24 ส.ค. 2020 เวลา 13:10 • ปรัชญา
ทำไมสังคมไทยมี "หนี้บุญคุณ" แล้วสังคมฝรั่งไม่มี? ตอนที่ ๑
In Short: สังคมไทยมีวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่ (Collectivist Culture) ส่งผลให้มีระดับวัฒนธรรมหนี้บุญคุณ (Debt of Gratitude) สูงกว่า
เคยสงสัยไหมครับ ว่าทำไมวัฒนธรรมบ้านเราถึงมีหนี้บุญคุณ แล้ววัฒนธรรมฝรั่งถึงไม่มี ถ้าเคยสงสัย วันนี้เรามีคำตอบในแง่วัฒนธรรมมาฝากกันครับ
เมื่อพูดถึงเรื่องวัฒนธรรมกับหนี้บุญคุณแล้ว คงหนีไม่พ้นการพูดถึงวัฒนธรรมคติรวมหมู่ (Collectivist Culture) และวัฒนธรรมปัจเจกนิยม (Individualistic Culture)
โดย 2 วัฒนธรรมนี้เป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศหนึ่งๆ จะเป็นคติรวมหมู่ไปซะ 100% หรือปัจเจกนิยมไป 100% เลยนะครับ แต่ละประเทศมีระดับของทั้ง 2 วัฒนธรรมมากน้อยต่างกัน
อย่างของไทยเรา (จริงๆ น่าจะประเทศแถบบ้านเราทั้งหมด) จะค่อนไปทางวัฒนธรรมคติรวมหมู่ซะมากกว่า ในขณะที่ประเทศแถบอเมริกา แคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย จะค่อนไปทางปัจเจกนิยมมากกว่าครับ
(ว่ากันว่า เป็นอิทธิพลของดินฟ้าอากาศ ซึ่งเราจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อถึงสมมติฐานนี้ในโพสต์วันพรุ่งนี้ครับ เดี๋ยวจะยาวกันเกินไป)
ทีนี้มาดูกันต่อว่า 2 วัฒนธรรมที่ว่านี้ต่างกันยังไง
วัฒนธรรมคติรวมหมู่ (อย่างที่ชื่อบอกเลย) คือวัฒนธรรมที่ผู้คนเน้นการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม ในขณะที่วัฒนธรรมปัจเจกนิยม คนจะเน้นพึ่งพาตัวเอง คิดเอง ทำเอง
1
ทีนี้พอเรามีวัฒนธรรมที่ค่อนไปทางการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม วัฒนธรรมเรื่อง “หนี้บุญคุณ” ของเราเลยเด่นชัดกว่าไปด้วย
โดยหนี้บุญคุณ เป็นตัวช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในสังคม ให้สอดคล้องไปตามลักษณะวัฒนธรรมคติรวมหมู่นั่นเองครับ
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าในวัฒนธรรมปัจเจกนิยม ผู้คนจะไม่รู้สึกขอบคุณคนรอบตัวกันเลยนะครับ คือถ้ามีใครทำดีด้วย เขาก็รู้สึกอยากทำดีตอบแทนเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้มีเรื่อง “หนี้บุญคุณ” มาเป็นตัวกำหนดให้ต้องทำแค่นั้นเอง
2
ตัวอย่าง
ในวัฒนธรรมคติรวมหมู่ ลูกๆ อาจจะรู้สึกต้องกลับไปอยู่ดูแลพ่อแม่ตอนแก่ “เพื่อตอบแทนบุญคุณ” แต่ในวัฒนธรรมปัจเจกนิยม ลูกๆ สามารถไปมีชีวิตของตัวได้ แต่ก็ยังไปมาหาสู่ดูแลพ่อแม่ตามระดับความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์
หรือในวัฒนธรรมคติรวมหมู่ ครูบาอาจารย์ทุกท่านเป็นผู้มีพระคุณ แต่ในวัฒนธรรมปัจเจกนิยม นักเรียนอาจจะรู้สึกเคารพรักอาจารย์มากน้อยเป็นรายบุคคลไป
แม้ว่า “หนี้บุญคุณ” จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในสังคม และทำให้สังคมสามารถอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนได้
แต่ “หนี้บุญคุณ” อาจจะส่งผลให้คนที่อยู่ในฐานะ “ลูกหนี้” มองไม่เห็นถึงสิทธิอันพึงมีของตัวเอง และคนที่อยู่ในฐานะ “เจ้าหนี้”ละเมิดสิทธิของคนอื่นโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน
3
เช่น
ลูกอยากเรียนศิลปศาสตร์ แต่พ่อแม่อยากให้เรียนวิศวะ พอมีเรื่องหนี้บุญคุณเข้ามาเกี่ยวข้อง ลูกก็อาจจะเลือกเรียนตามใจพ่อแม่เพื่อตอบแทนบุญคุณ โดยลืมมองไปว่าตัวเองก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเรียนในสิ่งที่ถนัดหรือมีความสุขเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน พ่อแม่บางคนอาจจะมองว่าตนเองส่งเสียเลี้ยงดูลูก ลูกก็ควรจะเชื่อฟังเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ จนลืมนึกไปว่าลูกก็ควรมีสิทธิ์ในการเลือกใช้ชีวิต หรือมีความสุขในแบบของตัวเองเหมือนกัน
2
หรือพนักงานออฟฟิศที่รู้สึกติดหนี้บุญคุณบริษัท ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ทำงานให้ (แถมบางครั้งทำเยอะกว่าด้วย) พอมีเรื่องหนี้บุญคุณเข้ามา ก็รู้สึกลำบากใจที่จะเรียกร้องสิทธิบางอย่างให้ตัวเอง บางครั้งแค่จะลาออก ก็ยังรู้สึกเนรคุณ
“หนี้บุญคุณ” ถือเป็นเรื่องที่ดี หากใช้เป็นเครื่องเตือนใจให้เรารู้สึกขอบคุณสิ่งดีๆ ที่เกิดรอบตัวเรา และทำสิ่งดีๆ ตอบกลับคืนเมื่อมีโอกาส
แต่ “หนี้บุญคุณ” อาจจะกลายเป็นปัญหา หากถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางสังคมและวัฒนธรรม ในการคาดหวัง กดดัน หรือบีบบังคับ ให้คนใดคนหนึ่งต้องตอบแทนบุญคุณอย่างเลี่ยงไม่ได้ครับ
โพสท์ต่อไป (ตอนที่ ๒) เราจะมาพูดกันต่อว่า
- อากาศเกี่ยวของกับหนี้บุญคุณยังไง?
- ทำไมฝรั่งถึงเป็นปักเจกนิยม?
- และทำไมเอเชียถึงเป็นคติรวมหมู่?
- รวมถึงข้อสันนิษฐานที่ว่าปัจเจกนิยมฉลาดกว่าคติรวมหมู่ด้วย?
The Columnist - ทุกการกดติดตาม คือกำลังใจดีๆ ในการแบ่งปันเรื่องราวของเรา
สำหรับผู้อ่านที่ใช้ Facebook สามารถติดตามเราเพิ่มเติมได้ที่: https://www.facebook.com/TheCOLUMNISTth
โฆษณา