24 ส.ค. 2020 เวลา 13:05 • ข่าว
สนับสนุน vs คัดค้าน ฟังเหตุผล 2 มุม จาก 2 ฝ่าย กับประเด็นเรือดำน้ำ สู่คำถามว่าไทยควรซื้อหรือไม่?
การซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ จากประเทศจีน กลายเป็นดีเบทครั้งใหญ่ของประเทศไทย แม้ในกระแสสังคมโดยรวม ระบุว่านี่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะซื้อเรือดำน้ำ แต่ฝั่งกองทัพเรือยืนยันว่า ต้องซื้อตอนนี้ เพราะมีความจำเป็น
จุดเริ่มต้นคือในปี พ.ศ.2560 กองทัพเรือ มีโครงการจัดหา "เรือดำน้ำ" จำนวน 3 ลำ โดยมีวงเงินทั้งหมด 36,000 ล้านบาท
ในปี 2560 กองทัพเรือสามารถซื้อจากจีนได้ 1 ลำ ในราคา 13,500 ล้านบาท และจีนจะส่งเรือให้เราใช้งานในปี 2566
จากนั้นในปีงบประมาณ 2563 ได้เจรจาซื้อเพิ่มอีกจำนวน 2 ลำ ในราคารวม 22,500 ล้านบาท โดยจะได้ใช้งานในปี 2569
เมื่อถึงกำหนดการในปี 2563 ที่จำเป็นต้องจ่ายเงินแล้ว มีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลควรเบรกไว้ก่อน แต่กองทัพเรือยืนยันว่าต้องซื้อ
อย่างไรก็ตามในแง่กระแสสังคม เพจไทยรัฐออนไลน์ ได้ทำการโหวตว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับการซื้อเรือดำน้ำ ปรากฎว่า มีประชาชนถึง 93.8% ที่ไม่เห็นด้วย
เหตุผลจากทั้งสองฝั่งคืออะไร ประเทศไทยควรใช้งบประมาณซื้อเรือดำน้ำหรือไม่ เรา จะสรุปสาระสำคัญให้เคลียร์ทั้งสองด้าน
[ ฝั่งสนับสนุนการซื้อ ]
1) เพื่อความได้เปรียบ ในกรณีมีข้อขัดแย้ง
ในพรีเซ็นเตชั่นของกองทัพเรือ ใช้คำว่า "เราตระหนักดีว่าไม่มีสงคราม แต่ความขัดแย้ง.. เราเห็นโอกาสที่จะเกิด" โดยกองทัพชี้แจงว่า ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลมีมูลค่า 24 ล้านล้านบาทต่อปี ประเทศไทยมีเรือสินค้าเข้าออกอ่าวไทย ปีละ 15,000 ลำ
แสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์ทางทะเลมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งถ้าหากในอนาคต เรามีปัญหาความขัดแย้งกับชาติในอาเซียน ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้ตรงนี้
"พื้นที่อ้างสิทธิในทะเลของไทยยังมีปัญหาทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน ซึ่งกำลังทางเรือยังคงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ"
ในเวลานี้ชาติอาเซียนทั้งหมด มีเรือดำน้ำ 18 ลำ ส่วนไทยมีแค่ลำเดียวเท่านั้น แม้ในยุคนี้จะไม่ได้เอาเรือมารบกันอีกแล้ว แต่กองทัพเรือเชื่อว่า ถ้ามีอำนาจทางการทหารไว้ เราจะไม่เสียเปรียบเวลามีข้อขัดแย้ง และจะไม่โดนชาติอื่นรังแก
"ถามว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ทะเลจีนใต้ ใครจะไปคุ้มครองดูแล ไม่มีใครหรอกครับ ก็เป็นกองทัพเรือนี่ล่ะ ถ้าเราไม่มีกำลังที่เข้มแข็ง ผลประโยชน์ของชาติ 24 ล้านล้านบาท กระทบแน่ครับ" พลเรือโทเถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือกล่าว
2) มีลำเดียวไม่เพียงพอ ไม่สามารถกดดันชาติอื่นได้จริง
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อธิบายว่า ปัจจุบันที่มีเรือดำน้ำลำเดียวที่สั่งซื้อไปแล้ว ไม่เพียงพอ ถ้าลองนึกภาพตาม ถ้าหากชาติอื่นๆรู้ว่าเรือดำน้ำเราอยู่ฝั่งอ่าวไทย ก็จะรู้ว่าฝั่งอันดามันไม่มีเรือดำน้ำไว้คอยป้องกันการโจมตี หรือถ้าเรืออยู่ฝั่งอันดามัน ฝั่งอ่าวไทยก็จะเปราะบางและเปิดจุดอ่อนให้ชาติอื่นได้
ในเวลานี้ เวียดนามมีเรือดำน้ำ 6 ลำ, อินโดนีเซีย 5 ลำ, มาเลเซีย 2 ลำ, สิงคโปร์ 4 ลำ และ เมียนมาร์ 1 ลำ ในเมื่อชาติอื่นที่อยู่รายล้อมไทย มีเรือดำน้ำกันหมด เราก็ควรมีเอาไว้เพื่อกดดันฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจำนวนที่กองทัพเรือมองว่าเหมาะสมในเบื้องต้น คือ 3 ลำ
3) รักษาสัญญาในข้อตกลง G to G
กองทัพเรือชี้แจงว่า การซื้อขายเรือดำน้ำเป็นการตกลงกันระหว่างรัฐบาลไทย กับ รัฐบาลจีน ( G to G) ดังนั้นจำเป็นมาก ที่จะต้องทำให้การซื้อขายลุล่วงไปได้ ไม่ให้ผิดจากข้อตกลงที่เคยเจรจากันไว้
จุดเริ่มต้นเมื่อ 2 รัฐบาลตกลงกันได้ ทางรัฐบาลจีนได้มอบอำนาจให้บริษัทเอกชน CSOC เป็นคนมาดูแลต่อ ส่วนรัฐบาลไทยก็ส่งเรื่องต่อให้กองทัพเรือเป็นคนประสานงาน
"การเจรจาแบบรัฐต่อรัฐที่เคยตกลงกันไว้ ถ้ายกเลิกอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของไทย" กองทัพเรือชี้แจง
4) เป็นราคาที่ถูกกว่าปกติ
กองทัพเรือชี้แจงว่า เรือสองลำมูลค่า 22,500 ล้านบาท หารออกมาก็เท่ากับราคาลำละ 11,250 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาพิเศษมากแล้ว เพราะถ้าเทียบกับเรือลำแรกที่ซื้อมาในปี 2560 ราคาลำละ 13,500 ล้านบาท ถือว่าทางจีนลดราคาให้ถึง 2,250 ล้านบาทต่อลำ
ยิ่งไปกว่านั้น ในการซื้อครั้งนี้ จีนยังแถมโปรโมชั่นอีกเพียบไม่ว่าจะเป็น การประกันคุณภาพเรือ 2 ปีเต็ม (จากเดิม 1 ปี), มีการอบรมจากทหารจีน เพื่อให้ทหารไทยใช้เรือดำน้ำทำการรบได้จริง รวมไปถึง แถมอาวุธอัพเกรดลงไปในเรือดำน้ำ โดยจะมีทั้งระบบสื่อสารดาวเทียม จรวดตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด รวมมูลค่า 2,100 ล้านบาท
มองในแง่ว่า ถ้าอนาคตเรือดำน้ำมีความจำเป็น และยังไงก็ต้องซื้อ ถ้าหากซื้อในวันนี้ ก็จะได้ราคาที่ถูกและได้อ็อปชั่นมากขึ้นกว่าปกติ
[ ฝั่งต่อต้านการซื้อ ]
1) ผู้คนลำบากกับเศรษฐกิจ ทำไมต้องเอาเงินไปลงกับเรือดำน้ำ?
วิกฤติโควิด-19 ส่งผลอย่างรุนแรงกับทั่วโลก โดยเฉพาะที่ไทย ที่เรามีหัวใจสำคัญคือธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเต็มๆ ชีวิตของคนทั่วไปเต็มไปด้วยความยากลำบาก รัฐบาลเองก็ยอมรับว่า เงินไม่มีพอ และกู้เงินเพิ่ม 2.14 ล้านล้านบาทเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
เมื่อสภาพเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ เงินทุกบาททุกสตางค์มีความหมาย แต่ทำไมถึงต้องเอาเงิน 22,500 ล้านบาท ไปลงกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนขนาดนั้น
เงินจำนวนนี้ 22,500 ล้านบาท สามารถจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนทั่วไป 15,000 บาท ได้ถึง 1,500,000 คน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่การเอาเงิน 22,500 จ่ายให้จีน กลายเป็นว่านำเงินมหาศาลไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้จีนแทน
ในปี 2563 รัฐบาลกู้เงินเต็มแม็กซ์แล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องจัดสรรเงินที่มีอยู่ให้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งการนำเงินที่มีจำกัดมาก มาเลือกซื้อเรือดำน้ำ อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า "ภายใต้ภาวะที่ประชาชนและการประมงพาณิชย์กำลังจะล่มสลาย งบประมาณที่จะซื้อเรือดำน้ำ ควรเอามาเยียวยาประชาชน อย่างน้อยถ้าเขาหมดขวัญและกำลังใจจะประกอบอาชีพต่อไป ควรมีเงินทุนให้เขาสักก้อน เพื่อเปลี่ยนทักษะ และลงทุนในอาชีพใหม่ แต่ทุกวันนี้ทุกคนมีแต่หนี้สินเพิ่มขึ้น เรือต้องจอดทิ้ง.. งบประมาณของประเทศมีอยู่จำกัดในปีนี้ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องซื้อเรือดำน้ำ ดังนั้นถ้าช้าไปอีก 1 ปี แล้วค่อยมาพูดเรื่องซื้อเรือดำน้ำอีกครั้งก็ได้"
2) จีนไม่ได้มีข้อผูกมัดว่าไทยต้องซื้อ
ในรายงานจากกองทัพเรือ ไม่มีข้อมูลที่ระบุว่า ถ้าไทยไม่ซื้อในปีนี้ แล้วจะต้องโดนปรับเงิน แม้เป็นการตกลงกันแบบ G to G เจรจากันไปแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์โควิดชาติคู่ค้าย่อมเข้าใจดี
อนาลโย กอสกุล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องบินรบ และอาวุธยุทโธปกรณ์ได้อธิบายไว้ว่า "ย้ำอีกครั้งว่าจีนไม่มีเงื่อนไขใดบังคับให้ไทยต้องซื้อเรือดำน้ำลำที่สอง และสาม ภายในปีนี้ทั้งสิ้น จีนไม่ได้บ้าขนาดนั้น ไทยก็ไม่ได้โง่ขนาดนั้น และผบ.ทร.มีอำนาจลงนามแน่นอน"
"ตอนเซ็นเครื่องบิน #Gripen เราก็เซ็น 6 ลำ อีก 6 ลำ เป็นอ็อปชั่น เพื่อที่ปีต่อมาเรากลับมาเซ็น จะได้ยึดราคาเก่าได้ ... มันก็เท่านั้นครับ ไม่ใช่ราคาโปรโมชั่นอะไรด้วยซ้ำ มันคือการยืนราคาของซัพพลายเออร์ ตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด ซื้อในอนาคตอาจจะแพงกว่าหรือถูกกว่าก็เป็นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องซื้อ ไม่ซื้อจะถูกปรับ"
1
"นอกจากนั้นก็เป็นการรับปากแบบปากเปล่า ซึ่งไม่ควรจะมามีน้ำหนักมากกว่าข้อสัญญาหรือวิกฤตเศรษฐกิจที่รัฐต้องเผชิญ"
3) ทำไมต้องเร่งซื้อจากจีน ในเมื่อมีข้อเสนออื่นที่ดีกว่า
เว็บไซต์ thaiarmedforce เว็บการทหารชื่อดัง ระบุว่าท่าทีของกองทัพดูแปลก คือคิดว่าต้องเอาเรือดำน้ำมาให้ได้ก่อน แม้จะได้ของไม่ดีนัก และไม่ถูกใจก็ตาม โดยจีนยอมลดแลกแจกแถม จนทำให้กองทัพเรือ ยอมมองข้ามปัจจัยคุณภาพเรือ
1
"ผู้ผลิตในยุโรปเสนอเรือดำน้ำ 2 ลำ ตอร์ปิโดจำนวน 14 ลูก พร้อมข้อเสนอในการมอบอุปกรณ์การฝึกและคลังเก็บ มีการปรับปรุงท่าเรือ ปรับปรุง Simulator ปราบเรือดำน้ำให้ฟรี รวมถึงทำโรงซ่อมให้ใหม่ รวมถึงผู้ผลิตจากเกาหลีใต้ที่ได้รับเทคโนโลยีจากยุโรป ก็เสนอตอร์ปิโดให้ 8 ลูก และยินดีถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือให้บางส่วนด้วย
"ขณะที่ข้อเสนอของจีน ให้ตอร์ปิโดเพียง 6 ลูกเท่านั้น .. นอกจากนั้น เรือดำน้ำรุ่น S26T ยังทำความเร็วสปรินท์ได้ 17 น็อต และทำความเร็วต่อเนื่องได้แค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งน้อยที่สุดในบรรดาแบบเรือทั้งหมด"
นอกจากนั้น ในอดีตไทยเคยซื้อเรือจากจีนมาหลายครั้งแล้ว ปรากฏว่าต้องเสียเงินมาซ่อมแซมเพิ่มเติมทุกครั้ง เพราะอุปกรณ์จากจีนอายุสั้น หมดสภาพเร็วมาก ดัดแปลงลำบาก
"เทียบกับเรือรบใหม่จากตะวันตก เช่นเรือคอร์เวต ชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ที่มีอายุร่วม 30 ปี แต่ยังทำงานเต็มที่ คุ้มค่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เสียไป ตัวเรือแข็งแรงทนทาน ไร้ปัญหาการซ่อมแซม"
4) ในอดีตกองทัพไทยเสียค่าโง่บ่อยมาก
ประชาชนมีความไม่สบายใจ ในการจัดซื้อของกองทัพไทย เพราะที่ผ่านมาในอดีตพิสูจน์ให้เห็นบ่อยครั้งว่า ใช้เงินละลายแม่น้ำ ได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ และไม่สามารถใช้งานได้จริง
ในปี 2552 กองทัพบกจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ในราคา 350 ล้านบาท ทั้้งที่ราคาซื้อขายจริงอยู่ที่ราคา 30-50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งในเวลานั้น กองทัพบกยืนยันมาตลอดว่าสามารถใช้งานได้จริง บทสรุปคือไม่สามารถใช้งานได้ สุดท้ายปลดประจำการหลังซื้อมา 8 ปี โดยยังไม่ได้ใช้งานเป็นชิ้นเป็นอัน
หรือย้อนกลับไปไกลกว่านั้นเล็กน้อย เมื่อกองทัพอากาศ และกองทัพบก จัดซื้อเครื่องตรวจจับระเบิด GT200 เครื่องละ 950,000 บาท เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 794 ล้านบาท แต่พอซื้อเสร็จ จ่ายเงินแล้ว เอามาทดสอบจริง ปรากฏว่า ในการตรวจหาระเบิด 20 ครั้ง ตรวจเจอแค่ 4 ครั้ง และภายหลังก็มีการเปิดเผยว่า แก๊งคนที่ขาย GT200 คือกลุ่มต้มตุ๋นลวงโลก ซึ่งกองทัพไทยก็เสียรู้ และสูญเงินไปเป็นจำนวนมาก
1
ดังนั้น การซื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้ กับสถานการณ์ที่เงินทองเป็นของมีค่ามากๆ ประชาชนจึงกลัวว่าจะเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลและกองทัพไทย ต้องจ่ายเงินไปอย่างสูญเปล่า กับสินค้าที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง ซึ่งถ้าจะละลายแม่น้ำแบบนั้น การเอามาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น อาจสร้างคุณค่าได้มากกว่า
[ ชี้ชะตา พุธนี้ ]
สำหรับในการโหวตครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม คณะอนุกรรมธิการครุภัณฑ์ โหวต "เห็นชอบ" ให้ซื้อเรือดำน้ำ ด้วยจำนวน 5-4 เสียง
แต่นั่นยังไม่ใช่บทสรุปที่แท้จริง โดยคำตอบว่าจะ "ซื้อ" หรือ "ไม่ซื้อ" จะอยู่ที่ "กรรมาธิการชุดใหญ่" จำนวน 72 คน ที่จะโหวตตัดสินในวันพุธที่ 26 สิงหาคมนี้ หากได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง กระบวนการซื้อเรือดำน้ำก็จะเดินหน้าต่อ แต่ถ้ามีเสียงคัดค้านเกินกึ่งหนึ่ง กระบวนการซื้อก็จะระงับไป
อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสนใจคือ ในกรรมาธิการชุดใหญ่ ทั้งหมด 72 คน เป็นคนจากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 48 คน และเป็นคนจากฝั่งฝ่ายค้าน 24 คนเท่านั้น
โฆษณา