24 ส.ค. 2020 เวลา 19:01 • ความคิดเห็น
“เจตนารมย์ของ มาตรา 44/1..”
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องอาญา.. คือ คดีที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายในทางแพ่ง มีสิทธิเรียกค่าเสียหายทางแพ่งฐานละเมิดสิทธิ..
นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังมีสิทธิดำเนินคดีอาญา เพราะความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดทางอาญาด้วย..
โดยปกติแล้ว.. ผู้เสียหายอาจจะจ้างทนายให้ฟ้องผู้กระทำผิดเป็นคดีแพ่งที่ศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย..
และแจ้งความร้องทุกข์ให้อัยการฟ้องผู้กระทำเป็นจำเลยในคดีอาญาให้รับโทษได้ด้วย..รวมเป็น 2 คดีแยกจากกัน..
เดิมที กฎหมายกำหนดว่า..
“พนักงานอัยการที่ฟ้องคดีอาญา อาจร้องขอศาลให้มีคำสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่จำเลยเอาไป หรือทำให้เสียหายแทนผู้เสียหายได้..”
ต่อมา มีการเพิ่มเติมกฎหมายเป็น มาตรา 44/1 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า..
“ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องมาในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง..
เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้..
ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อเนื้อตัวร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน”
น่าพิจารณานะครับว่า..
“ผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 44/1 นั้น หมายถึงใคร..
ระหว่าง ผู้เสียหายที่เป็นคนธรรมดา กับผู้เสียหายที่เป็นนิติบุคคล..”
ถ้าตอบตามถ้อยคำที่ใช้ในตัวบทกฎหมาย.. คือ ตีความตามตัวอักษร..นักกฎหมายทุกคนคงตอบได้ตรงกันว่า..
“คำว่าผู้เสียหาย.. ก็คือ บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด.. และมีสิทธิแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 2 (4) นั่นเอง..
ซึ่งหมายรวมทั้งผู้เสียหายที่เป็นบุคคลธรรมดาและผู้เสียหายที่เป็นนิติบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐด้วย..”
กล่าวคือ ผู้เสียหายทุกประเภทมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 44/1..
แต่วันนี้ ผู้เขียนอยากจะชักชวนผู้อ่านได้ลองคิดในมุมมองใหม่ดูนะครับ..
ถ้าเราจะตีความว่า..
“ผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 44/1 นั้น.. หมายถึง ผู้เสียหายที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น..
ส่วนผู้เสียหายที่เป็นนิติบุคคล หรือหน่วยงานราชการ.. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 44/1..”
ตีความแบบนี้จะผิดมั้ย..
เพราะเหตุใด ผู้เขียนจึงชวนคิดเช่นนั้น.. ทั้งๆที่ ตัวบทกฎหมายก็ไม่ได้เขียนแยกแยะไว้แบบนั้น...
ลองเปรียบเทียบกับเรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้ครับ..
ท่านทราบมั้ยว่า.. กฎหมายค้ามนุษย์นั้น. เขามีหลักการอย่างหนึ่งคือ ให้การดูแลผู้เสียหายหรือเหยื่อที่ถูกพามาค้ามนุษย์ โดยกำหนดให้มีสิทธิหลายอย่าง เช่น..
เหยื่อมีสิทธิที่จะไม่ถูกดำเนินคดี ข้อหา หลบหนีเข้าเมือง ค้าประเวณี..
เหยื่อมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองความปลอดภัย..
เหยื่อมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทน.. ได้รับการศึกษา.. ได้รับการอบรมหรือฝึกวิชาชีพฟรีจากรัฐ...
และท่านทราบมั้ยว่า กฎหมายค้ามนุษย์เขาไม่ได้แยกแยะประเภทของเหยื่อเอาไว้..
แต่ในเชิงทฤษฎีเหยื่อนั้น.. เขาแบ่งเหยื่อออกเป็น 2 ประเภท..ได้แก่..
1. เหยื่อที่เป็นผู้บริสุทธิ์ (Innocent Victim) .. หมายถึง คนที่ถูกพามาแสวงหาประโยชน์เนื่องจากถูกล่อลวง ข่มขู่ บังคับมาขายบริการทางเพศ หรือใช้แรงงาน เป็นต้น..
2. เหยื่อที่มีส่วนผิด (Precipitated Victim).. หมายถึง เหยื่อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำผิด หรือทำให้ตนเองตกเป็นเหยื่อ..
เช่น เหยื่อที่สมัครใจมาขายบริการทางเพศ อาจจะเป็นคนจ้างผู้กระทำผิดให้ทำหนังสือเดินปลอม และพาหลบหนีเข้าเมืองมาด้วย..
แม้กฎหมายค้ามนุษย์ไม่เขียนไว้ชัดเจนว่า.. เหยื่อที่กฎหมายจะให้สิทธิต่างๆนั้น หมายถึงเหยื่อประเภทใด..
แต่หากเราตีความตามเจตนารมย์ของกฎหมาย.. ย่อมเข้าใจได้ว่า เหยื่อที่จะได้รับประโยชน์ต้องเป็นเหยื่อที่เป็นผู้บริสุทธิ์เท่านั้น..
เพราะถ้าตีความตามตัวอักษรให้รวมถึงเหยื่อที่มีส่วนผิดด้วย.. จะกลายเป็นการส่งเสริมให้มีการค้ามนุษย์มากขึ้น.. และขัดต่อเจตนารมย์ของกฎหมายที่ต้องการดูแลเหยื่อที่ได้รับความเสียหาย..
ย้อนกลับมาคิดต่อเรื่อง ผู้เสียหายตามมาตรา 44/1.. นะครับ..
ปกติ ผู้เสียหายในคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องคดีแพ่งนั้น เขามีสิทธิจะไปฟ้องคดีละเมิดเรียกค่าเสียหายเป็นอีกคดีหนึ่งอยู่แล้ว..
ถ้าเช่นนั้น.. ทำไมกฎหมายต้องมี มาตรา 44/1 ขึ้นมาอีก.. ทำไมให้สิทธิผู้เสียหายมายื่นคำร้องต่อศาลในคดีอาญาเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้ในคดีอาญานั้น โดยไม่ต้องไปฟ้องคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง..
กฎหมายมีเหตุผลในการเขียนให้สิทธิผู้เสียหายซ้ำซ้อนกันมั้ย..
คำตอบมีว่า..
“เนื่องจาก กฎหมายต้องการดูแลผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อ..ไม่ต้องการให้ผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บ เดือดร้อนกายใจอยู่แล้ว.. ต้องมาเสียเงินจ้างทนายความ.. ต้องเสียค่าขึ้นศาล.. และเสียเวลาไปฟ้องคดีแพ่งใหม่อีก..
คำว่า “ผู้เสียหาย” ที่จะได้รับความเดือดร้อนดังกล่าวนั้น หมายถึง ผู้เสียหายที่มีชีวิตจิตใจ.. จึงหมายถึง..
“ผู้เสียหายที่เป็นบุคคลธรรมดา” เท่านั้น..
ผู้เสียหายที่เป็นนิติบุคคล.. หรือเป็นหน่วยงานของรัฐ.. ไม่มีวันได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกับผู้เสียหายที่มีชีวิตจิตใจ..
จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะให้ ผู้เสียหายที่เป็นนิติบุคคลมีสิทธิได้ใช้ช่องทางพิเศษตามมาตรา 44/1 นี้..
ถ้านิติบุคคล หรือหน่วยงานต้องการได้รับเงินค่าเสียหาย.. ก็สมควรใช้ช่องทางตามปกติ นั่นคือ จ้างทนายไปฟ้องคดีแพ่งเอาเอง.
นี่คือ การตีความตามเจตนารมย์ของกฎหมาย.. ที่ยกร่างมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา..
ถ้าคิดว่า.. แนวคิดวิเคราะห์เช่นนี้ถูกต้องตามหลักการทฤษฎีและเจตนารมย์ของกฎหมาย..
สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไป ก็คือ บทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตรา 44/1 และมาตราที่เกี่ยวข้อง เขาเขียนไว้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวหรือไม่..
หากกฎหมายไม่ชัดเจนหรือไม่ตรงกับเจตนารมย์.. ผู้เกี่ยวข้องก็ควรต้องเสนอแก้ไขให้ถูกต้องและชัดเจนตามเจตนารมย์..
และหากคิดว่า แนวคิดวิเคราะห์ดังกล่าวถูกต้อง..
เมื่อมีคำพิพากษาฎีกาตัดสินในประเด็นนี้.. เราก็จะตอบได้ทันทีว่า การวินิจฉัยของศาลฎีกานั้น ถูกต้องตรงกับเจตนารมย์ของกฎหมายหรือไม่..
วิธีการศึกษากฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถูกต้องและควรจะเป็น.. ก็คือ..เริ่มต้นด้วย..
“การเรียนรู้ให้เข้าใจหลักการทฤษฎีและเจตนารมย์ของกฎหมายนั้นๆเสียก่อน..นี่คือหลักการสำคัญ..
เมื่อรู้หลักการแล้ว.. จากนั้นจึงค่อยพิจารณาว่า.. กฎหมายที่เราจะวิเคราะห์ เขาบัญญัติไว้ดีแล้ว ถูกต้อง ตรงตามหลักการหรือไม่..
ท้ายสุด.. จึงค่อยศึกษาวิเคราะห์คำพิพากษาฎีกาว่า.. ท่านวินิจฉัยสอดคล้องกับหลักการหรือไม่..
ถ้าตรงกัน จึงค่อยยึดคำพิพากษานั้น เป็นแนวทางการในการใช้กฎหมายที่ถูกต้อง...
ให้พิจารณาตามลำดับ ดังกล่าว..
ถ้ายึดหลักการวิเคราะห์แบบนี้ได้.. กฎหมายและคำพิพากษาฎีกาจะได้รับการพัฒนา..
ถ้ายึดหลักการวิเคราะห์แบบนี้ได้.. กฎหมายจะมีชีวิต.. และกฎหมายจะตกเป็นเครื่องมือ เป็นทาสของเรา..
ถ้ายึดหลักการวิเคราะห์แบบนี้ได้.. เราจะวิเคราะห์วิจารณ์กฎหมายได้.. เราจะอ่านฎีกาเป็น..
ถ้ายึดหลักการวิเคราะห์แบบนี้ได้.. ลูกศิษย์ต้องเก่งกว่าอาจารย์เสมอ...
ถ้ายึดหลักการวิเคราะห์แบบนี้ได้.. น้องๆนักกฎหมายรุ่นใหม่.. จะต้องเก่งกว่านักกฎหมายรุ่นเก่าๆอย่างพวกผมแน่นอน..
ในทางตรงกันข้าม.. ถ้าเราศึกษากฎหมายแบบไม่พิจารณาหลักการดังกล่าว..
เมื่อใดก็ตาม.. ที่เราเริ่มต้นด้วยการ อ่าน ดูถ้อยคำ และเชื่อถือตามตัวบทที่เขาบัญญัติ..โดยไม่มีหลักคิดวิเคราะห์..
เมื่อใดก็ตาม.. ที่เราอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว.. เราเชื่อเลย.. เราจำเอาเลยว่า ถูกต้อง แล้วยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ..โดยไม่คิดวิเคราะห์..
เมื่อนั้นแล..
“ย่อมนับว่า.. เป็นหายนะแห่งการศึกษากฎหมายโดยแท้..”
โฆษณา