25 ส.ค. 2020 เวลา 02:33 • สิ่งแวดล้อม
ทำไมต้องท่วม...”เวียงสา”
พื้นที่น้ำท่วม(สีแดง) ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2563 วิเคราะห์จากข้อมูลดาวเทียม COSMO SkyMed-1 ที่มา จิสด้า
อำเภอเวียงสาอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองน่าน มีพื้นที่ราบลุ่มที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ราบในเขต อ.เมืองและ อ.ภูเพียง อีกทั้งเป็นพื้นที่ราบสุดท้ายก่อนที่แม่น้ำน่านจะไหลเข้าสู่หุบเขาในเขต อ.นาน้อย และไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ในที่สุด ด้วยภูมิประเทศแบบคอขวดเช่นนี้ จึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่น้ำหลากจากทั้งลุ่มน้ำน่านมาชะลอตัวอยู่ที่..เวียงสา
“ประตูสู่น่าน ตำนานชนตองเหลือง เมืองเจ็ดสายน้ำ งามล้ำวัดบุญยืน เริงรื่นแข่งเรือออกพรรษา” นี่คือคำขวัญอำเภอเวียงสา สะท้อนให้เห็นถึงเมืองที่อุดมไปด้วยลำน้ำมากมายที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำน่าน ประกอบกับมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่เกิดจากแม่น้ำเปลี่ยนเส้นทาง กลายสภาพเป็นหนองน้ำซึ่งมีอยู่มากมาย ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำครก" จึงทำให้เวียงสาเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีความอุดมสมบูรณ์
แต่ทว่า สายฝนตกที่หนักและต่อเนื่องกระจายทั่วทั้งจังหวัดน่าน ในคืนวันที่ 21 ส.ค. 2563 เวลาประมาณตีสอง วัดปริมาณน้ำฝนสูงสุดได้ที่บ้านห้วยไฟ หมู่ที่ 4 ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา ได้ 265 มิลลิเมตร ส่งผลให้เช้ารุ่งขึ้นเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม ในหลายพื้นที่ของจังหวัดน่าน (อ้างอิงจากรายงานของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน ณ วันที่ 21 ส.ค. มีจำนวน 4 อำเภอ 4 ตำบล 12 หมู่บ้าน 213 ครัวเรือน ที่ได้รับความเดือดร้อน)
จากการวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมด้วยข้อมูลจากดาวเทียม COSMO SkyMed-1 บันทึกภาพเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 63 ณ เวลา 06:12 น. โดย จิสด้า เผยภาพขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมที่ครอบคลุมถึง 3 อำเภอตามลำน้ำน่าน แต่หนักสุดคือที่ อ.เวียงสา มีพื้นที่น้ำท่วมถึง 12,194 ไร่ เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน ประมาณ 2,770 สนามเลยทีเดียว ส่วน อ.ภูเพียงมีพื้นที่น้ำท่วม 2.364 ไร่ และ อ.เมืองน่าน มีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 2,103 ไร่
สังเกตว่าปริมาณน้ำส่วนใหญ่ไหลมารวมกัน ณ ที่ราบลุ่มทางตอนใต้ของอำเภอ และถูกสกัดกั้นการไหลด้วยภูเขา เหลือแต่เพียงสายน้ำน่านขนาดไม่กว้างมากเท่านั้น ที่จะไหลผ่านพื้นที่นี้ไปได้ ด้วยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์นี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำที่ท่วมขังชะลอตัวอยู่ที่อ.เวียงสา เนื่องจากต้องรับปริมาณน้ำที่มากเกินขีดจำกัด ทั้งจากลำน้ำสาขาต่างๆ เกินกว่าจะสามารถระบายได้ทัน
พื้นที่น้ำท่วม (สีแดง) ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2563 วิเคราะห์จากข้อมูลดาวเทียม COSMO SkyMed-1 ที่มา จิสด้า
ล่วงเข้าสู่วันที่ 23 ส.ค. 63 แม้ว่าปริมาณฝนสะสมจะลดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. แต่จากข่าวระดับน้ำกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามโดยเฉพาะจุดสบกันของแม่น้ำ เพราะทั้งน้ำจากทางตอนเหนือและจากลำน้ำสาขาได้ไหลมาสมทบที่อ.เวียงสา ส่งผลให้น้ำยังคงท่วมสูงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในตำบลไหล่น่าน ตำบลกลางเวียง ตำบลปงสนุก และตำบลขึ่ง บ้านบางหลังยังคงท่วมสูงกว่าสองเมตร ประชาชนต้องอพยพออกไปอาศัยชั่วคราวที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้อพยพที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเวียงสา นับว่าคร้ังนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 14 ปี จากครั้งหลังสุดคือเมื่อปี 2549
ต่อมาช่วงเย็นของวันที่ 23 ดาวเทียม Sentinel-1 ได้ทำการบันทึกภาพเหนือ อ.เวียงสา จ.น่าน เมื่อเวลาประมาณ 18:21 น. ทำให้เราได้อัพเดทข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมกันอีกครั้ง ปรากฏว่าพื้นที่น้ำท่วมได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เหลือเพียงประมาณ 4,100 ไร่ ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากความร่วมมือร่วมแรงกันของประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เร่งระบายน้ำกันอย่างเต็มกำลัง
ส่วนเหตุผลทางภูมิศาสตร์นั้น อาจจะเป็นเพราะปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ณ วันที่ 23 ส.ค. 63 มีอยู่ประมาณ 50% ของความจุเขื่อน ประกอบกับเส้นทางแม่น้ำน่านจาก อ.เวียงสา ถึง เขื่อนสิริกิติ์ มีความชันสูงถึง 66% จึงช่วยทำให้ดึงน้ำที่ อ.เวียงสา จ.น่าน ระบายลงสู่เขื่อนฯได้อย่างรวดเร็ว
ข้อมูลความสูงพื้นที่ตัดตามยาวแม่น้ำน่าน จากศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ
สอดคล้องกับข้อมูลน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนฯในช่วงหลังวันที่ 19 ส.ค. 63 (เส้นสีแดง) กราฟพุ่งขึ้นสูงชันเกือบตั้งตรง หมายถึงปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่เขื่อนฯมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างกระทันหัน
เช้าวันที่ 24 ส.ค. 63 มีรายงานว่าหลายพื้นที่ระดับน้ำได้ลดลงแล้ว แต่ก็ยังเหลือน้ำท่วมบริเวณที่ลุ่ม อาทิ ที่บ้านต้นหนุน บ้านดอนแท่น และบ้านหนองน้ำยังคงท่วมสูงประมาณ 30 - 60 เซนติเมตร ซึ่งทางเจ้หน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ยังระดมกำลังช่วยเหลืออย่างเต็มที่ คาดว่าภายใน 3-5 วัน หากไม่มีน้ำเหนือไหลมาสมทบหรือฝนตกหนักอีกสถานการณ์จะคลี่คลาย
สรุปว่าสถานการณ์ที่เวียงสาก็กำลังคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีฝนตกเพิ่มไปมากกว่านี้ ด้วยปัจจัยต่างๆรวมถึงปัจจัยทางธรรมชาติที่เกื้อกูลกัน น้ำจากเวียงสาก็ค่อยไหลลงสู่เขื่อนสิริกิตติ์
ส่วนใครที่หลงเข้าใจว่าน้ำจาก อ.เวียงสา จ.น่าน ไหลลงไปท่วมที่สุโขทัยต้องเข้าใจใหม่นะครับ เพราะเป็นแม่น้ำคนละเส้น คนละระบบลุ่มน้ำกันเลย น้ำที่กำลังท่วมที่สุโขทัยคือน้ำจากแม่น้ำยมที่ไหลมาจากจังหวัดแพร่ ไว้หากข้อมูลพร้อมจะมาวิเคราะห์ให้ฟังกันต่อไปนะครับ
สำหรับบทความนี้ก็หวังว่าพอจะทำให้ทุกคนที่อ่าน เข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมมองของภูมิศาสตร์ที่อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมดการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ แต่ก็พอทำให้เราได้เข้าใจภาพรวมของปัญหา ข้อได้เปรียบและเสียเปรียบของพื้นที่ ซึ่งแต่ละที่จะมีความซับซ้อนที่แตกต่างกันไป และเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถช่วยทำให้เราได้มากในเรื่องนี้ แล้วพบกันใหม่บทความหน้า ถ้าเห็นว่าดีมีประโยชน์ ก็อย่างลืมแชร์ต่อไปนะครับ
ขอบคุณครับ
อ้างอิง
ศูนย์ป้องกันวิกิฤติน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ. “ลุ่มน้ำน่าน” เข้าถึงทางออนไลน์ ทาง http://mekhala.dwr.go.th/knowledge-basin-nan.php
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน).”รายงานสถานภาพน้ำเขื่อนต่างๆ” เข้าถึงทางออนไลน์ ทาง https://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/rid_bigcm.html
จิสด้า. “รายงานการติดตามพื้นที่น้ำท่วมปี 2563 โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม COSMO-SkyMed-1 บันทึกภาพวันที่ 22 สิงหาคม 2563 เวลา 06.12 น.” เผยแพร่วันที่ 22 ส.ค. 63 เข้าถึงทางออนไลน์ ทาง flood.gistda.or.th
ไทยรัฐออนไลน์. “น่านอ่วม ฝนกระหน่ำ 260 มม. น้ำท่วม 4 อำเภอ ลุงหาปลาถูกน้ำป่าซัดเสียชีวิต” เผยแพร่วันที่ 21 ส.ค. 63 เข้าถึงทางออนไลน์ ทาง www.thairath.co.th
ไทยรัฐออนไลน์. “น้ำท่วมน่านวันที่ 3 กระทบ 6 อำเภอ เวียงสา ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 3 พันราย” เผยแพร่วันที่ 23 ส.ค. 63 เข้าถึงทางออนไลน์ ทาง www.thairath.co.th
BEC Tero. “น้ำท่วมน่านอ่วม หนักสุดรอบ 14 ปี - 'กรมอนามัย' เตือนระวังโรคไข้ดิน” เผยแพร่วันที่ 23 ส.ค. 63 เข้าถึงทางออนไลน์ ทาง ch3thailandnews.bectero.com
แนวหน้า. “‘เทศบาลเมืองน่าน’ระดมเครื่องสูบน้ำ ช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม‘เวียงสา’” เผยแพร่วันที่ 24 ส.ค. 63 เข้าถึงทางออนไลน์ ทาง www.naewna.com
โฆษณา