25 ส.ค. 2020 เวลา 06:33
“ลำดับศักดิ์กฎหมาย” เป็นการกำหนดลำดับชั้นระหว่างกฎหมายประเภทต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการเริ่มต้นจัดทำร่างกฎหมายว่ากฎหมายประเภทนี้ระดับใดเป็นผู้จัดทำร่างเพื่อตราและประกาศใช้บังคับ
กฎหมายมีลำดับศักดิ์อย่างไร ? มาทำความรู้จักกันครับ
กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ประครองประเทศ ตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกำหนดระเบียบการปกครอง ระบอบการปกครอง และการใช้อำนาจอธิปไตย โดยกฎหมายอื่นจึงจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ใช้ขยายความรัฐธรรมนูญ ที่ตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกำหนดสาระสำคัญในรายละเอียดเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการไว้ และขยายบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ครบถ้วนขึ้น
พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ ที่ตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากคำแนะนำและเห็นชอบโดยรัฐสภา
พระราชกำหนด เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เพื่อมอบอำนาจแก่คณะรัฐมนตรีใช้ในกรณีจำเป็นรีบด่วนหรือฉุกเฉิน เพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยสาธารณะ และความปลอดภัยของประเทศ
พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของพระราชบัญญัติหรือของพระราชกำหนด ตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เพื่อมอบอำนาจแก่คณะรัฐมนตรีใช้บริหารราชการแผ่นดิน
กฎกระทรวง เป็นบทบัญญัติที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตราขึ้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด มีลักษณะคล้ายพระราชกฤษฎีกา (หากมีความสำคัญอย่างมากจะออกมาในรูปของพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้ามีความสำคัญน้อยกว่าก็ออกในรูปของกฎกระทรวง)
ข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นกฎหมายขององค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งออกโดยสามัญชน ใช้บังคับภายในเขต ได้แก่ ข้อบังคับตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา เป็นต้น
#Dharmniti #ธรรมนิติ #ลำดับศักดิ์กฎหมาย #กฎหมายไทย #รัฐธรรมนูญ
ทำความรู้จัก "ลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทย"
โฆษณา