรียมเสื้อผ้า อาหาร
ล่ามที่รู้ภาษาจีน และภาษาเอเชียกลางร่วมทางไปด้วยกับคณะ
พร้อมเขียนราชสาสน์ไปยังแค้วนต่างๆที่เดินทางผ่าน
ให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
เมื่อพระถังซัมจั๋งเดินทางออกจากแคว้น
ท่านยังได้ตามไปส่งเป็นระยะทาง50ลี้”
1
หลังจากนั้นก็เดินทางต่อไปทางทิศตะวันตก
และวกลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
มุ่งหน้าไปยังเมืองทาสเคนท์
เมืองหลวงประเทศอุซเบกิสถาน ปัจจุบัน
1
3.เขตประเทศ อุสเบกิสถาน ปัจจุบัน
ทาสเคนท์ - สมาร์คานท์
เมืองทาชเคนต์ เมืองหลวงของประเทศอุซเบกิสถาน
เป็นเมืองเก่าแก่ และเป็นที่พัก ของกองคาราวาน
ที่เดินทางผ่านเส้นทางสายไหม
1
ในบันทึกของพระถังซัมจั๋งกล่าวไว้ว่า
จากจุดนี้เดินทางขึ้นไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
จะเข้าสู่เขตทะเลทรายอันกว้างใหญ่
(ทะเลทราย คีซีกุม อุสเบกิสถาน) ไม่มีทั้งน้ำและหญ้า
เส้นทางเดินเลือนหายไปกับทะเลทรายที่ไร้ขอบเขต
เราอาศัยทิวเขาและกองกระดูก
ที่กระจัดกระจาย เป็นเครื่องบอกทิศทาง “
1
ซากวัง อโฟรซิแอป
พระราชวังอโฟรซิแอป เมืองโบราณในสมาคานด์
1
ในบันทึกพระถังซัมจั๋งกล่าวไว้ว่า
“เมื่อถึงสมาคานด์ เจ้าเมืองแห่งนี้ เป็นกษัตริย์
ที่ห้าวหาญและมีกองทัพที่แข็งแรง จนแว่นแคว้น
รอบข้างต่างก็ยอมสยบ เมื่อพบกันครั้งแรก
พระราชาองค์นี้ ดูไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่นัก
แต่หลักจากได้ฟังเทศน์เป็นครั้งที่ 2 ก็เกิดประทับใจ
จนยินยอมให้พระถังบวชให้ชาวเมืองจำนวนหนึ่ง”
1
“สมาคานด์ขณะนั้น ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนา
โซโลแอสเตอร์ เมื่อสมาชิกในขบวนของพระถังซัมจั๋ง
เข้าไปไหว้พระในวัดพุทธที่ถูกทิ้งร้าง
เลยถูกชาวบ้านขับไล่ออกมา เมื่อเรื่องถึงหูกษัตริย์
จึงสั่งให้ลงโทษชาวบ้านแถวนั้นด้วยการตัดมือ
แต่พระถังซัมจั๋ง ได้ขอประทานอภัยโทษเอาไว้
จนกษัตริย์ยอมลดโทษเหลือเพียงการเฆี่ยนตี”
1
สมาคานท์ - เตเมซ
จากนั้นคณะพระถังซัมจั๋งก็เดินทางต่อ โดยมุ่งหน้าลงใต้
คณะของท่านต้องเดินทางข้ามแหลมของเทือกเขาพามีร์ (Pamirs)
แล้วเดินทางไปที่แม่น้ำอาร์มู ดาร์ยา และเมืองเตเมซปัจจุบัน
เป็นเมืองทางตอนใต้ของอุซเบกิสถานติดกับชายแดนอัฟกานิสถาน
1
เมืองเตเมซ ประเทศอุซเบกิสถานในเอเชียกลาง
เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม ที่มีความสำคัญ
ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากอินเดีย
ไปยังเอเชียและยุโรป แม้ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่
ในเตเมซจะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์
ที่เกี่ยวโยงกับพระพุทธศาสนาในยุคต้นก็ยังคงอยู่
เพราะมีการค้นพบหลักฐานโบราณคดีทางพระพุทธศาสนามากมายในแถบนี้
1
วัดฟะยัชเตเป บูรณะใหม่
วัดฟะยัซเตเป เตเมซ ประเทศอุซเบกิสถาน
มีอายุกว่า 2000 ปี สันนิษฐานว่าวัดพุทธแห่งนี้
น่าจะสร้างขึ้นในสมัยของกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะ
คือราวพุทธศตวรรษที่ 5-8
1
ซากสถูปซูร์มาลา
สถูปซูร์มาลา ในเตเมซ สร้างขึ้นในยุคกุษะณะ
เป็นยุครุ่งเรืองของพุทธศาสนาต่อมาในยุคกลาง
บริเวณนี้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูก รูปทรงของสถูป
ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลาจนไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว
1
4.เขตประเทศ อัฟกานิสถาน ปัจจุบัน
เตเมซ-คุนดุซ-บาคห์-บามิยัน
คณะเดินทางพระถังซัมจั๋งเดินทางต่อไป
ทางทิศตะวันออกเพื่อผ่านเมืองคุนดุซ
(ปัจจุบันเป็นเมืองทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน)
และได้รับคำแนะนำให้เดินทางไปต่อยังเมืองบาคห์
ในอดีตเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากแต่ถูกทำลายลง
และกลายเป็นเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในอัฟกานิสถาน
เพื่อไปเยี่ยมชมพุทธสถานและพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่อยู่ในเมืองนั้น
1
ได้พบกับพระสงฆ์จำนวนมาก ซึ่งพระถังซัมจั๋ง
ก็ได้ทำการศึกษาพระคัมภีร์ที่มีอยู่ที่นี่
และได้รวบรวมคัมภีร์สำคัญไว้มากมายจากที่นี่
5
พระพุทธรูปแห่งบามิยัน ปัจจุบันถูกทำลายแล้ว
เมืองบามียัน อัฟกานิสถาน บันทึกได้กล่าวไว้ว่า
“เมื่อคณะได้เดินทางถึงบามียัน มีพระพุทธรูป
เหลืองอร่ามไปด้วยทองคำ และมีพระกว่า 1,000 รูปจำวัดอยู่ที่นี่
และมีอารามมากกว่า 10 แห่ง
มีพระสงฆ์หลายพันรูป เป็นฝ่ายโลกุตตรวาท
สังกัดนิกายมหายาน พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงของเมืองนี้
คือ พระอารยทูต และพระอารยเสน
ซึ่งมีความรู้ในพระธรรมวินัยเป็นอย่างดี"
5
"ที่เนินเขาของนครหลวง มีพระพุทธรูปยืน
ซึ่งจำหลักด้วยศิลา สูง 150 เฉี๊ยะ
ถัดจากนี้ไปเป็นอาราม และพระปฏิมา
จำหลักด้วนแก้วกาจ สูง 100 เฉี๊ยะ
อารามนี้ มีพระพุทธไสยาสน์ความยาว 1,000 เฉี๊ยะ
บรรดาพระพุทธรูปเหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือที่ปราณีต
สวยงาม นอกจากนี้ยังมีอารามประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว
พระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าอีกด้วย
1
เมื่อคณะเดินทางผ่านเมืองบามียัน ตลอดทาง
ท่านได้พบปะกับเหล่าภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
ได้แลกเปลี่ยนความรู้ โต้วาที และได้เยี่ยมชม
วัดวาอารามของดินแดนแห่งนั้น แสดงให้เห็นว่า
ศาสนาพุทธมีความรุ่งเรืองมาก
1
ซาก สถูป เมสไอนัค
สถูป เมส ไอนัค Mes Aynak
ตั้งอยู่ในเขตแห้งแล้งของจังหวัด Logar อัฟกานิสถาน
ท่ามกลางเทือกเขาฮินดูกูช สถานที่แห่งนี้
คือแหล่งทองแดงใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
เป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปโบราณกว่า 200 องค์
สถูป และศาสนสถานครอบคลุมพื้นที่ 100 เอเคอร์
1
5.เขตประเทศ ปากีสถาน ปัจจุบัน
เมื่อคณะเดินทางไปถึงเมืองจาลาลาบัดและลาห์มาน ซึ่งทั้งสองเมืองอยู่ในเขตของประเทศอัฟกานิสถาน พระถังซัมจั๋งข้ามเทือกเขาฮินดูกูช มาถึงแคว้นคันธาระ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน
1
บริเวณ แคว้น คันธาระ
เมืองตักศิลา ศูนย์กลางแคว้นคันธาระ
อยู่ในหุบเขาเปศวาร์ ปากีสถาน ระหว่างเทือกเขา
สุไลมาน ติดพรมแดนของอัฟกานิสถาน
โดยมีแม่น้ำสินธุไหลขนาบข้าง ดินแดนนี้
ได้รับวัฒนธรรมอินเดียผสมกับวัฒนธรรมกรีกไซเธียนปาร์เธียน และกุษาณะ อยู่รอบๆคันธาระ
เป็นเหตุให้เกิดศิลปะแบบคันธาระ และภาษาคันธารีแคว้นนี้จึงถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาสมัยโบราณ
1
ซากเจดีย์ ธรรมยาสิกา รัฐปัญจาบ ปากี
เจดีย์ธรรมยาสิกา มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลาง สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชล้อมรอบด้วยเจดีย์อีกนับร้อยองค์
มีการสร้างกุฎิพระสงฆ์ และอาคารในลักษณะของ
ชุมชนชาวพุทธขนาดใหญ่
1
ศิลปะ วัดจูเลี่ยน แคว้นไคเบอร์ปัคตูนควา
วัดจูเลี่ยน ตั้งอยู่ในแคว้นไคเบอร์ปัคตูนควา
ปากีสถาน เป็นวัดที่มีสภาพสมบูรณ์
ยังเห็นลายแกะสลักหินและลายปูนปั้นอันชัดเจน
โดยเฉพาะรูปพระพุทธเจ้าปางต่างๆ
พระพักตร์ยังงดงามอิ่มเอิบ ประทับขนาบ
ด้วยเสาโรมันแบบโครินเธียนแท้ๆ
สะท้อนถึงแก่นของศิลปะคันธาระที่ต้องนำ
ความเป็นกรีกเข้ามาผสมผสานด้วยเสมอ
1
6.เขตประเทศ อินเดีย ปัจจุบัน
แม่น้ำคงคา ในภาพยนตร์ เสวียนจ้าง บุรุษพุทธานุภาพ
คณะเดินทางพระถังซัมจั๋ง มาขึ้นเรือล่องแม่น้ำคงคาในแคว้นกันเนาว์ ของอินเดีย
เพื่อเดินทางไปจุดหมายปลายทาง คือนาลันทา
1
ในปี 631 พระถังซัมจั๋งข้ามเทือกเขาฮินดูกูช
มาถึงแคว้นคันธาระ ต่อลงมาถึงแคชเมียร์
แถบปากีสถานและอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ
ที่นี่พระถังซัมจั๋งได้ลงเรือไปตามแม่น้ำคงคา
เส้นเลือดใหญ่ของชมพูทวีป
เพื่อเดินทางไปยัง วิทยาลัยนาลันทา
มหาวิทยาลัยนาลันทา ตั้งอยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ประมาณ 12กิโลเมตร ห่างจากเมืองปัตนะของรัฐพิหาร ประมาณ 90 กิโลเมตร
ภายหลังการขุดค้นพบซากมหาวิทยาลัยนาลันทา
รัฐบาลรัฐพิหารได้ประกาศยกฐานะหมู่บ้านนาลันทา เป็นอำเภอนาลันทา
1
พระเสวียนจั้ง ได้ศึกษาภาษาบาลี-สันสกฤตเพิ่มเติม รวมถึงปรัชญาพุทธและปรัชญาอินเดียสายอื่น ๆ จนแตกฉานที่วิทยาลัยนาลันทา
1
สำหรับการเดินทางของพระถังซัมจั๋ง ในบทความนี้ข้าพเจ้าได้จัดทำเฉพาะการเดินทาง
จากจีนไปอินเดียเท่านั้น โดยไม่นับเส้นทางกลับ
จริงๆแล้วโดยรวมการเดินทาง ไป-กลับ ทั้งหมด
ของพระถังซัมจั๋งในระยะเวลา 18 ปี
มีระยะการเดินทางทั้งหมดประมาณ 5 หมื่นลี้
หรือประมาณ 25,000 กิโลเมตร
โดยผ่านเขตแดนถึง 6 ประเทศในปัจจุบัน
1
บันทึกการเดินทางของพระถังซัมจั๋ง
ได้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ได้รู้ถึงการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจากอินเดีย ผ่านเส้นทางสายไหมสู่ดินแดนต่างๆในเอเชีย จนนำไปสู่การขุดค้นในยุคล่าอาณานิคมและการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีมากมายในปัจจุบัน
2
และกลายมาเป็นหนังไซอิ๋ว ที่ข้าพเจ้าชื่นชอบ
ขอให้ทุกทางฝันจงมีแรงใจ จากคนที่รัก ในทุกระยะทาง
....................ไซตามะ
โฆษณา